×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: ย้ำจุดยืนไม่ใช่พวกเหยียดผิว, โจมตีคู่แข่งเป็นสังคมนิยม: 5 ข้อสรุปจากที่ประชุมใหญ่รีพับลิกัน

28.08.2020
  • LOADING...
Donald Trump Republican

HIGHLIGHTS

  • ในการประชุมใหญ่พรรครีพับลิกัน เราจะเห็นได้ว่าทีมทรัมป์ได้เปลี่ยนกลยุทธ์โดยเน้นการโจมตีไปที่นโยบาย แทนที่จะเป็นคาแรกเตอร์ของไบเดน ทรัมป์พยายามชี้ให้ชาวอเมริกันเห็นว่า แม้ไบเดนเองจะพูดว่าตัวเองเป็นพวกกลางซ้าย แต่คนรอบตัวของไบเดนเป็นพวกซ้ายสุดโต่งทั้งนั้น
  • ดังนั้นรีพับลิกันจึงฉายภาพให้เห็นว่า การเลือก โจ ไบเดน เท่ากับการสนับสนุนนโยบายสังคมนิยม
  • ในขณะที่เดโมแครตเลือกข้างว่าจะอยู่ข้างกลุ่ม Black Lives Matter รีพับลิกันก็แสดงออกให้คนอเมริกันเห็นอย่างชัดเจนเช่นกันว่าพวกเขาเลือกที่จะอยู่ข้างตำรวจ

ถัดมา 1 สัปดาห์จากการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครต ก็ถึงคิวของพรรครีพับลิกันบ้าง โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (27 สิงหาคม) ที่ประชุมของพรรคได้ลงคะแนนรับรองให้ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นตัวแทนของพรรคเพื่อลงชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีอีกหนึ่งสมัยอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็เป็นไปตามความคาดหมาย 

 

แต่ไฮไลต์สำคัญคือ ตลอด 4 คืนของการประชุมพรรค ได้จัดให้มีการกล่าวสุนทรพจน์และถ่ายทอดสดออกอากาศไปทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และหาคะแนนเสียงให้กับทรัมป์ 

 

และนี่คือบทสรุปจากที่ประชุม 4 คืนที่ผ่านมา ซึ่งบอกอะไรเราเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และนโยบายที่พรรคจะใช้หาเสียงเพื่อขับเคี่ยวกับ โจ ไบเดน ของเดโมแครต 

 

 

1. รีพับลิกันไม่ใช่พรรคของคนเหยียดผิว

พรรครีพับลิกันพยายามตอบโต้ข้อกล่าวหาของพรรคเดโมแครตที่บอกว่า รีพับลิกันและทรัมป์เป็นพวกเหยียดผิวและต้อนรับแต่คนผิวขาว ด้วยการเปิดโอกาสให้คนผิวสีของพรรคจำนวนมากได้มีโอกาสพูดบนเวที เช่น นิกกี เฮลีย์ อดีตผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนา และอดีตทูตของสหรัฐอเมริกาประจำองค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นคนอเมริกันเชื้อสายอินเดีย, ทิม สกอตต์ ส.ว. จากรัฐเซาท์แคโรไลนา ที่เป็นชายผิวดำ, แดเนียล คาเมรอน อัยการสูงสุดประจำรัฐเคนทักกี ที่เป็นชายผิวดำ, เบน คาร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นชายผิวดำ และ เจเน็ต นูเนซ รองผู้ว่าการรัฐฟลอริดา ที่เป็นสตรีชาวฮิสแปนิก

 

นักการเมืองเหล่านี้พูดตรงกันว่า พรรครีพับลิกันไม่ได้เหยียดคนผิวสีเลย เพราะพรรคมีวัฒนธรรมที่จะมองผ่านผิวสีไปที่ความสามารถภายใน ทำให้นักการเมืองผิวสีอย่างพวกเขามีโอกาสมารับตำแหน่งทรงเกียรติแบบนี้ได้ ยิ่งในส่วนของ ส.ว. สกอตต์ สุนทรพจน์ของเขาไปไกลกว่านั้น เขาพยายามชี้ให้เห็นว่า ไบเดนต่างหากที่เป็นพวกเหยียดผิว ทั้งจากคำพูดของไบเดนที่เคยพูดว่าคนดำที่ไม่โหวตให้เดโมแครตนั้นไม่ใช่คนดำที่แท้จริง รวมทั้งโจมตีผลงานในอดีตที่ไบเดนเป็นตัวตั้งตัวตีในการผลักดันกฎหมายปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (Crime Bill of 1994) ที่เน้นความเด็ดขาดในการจับกุมและดำเนินคดีกับอาชญากร รวมถึงการเพิ่มโทษจำคุก จนเป็นเหตุให้คนผิวดำต้องโทษจำคุกเพิ่มนับล้านคน

