×

Reimagine Workplace Policy: Better Health Better Productivity เดินเครื่ององค์กร ด้วยสุขภาพพนักงาน

โดย THE STANDARD TEAM
04.05.2022
  • LOADING...
Reimagine Workplace Policy

วันที่ 30 เมษายน 2565 THE STANDARD จับมือกับสำนักงานสาธารณสุข จัดงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ Reimagine Workplace Policy ที่รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาวะในเชิงนโยบายและในเชิงบริหารจัดการองค์กรเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของการดูแลสุขภาพแรงงานไทย ทั้งในด้านการออกนโยบายที่ส่งเสริมการมีสุขภาวะที่ดี และสานต่อให้เกิดการปฏิบัติจริง โดยเวทีแรกได้พูดกันในหัวข้อ ‘What’s next for the better policy นโยบายสุขภาพแรงงานไทยเดินต่อไปอย่างไรดี’ เพื่อกำหนดนโยบายการจัดการสุขภาวะของแรงงานไทย

 

สำหรับเวทีที่ 2 สนทนากันในหัวข้อ ‘Better Health Better Productivity เดินเครื่ององค์กร ด้วยสุขภาพพนักงาน’ ว่าด้วยการยกระดับประสิทธิภาพขององค์กรหรือบริษัทควบคู่กันกับสุขภาพของพนักงาน 

 

Reimagine Workplace Policy

 

ทาง THE STANDARD ได้รับเกียรติจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการร่วมกันผลักดันการดูแลสุขภาพของแรงงานในองค์กร เช่น ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และกรรมการอํานวยการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ มาเป็นตัวแทนในการฉายภาพปัญหาสุขภาพในองค์กรให้เห็นกันอย่างชัดแจ้งกว่าที่เคยเป็น

 

อีกทั้งยังมีตัวแทนจากฝั่งองค์กรที่จะมาพูดถึงแนวทางการวางนโยบาย และแบ่งปันประสบการณ์ที่องค์กรเคยได้ประสบพบเจอมา จาก ดร.บวรนันท์ ทองกัลยา นักบริหารทรัพยากรมนุษย์มืออาชีพ ผู้มีประสบการณ์การทำงานในสายจัดการบุคคลมามากกว่า 30 ปี ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย หรือ PMAT และ ณัฐ ลิ้มทอง ผู้ชำนาญการด้านทรัพยากรมนุษย์ บริษัท เบทาโกร จำกัด หนึ่งในตัวอย่างของบริษัทที่ประสบความสำเร็จด้านประสิทธิภาพการทำงาน ควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาวะและอนามัยของพนักงาน

 

Reimagine Workplace Policy

 

โดย ศ.ดร.นพ.พรชัย ผู้เชี่ยวชาญท่านแรก ได้บอกเล่าถึงปัญหาภาพใหญ่ของสถานการณ์สุขภาวะของแรงงานไทย ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเดินทางเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ อย่างเต็มรูปแบบ จากการที่มีจำนวนผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี เพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี คิดเป็นสัดส่วนโครงสร้างของประชากรเกิน 20% ของประชากรไทย อีกทั้งอัตราการเกิดของประเทศไทยก็ถดถอยน้อยลงเป็นอย่างมาก นั่นหมายความว่าในอนาคตจะมีแรงงานสูงวัยที่อายุเกิน 60 ปี แต่ยังคงต้องทำงานอยู่อีกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

 

ผลกระทบที่ตามต่อมาติดๆ คือการที่สัดส่วนคนวัยแรงงานต่อวัยพึ่งพิงมีการเปลี่ยนแปลงไป จากที่ในอดีตเราใช้คนหนุ่ม 1 คนเพื่อเลี้ยงคนสูงอายุ 2 คน กลับกลายเป็นว่าเราต้องใช้คนหนุ่ม 3 คนในการเลี้ยงผู้สูงอายุเพียงคนเดียว ซึ่งโครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนไปเช่นนี้จะทำให้เกิดภาระให้กับคนรุ่นถัดไป เพราะเมื่อคนอายุยืนขึ้น โรคร้ายก็จะมากตาม อีกทั้งยังเกิดค่าใช้จ่ายที่เรียกได้ว่าสูงมาก ถึงขนาดที่มีคำที่พูดว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพใน 6 เดือนสุดท้ายของชีวิต อาจจะมากกว่าค่าใช้จ่ายครึ่งชีวิตที่ผ่านมาเสียอีก 

 

ดังนั้นหากเราต้องการจะมีอายุยืนยาว สุขภาพดี และไม่เป็นภาระทางด้านค่าใช้จ่ายของคนรุ่นหลัง จำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมในการหลีกเลี่ยงโรคร้าย โดยการออกกำลังกาย ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตในช่วงเวลาก่อนหน้า ซึ่งก็คือช่วงเวลาที่ผู้คนยังอยู่ในวัยแรงงาน หรือช่วงอายุ 40-50 ปีนั่นเอง 

 

Reimagine Workplace Policy

 

ทางฝั่งของ พญ.วรรณี ได้พูดเสริมถึงโรคร้ายยอดนิยมสำหรับคนในวัยทำงานอย่างโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ว่าสิ่งที่ไม่ใช่เพียงแค่แรงงานในวัย 40-50 ปีเท่านั้นที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและออกกำลังกาย แต่เป็นผู้คนในทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็กยันผู้ใหญ่ หรือแม้กระทั่งคนที่เป็นโรคในกลุ่ม NCDs ไปแล้วเช่นกัน เพราะโรคดังกล่าวนั้นเป็นภัยเงียบที่คืบคลานมาในเงามืด ไม่ส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าแต่อย่างใด กว่าจะรู้ เราก็เป็นโรคเหล่านั้นเสียแล้ว 

 

ซึ่งจากการเก็บข้อมูลสุขภาพของประชากรไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ในปี 2562-2563 พบว่า คนวัยทำงานเกินกว่าครึ่งหนึ่งมีปัญหาอ้วน เนื่องจากมีดัชนีมวลกายที่มากกว่า 25 กก./ม2 ขึ้นไป อีกทั้งยังพบว่าเมื่อใดที่ผู้คนก้าวเข้าสู่วัยแรงงาน มีแนวโน้มว่าค่าน้ำตาลในเลือดของพวกเขาเหล่านั้นจะมีตัวเลขที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้คนในวัย 45-59 ปี เป็นโรคเบาหวานและความดันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ไม่เพียงพอ

 

หลังจากการบอกเล่าถึงสถานการณ์ในภาพกว้าง ทำให้เรามองปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของคนวัยทำงาน ดร.บวรนันท์ได้เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับองค์กร นับตั้งแต่การเดินทางมาของเชื้อไวรัสโควิด-19 องค์กรมีความขะมักเขม้นในการดูแลสุขภาพพนักงานมากกว่าในอดีต โดยเฉพาะเรื่องของ Employee Well-Being หรือสุขภาวะทั้งกายและใจของคนทำงาน 

 

Reimagine Workplace Policy

 

โดยงานวิจัยจากทางสหรัฐอเมริกาพบว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาวะกายและใจในสหรัฐฯ นั้นคิดเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 12% ของ GDP และกลับมาที่ฝั่งของภาคคนทำงาน นิตยสาร Forbes ได้รายงานว่า พนักงานมากกว่า 60% ต้องการที่จะทำงานกับบริษัทที่ให้ความสำคัญในเรื่องของ Well-Being ของพนักงาน การรักษาสุขภาวะความเป็นอยู่ของพนักงานควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานจึงนับจึงเป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายองค์กรในปัจจุบัน เพราะหากพนักงานไม่มี Well-Being ก็คงไม่สามารถสร้างผลิตภาพให้กับองค์กรได้อย่างแน่นอน

 

หนึ่งในองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการดูแลสุขภาวะของพนักงาน ที่ทุกภาคส่วนในองค์กรมีความร่วมมือร่วมกันทั้งหมดเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในเชิกรุกก็คือ เบทาโกร ซึ่งทาง ณัฐ ลิ้มทอง ผู้ชำนาญการด้านทรัพยากรมนุษย์ ได้เปิดเผยว่า สำหรับปัญหาเรื่องสุขภาพนั้นได้มีการทำเวิร์กช็อปให้กับฝ่ายบุคคลของเบทาโกรอยู่บ่อยครั้งถึงวิธีการดำเนินงาน และวิธีการรับมือเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพกับฝั่งของแรงงาน อีกทั้งยังได้มีการร่วมมือกันกับกรมสุขภาพจิตในการดูแลสภาพจิตใจของคนในองค์กร

 

ซึ่งจุดที่ทำให้เบทาโกรหันมาให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพนั้น เกิดขึ้นเพราะว่าคนขับรถรับ-ส่งพนักงานที่ทำงานให้กับซัพพลายเออร์ของเบทาโกรเกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตกขณะขับรถรับ-ส่งพนักงาน ซึ่งส่งผลให้รถตู้คันดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุและตกลงจากถนนเส้นทางหลัก โดยในขณะนั้นก็เป็นช่วงเวลาเช้าตรู่และอยู่ในพื้นที่ชนบท จึงทำให้พนักงานไม่ได้รับบาดเจ็บมากนัก 

​​

Reimagine Workplace Policy

 

หลังจากนั้นทางเบทาโกรจึงได้ระดมทีมงานเพื่อคำนวณถึง ‘ความเสี่ยง’ ทางด้านสุขภาวะของพนักงาน และพบว่าโรคในกลุ่ม NCDs นั้นมีความเกี่ยวเนื่องต่อประสิทธิภาพการทำงานภาพรวมของเบทาโกร จึงเป็นสาเหตุถึงการปรับปรุงนโยบายเรื่องสุขภาพของเบทาโกรที่ตั้งใจจะแก้ปัญหาในโรคดังกล่าวให้ได้มากที่สุด เช่น ‘โครงการกินอุ่นนอนอิ่ม’ ที่มุ่งเน้นในการเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้แก่พนักงานที่ทำงานภายในโรงงานของเบทาโกร และยังคงให้ความสำคัญในด้านของรสชาติ จากการที่เชิญพ่อครัวชื่อดังมาสอนพ่อครัวแม่ครัวในโรงงาน เพื่อความยั่งยืนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานของพนักงานในองค์กร

 

จากวิทยากรทั้ง 4 ท่านในเวทีที่ 2 ‘Better Health Better Productivity เดินเครื่ององค์กร ด้วยสุขภาพพนักงาน’ สามารถสรุปได้ว่า สังคมของประเทศไทยเรากำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ ส่งผลให้ในภาคแรงงานต้องเผชิญโจทย์ท้าทายจากการที่พนักงานมีอายุในการทำงานมากขึ้น แต่เมื่ออายุที่มาก สิ่งที่ตามมาก็คือโรคร้าย โรคภัยไข้เจ็บ โดยส่วนใหญ่โรคที่พบในผู้สูงอายุนั้นก็จะเป็นโรคในกลุ่ม NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการกินอยู่อาศัยในช่วงวัยรุ่นและวัยกลางคนนั่นเอง ทำให้ในปัจจุบันปัญหาทางด้านสุขภาพมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรโดยตรง จากการขาดแคลนแรงงาน และแรงงานที่มีอยู่มีแนวโน้มว่าจะอายุมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ทำให้ในฝั่งของภาคองค์กรหลังจากนี้จะให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาวะทั้งกายและใจของพนักงานมากขึ้น หรือที่เราเรียกว่า Employee Well-Being เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา 2 ประการที่จะเกิดขึ้นก็คือ เรื่องของสุขภาพ และเรื่องของจำนวนพนักงานที่ออกจากองค์กร (Turnover Rate) เพราะจากการสำรวจในฝั่งของพนักงานพบว่า หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เขาเลือกบริษัทที่จะร่วมงานด้วย คือการที่บริษัทให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพของพนักงานก่อนสิ่งอื่นใด 

 

และสิ่งที่องค์กรอย่างเบทาโกรได้ร่วมแบ่งปันก็คือ แนวคิดในการดูแลพนักงานพร้อมกับแนวทางปฏิบัติที่ทำได้จริง และมีการปรับพฤติกรรมของพนักงานอย่างยั่งยืน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะตามมาในอนาคต

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X