×

มนุษย์ยุคแรก แรดอายุ 7 แสนปี และคนกินแรด ข้อค้นพบใหม่ทางโบราณคดีที่ฟิลิปปินส์

21.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ทีมนักโบราณคดีได้ขุดค้นพบซากฟอสซิลของแรด ร่วมกับหลักฐานอื่นๆ ที่มีอายุเก่าแก่ถึง 709,000 ปี ที่จังหวัดกาลิงกา ในหุบเขาคากายัน (Cagayan) บนเกาะลูซอน ในประเทศฟิลิปปินส์ การค้นพบครั้งนี้ทำให้เพดานอายุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของฟิลิปปินส์เก่ากว่าค่าอายุเดิมคือ 67,000 ปีมาแล้ว
  • กระดูกแรดหลายชิ้นมีร่องรอยว่าพวกมันถูกล่าและกินโดยมนุษย์ ด้วยการพยายามทุบสับให้กระดูกแรดแตกเพื่อที่จะกินไขกระดูกที่อุดมไปด้วยไขมัน โปรตีนและสารอาหารต่างๆ ด้านใน
  • ทีมนักวิจัยเชื่อว่า มนุษย์ที่กินแรดนี้คงเป็นสายพันธุ์โฮโม อีเร็กตัส ที่อาศัยอยู่ในฟิลิปปินส์ใน ‘ยุคน้ำแข็ง’ ซึ่งเป็นยุคที่สันนิษฐานว่าเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลลดต่ำลงกว่าระดับน้ำทะเลในปัจจุบันมากถึง 120 เมตร ทำให้พื้นที่ที่เป็นแผ่นดินปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่สูง และพื้นที่บริเวณอ่าวไทยสมัยโบราณจะไม่มีน้ำ แต่กลายเป็นแผ่นดิน เต็มไปด้วยพืชพันธุ์ สัตว์ และมนุษย์โบราณ

เมื่อเร็วๆ นี้ทีมนักโบราณคดีชาวฟิลิปปินส์และนานาชาติได้ขุดค้นพบซากฟอสซิลแรด ร่วมกับหลักฐานอื่นๆ ที่มีอายุเก่าแก่ถึง 709,000 ปี โดยพบที่จังหวัดกาลิงกา ในหุบเขาคากายัน (Cagayan) บนเกาะลูซอน

 

การค้นพบครั้งนี้ ในฟิลิปปินส์และวงการโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและน่าตื่นเต้นมาก เพราะทำให้เพดานอายุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของฟิลิปปินส์เก่ากว่าค่าอายุเดิมคือ 67,000 ปีมาแล้ว และทำให้เกิดคำถามว่านักล่าพวกนี้คือมนุษย์สายพันธุ์ใด

 

ข้อมูลที่เขียนนี้ ผู้เขียนได้ข้อมูลมาจากเพื่อนนักโบราณคดีชาวฟิลิปปินส์ ชื่อ แคเธอรีน คิง (Catherine King) ซึ่งร่วมขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ และปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสของพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประเทศฟิลิปปินส์

 

สภาพแหล่งโบราณคดีหุบเขาคากายัน หลุมขุดค้นวางตัวเป็นแนวยาวจากยอดเนินลงมาที่ราบบริเวณเต็นท์

 

การค้นพบแรดโบราณที่หุบเขาคากายัน

หุบเขาคากายันถือนี้ถูกเรียกว่าเป็นบ้านของฟอสซิลโบราณ (Home of ancient fossils) เพราะมีการค้นพบฟอสซิลโบราณของสัตว์ชนิดต่างๆ และเครื่องมือหินกระเทาะมาตั้งแต่ ค.ศ. 1935 นี้แล้ว แต่ทั้งหมดไม่เคยพบจากการขุดค้น เป็นของที่สำรวจเจอบนผิวดินทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถกำหนดอายุที่แน่นอนได้ และไม่แน่ใจว่า กระดูกสัตว์ที่พบกับเครื่องมือหินนั้นเป็นของร่วมสมัยกันหรือไม่

 

ในปี 2014 ทีมนักโบราณคดีนานาชาตินี้มีหัวหน้าโครงการคือ ดร.โธมัส อินกิกโก นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ได้เลือกหลุมขุดค้นขนาดยาว ความกว้าง 1 เมตร ยาว 25 เมตร ลึก 2 เมตร โดยวางแผนผังไล่ระดับจากพื้นที่ยอดเนินลงมาถึงพื้นที่ราบ เพื่อจะได้พบหลักฐานในชั้นทับถมให้มากที่สุด  

 

ผลการขุดค้นนี้พบหลักฐานหลายชนิดที่สำคัญคือ ชิ้นส่วนกระดูกแรดและของกะโหลกเกือบสมบูรณ์ทั้งหัว แรดที่พบนี้เป็นสายพันธุ์ Rhinoceros Philippinensis หรือแรดสายพันธุ์ฟิลิปปินส์โบราณ ซึ่งสูญพันธุ์ไปนานแล้ว

 

นอกจากฟอสซิลแรดแล้ว ยังพบชิ้นส่วนของช้างโบราณที่เรียกว่า สเตโกดอน (Stegodon sp.) ชิ้นส่วนของกวางสีน้ำตาลสายพันธุ์ฟิลิปปินส์ เต่าน้ำจืด และสัตว์เลื้อยคลาน (คล้ายตัวเหี้ย) ซึ่งพวกมันได้สูญพันธุ์ไปจากพื้นที่นี้นานแล้วเช่นกันภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงสภาพของภูมิอากาศโลกจากยุคน้ำแข็งสู่ยุคอบอุ่น

 

กระดูกแรดที่แสดงร่องรอยการถูกมนุษย์ทุบเพื่อกินไขกระดูกด้านใน จะเห็นได้ว่ากระดูกมีลักษณะแตกและค่อนข้างแหลก (ดูตามลูกศร)

 

ผลจากการวิเคราะห์พบว่า กระดูกแรดหลายชิ้นมีร่องรอยว่าพวกมันถูกล่า และกินโดยมนุษย์ (Butchery/Cut Marks) ซึ่งนักโบราณคดีแยกร่องรอยที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมนุษย์นั้นโดยสังเกตจากลักษณะของรูปแบบร่องรอย กล่าวคือ ลักษณะของรอยจากมนุษย์จะเป็นรอยตัดลึกลงบนกระดูกและเป็นแนวยาวมีทิศทางไปในทางเดียวกัน บางรอยแสดงการสับเจาะลงไปบนกระดูกอย่างรุนแรง ทั้งนี้เพื่อเจาะให้กระดูกแตก ลักษณะดังกล่าวนี้ต่างจากรอยที่เกิดจากธรรมชาติที่มักจะตื้น ไม่มีรอยลึกคม และไม่มีจุดที่แสดงถึงการจงใจสับลงไป  

 

สาเหตุที่มนุษย์พยายามทุบสับให้กระดูกแรดแตกนี้ก็เพื่อที่จะกินไขกระดูกด้านใน ซึ่งอุดมไปด้วยไขมัน โปรตีน และสารอาหารต่างๆ

 

ภาพวาดสันนิษฐานลักษณะของแรดสายพันธุ์ฟิลิปปินส์ (Rhinoceros philippinensis) Available at: goo.gl/wzNUic. [Accessed on 20/5/2018].

 

อายุของแรด

ผู้อ่านหลายคนคงคุ้นเคยกับวิธีการกำหนดอายุคาร์บอน -14 แต่กรณีที่โบราณวัตถุมีอายุเป็นแสนปีขึ้นไปนั้น คาร์บอน -14 จะไม่สามารถกำหนดอายุได้ ทำให้นักโบราณคดีต้องเลือกใช้วิธีการอย่างอื่นในการกำหนดอายุ ทีมนักโบราณคดีโครงการนี้จึงเลือกใช้วิธีการที่เรียกว่า Electron Spin Resonance (ESR) หรือ การกำหนดอายุด้วยธาตุยูเรเนียม

 

ตัวอย่างที่ถูกนำมากำหนดอายุนี้ได้มาจากเคลือบฟันของแรด โดยเป็นฟันกรามน้อยข้างขวาซี่ที่สาม ผลจากการกำหนดอายุได้ 709,000 +/- 68,000 ปีมาแล้ว หรือคิดง่ายๆ ก็คือ 709,000 ปีมาแล้ว ส่วนเลข 68,000 นี้คือค่าความเบี่ยงเบน หมายความว่า อายุของแรดนี้อาจเก่าไปถึง 777,000 ปี หรือน้อยลงคือ 641,000 ปีก็ได้

 

ฟันกรามของแรดที่พบจากการขุดค้น และนำไปกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์

 

ค่าอายุของฟันแรดนี้มีความน่าเชื่อถือ เพราะว่าสอดคล้องกับการกำหนดอายุวิธีการอื่นๆ และตัวอย่างอื่นๆ ที่ได้จากการขุดค้นในครั้งนี้ ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าแรดนี้ถูกมนุษย์กินเมื่อ 709,000 ปีที่แล้ว

 

นักล่าพวกนี้คือใคร

พูดกันอย่างกว้างที่สุด มนุษย์ที่ล่าแรดนี้จัดเป็นกลุ่ม ‘โฮมินิน’ (Homo hominin) คือ สายพันธุ์ของมนุษย์ยุคต้น (Early man) ที่มีวิวัฒนาการมาก่อนหน้าสายพันธุ์มนุษย์ปัจจุบันที่มีหน้าตาอย่างเราๆ ท่านๆ คือ โฮโม เซเปียนส์ (Homo sapiens)ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เพิ่งอพยพเข้ามาอยู่ในภูมิภาคนี้เมื่อราว 50,000 ปีมาแล้วเท่านั้น และในฟิลิปปินส์พบร่องรอยการเข้ามาอยู่อาศัยเมื่อ 47,000 ปีมาแล้ว โดยพบฟอสซิลของโฮโม เซเปียนส์ ที่ถ้ำตาบง บนเกาะปาลาวัน

 

ก่อนหน้าที่โฮโม เซเปียนส์ หรือแปลว่า มนุษย์ผู้ชาญฉลาด จะครอบครองภูมิภาคนี้ โฮโม อีเร็กตัส เคยได้อาศัยอยู่มาก่อนหน้านี้แล้ว อย่างน้อยตั้งแต่ราว 1.6 ล้านปี มนุษย์พวกนี้มีกระดูกและร่างกายใหญ่กำยำ แต่สมองเล็กเมื่อเทียบกับมนุษย์ปัจจุบัน พบฟอสซิลหลายแห่ง เช่น ที่ชวาเรียกว่า ‘มนุษย์ชวา’ และยังพบที่ลำปางที่อำเภอเกาะคาอีกด้วยโดยเรียกชื่อว่า ‘มนุษย์ลำปาง’

 

มนุษย์อีกสายพันธุ์หนึ่งที่พบเมื่อปี 2003 เป็นเรื่องดังระดับโลก คือ ‘มนุษย์ฟลอเรส’ (Flores Man) โดยพบบนเกาะฟลอเรส อินโดนีเซีย มีชีวิตอยู่ในช่วง 6 หมื่น ถึง 1.9 แสนปีมาแล้ว ร่างกายของมนุษย์สายพันธุ์นี้ตัวเล็กมากคือ สูงเฉลี่ยแค่ 1.1 เมตร ต่างจากบรรพบุรุษของพวกเขาคือ พวกโฮโม อีเร็กตัส ทั้งนี้เพราะบนเกาะฟลอเรสมีพวกนักล่าเยอะ เช่น มังกรโคโมโด (อารมณ์คล้ายตัวเหี้ยบ้านเราแต่ตัวใหญ่และดุ กินเนื้อ) ทำให้อาหารมีจำกัด พวกมนุษย์ฟลอเรสเลยค่อยๆ วิวัฒนาการร่างกายของตัวเองให้เล็กลง กลายเป็นคนแคระ

 

ดังนั้น ทีมนักวิจัยจึงเชื่อว่า มนุษย์ที่กินแรดนี้คงเป็นกลุ่มอื่นไปไม่ได้นอกจากสายพันธุ์โฮโม อีเร็กตัส

 

กระดูกแรดและเครื่องมือหินกระเทาะที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประเทศฟิลิปปินส์

 

พวกเขาเดินทางมาบนเกาะลูซอนได้อย่างไร  

ช่วงเวลาที่มนุษย์พวกนี้อาศัยอยู่ในฟิลิปปินส์นี้จัดอยู่ใน ‘ยุคน้ำแข็ง’ หรือเรียกด้วยชื่อทางธรณีว่า ไพลสโตซีน (Pleistocene) ซึ่งกินเวลาครอบคลุมระหว่าง 2.5 ล้านปี ถึง 12,000 ปีมาแล้ว

 

ปรากฏการณ์ใหญ่ที่สุดในยุคนี้ก็คือ น้ำทะเลลดต่ำลงกว่าระดับน้ำทะเลในปัจจุบันมากถึง 120 เมตร ทำให้พื้นที่ที่เป็นแผ่นดินปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่สูง เกาะหลายแห่งเชื่อมต่อกับผืนแผ่นดิน กลายเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ‘ซุนดา’ (Sunda land) ทำให้คนและสัตว์สามารถเดินทางถึงกันได้ด้วยสะพานแผ่นดินที่เกิดขึ้น ดังนั้น พื้นที่บริเวณอ่าวไทยสมัยโบราณจะไม่มีน้ำ แต่กลายเป็นแผ่นดิน เต็มไปด้วยพืชพันธุ์ สัตว์ และมนุษย์โบราณ

 

ส่วนภูมิอากาศนั้นจะหนาวเย็นกว่าในปัจจุบัน ปกคลุมไปด้วยต้นสน และไม้เมืองหนาว ทำให้พบสัตว์เมืองหนาวหลายชนิด เช่น แพนด้ายักษ์ในเขตภาคเหนือของไทย คาดการณ์กันว่าในเขตอ่าวไทยปัจจุบันนี้เดิมมีสภาพเป็นทุ่งหญ้าแบบสะวันนา (Savannah) (นึกถึงภาพของแอฟริกา)

 

แต่ทว่า อย่างที่เห็นกันในปัจจุบันว่า ฟิลิปปินส์เป็นเกาะอยู่กลางมหาสมุทร ทำให้เรื่องนี้สันนิษฐานได้ 2 ทางคือ อาจมีบางช่วงเวลาที่น้ำทะเลลดต่ำลงมากๆ กว่าที่คาดการณ์กันเอาไว้ที่ระดับ 120 เมตร ทำให้สัตว์ชนิดต่างๆ และมนุษย์สามารถเดินข้ามสะพานแผ่นดินไปได้ ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ต้องค้นคว้ากันต่อไป

 

หรือในอีกทางหนึ่งคือ ก่อนหน้า 709,000 ปีนั้น เกิดสะพานแผ่นดินขึ้นทำให้สัตว์อพยพเคลื่อนย้ายไปก่อน จนเมื่อ 709,000 ปี พวกโฮโม อีเร็กตัส ได้พัฒนาความรู้ของตัวเองขึ้นจนสามารถต่อเรือหรือแพเพื่อเดินทางข้ามทะเลไปได้ และอาศัยอยู่บนเกาะลูซอน

 

ปริศนา ณ ตอนนี้คือ แล้วพวกเขาได้หายไปไหน ซึ่งคงจะต้องรอการค้นคว้าต่อไปในอนาคต

 

แต่เอาเป็นว่า คนกินแรดมานับแสนปีมาแล้วละกัน

 

ทีมนักโบราณคดีนานาชาติที่ขุดค้นพบแรดโบราณ

 

อ้างอิง:

  • Powerpoint เรื่อง Evidence of Early Human Occupation in the Philippines นำเสนอต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2018 เวลา 10.30 น. ณ the National museum of Philippines
  • ขอบคุณข้อมูลจาก Catherine King, Senior Musuem Researcher, MUCH Division
  • T. Ingicco, G. D van den Bergh, C. Jago-on, J.-J. Bahain, M. g. Chacon, N. Amano, H. Forestier, C. king, K. Manalo, S. Nomade, A. Pereira, M. C. Reyes, A.-M. Semah, Q. Shao, P. Voinchet, C. Falguere, P. C. F. Albers, M. Lising, G. Lyras, D. Yurnaldi, P. Rochette, A. Bautista, and J. de Vos. “Earliest Known hominin Activity in the Philippines by 709 Thousand Years Ago”. Available at: goo.gl/ZPrtPm. [Accessed on: 19/5/2018].
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising