×

คุยกับ Ricult หลังปิดระดมทุน Pre-B สำเร็จ เช็กแผนนำเทคโนโลยีช่วยเกษตรไทย

15.02.2024
  • LOADING...
Ricult หลังปิดระดมทุน Pre-B

“ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”

 

“เกษตรกรและชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ”

 

เชื่อว่าคนที่ใช้ชีวิตและเติบโตมาในประเทศไทยน่าจะต้องเคยได้ยินคำนี้ผ่านหูกันมาบ้าง ถึงแม้วลีทั้งสองจะฟังดูไม่เข้ากับยุคสมัยนี้แล้วสำหรับบางคน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกษตรกรรมยังคงเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจบ้านเรา และมีคนไทยจำนวนไม่น้อยเลยที่ต้องอาศัยการเกษตรเป็นอาชีพเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง แต่หลายปีแล้วที่อาชีพ ‘เกษตรกร’ ยังต้องเจอกับปัญหาความท้าทายอย่างต่อเนื่อง 

 

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 9 กุมภาพันธ์ รีคัลท์ (Ricult) สตาร์ทอัพสัญชาติไทยสายเทคโนโลยีการเกษตร (AgriTech) ประกาศปิดดีลระดมทุนรอบ Pre-Series B ได้สำเร็จ ซึ่งมูลค่าการระดมทุนรวมทั้งหมดของบริษัท ณ ตอนนี้แตะระดับ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว โดยดีลครั้งนี้ถือเป็นแนวโน้มที่ดีกับวงการสตาร์ทอัพไทยที่เริ่มส่อแววให้เห็นถึงสัญญาณการกลับตัว หลังจากช่วงเวลาอันยากลำบากใน 1-2 ปีที่ผ่านมา

 

อุกฤษ อุณหเลขกะ ซีอีโอ บริษัท รีคัลท์ (ประเทศไทย) จำกัด ย้ำกับ THE STANDARD WEALTH ในการสัมภาษณ์เอ็กซ์คลูซีฟว่า “การได้เม็ดเงินลงทุนของสตาร์ทอัพในยุคนี้ไม่ง่ายเลย แต่เพราะธุรกิจของ Ricult นั้นตรงกับเทรนด์โลกที่กำลังมุ่งหน้าไปสู่ Decarbonization และสิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ก็คือ อุตสาหกรรมเกษตรเป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากเป็นอันดับที่ 4 ของทุกๆ อุตสาหกรรมบนโลก จึงเป็นปัจจัยที่มีส่วนช่วยให้เราสามารถปิดรอบระดมทุนได้”

 

สิ่งที่อุกฤษกำลังจะบอกกับสตาร์ทอัพในยุคหลัง ‘Easy Money’ ก็คือ แนวคิดของการทำธุรกิจจะต้องเปลี่ยน เปลี่ยนมาโฟกัสที่กำไรให้มากขึ้น ฉะนั้นนอกจากธุรกิจจะต้องตอบโจทย์กับความต้องการตลาดหรือเทรนด์โลกแล้วนั้น การพิสูจน์ความยั่งยืนของโมเดลธุรกิจในการทำกำไรให้นักลงทุนเห็นได้อย่างชัดเจนก็ถือเป็นอีกประเด็นสำคัญที่จะชี้ชะตาสตาร์ทอัพในช่วงเวลาต่อจากนี้

 

ใช้งานเทคโนโลยีและดาต้าวางกลยุทธ์การทำเกษตร

 

กลับมาที่การยกระดับภาคการเกษตรไทย Ricult พบว่า ปัญหาหลักๆ ของฝั่งเกษตรกรในอดีตที่ผ่านมาคือการใช้ความรู้สึกมากกว่าดาต้าเป็นตัวชี้นำการตัดสินใจของพวกเขา ปัญหาต่อมาคือกฎเกณฑ์การค้าโลกที่เริ่มเปลี่ยนไปในเชิงที่ส่งผลต่อสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเกินข้อกำหนดสากล ทำให้ถูกส่งออกได้ยากขึ้น

 

ด้วยปัจจัยข้างต้น แนวโน้มของการเปิดรับเทคโนโลยีในภาคการเกษตรก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อโซลูชันจาก Ricult สามารถช่วยให้เกษตรกรมีผลผลิตที่ดีขึ้น สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30% ต่อครัวเรือน ทำให้ตอนนี้ทางบริษัทมีเครือข่ายของเกษตรกรในระบบที่ 1 ล้านรายทั่วประเทศ พร้อมด้วยพื้นที่สำหรับเพาะปลูกกว่า 10 ล้านไร่ แต่ประเทศไทยมีเกษตรทั้งหมดประมาณ 15 ล้านคน หมายความว่ายังมีโอกาสในตลาดนี้อีกมหาศาล

 

ทีนี้บทบาทของเทคโนโลยีกับภาคการเกษตรมันอยู่ตรงไหนล่ะ?

