×

มีเงินเยอะแล้วจะมีความสุขจริงไหม ทำไมคนมีเงินเยอะบางคนถึงไม่มีความสุข

09.12.2019
  • LOADING...
relationship between money happiness

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • เงินมากขึ้นเท่ากับความสุขที่มากขึ้นจริงหรือไม่ แล้วทำไมคนที่มีเงินเยอะๆ บางคนถึงไม่มีความสุข
  • ข้อค้นพบจากงานวิจัยด้านความสุขแสดงให้เห็นว่าหลายครั้ง ‘ความสุขเป็นเรื่องราวของการเปรียบเทียบ (Relative Term) มากกว่าการพอใจในสิ่งที่ได้มาในรูปของจำนวนเงิน (Absolute Term)’
  • งานวิจัยบางชิ้นยังระบุว่าคนที่เรามักจะเอาตัวเราไปเปรียบเทียบด้วยมากที่สุด (Reference Point) คือเพื่อนร่วมงานและเพื่อนของเรานั่นเอง

เวลาพูดถึงความสุขในยุคปัจจุบันก็อดไม่ได้ที่จะพูดถึงปัจจัยอะไรที่ทำให้เรามีความสุข ซึ่ง ‘เงิน’ ก็เป็นหนึ่งในคำตอบ 

 

แม้ว่าหลายคนจะบอกว่า ‘เงิน’ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขขนาดนั้นหรอก เพราะยังมีอีกหลายอย่างในชีวิตที่สำคัญกับเรามากกว่า

 

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘เงิน’ เป็น ‘สื่อกลาง’ ที่ทำให้เราไปถึงความสุขในรูปแบบต่างๆ ได้ เช่น ถ้าอยากไปเข้าอบรมปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ อย่างน้อยก็ต้องมีเงินค่าเดินทาง

 

มีสองคำถามให้ลองตอบกันดู ก่อนที่จะอ่านต่อ อยากให้ลองตอบเร็วๆ แบบไม่ต้องคิดซับซ้อน

 

ข้อ 1 หากมีสองโลกให้คุณเลือกอยู่ คุณจะเลือกอยู่ในโลกไหน*

 

โลก A: โลกที่คุณมีรายได้เดือนละ 75,000 บาท 

 

โลก B: โลกที่คุณมีรายได้เดือนละ 100,000 บาท 

 

*หมายเหตุ: โลก A และ B มีทุกอย่างเหมือนกัน มีเพียงเงินเดือนของคุณที่ต่างกันเท่านั้น 

 

 

ข้อ 2 หากมีสองโลกให้คุณเลือกอยู่ คุณจะเลือกอยู่ในโลกไหน**

 

โลก C: โลกที่คุณมีรายได้เดือนละ 75,000 บาท และคนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวคุณ (เช่น เพื่อนร่วมงานที่ทำงานเหมือนกัน) มีรายได้เดือนละ 50,000 บาท 

 

โลก D: โลกที่คุณมีรายได้เดือนละ 100,000 บาท และคนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวคุณ (เช่น เพื่อนร่วมงานที่ทำงานเหมือนกัน) มีรายได้เดือนละ 125,000 บาท 

 

**หมายเหตุ: โลก C และ D มีแค่เงินเดือนของคุณและคนอื่นๆ ที่ต่างกัน นอกจากนั้นเหมือนกันหมด 

 

 

มีใครเปลี่ยนคำตอบจากเงินเดือนเดือนละ 100,000 บาทในข้อ 1 ไปเป็น 75,000 บาทในข้อที่ 2 (เลือกโลก B และโลก C) บ้างไหม

 

สำหรับคนที่ไม่เปลี่ยน จากสถิติแล้วคุณเป็นคนส่วนน้อย

 

สำหรับคนที่เปลี่ยน แปลกใจหรือไม่ว่าทำไมเรายอมมีเงินน้อยลงเพื่อทำให้เรามีเงินมากกว่าคนอื่น 

 

