×

การกลับมาของตลาดหุ้นเอเชีย ไทย ญี่ปุ่น และจีน

02.06.2022
  • LOADING...
ตลาดหุ้นเอเชีย

ภาพรวมการลงทุนในเดือนพฤษภาคม ยังอยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงบนความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่มาจากปัญหารัสเซียกับยูเครนซึ่งยังคงยืดเยื้อ และปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงันจากการล็อกดาวน์ของจีนภายใต้นโยบาย Zero COVID ขณะที่นักลงทุนยังมีความกังวลต่อการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่อาจจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย 

 

นอกจากนี้ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัว ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ยอดซื้อบ้าน และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ต่างก็เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว อีกทั้งหลายๆ บริษัทในสหรัฐฯ เริ่มมีการปรับลดประมาณการยอดขาย และกำไรปีนี้ลงจากผลกระทบของเงินเฟ้อที่มีต่อต้นทุนการผลิตและยอดขายด้วย 

 

ดัชนี MSCI ACWI ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.6 ในเดือนพฤษภาคม โดยลงในทุกภูมิภาคคือ MSCI Asia ex Japan (ลดลงร้อยละ 5) MSCI Europe (ลดลงร้อยละ 2) และ MSCI USA (ลดลงร้อยละ 4) เป็นผลมาจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่อาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้เม็ดเงินที่ไหลออกจากตลาดหุ้นวิ่งกลับไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย จนทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว โดยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปีปรับลดลงถึงร้อยละ 0.24 เป็นร้อยละ 2.48 และรุ่นอายุ 10 ปีปรับตัวลดลงร้อยละ 0.06 เป็นร้อยละ 2.77 ขณะที่สินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำปรับตัวลงร้อยละ 2.5 ในส่วนของราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากนักลงทุนต่างกังวลต่อการตึงตัวของอุปทานจากการที่รัสเซียจะถูกยุโรปคว่ำบาตรด้านพลังงาน 

 

สำหรับตลาดหุ้นไทยเดือนพฤษภาคมปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 2-3 ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.1 เป็นร้อยละ 2.94 ตามทิศทางเดียวกับ สหรัฐฯ ที่ยังคงเป็นผลมาจากความกังวลเรื่องการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed เพื่อสกัดเงินเฟ้อ นักลงทุนต่างชาติมีสถานะซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทย 1 หมื่นล้านบาท และมีสถานะซื้อสุทธิตลาดตราสารหนี้ไทย 3 หมื่นล้านบาท

 

สำหรับมุมมองของผมในเดือนมิถุนายนนี้ ผมมีมุมมองเดิมกับตลาดหุ้นทั่วโลก นั่นคือการเปิดเมืองยังทำให้ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น และกำไรสุทธิก็ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2565 โดยเฉพาะเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ญี่ปุ่น จีน ไทย และเวียดนาม โดยดัชนีหุ้นในประเทศที่มีน้ำหนักอยู่ในกลุ่มวัฏจักร และกลุ่มหุ้นคุณค่าเป็นหลักจะสามารถทนทานต่อสภาวะแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย มากกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มีน้ำหนักสูงในกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มเติบโตสูง 

 

อย่างไรก็ดี ผมมองว่าการเริ่มกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน จากการทยอยคลายล็อกดาวน์ในเขตเซี่ยงไฮ้ และรัฐบาลจีนเดินหน้าอัดฉีดลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งการเดินหน้าออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเราเห็นได้จากธนาคารกลางจีน (PBoC) ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 5 ปี อยู่ที่ระดับร้อยละ 4.45 จากเดิมที่ระดับร้อยละ 4.6 ซึ่งนับเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ PBoC เริ่มทำการกำหนดอัตราดอกเบี้ยใหม่ในปี 2019 การดำเนินนโยบายเหล่านี้เป็นการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ตลาดหุ้นจีนเริ่มน่าสนใจมากขึ้น 

 

ผมสรุปง่ายๆ คือ ตลาดหุ้นไทยและญี่ปุ่นมีความน่าสนใจจากแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยให้ GDP ของทั้งสองประเทศเติบโต รวมถึงค่าเงินเยนและบาทที่เริ่มกลับมาแข็งค่าหลัง Dollar Index เริ่มอ่อนตัว ขณะที่ตลาดหุ้นจีนกำลังเริ่มกลับมาดึงความน่าสนใจอีกครั้งจากการใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจหลังคลายมาตรการล็อกดาวน์ 

 

ด้านสินทรัพย์ตราสารหนี้ก็ยังคงภาพเดิม คือเน้นที่ตราสารหนี้ระยะสั้น สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงอาจถึงจุดในการเพิ่มพอร์ตการลงทุน หลังมีนักวิเคราะห์เริ่มคาดการณ์ถึงสภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น และ ณ ระดับอัตราผลตอบแทนร้อยละ 3 ของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี นั่นก็เป็นระดับที่นักลงทุนส่วนใหญ่พึงพอใจในการเข้าซื้อพันธบัตรในส่วนของสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ และน้ำมัน ยังคงแนะนำให้มีติดพอร์ตบ้าง โดยเฉพาะน้ำมันเพราะสถานการณ์ รัสเซียกับยูเครน และประเด็นการตอบโต้ทางการค้าต่อรัสเซียยังเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาน้ำมันแกว่งตัวในระดับบนต่อไป และอีกหนึ่งสินทรัพย์คือ REITs ก็ยังมีติดพอร์ตเช่นกันครับ 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising