งานวิจัยผลึกเหลวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้ความร่วมมือกับ NASA และหน่วยงานต่างๆ เตรียมเดินทางขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติกับภารกิจ CRS-32 ของบริษัท SpaceX ในเดือนกุมภาพันธ์ 2025
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะวิจัยโครงการการทดลองผลึกเหลวในอวกาศ หรือ TLC (Thailand Liquid Crystals in Space) นำโดย รศ.ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม หัวหน้าโครงการ ได้จัดงานประชุมอัปเดตความคืบหน้าของงานวิจัยดังกล่าว โดยมี ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และตัวแทนจาก NASA, ISS National Laboratory, GISTDA และบริษัท Nanoracks ร่วมชี้แจงรายละเอียดโครงการ
โรเบิร์ต แฮมป์ตัน ผู้อำนวยการด้านเพย์โหลดสำหรับสถานีอวกาศนานาชาติของ ISS National Laboratory เปิดเผยกับทีมงาน THE STANDARD ว่า การทดลองผลึกเหลวของไทยมีความคืบหน้าและความพร้อมเป็นอย่างดีมาก โดยมีความก้าวหน้าในขั้นตอนต่างๆ รวดเร็วกว่าแผนการที่วางไว้ ซึ่งเป็นหนึ่งในการทดลองที่เขาตื่นเต้นและเฝ้ารอการเดินทางขึ้นสู่อวกาศ
ด้าน รศ.ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เป็นหัวหน้าโครงการ ให้ข้อมูลว่า “การทำโครงการอวกาศเป็นเรื่องที่ใช้เวลาและความทุ่มเทมาก ทีมงานของเราทำงานแทบตลอดเวลา ตั้งแต่เช้าตรู่ยันค่ำดึก ต้องตื่นอยู่เกือบตลอดเวลา ทำให้ทีมพวกเรามีความพร้อมและทุกคนตื่นเต้นมากกับโครงการนี้”
สำหรับการทดลองผลึกเหลว หรือ Liquid Crystal บนอวกาศ เป็นการตรวจดูผลของสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำที่อาจช่วยลดปริมาณจุดบกพร่องในผลึกเหลวที่อาจนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อต่อยอดสำหรับใช้งานได้ทั้งอุตสาหกรรมการผลิตบนโลก และพัฒนาเป็นระบบแสดงผลบนหมวกของนักบินอวกาศรุ่นถัดไปได้
งานวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม หรือ บพค. เช่นเดียวกับความร่วมมือจาก GISTDA หรือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ
ก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ร่วมกับ NASA เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2021 นับเป็น MOU แรกที่ทาง NASA ได้ลงนามร่วมกับการทดลองอวกาศจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาโครงการ TLC จวบจนปัจจุบัน
หากไม่มีอะไรผิดพลาด การทดลองดังกล่าวจะได้ออกเดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS กับภารกิจขนส่งเสบียง CRS-32 บนยาน Dragon ของบริษัท SpaceX ซึ่งมีกำหนดขึ้นบินในเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ก่อนที่นักบินอวกาศบน ISS จะเป็นผู้ดำเนินการทดลองในลำดับถัดไป
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่: https://thestandard.co/thailand-liquid-crystals-in-space/