หากเราตั้งสมมติฐานว่าคนจะเลือกตัวเลือกที่ทำให้มีความสุขมากกว่า การที่หลายคนกลับเลือกจำนวนเงินที่น้อยลงแสดงว่า ‘จำนวนเงินที่มากกว่าไม่ได้ทำให้เขามีความสุขมากขึ้น’ อย่างนั้นหรือ 

 

ข้อค้นพบจากงานวิจัยด้านความสุขแสดงให้เห็นว่าหลายครั้ง ‘ความสุขเป็นเรื่องราวของการเปรียบเทียบ (Relative Term) มากกว่าการพอใจในสิ่งที่ได้มาในรูปของจำนวนเงิน (Absolute Term)’

 

มีงานวิจัยในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการเปรียบเทียบได้อย่างน่าสนใจ 

 

ในแต่ละสัปดาห์ The Dutch Postcode Lottery จะทำการสุ่มเลือกรหัสไปรษณีย์ขึ้นมา โดยในเนเธอร์แลนด์มีรหัสไปรษณีย์อยู่ประมาณ 430,000 รหัส และในแต่ละรหัสมีบ้านจำนวนประมาณ 19 หลัง 

 

จากข้อมูลพบว่ามีบ้านประมาณ 5 หลัง (1 ใน 4) ในแต่ละรหัสไปรษณีย์ที่เข้าร่วมใน Lottery ซึ่งหากสุ่มได้รหัสไปรษณีย์ของพวกเขาขึ้นมา พวกเขาก็จะได้รับเงินจำนวนหนึ่งไป และหนึ่งในบ้านผู้โชคดีจะได้รับรถยนต์ไปด้วย 

 

ผลวิจัยพบว่าเมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือน เพื่อนข้างบ้าน (ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมใน Lottery Programme) ของบ้านที่ได้รถไปมีแนวโน้มที่จะซื้อรถมาใช้มากกว่าบ้านอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 

 

พูดง่ายๆ คืองานวิจัยนี้ทำให้พบพฤติกรรมการซื้อรถตามเพื่อนข้างบ้านนั่นเอง (รถที่ใช้แจกในงานวิจัยคือรถ BMW) 

 

ถ้ามองย้อนกลับมาในชีวิตของเรา รถที่ขับ กระเป๋าที่ถือ มือถือที่ใช้ หลายครั้งก็มีอิทธิพลจากคนรอบข้างอยู่ไม่น้อย 

 

งานวิจัยของ Clark และ Senik เมื่อปี 2010 ยังพบอีกด้วยว่าคนที่เรามักจะเอาตัวเราไปเปรียบเทียบด้วยมากที่สุด (Reference Point) คือเพื่อนร่วมงานและเพื่อนของเรา 

 

ปัจจุบันโซเชียลเน็ตเวิร์กทำให้เราเห็นโลกที่กว้างกว่าการเห็นรถของเพื่อนข้างบ้าน การที่ต้องเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นตลอดเวลาแม้จะโดยไม่ได้ตั้งใจ (เช่น ทำไมเพื่อนไปเที่ยวอีกแล้ว ทำไมเขาประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย) อาจจะส่งผลให้เรามีความสุขน้อยลง และกระทบกับสุขภาพจิตและสุขภาพการเงินได้ 

 

หากรู้เช่นนี้แล้ว ลองหาทางมีความสุขได้โดยไม่ต้องเปรียบเทียบกันดูนะคะ 

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • Kuhn, P., Kooreman, P., Soetevent, A. and Kapteyn, A., 2011. The effects of lottery prizes on winners and their neighbors: Evidence from the Dutch postcode lottery. American Economic Review, 101 (5), pp.2226-47.
  • Clark, A.E. and Senik, C., 2010. Who compares to whom? The anatomy of income comparisons in Europe. The Economic Journal, 120(544), pp.573-594.
  • เอกสารประกอบการบรรยายหัวข้อ Money and Happiness ของ ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising