Kantar บริษัทวิจัยการตลาดระดับโลก เผยผลสำรวจพฤติกรรมสุขภาพผู้บริโภคทั่วโลกกว่า 103,000 คนใน 35 ประเทศ รวมถึงไทย พบว่าผู้คนส่วนใหญ่ ‘รู้’ แต่ ‘ไม่ทำ’ เมื่อพูดถึงการดูแลสุขภาพ โดย 78% เชื่อว่าต้องรับผิดชอบสุขภาพตัวเอง แต่มีเพียงครึ่งเดียวที่ลงมือทำจริง
ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่าความเครียดเป็น ‘ตัวร้าย’ สำคัญที่บั่นทอนสุขภาพ โดย 61% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าความเครียดส่งผลเสียต่อสุขภาพและยากจะหลุดพ้น นำไปสู่พฤติกรรมการกินที่ไม่ดีและปัญหาการควบคุมน้ำหนัก กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่เพิ่มความเครียดมากขึ้นไปอีก
แม้ผู้คนจะรู้ว่าการนอนหลับที่ดีคือกุญแจสำคัญในการจัดการความเครียด แต่มีเพียง 63% เท่านั้นที่นอนหลับอย่างมีคุณภาพเป็นประจำ สาเหตุสำคัญมาจากการใช้เวลาหน้าจอมากเกินไป โดยมีเพียง 1 ใน 3 ที่พยายามลดเวลาหน้าจอ แม้จะบอกว่าอยากลดการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลก็ตาม
ในด้านการควบคุมน้ำหนัก พบว่า 38% ระบุว่าเป็นปัญหาที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยวิธีแบบดั้งเดิมอย่างการควบคุมแคลอรีและออกกำลังกายยังคงได้รับความนิยม
แต่เทรนด์ใหม่อย่างแอปติดตามอาหารเริ่มได้รับความสนใจ มีผู้ใช้ถึง 8% ทั่วโลก ขณะที่ยาลดน้ำหนักกลุ่ม GLP-1 อย่าง Ozempic และ Wegovy แม้จะมีกระแสในโซเชียล แต่มีผู้ใช้เพียง 3% เนื่องจากราคาสูงและการเข้าถึงที่จำกัด
ที่น่าสนใจคือพฤติกรรม ‘ปากว่าตาขยิบ’ ในเรื่องอาหารแปรรูปและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล แม้ 62% จะบอกว่าอาหารแปรรูปอันตราย แต่มีเพียง 37% ที่หลีกเลี่ยง
ส่วนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 73% บอกว่าไม่ดี แต่มีไม่ถึงครึ่งที่ลดการบริโภค สาเหตุสำคัญมาจากการเข้าถึงง่ายของขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มอัดลมที่มีอัตราเข้าถึงสูงถึง 90% และ 77% ตามลำดับ
อุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนไม่สามารถดูแลสุขภาพได้ดีคือเรื่องค่าใช้จ่าย โดย 52% ระบุว่าราคาสินค้าเพื่อสุขภาพที่แพงเกินไปเป็นปัญหาหลัก นอกจากนี้ความสับสนในข้อมูลผลิตภัณฑ์และความไม่น่าเชื่อถือก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ
ชีวานนท์ ปิยะพิทักษ์สกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดอาวุโส ประเทศไทยและมาเลเซีย Kantar Worldpanel แนะนำว่าแบรนด์ต่างๆ มีโอกาสสำคัญในการช่วยให้ผู้บริโภคบรรลุเป้าหมายสุขภาพด้วยการแก้ปัญหาเรื่องราคา เพิ่มความสะดวก สร้างความโปร่งใสในข้อมูล และตอบโจทย์ความต้องการทางอารมณ์
“สุขภาพไม่ใช่การห้ามตัวเองไปทั้งหมด แต่เป็นการหาสมดุลระหว่างสุขภาพและการใช้ชีวิตที่สนุกสนาน” เขากล่าว พร้อมเสนอแนะให้แบรนด์เน้นการให้ความรู้และสร้างแคมเปญที่เข้าใจง่าย เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น