ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปีที่ 4 แล้ว สำหรับโครงการดีๆ อย่าง Chivas The Venture ที่ส่งเสริมและสนับสนุนนักธุรกิจเพื่อสังคม รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้สังคมหันมาตระหนักถึงความสำคัญของการทำเพื่อสังคมควบคู่ไปกับการทำธุรกิจ โดยสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ ‘Win the Right Way’ หรือประสบความสำเร็จในธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกำไรไปพร้อมกับการเติบโตและพัฒนาไปในทางที่ดีของสังคม
ในปีที่แล้ว ตัวแทนประเทศไทยอย่าง Siam Organic เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรชาวนาผู้ปลูกข้าวนั้นได้ตำแหน่งชนะเลิศบนเวทีระดับโลก สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทำให้คนไทยได้ภูมิใจที่เรามีธุรกิจเพื่อสังคมเจ๋งๆ ขนาดนั้นอยู่ (อ่านเรื่องราวของ Siam Organic ได้ที่บทความ คุยกับ ‘Siam Organic’ ผู้ยกระดับชีวิตชาวนาไทย ตัวแทนกิจการเพื่อสังคมไทยไปแข่งขันในเวทีโลก) ส่วนในปีนี้ เราจะไปทำความรู้จักกับ ‘Ricult’ โดย คุณอุกฤษ อุณหเลขกะ Co-Founder และ CEO ของธุรกิจเพื่อสังคมดาวรุ่ง ที่เพิ่งชนะแคมเปญนี้ในระดับประเทศมาหมาดๆ เป็นตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมแข่งขันกับธุรกิจเพื่อสังคมอีก 29 ประเทศจาก 6 ทวีปทั่วโลก ในแคมเปญ Chivas The Venture ระดับโลก
คุณอุกฤษ อุณหเลขกะ
Co-Founder และ CEO ของ Ricult
1. จุดเริ่มต้นเกิดจากความต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม
“ผมอยากเปลี่ยนแปลงให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเป็นบ้านเกิดของผม ผมเติบโตมาจากครอบครัวเกษตรกร คุณทวดทำนาอยู่ที่จังหวัดลพบุรี ส่วนคุณพ่อก็ทำสวนทุเรียนอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรีและฉะเชิงเทราครับ จึงคุ้นเคยกับภาคเกษตรกรรมเป็นอย่างดี ตอนเด็กๆ ผมเคยนั่งรถกระบะไปขายทุเรียนที่ตลาดนัด โชคดีว่าโตขึ้นมาผมได้มีโอกาสไปเรียนที่สหรัฐอเมริกาทางด้านวิศวะและบริหาร ก็ได้ค้นพบว่า ที่สหรัฐอเมริกามีธุรกิจเพื่อสังคมที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมค่อนข้างเยอะ ก็เลยรู้สึกว่าเราอยากจะทำอย่างนี้บ้างในเมืองไทย เพราะเมืองไทยยังไม่ค่อยมีธุรกิจเพื่อสังคม โดยเฉพาะ Social Enterprise ที่สร้างรายได้ และสามารถจุนเจือตัวเองได้ด้วยก็หายาก ผมเลยรู้สึกว่าเราอยากทำให้คนไทยได้เห็นว่า การทำธุรกิจเพื่อสังคมเนี่ยมันอยู่ได้นะ เราสามารถทำดีได้ด้วย และได้หารายได้เข้าสู่บริษัทไปพร้อมๆ กันได้ด้วย”
2. ใช้เทคโนโลยีเพิ่มคุณภาพการผลิตแก่เกษตรกรรายย่อย
“เรามุ่งมั่นที่จะใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการแก้ปัญหาด้านการเพาะปลูก ซึ่งจะนำไปสู่การลดช่องว่างของการเข้าถึงสินเชื่อ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางโอกาสและรายได้ รีคัลท์เป็น Agriculture Tech Start Up ที่จะปฏิรูปการทำการเกษตรให้ง่ายและมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าที่เคย โดยการใช้เทคโนโลยี”
3. Big Data กับ Machine Learning คือกุญแจสำคัญ
“รีคัลท์ใช้เทคโนโลยี Big Data กับ Machine Learning มาใช้ อธิบายให้เข้าใจง่ายเข้าก็คือ เรานำข้อมูลมาวิเคราะห์กันเพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์คือ ตอนนี้ในโลกของเรามีข้อมูลที่เป็น Big Data อยู่เยอะมาก คล้ายๆ กับ แอปฯ เรียกรถแท็กซี่อย่าง Grab หรือ Uber ที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลพิกัดหรือเส้นทาง เพื่อดูว่ารถเคลื่อนไปที่ไหนอย่างไร และผู้โดยสารอยู่ตรงไหน เพื่อจะให้คนขับแมตช์ให้บริการ หรืออย่างเวลาเล่นเฟซบุ๊ก ซึ่งจะมีการแนะนำว่าคุณควรจะกดเข้าไปดูอะไร คุณน่าจะชอบเพจไหน คุณน่าจะซื้อของตรงนี้ นั่นคือเขามีการทำ Big Data อยู่ข้างหลัง แล้วนำมาประมวลผล
“และแอปฯ Ricult ก็เป็นแบบเดียวกัน เรานำคอนเซปต์คล้ายๆ กันนี้มาใช้กับวงการเกษตร รวบรวมข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลอากาศ ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลดิบต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลสำคัญในการเพาะปลูกการเกษตร และนำมาวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง จนสามารถบอกเกษตรกรได้ว่าควรจะปลูกอะไรที่เหมาะสมที่สุดในพื้นดินของเขา ควรลงเมล็ดวันไหน ใส่ปุ๋ยอะไร เก็บเกี่ยววันไหน แจ้งเตือนการเกิดศัตรูพืช แจ้งเตือนการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การตรวจวิเคราะห์ดิน การใส่ปุ๋ย ธาตุอาหาร และยากำจัดศัตรูพืชอย่างแม่นยำ เพื่อจะให้ได้ผลผลิตจำนวนมากและได้คุณภาพที่สุด”
4. สามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้กับเกษตรกรมากถึงร้อยละ 50
“จากการทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในจังหวัดสระบุรี เราสามารถเพิ่มผลผลิตในการเพาะปลูกได้มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ และสามารถลดต้นทุนในการเพาะปลูกได้อีกมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ กล่าวได้ว่ารีคัลท์สามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและช่วยให้ครอบครัวของเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่และโอกาสที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่มีรายได้ในครอบครัวมากขึ้น สามารถส่งลูกหลานเกษตรกรเข้าโรงเรียนได้ การเข้าถึงสถานพยาบาล มีสุขภาพที่ดีขึ้น”
5. รายได้ของ Ricult มาจากไหนบ้าง?
“การให้บริการของรีคัลท์สามารถสร้างรายได้จาก 1) ค่าบริการในการใช้เทคโนโลยีของรีคัลท์ ซึ่งเก็บจากเกษตรกร Smart Farmer ที่ใช้แอปฯ ของรีคัลท์ หรือพาร์ตเนอร์อย่างธนาคารเพื่อการเกษตร และยังมีรายได้ทางอื่นอีกจาก 2) การขายข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันทางการเงิน โรงงานอาหารสัตว์ หรือบริษัทรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ”
6. ในอนาคตมีแผนจะขยายขอบเขตการทำงาน ให้บริการในประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนา
“ตอนนี้รีคัลท์ทำงานและให้บริการในประเทศไทยและปากีสถาน โดยในประเทศไทยนั้นระยะเริ่มต้นเรายังโฟกัสอยู่เฉพาะที่กลุ่มเกษตรกรข้าวโพดในจังหวัดสระบุรี และจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นเพื่อให้สามารถให้บริการกับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ รวมถึงครอบคลุมการทำเกษตรชนิดอื่นๆ ให้มากขึ้น
“ทั้งนี้ยังมีโครงการระยะยาวที่จะให้บริการกับเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ อย่างประเทศเพื่อนบ้านของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย นั่นก็เพราะสิ่งที่เราค้นพบคือ เกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนามีปัญหาเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ค่อนข้างยากลำบาก ทำให้ต้องไปกู้เงินนอกระบบ การที่มีผลผลิตค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว การขาดข้อมูลเรื่องตลาดว่าจะขายให้ใคร ทำให้มีพ่อค้าคนกลางมากดราคาถึงหน้าสวน
“ซึ่งแทบทุกประเทศกำลังพัฒนาล้วนมีปัญหาคล้ายๆ กัน สาเหตุที่เราเริ่มต้นที่ปากีสถานและประเทศไทยไปพร้อมๆ กัน ก็เพราะรีคัลท์อยากจะแสดงให้เห็นว่าโมเดลของเราสามารถใช้งานได้จริงข้ามประเทศ และถ้าทำเช่นนั้นได้สำเร็จ เราก็จะสามารถขยายไปยังประเทศอื่นๆ ในแถบอาเซียนอย่าง ลาว เวียดนาม และอินโดนีเซียได้ เราสามารถจะเป็น Social Enterprise Startups ที่มี Social Impact สูงได้ เพราะปัจจุบันทั่วโลกนั้นมีเกษตรกรอยู่มากกว่า 500 ล้านคนที่มีปัญหาเหมือนกันนี้อยู่”
อ่าน คุยกับ อุกฤษ อุณหเลขกะ แห่ง Ricult สตาร์ทอัพเพื่อเกษตรกรที่มูลนิธิบิล เกตส์ ให้ทุน 83 ล้านบาทได้ที่นี่
- ร่วมลุ้นเป็นกำลังใจให้กับ Ricult ในการแข่งขันแคมเปญ Chivas The Venture ไปพร้อมกับนักธุรกิจเพื่อสังคม ที่น่าจับตามองของชีวาสรีกัลให้เติบโตอย่างยั่งยืน กับโอกาสครั้งสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกอย่างท้าทาย โดยสามารถติดตามรายละเอียดของแคมเปญ และข่าวคราวของการแข่งขันในรอบ Final ที่กำลังจะเกิดขึ้น ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ได้ที่ www.theventure.com