 

ทางบริษัทใช้เวลาหลายปีในการพัฒนาและนำระบบ AI (ปัญญาประดิษฐ์) มาวิเคราะห์ข้อมูลในภาคการเกษตร โดยอาศัย Satellite Technology (ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม) เป็นตัวฉายภาพให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่นั้นๆ และยังมีข้อมูลเรื่องสภาพภูมิอากาศ รวมถึงสภาพดิน ซึ่งพอข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมดรวมกัน Ricult จึงสามารถช่วยเกษตรกรวางกลยุทธ์ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำได้อย่างมีหลักการ แม่นยำ และโปร่งใสตรวจสอบได้มากขึ้น

 

พอผลผลิตสามารถตรวจสอบได้ มีที่มาที่ไป และสามารถยืนยันได้ว่ากิจกรรมการเกษตรไม่ได้ทำลายป่าและปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินข้อกำหนด (EUDR and Carbon Emissions Traceability) การจะส่งออกสินค้าเกษตรไปสู่ภูมิภาคอย่างยุโรปก็จะสามารถทำได้ง่ายกว่ากลุ่มคนที่ผลผลิตยังตรวจสอบไม่ได้

 

Farming-as-a-Service ดึงประสิทธิภาพที่ดินให้ได้สูงที่สุด

 

สำหรับการระดมทุนครั้งนี้ Ricult มีแผนจะนำเม็ดเงินที่ได้ไปใช้ขยายบริการใหม่ๆ ให้ครอบคลุมทั้งซัพพลายเชนการเกษตรมากขึ้น โดยหนึ่งในไฮไลต์ของโซลูชันใหม่ที่ได้เปิดตัวไปก็คือ Farming-as-a-Service หรือบริการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจแบบครบวงจร 

 

อุกฤษเล่าว่า บริการใหม่ตัวนี้จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาผู้ที่มีที่ดินเปล่าแต่ไม่ได้ถูกใช้ทำอะไร แถมยังจะต้องโดนเก็บภาษีเป็นการซ้ำเติมด้วย ส่วนในฝั่งของเกษตรกรบางรายก็ทำการเพาะปลูกพืชบางชนิดได้เพียงไม่กี่ครั้งต่อปีและมีเวลาว่างอยู่ค่อนข้างมาก

 

ในยุคที่ธุรกิจปรับไปสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น หนึ่งในโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า as-a-Service ก็ทำได้ง่ายขึ้นด้วยเทคโนโลยี ตัวบริการ Farming-as-a-Service จึงเป็นโมเดลที่เข้ามาตอบโจทย์ผู้ที่ครอบครองที่ดินแต่ไม่สามารถมาทำเกษตรเองได้ โดยเปลี่ยนที่ดินเปล่าผืนเดิมที่ไม่ได้ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กลายเป็นที่ดินที่สามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นได้ อีกทั้งเกษตรกรที่มีเวลาว่างเหลือก็สามารถมีงานทำและรับรายได้ได้มากขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือการจับคู่ระหว่างซัพพลายกับดีมานด์ของการทำการเกษตร

 

อนาคตเกษตรไทยกับ S-Curve อันใหม่

 

ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าแทบจะทุกอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัว และการเกษตรก็เป็นหนึ่งในนั้น “ผมคิดว่าทิศทางประเทศไทยจะตามรอยเส้นทางของเกาหลีใต้ เพราะเมื่อตอนที่เกาหลีใต้ออกมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชากรของเขากว่า 50% ทำอาชีพเกษตรกรเหมือนกับประเทศไทยเลย แต่เมื่อเกาหลีใต้เจอ S-Curve อันใหม่ในด้านเทคโนโลยี ก็เป็นธรรมดาที่คนรุ่นหลังจะไม่อยากทำเกษตรต่อ ส่งผลให้จำนวนน้อยลงเรื่อยๆ” อุกฤษกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม คนที่เลือกจะทำเกษตรอยู่ก็จะต้องหาวิธีสร้างกำไรให้ได้ โดยหนึ่งในวิธีนั้นคือการหันเข้าหาเทคโนโลยีเพื่อตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลให้ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มที่สุด เพราะคนที่ทำเกษตรแบบดั้งเดิมจะแข่งขันได้ยากขึ้นและเริ่มที่จะเห็นกำไรลดลง

 

อีกหนึ่งปัจจัยที่อุกฤษมองว่าเป็นข้อได้เปรียบของประเทศไทยคือ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ของเราเป็นพื้นที่แนวราบ ซึ่งต่างจากประเทศเพื่อนบ้านที่เต็มไปด้วยเนินเขา 

 

ฉะนั้นประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่พร้อมกว่าหลายประเทศ แต่คำถามที่สำคัญกับเกษตรกรในวันนี้คือ ‘จะปลูกอะไร?’ และ ‘จะปลูกอย่างไรให้ได้กำไรมากที่สุด?’ ซึ่งการจะตีโจทย์เหล่านี้ให้แตกในระยะเวลาอันสั้นและมีความแม่นยำสูงก็จำเป็นจะต้องอาศัยข้อมูลและการประมวลผลมหาศาล แต่โชคดีที่ในวันนี้เรามีเทคโนโลยีที่ทำได้แล้ว เพียงแต่ภาคเกษตรจะต้องเปิดใจศึกษามันเพื่อให้ ‘กระดูกสันหลัง’ นี้อยู่เป็นตัวขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยต่อไป

 

ภาพ: Ricult, Sarayut Thaneerat / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X