สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเปิดเผยสถานการณ์น่ากังวล โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกเดือนมิถุนายนดิ่งลงสู่จุดต่ำสุดใหม่ในรอบ 42 เดือน สะท้อนกำลังซื้อที่เปราะบางอย่างยิ่ง ขณะที่ผู้ประกอบการและนักลงทุนชะลอการลงทุน เพื่อรอความชัดเจนจากนโยบายรัฐอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมยื่น 2 ข้อเสนอเร่งด่วนถึงรัฐบาลชุดใหม่เพื่อเร่งฟื้นเศรษฐกิจ
ณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ระบุว่า ครึ่งปีแรกภาคธุรกิจเผชิญแรงกดดันรอบด้าน ทั้งความไม่แน่นอนทางการเมือง กำลังซื้อชะลอตัว และปัจจัยภายนอกอย่างนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ต้องติดตามใกล้ชิด โดยเฉพาะนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ที่ไทยต้องเจรจาให้ลดลงต่ำกว่า 36% เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม, มาเลเซีย, อินโดนีเซียได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดเล็กในธุรกิจที่ต้องเปิดเสรี ได้หรือไม่ ซึ่งมีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยและการจ้างงานในระบบ
รวมถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลางและสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ล้วนส่งผลต่อบรรยากาศการจับจ่ายและความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจโดยรวม
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกในเดือนมิถุนายนยังคงปรับลดลงในทุกองค์ประกอบ ทุกภูมิภาค ทั้งยอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จ ความถี่ในการใช้จ่าย โดยคาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงไตรมาสที่ 3 สะท้อนกำลังซื้อผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวและระมัดระวังในการจับจ่าย
ถึงแม้จะมีสัญญาณบวกจากการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แต่ยังขาดเสถียรภาพทางการเมืองที่ชัดเจน ขณะที่ภาคเอกชนเฝ้ารอการเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ และต้องการเห็นมาตรการฟื้นฟูที่ลงมือปฏิบัติได้จริงในช่วงครึ่งปีหลัง
ทางสมาคมฯ จึงเสนอให้รัฐบาลเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ โดยใช้งบก้อนแรก 1.15 แสนล้านบาท จากกรอบงบประมาณ 1.57 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและการท่องเที่ยว พร้อมจัดสรรงบที่เหลืออีกราว 40,000-50,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและกระตุ้นกำลังซื้อระดับฐานราก
การช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีสัดส่วนมากกว่า 90% ของภาคธุรกิจทั้งหมด และครอบคลุมการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจถึง 50-70% ซึ่งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจะสามารถช่วยพยุงสถานการณ์ได้
ข้อเสนอสำคัญที่สุดคือการผลักดันโครงการ ‘Easy e-Receipt เฟส 2’ ในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคม โดยเสนอให้เพิ่มวงเงินเป็น 100,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบได้มากกว่า 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ทำได้ราว 7 หมื่นล้านบาท
อีกหนึ่งแกนหลักคือการผลักดันให้ไทยเป็น ‘Shopping Paradise’ โดยเสนอให้ทดลองมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ร้านค้าทันที สำหรับยอดซื้อขั้นต่ำ 3,000 บาท และลดภาษีนำเข้าสินค้าแฟชั่นและเครื่องสำอางจากปัจจุบันที่สูงถึง 20-30% เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นในภูมิภาคและลดแรงจูงใจในการซื้อสินค้าจากตลาดสีเทา
ข้อเสนออื่นๆ ยังรวมถึงการพิจารณาจัดตั้ง ‘เขตปลอดภาษี’ (Free Tax Zone) ในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญเช่น ภูเก็ต, การจัดมหกรรมลดราคาทั่วประเทศ และการขยายระยะเวลาวีซ่าของนักท่องเที่ยวรัสเซียจาก 30 วันเป็น 45 วัน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ
ขณะเดียวกัน สมาคมฯ สนับสนุนการดำเนินการของภาครัฐในการปราบปรามธุรกิจ ‘นอมินี’ ต่างชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มร้านอาหาร โรงแรม และซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงการคุมเข้มสินค้านำเข้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยมองว่าเป็นทิศทางที่ถูกต้องและขอให้ดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่อง