 

2. โหวตให้ไบเดน = โหวตให้สังคมนิยม

ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ทรัมป์พยายามโจมตีไบเดนว่าเป็นคนอายุมากที่ไม่มีกำลังวังชาแล้ว (Sleepy Joe) และมีอาการของโรคสมองเสื่อม ไม่เหมาะกับการจะขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการโจมตีนี้จะไม่ได้ผล เพราะคะแนนนิยมของไบเดนยังคงนำเหนือทรัมป์มาโดยตลอด

 

ในการประชุมครั้งนี้เราจะเห็นได้ว่า ทีมทรัมป์ได้เปลี่ยนกลยุทธ์โดยเน้นโจมตีไปที่นโยบาย แทนที่จะเป็นคาแรกเตอร์ของไบเดน ทรัมป์พยายามชี้ให้ชาวอเมริกันเห็นว่า แม้ไบเดนเองจะพูดว่าตัวเองเป็นพวกกลางซ้าย แต่คนรอบตัวของไบเดนเป็นพวกซ้ายสุดโต่งทั้งนั้น เช่น อเล็กซานเดรีย โอกาซิโอ-กอร์เตส, เบอร์นี แซนเดอร์ส, แนนซี เปโลซี และ เอลิซาเบธ วอร์เรน 

 

ทรัมป์พยายามจะชี้ให้เห็นว่า คนเหล่านี้จะเข้ามาบงการและกดดันให้ไบเดนออกนโยบายแบบซ้ายจัด จนทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นรัฐสังคมนิยมที่รัฐบงการทุกอย่าง และประชาชนต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงมาก ที่ประชุมเปรียบเปรยว่าการเลือกไบเดนก็เหมือนกับการยอมเปิดประตูให้ม้าเมืองทรอยเข้ามา และในที่สุด ‘ศัตรู’ อย่างสังคมนิยมก็จะเข้ามากลืนกินประเทศ

 

 

3. Law and Order

ในขณะที่เดโมแครตเลือกข้างว่าจะอยู่ข้างกลุ่ม Black Lives Matter รีพับลิกันก็แสดงออกให้คนอเมริกันเห็นอย่างชัดเจนเช่นกันว่าพวกเขาเลือกที่จะอยู่ข้างตำรวจ ที่ประชุมของพรรคเปิดโอกาสให้ตำรวจและผู้พิทักษ์กฎหมายมากหน้าหลายตามากล่าวสุนทรพจน์ ซึ่งทุกคนก็กล่าวชื่นชมทรัมป์ว่า ทรัมป์ให้กำลังใจกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มาตลอด รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณให้อย่างเต็มที่ ตำรวจเหล่านี้ยังพยายามเตือนชาวอเมริกันอีกว่า การเลือกไบเดนจะทำให้เกิดภาวะอนารยะขึ้นมาในประเทศ และปัญหาอาชญากรรมจะเพิ่มขึ้น เพราะไบเดนจะตัดงบประมาณของตำรวจลง (ที่เรียกว่านโยบาย Defund the Police ซึ่งเป็นนโยบายของนักการเมืองซ้ายจัดบางคน แต่จริงๆ แล้วไบเดนเองไม่ได้เห็นด้วย) ในส่วนของผู้กล่าวสุนทรพจน์คนอื่นที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ (รวมถึงทรัมป์เองด้วย) ทุกคนก็กล่าวไปในทำนองเดียวกันว่าเห็นใจเจ้าหน้าที่ที่จะต้องไปเสี่ยงชีวิต รวมทั้งกล่าวประณามการใช้ความรุนแรงของกลุ่มผู้ประท้วง

 

4. Kamala is a do-no-harm pick

สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งของการประชุมในครั้งนี้คือ ที่ประชุมโจมตีไปที่ไบเดนเพียงคนเดียว แทบไม่มีใครปราศรัยโจมตีผู้สมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตอย่าง คามาลา แฮร์ริส เลย ซึ่งตรงนี้แปลได้ว่าการเลือกแฮร์ริสของไบเดนเป็นการเลือกที่ถูก อย่างน้อยก็ในแง่ที่ว่า แฮร์ริสไม่มีจุดด่างพร้อยชัดเจนที่จะทำให้รีพับลิกันหยิบมาเล่นงานจนสะเทือนมาถึงความนิยมในตัวไบเดนได้ 

 

ในอดีตเคยมีกรณีที่ผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีเลือกคู่หูที่มีข้อบกพร่องอย่างชัดเจนมาร่วมชิงชัยในตำแหน่งรองประธานาธิบดี อย่างเช่น ในปี 2008 ที่ จอห์น แมคเคน เลือก ซาราห์ แพลิน มาเป็นแคนดิเดตรองประธานาธิบดี ทั้งๆ ที่เธอไม่มีประสบการณ์การบริหารรัฐกิจหรือประสบการณ์ทำงานรัฐสภาในระดับชาติเลย ทำให้แมคเคนเสียรังวัดไปมากว่ามีวิจารณญาณในการเลือกคนมาใช้งานที่ต่ำ และก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาแพ้ต่อ บารัก โอบามา อย่างขาดลอยในที่สุด

 

5. เสมือนว่าโลกนี้ไม่มีโควิด-19

ทรัมป์และพรรครีพับลิกันใช้เวลาค่อนข้างน้อยในการพูดถึงปัญหาโควิด-19 และทุกครั้งที่กล่าวถึง พวกเขาก็มักจะใช้ Past Tense เพื่อกล่าวเป็นนัยๆ ว่าปัญหามันจบไปแล้ว ตัวทรัมป์เองก็ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดของแผนการที่จะจัดการกับปัญหาโควิด-19 นี้ 

 

ทรัมป์พูดแค่ว่า เราหาวิธีรักษาโควิด-19 ได้แล้ว และเราจะมีวัคซีนก่อนสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน (ซึ่งตรงข้ามกับที่ ดร.แอนโทนี เฟาชี คาดการณ์ไว้ว่าอย่างเร็วที่สุดคือไตรมาส 1 ปีหน้า) นอกจากนี้ทรัมป์ยังพยายามฉาย ‘ภาพ’ ความปกติ โดยที่เขากล่าวสุนทรพจน์มาจากสนามหญ้าของทำเนียบขาว โดยที่ผู้เข้าร่วมฟังสุนทรพจน์ไม่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และแทบไม่มีใครใส่หน้ากาก เวลาที่ทรัมป์พูดถึงผลงานทางเศรษฐกิจ เขายังมักพูดถึงสภาพเศรษฐกิจก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ว่าในตอนนั้นเศรษฐกิจภายใต้การบริหารของเขานั้นยอดเยี่ยมมาก ตัวเลขการว่างงานต่ำที่สุดในรอบหลายปี ขณะที่อัตราค่าแรงเพิ่มสูง และ GDP เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

 

การพยายามฉายภาพว่าเขาคุมโควิด-19 ได้แล้ว และสภาพเศรษฐกิจจะกลับมาดีเหมือนเดิมในไม่ช้า เป็นดาบสองคมสำหรับทรัมป์ เพราะถ้าเขาพูดแล้วคนเชื่อ สองเรื่องนี้ก็จะเป็นจุดขายที่จะทำให้ประชาชนอยากมาลงคะแนนให้เขา แต่อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้คนอเมริกันยังไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ยังมีเคสใหม่ในประเทศหลักหมื่นเคสต่อวัน เศรษฐกิจยังไม่กลับมาทำงานเหมือนปกติ คนหลายล้านยังตกงานอยู่ การที่ทรัมป์พยายามฉายภาพแบบนี้อาจทำให้คนอเมริกันรู้สึกว่าทรัมป์ไม่เข้าใจความยากลำบากของคนเดินถนนและหันไปเทคะแนนให้ไบเดนแทนก็ได้

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising