×

รู้ทัน ‘Retail CBDC’ ทางเลือกใหม่สำหรับการชำระเงินของประชาชนในยุคดิจิทัล

17.12.2022
  • LOADING...

ในรอบปี 2565 เชื่อว่าข่าวการล่มสลายของการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นเหรียญ LUNA ในช่วงเดือนพฤษภาคม หรือล่าสุดการล้มละลายของ FTX ซึ่งเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เคยมีมูลค่าการซื้อขายเป็นอันดับ 2 ของโลก ทำให้ความเชื่อมั่นต่อตลาดคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ในภาพรวมถูกสั่นคลอนไปไม่น้อย รวมทั้งนักลงทุนไทยและประชาชนทั่วไปที่สนใจติดตามข่าว ด้วยความที่ในอนาคตคนไทยจะได้สัมผัสกับเงินบาทดิจิทัลซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งท้ายที่สุดเมื่อมีการประกาศใช้แล้วจะสร้างความเชื่อมั่น หรือจะมีความเสี่ยงเหมือนคริปโตหรือไม่ อย่างไร มีความเกี่ยวข้อง เหมือนหรือแตกต่างอย่างไร ในที่นี้ขออธิบายง่ายๆให้เข้าใจ ตลอดจนผลกระทบต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจการเงิน 

 

สกุลเงินดิจิทัลคือสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบหนึ่งที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกับสกุลเงินทั่วไป (Fiat Currency) เพียงแต่ไม่สามารถจับต้องได้เหมือนเหรียญหรือธนบัตรทั่วไป โดยได้มีการพัฒนาระบบอยู่บนเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการเข้ารหัสคอมพิวเตอร์ ทำให้ยากต่อการปลอมแปลง แก้ไข หรือทำลายข้อมูล ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัยสูง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ สกุลเงินดิจิทัล หรือเรียกสั้นๆ ว่าคริปโต ที่ออกโดยภาคเอกชน และสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศต่างๆ (Central Bank Digital Currency: CBDC) 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ตัวอย่างคริปโตที่เป็นที่รู้จักดี ได้แก่ Bitcoin, Ethereum, Ripple โดยมูลค่าเกิดจากดีมานด์และซัพพลาย ซึ่งมีความนิยมแตกต่างกันไป ดังนั้นราคาต่อหน่วยจึงมีความผันผวนและมีความอ่อนไหว ที่สำคัญคริปโตไม่ได้ถือว่าเป็นเงินตราตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงไม่ใช่เงินที่ทางการไทยรับรองตามกฎหมาย แต่ก็มีธุรกิจหลายแห่งของไทยเริ่มนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับคริปโตมาใช้เพื่อปรับตัวรับกับโลกการเงินที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เช่น การรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วย Bitcoin หรือสกุลเงินดิจิทัลอื่น 

 

จากเงินกระดาษสู่สกุลเงินดิจิทัล ที่มีคุณสมบัติในการเป็นสื่อกลางเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการได้ตามกฎหมาย โดยมูลค่าจะหนุนด้วยสินทรัพย์ที่มีมูลค่า เช่น เงินสกุลของประเทศต่างๆ ในส่วน CBDC ของไทยคือ หนุนหลังด้วยเงินบาท ซึ่งเป็นข้อแตกต่างที่ชัดเจนจากคริปโต แม้จะมีคริปโตบางประเภทที่เรียกว่า Stablecoin จะมีเงินสกุลปกติ หลักทรัพย์ หรือทรัพย์สิน เช่น ทองคำ ค้ำประกันให้มูลค่ามีความไม่แน่นอนลดลงบ้าง แต่ก็ยังไม่มีการรองรับให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย 

 

ความคืบหน้าการพัฒนา CBDC ของไทย โดย CBDC ที่ ธปท. ได้ศึกษาและพัฒนาขึ้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ การทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) และสำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (Retail CBDC) โดยเริ่มต้นทดสอบระบบการชำระเงินต้นแบบในระดับสถาบันการเงิน (Wholesale) ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่งมาตั้งแต่ปี 2561 ภายใต้ชื่อโครงการ ‘อินทนนท์’ โดย ธปท. อยู่ระหว่างศึกษา ออกแบบ และพัฒนาระบบต้นแบบ CBDC ร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดการพัฒนาจากโครงการอินทนนท์ โดยเริ่มจากการเชื่อมต่อระบบการบริหารการจัดซื้อและการชำระเงินระหว่างบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กับคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งในอนาคตเมื่อประกาศใช้ในวงกว้างคาดว่าจะเป็นประโยชน์ช่วยให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในห่วงโซ่อุปทานมีต้นทุนในการโอนชำระเงินเงินต่ำลง พร้อมช่วยเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจด้วยเครือข่ายการชำระเงินที่หลากหลาย โปร่งใส และสามารถติดตามได้แบบเรียลไทม์

 

สำหรับในส่วน Retail CBDC หรือบาทดิจิทัล ที่อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาและทดสอบการใช้ ถูกออกแบบเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้งาน โดยไม่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อสถาบันการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวม โดยหลักการบาทดิจิทัลในเบื้องต้นมูลค่าจะถูกหนุนหลังด้วยเงินบาทในอัตราส่วน 1:1 นั่นหมายความว่าทุกๆ การออกเงิน 100 บาทดิจิทัล จะต้องมี 100 บาทเก็บสำรองเอาไว้ในบัญชี ธปท. อยู่เสมอ โดยเงินบาทดิจิทัลถูกออกแบบมาเพื่อให้ประชาชนนำไปจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันไม่ต่างจากการใช้เงินสด การโอนผ่านโมบายล์แบงกิ้ง หรือเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เราใช้บนแอปพลิเคชันต่างๆ หากใครต้องการเงินบาทดิจิทัล เพียงแค่นำเงินสดหรือเงินฝากไปแลกกับสถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการทางการเงินที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. ซึ่งนับเป็นวิธีการใช้ที่ไม่มีความซับซ้อน 

 

นอกจากนี้ รูปแบบที่ ธปท. มองว่า Retail CBDC จะเกิดประโยชน์สูงสุด แต่ต้องไม่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อการส่งผ่านนโยบายการเงิน การทำงานของระบบสถาบันการเงิน และเสถียรภาพโดยรวมของภาคการเงินไทย ดังนั้น Retail CBDC ที่จะนำมาใช้จะมีรูปแบบหรือลักษณะ 1. คล้ายเงินสด และไม่จ่ายดอกเบี้ย 2. ยังคงอาศัยตัวกลาง เช่น สถาบันการเงิน ในการแลกเปลี่ยน Retail CBDC กับประชาชน และ 3. มีเงื่อนไข หรือระยะเวลาสำหรับการแลกเปลี่ยน Retail CBDC จำนวนมากๆ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันกับเงินฝาก หรือเกิดการโยกย้ายเงินฝากปริมาณมากอย่างรวดเร็วจากสถาบันการเงิน ซึ่งจะกระทบต่อการทำหน้าที่ตัวกลางในการรับเงินฝากและให้กู้ยืม รวมถึงการบริหารสภาพคล่องของระบบสถาบันการเงิน

 

ประโยชน์ของ Retail CBDC ต่อประชาชน ระบบการเงินและเศรษฐกิจไทย เชื่อว่าเมื่อผลการทดสอบการใช้ Retail CBDC ของ ธปท. อยู่ในระดับที่มั่นใจในเรื่องของระบบและรูปแบบต่างๆ การดูแลความปลอดภัยทางด้านเทคโนโลยีที่นำมาใช้ และที่สำคัญที่ต้องไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินแล้ว ในอนาคตประชาชนคนไทยก็จะได้ใช้เงินบาทดิจิทัลเป็นทางเลือกหนึ่งในการชำระเงิน ส่วนความนิยมจะถูกทดแทนมากกว่าเงินสด และ E-Payment ในปัจจุบันหรือไม่ ในระยะแรกน่าจะเป็นการเริ่มสร้างความคุ้นเคย ปรับตัวค่อยเป็นค่อยไป และ Retail CBDC จะเข้ามาเป็นอีกทางเลือกในการชำระเงินที่มีความปลอดภัยให้กับประชาชน โดยอาจถูกใช้ทดแทนเงินสด และ E-Money ได้บางส่วนในระยะต่อไป เพราะการเลือกใช้ช่องทางใดขึ้นอยู่กับความต้องการ วัตถุประสงค์ ตลอดจนความพร้อมของผู้ใช้เป็นสำคัญ 

 

ทั้งนี้ จากจุดเด่นของ Retail CBDC ที่สามารถพัฒนาต่อยอดธุรกรรมได้เพิ่มเติม สร้างสรรค์ประสบการณ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ โดยสร้างเงื่อนไขให้ตรงตามวัตถุประสงค์ ช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่สะดวกและมีทางเลือกที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น และทำให้ Retail CBDC อาจช่วยสนับสนุนนโยบายภาครัฐให้ใช้จ่ายตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยภาครัฐสามารถใช้ข้อมูลของผู้ใช้ Retail CBDC ในการดำเนินนโยบายการคลังให้ตรงจุด เช่น มาตรการเยียวยา หรืออัดฉีดเงินเข้าสู่กระเป๋าเงินของประชาชนโดยตรง เร่งให้เม็ดเงินภาครัฐลงสู่ภาคเศรษฐกิจจริงอย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ 

 

การพัฒนา Retail CBDC จึงถือเป็นทางเลือกในการชำระเงินที่ปลอดภัย ประชาชนสามารถมั่นใจว่าไม่ใช่การเก็งกำไร และเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินในยุคดิจิทัล และยังเปิดกว้างต่อการเข้าถึงการแข่งขันในอนาคต ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจการเงินในหลายด้าน อย่างไรก็ดี การสื่อสารให้ความรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการใช้ Retail CBDC เป็นสิ่งสำคัญก่อนที่จะนำมาใช้อย่างเป็นทางการ เพื่อสร้างความมั่นใจและเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X