×

ผลวิจัยชี้ 1 ใน 3 ผู้รอดชีวิตจากโควิด-19 มีอาการทางระบบประสาทหรือปัญหาสุขภาพจิตระยะยาว

07.04.2021
  • LOADING...
ผลวิจัยชี้ 1 ใน 3 ผู้รอดชีวิตจากโควิด-19 มีอาการทางระบบประสาทหรือปัญหาสุขภาพจิตระยะยาว

รายงานผลการศึกษาวิจัยที่เผยแพร่ผ่านวารสารการแพทย์ Lancet Psychiatry เปิดเผยผลกระทบที่เกิดกับผู้รอดชีวิตจากโรคโควิด-19 พบว่า กว่า 1 ใน 3 มีอาการในระบบประสาทหรือภาวะปัญหาสุขภาพจิตระยะยาว

 

ผลวิจัยดังกล่าวสำรวจจากกลุ่มผู้รอดชีวิตจากโควิด-19 จำนวน 236,379 ราย ซึ่ง 34% ตรวจพบอาการทางระบบประสาทและจิตเวชในช่วง 6 เดือนที่ติดเชื้อ ซึ่งอาการทั่วไปที่พบได้มากที่สุดคืออาการวิตกกังวลที่พบราว 17% ของผู้ป่วยที่รับการรักษาโควิด-19 ตามด้วยอาการผิดปกติทางอารมณ์ที่พบใน 14% ของผู้ป่วย

 

ขณะที่ผลกระทบต่อระบบประสาทหรือโรคทางสมอง (Brain Disease) นั้นร้ายแรงมากกว่าสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่รับการรักษาในโรงพยาบาล แต่เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล

 

“อัตราดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อความรุนแรงของโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น หากเราดูจากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะพบว่า อัตราความรุนแรง (ของโรคทางสมอง) เพิ่มขึ้นเป็น 39%” แม็กซีม ทาเก็ต ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และหนึ่งในผู้เขียนรายงานผลวิจัย ระบุ

 

สำหรับผลวิจัยฉบับนี้ถือเป็นการศึกษาวิจัยขนาดใหญ่ที่สุดที่เกี่ยวข้องกับบันทึกด้านสุขภาพของผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยในสหรัฐฯ โดยทีมนักวิจัยมีการศึกษาเปรียบเทียบกับบันทึกสุขภาพของผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ ในกรอบเวลาเดียวกัน

 

รายงานผลวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า ผู้ป่วยโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะเผชิญอาการป่วยด้านจิตเวชหรือระบบประสาทเพิ่มขึ้นถึง 44% เมื่อเทียบกับผู้ที่หายป่วยจากโรคไข้หวัดใหญ่ และหากเทียบกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจอื่นๆ จะมีความเสี่ยงมากกว่าราว 16% 

 

อีกทั้งผู้ป่วยโควิด-19 ราว 1 ใน 50 คน จะประสบอาการโรคหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งเป็นลิ่มเลือดที่ส่งผลกระทบต่อสมอง

 

ทั้งนี้ ผลการวิจัยยังไม่พบว่าโรคโควิด-19 นั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการทางระบบประสาททั้งหมด

 

“การค้นพบเชิงลบที่สำคัญ 2 ประการ เกี่ยวข้องกับโรคพาร์กินสันและโรค Guillain-barré (โรคที่เกิดการอักเสบของเส้นประสาททำให้แขนขาอ่อนแรง) อาการทั้งสองนั้นเป็นภาวะทางระบบประสาทที่เราทราบว่าบางครั้งอาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัส เราไม่พบว่ามันเกิดได้มากขึ้นหลังจากการติดโควิด -19 และหลังจากการติดเชื้อโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ที่เราศึกษา” ทาเก็ตกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญยังตั้งข้อสังเกตถึงข้อจำกัดในการศึกษาวิจัยฉบับนี้ที่ใช้ข้อมูลการดูแลสุขภาพประจำวันมากกว่าข้อมูลวิจัย ซึ่งอาจทำให้พลาดข้อมูลการวินิจฉัย และอาจทำให้ผลวิจัยนั้นไม่ถูกต้องสมบูรณ์

 

ขณะที่ความสำคัญของการตรวจวินิจฉัยอาการนั้นอาจก่อให้เกิดความแตกต่างต่อผลสำรวจภาวะอาการทางระบบประสาทและจิตเวช เนื่องจากผู้ป่วยโควิด-19 อาจได้รับการตรวจวินิจฉัยด้านระบบประสาทและจิตเวชมากกว่า เพราะต้องมีการติดตามดูแลทางการแพทย์ที่มากกว่า เมื่อเทียบกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจอื่นๆ

 

แต่ถึงกระนั้น สิ่งหนึ่งที่ผลการศึกษาวิจัยฉบับนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนคือ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะกลายเป็นภาระในระยะยาวต่อระบบสาธารณสุข

 

“แม้ว่าความเสี่ยงส่วนบุคคลสำหรับความผิดปกติที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะมีเพียงเล็กน้อย แต่ผลกระทบต่อประชากรทั้งหมดอาจมีความสำคัญต่อระบบการดูแลสุขภาพและสังคม เนื่องจากขนาดของการแพร่ระบาดและภาวะอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นอาการเรื้อรัง ด้วยเหตุนี้ระบบบริการสุขภาพจึงจำเป็นต้องได้รับการจัดหาทรัพยากร เพื่อรับมือกับความจำเป็นที่คาดการณ์ไว้ ทั้งในระดับบริการแบบปฐมภูมิและทุติยภูมิ” พอล แฮร์ริสัน ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และผู้เขียนนำในผลการวิจัย กล่าว

 

ภาพ: Donato Fasano / Getty Images

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X