ผมเชื่อว่ามีน้อยคนมากที่รู้จักรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Financial Stability Report ที่จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ในต่างประเทศ รายงาน Financial Stability Report ถือเป็น 1 ใน 2 รายงานเศรษฐกิจการเงินสำคัญของธนาคารกลาง คู่กับรายงานนโยบายการเงิน หรือ Monetary Policy Report กระทั่งองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังจัดทำรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินของโลก ภายใต้ชื่อ Global Financial Stability Report โดยเผยแพร่ปีละ 2 ครั้ง ในเดือนเมษายนและเดือนตุลาคมของทุกปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน
- 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการประชุม APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?
ความแตกต่างของสองรายงานคือ Monetary Policy Report พูดถึงแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลาง ขณะที่ Financial Stability Report พูดถึงสุขภาพทางการเงินของภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ ภาคสถาบันการเงิน และตลาดการเงิน (ตลาดเงินตราต่างประเทศ ตลาดพันธบัตร และตลาดหุ้น) และความเสี่ยงที่ต้องระวังในระยะข้างหน้า
สำหรับไทย รายงาน Financial Stability Report เผยแพร่ปีละครั้งทุกสิ้นปี เนื้อหาหลักๆ นอกจากจะเป็นการสรุปภาพสุขภาพทางการเงินของแต่ละภาคส่วนในปีนั้นๆ แล้ว ยังเป็นช่องทางในการสื่อสารแนวโน้มมาตรการทางการเงินสำคัญในอนาคต รวมถึงเป็นคำเตือนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในปีถัดไป
รายงาน Financial Stability Report ปี 2565 ชี้ถึงลักษณะของความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนจากสองฉบับก่อนหน้า โดยในรายงานปี 2563 และ 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิดระบาดรุนแรง ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยหลักๆ อยู่ที่ความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน ซึ่งรวมถึงสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับครัวเรือนและธุรกิจที่มีปัญหาในการชำระหนี้ และธุรกิจประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากการเคลมกรมธรรม์ประเภทเจอ-จ่าย-จบ และเสถียรภาพของตลาดการเงิน ทั้งในส่วนของธุรกิจกองทุนรวมที่ถูกเร่งไถ่ถอนในช่วงแรกของวิกฤตโควิด และการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิม (Rollover) ในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งนำไปสู่การออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินจำนวนมาก เช่น มาตรการพักชำระหนี้ชั่วคราว มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ มาตรการผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ มาตรการช่วยเหลือกองทุนรวมที่ได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน และกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ เป็นต้น
ในปี 2565 ความเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินลดลงอย่างมาก ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การสิ้นสุดความคุ้มครองของกรมธรรม์โควิดประเภทเจอ-จ่าย-จบ และผลของมาตรการต่างๆ ในช่วงก่อนหน้า ทำให้ความจำเป็นของหลายมาตรการทยอยหมดลงและไม่มีการต่ออายุออกไป แม้ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจจะยังเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไข แต่คาดว่าปัญหาการชำระหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อความมั่นคงและการทำหน้าที่ของระบบสถาบันการเงินในภาพรวม
ตั้งแต่ต้นปี 2565 ปัจจัยหลักที่กดดันเสถียรภาพระบบการเงินไม่ใช่การแพร่ระบาดของโควิดอีกต่อไป แต่เป็นปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครน และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อ ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงที่เคยถูกหล่อเลี้ยงด้วยสภาพคล่องปริมาณมหาศาลปรับลดลงในทุกตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร ตลาดอสังหาริมทรัพย์ หรือตลาดคริปโต ขณะที่ประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศต้องประสบกับปัญหาการชำระหนี้ในสกุลเงินตราต่างประเทศ แต่สำหรับไทยเองต้องถือว่าเราผ่านปีที่แล้วไปได้ด้วยดี แม้ตลาดการเงินไทยจะมีความผันผวนเป็นระยะตามตลาดการเงินโลก แต่ตลาดการเงินไทยก็ยังสามารถทำหน้าที่ในการเป็นตัวกลางการระดมทุนได้เป็นปกติ
อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 พบว่าปัญหาในตลาดการเงินไม่ได้จำกัดเฉพาะในประเทศตลาดเกิดใหม่ เราเห็นความปั่นป่วนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษและตลาดตราสารหนี้ของเกาหลีใต้ ที่ถ้ารัฐไม่ได้เข้าไปแทรกแซงด้วยมาตรการแบบบาซูก้า (ในกรณีอังกฤษ รวมถึงการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี) อาจนำไปสู่วิกฤตการเงินได้
ทั้งนี้ ปัญหาของอังกฤษและเกาหลีใต้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าอัตราดอกเบี้ยในทั้งสองประเทศไม่ได้ปรับขึ้นเร็วและแรงตามธนาคารกลางสหรัฐฯ (กรณีอังกฤษ อัตราดอกเบี้ยระยะยาวถูกซ้ำเติมด้วยนโยบายลดภาษีของรัฐบาลใหม่ที่ทำให้นักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นในพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ)
ในช่วงสองปีแรกของวิกฤตโควิด ธนาคารกลางของหลายประเทศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ผู้เล่นในตลาดการเงิน ธุรกิจ หรือกระทั่งรัฐบาลในหลายประเทศ ใช้โอกาสนี้ในการกู้ยืมเงินทุนราคาถูกเพื่อขยายกิจการและธุรกิจ โดยไม่ได้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นเร็วและแรงมาก อัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นเปรียบได้กับกระแสน้ำที่ลดลงที่ทำให้เราทราบว่าใครกำลังแก้ผ้าว่ายน้ำอยู่ (Only when the tide goes out do you discover who’s been swimming naked) ในคำพูดของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ หรือในสำนวนไทยว่า น้ำลดตอผุด
ประเด็นสำหรับปีนี้ (2566) คืออัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศยังมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อ แม้จะเป็นอัตราที่ชะลอลง ซึ่งหมายความว่า น้ำจะยังลดลงไปอีก
บทเรียนจากอังกฤษบอกเราว่าไม่มีที่ไหนในโลกที่ปลอดภัย ล่าสุดเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ (BIS) ออกมาเตือนว่าธุรกรรม Swap เงินตราต่างประเทศ (FX Swap) ของสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร ซึ่งมีมูลค่ารวมกันมากกว่า 80 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นจุดบอดสำคัญที่ผู้กำกับดูแลมองไม่เห็น ซึ่งถ้าตลาดนี้เป็นอะไรขึ้นมา โลกอาจจะเข้าสู่วิกฤตการเงินแบบปี 2551 ได้
โดยทั่วไปลักษณะของสถาบันการเงินและธุรกิจที่อ่อนไหวต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นกิจการที่สัดส่วนหนี้สินต่อทุนสูง พึ่งพาการกู้ยืมระยะสั้น ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นในกรณีของไทย ไม่พบกิจการที่มีความเชื่อมโยงกับระบบการเงินสูงที่มีลักษณะดังกล่าว ประกอบกับไทยขึ้นดอกเบี้ยน้อยและช้ากว่าประเทศส่วนใหญ่ ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์แบบในต่างประเทศมีจำกัด แม้ในระยะต่อไปอาจจะเห็นการผิดนัดชำระหนี้ในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้นได้ แต่คาดว่าจะไม่ส่งกระทบต่อเสถียรภาพโดยรวมของตลาด
โดยสรุป ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยในระยะต่อไปมีแนวโน้มที่จะเป็นความเสี่ยงที่มาจากภายนอกประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะความเสี่ยงที่ส่งผ่านตลาดการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งไทยคงทำอะไรไม่ได้มากกว่าการตั้งการ์ดสูงในสถานการณ์เช่นนี้ ก็ได้แต่หวังว่าจะไม่มีอะไรรุนแรงเกิดขึ้นในตลาดการเงินโลก หรือถ้าเกิดขึ้น เราก็อยู่ในสถานะที่รับมือไหว
สำหรับท่านที่สนใจอ่านรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทยปี 2565 สามารถตามอ่านได้ที่ลิงก์นี้ครับ
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย