×

รัฐสภา มีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ก้าวไกลโหวตคว่ำ ชี้ล้าหลัง รวมศูนย์อำนาจ ไม่ไว้วางใจครู

โดย THE STANDARD TEAM
09.11.2021
  • LOADING...
ตรีนุช เทียนทอง

วันนี้ (9 พฤศจิกายน) ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในฐานะประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาเรื่องด่วน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ต่อจากการประชุมร่วมรัฐสภาครั้งที่ 7 ในสมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา 

 

ชวนแจ้งต่อที่ประชุมว่า การประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โดยมี ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แถลงหลักการและเหตุผลไปแล้ว ส่วนสมาชิกก็อภิปรายให้ความเห็น 70 คน ต่อมาประธานรัฐสภาสั่งปิดอภิปรายและปิดประชุม เพื่อมาลงมติในการประชุมครั้งนี้ 

 

จากนั้น ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ได้ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ไปด้วยคะแนน 435 ต่อ 30 งดออกเสียง 2 ไม่ออกเสียง 1 โดยให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. จำนวน 49 คน และแปรญัตติ 15 วัน 

 

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นไปตามมาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ ซึ่งต้องมีการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษามีคุณภาพ และได้มาตรฐานสากล และจำเป็นต้องสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต ที่จะรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคเอกชนและภาคประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษายกระดับคุณภาพการศึกษา 

 

ประกอบกับมาตรา 258 และมาตรา 261 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านการศึกษา โดยเฉพาะให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ซึ่งเป็นวิชาชีพชั้นสูงให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน จึงสมควรมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และแนวทางการบริหารและการจัดการศึกษาในอนาคต

 

ด้านพรรคก้าวไกล นำโดย ณัฐวุฒิ บัวประทุม, พล.ต.ต. สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล, รศ.ดร.สุรวาท ทองบุ และมานพ คีรีภูวดล ส.ส. พรรคก้าวไกล แถลงร่วมกันว่า การประชุมวาระสำคัญของรัฐสภา ในประเด็นแรกคือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ สำหรับร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาตินั้นได้มีการอภิปรายอย่างเป็นที่เรียบร้อยแล้วในช่วงปลายของประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ผ่านมา แน่นอนว่าจุดยืนของพรรคก้าวไกลต่อร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว คือเราพบเงื่อนไขหรือเงื่อนงำในร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ทั้งหมด 4 ประเด็น

 

ประเด็นแรก ในเรื่องของหลักการ ในการแก้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้นั้น จะเป็นการปฏิรูปการศึกษา เป็นการปฏิรูปไปถึงในส่วนของนักเรียนที่สำคัญที่สุดของระบบการศึกษาหรือไม่ นั่นคือมีปัญหาในเชิงหลักการ

 

ประเด็นที่สอง ในเรื่องของกระบวนการยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของครู บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนนักเรียนเป็นคนที่สำคัญที่สุดในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนั้นหรือไม่

 

ประเด็นที่สาม ในเรื่องของเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่เข้าใจปรัชญาของการศึกษา คือนักเรียนที่เป็นส่วนสำคัญของการศึกษาหรือไม่

 

ประเด็นสุดท้ายคือ พรรคก้าวไกลรู้สึกเสียใจที่มีเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อมากกว่า 20 คน ไม่ว่าจะเป็นร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล หรือร่างของพรรคการเมืองอื่นหลายฉบับ ถูกกีดกันไม่ให้ร่างกฎหมายเข้าสู่การประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ ทำให้กระบวนการในการประชุมไม่สมบูรณ์

 

ด้านสุรวาทกล่าวว่า ตนในฐานะประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร โดยตนได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวในทุกตัวอักษร ทุกมาตรา และทราบดีว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เกิดขึ้นจากในสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาขึ้นมา เป็นไปในลักษณะที่อาศัยหลักของ คสช. ที่เป็นการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ และรวมศูนย์อำนาจใช้กฎหมายในการควบคุมปกครอง ใช้กฎหมายในการควบคุมปกครองคนเท่านั้น

 

“การศึกษาเป็นการพัฒนาคน เพื่อให้คนไปพัฒนาชาติ หากเราต้องการให้ประเทศไปในทิศทางไหนก็ต้องกำหนดปรัชญาทางการศึกษาไปในทิศทางนั้น วันนี้โลกมันเปลี่ยนแปลง มีการแข่งขันกันสูง ทั้งในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งเชิงกายภาพด้วย ซึ่งเราต้องการให้คนไทยที่จะเป็นพลเมืองโลก อยู่ในสังคมโลกสามารถแข่งขันกับเขาได้ ดังนั้นเราจะต้องส่งเสริมให้นักเรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีอิสระที่จะคิด มีเสรีภาพทางความคิดที่สร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จึงจะอยู่ในสังคมโลก แข่งขันกับสังคมโลกนี้ได้” สุรวาทระบุ

 

สุรวาทกล่าวต่อไปว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว เป็นไปเพื่อรัฐชาตินิยม เป็นไปเพื่อการปกครองให้เชื่อ ให้เชื่อง มากกว่าที่จะให้ริเริ่มสร้างสรรค์ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะในเรื่องของวิทยาการ เทคโนโลยีมันก้าวหน้าไปมาก ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังไม่ได้เปิดโอกาสให้มีความยืดหยุ่น ผสมผสาน และก้าวหน้าไปตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทั้งในระบบการศึกษา การจัดการศึกษา แหล่งเรียนรู้ทั้งหลาย รวมทั้งปิดกั้นหรือกดทับจำกัดเสรีภาพในการเรียนรู้ ลงรายละเอียดจนเกินไป ในลักษณะที่เชื่อในความรู้เชิงวิชาการ ที่อาจจะมีข้อขัดแย้งและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด แต่เอามากำหนดไว้เป็นกฎหมาย เช่น การกำหนดอายุแต่ละช่วงในการเรียนรู้ ซึ่งแท้จริงในปัจจุบันพัฒนาการทางการเรียนรู้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

 

ที่สำคัญคือ การลดทอนและด้อยค่าวิชาชีพครูลง แม้ว่าครูจะออกมาคัดค้านจำนวนมาก และมีการแก้ไขเพียงโปะหน้า แต่เนื้อข้างในไม่ได้รับการแก้ไข การที่ทำให้วิชาชีพเป็นเพียงองค์กรครูเท่านั้น โดยเฉพาะครูของรัฐก็ไม่ได้รับรองว่าจะได้เป็นข้าราชการ เพียงแต่ระบุว่าให้รับค่าจ้างเงินเดือนเทียบเคียงกับข้าราชการ ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับเดิมระบุว่า ค่าจ้าง ค่าตอบแทนของครูจะต้องควรค่าและเหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง แต่ว่าเหตุใด พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่ควรรักษาสิ่งที่ดีอยู่แล้วหรือเพิ่มพูนก้าวหน้าขึ้น กลับยิ่งถอยหลัง

 

สุรวาทกล่าวต่ออีกว่า เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ครอบคลุมการจัดการศึกษาทั้งหมด ทั้งการจัดการศึกษาในกระทรวง ทบวง กรมอื่นๆ ก็ไม่มีการเปิดแนวทางไว้ว่าจะเป็นอย่างไร และขาดการมีส่วนร่วม ก่อนหน้านี้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะถูกเสนอเข้าที่ประชุมในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ถูกคัดค้านโดยองค์กรครู และนักเรียนหลายกลุ่มออกมาคัดค้าน แต่ก็ไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขในประเด็นที่สำคัญ ไปแก้เพียงเล็กน้อย รวมทั้งตนเองเป็นประธานอนุกรรมาธิการที่พิจารณาเรื่องนี้ ก็ได้มีการพัฒนาและแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ที่แก้ไขปรับปรุงแล้วเข้าสู่สภา ซึ่งพรรคการเมืองอื่นก็นำเอากฎหมายร่างเดียวกันนี้ไปเสนอ แต่กลับถูกนายกรัฐมนตรีตีตก เป็นเรื่องกังวลมากหากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะได้รับการพิจารณาในวาระรับหลักการ และคงจะยุ่งยาก เป็นพระราชบัญญัติที่ถอยหลังกว่า พ.ศ. 2542 ด้วยซ้ำ แม้ว่าจะมีข้อดีบางประการแต่ยังคงย้อนแย้งกันอยู่

 

ขณะที่วิโรจน์กล่าวว่า พรรคก้าวไกลไม่พบการให้ความสำคัญเรื่องสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เลย แม้แต่ครูผู้สอนก็ไม่มีสิทธิเสรีภาพในวิชาการ ไม่มีอิสรภาพในการจัดระบบการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่น เป็นร่าง พ.ร.บ.ที่ไม่ไว้วางใจครู นอกจากไม่เปิดกว้างยังกลายเป็นโซ่ตรวนที่ให้ขยับได้เพียงผู้มีอำนาจต้องการเท่านั้น นอกจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่มีการกระจายอำนาจ ซ้ำร้ายยังพยายามรวมศูนย์ทำหน้าที่แทนคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ

 

พรรคก้าวไกลจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า จะไม่รับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากเห็นว่ามีความล้าหลังกว่า พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ. 2542

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising