×

ส่องปรากฏการณ์ ‘รับจ่ายบิลแลกเงิน’ ถึง ‘จำนำ iCloud’ ภาพสะท้อนเศรษฐกิจ สภาพคล่อง และภาระหนี้อันหนักอึ้งของคนไทย

28.05.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • เมื่อเร็วๆ นี้ สังคมไทยเกิดธุรกรรม ‘การหมุนเงิน’ ใหม่ๆ ขึ้นมากมาย ตัวอย่างเช่น ‘การรับจ่ายบิลแลกเงิน’ ไปจนถึง ‘จำนำ iCloud’
  • ท่ามกลางหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ตามข้อมูลล่าสุดของสภาพัฒน์ แสดงให้เห็นว่า ณ ไตรมาส 4 ปี 2566 (ตัวเลขล่าสุด) หนี้ครัวเรือนไทย มีมูลค่า 16.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 91.3% ต่อ GDP
  • เครดิตบูโรชี้ถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวที่สะท้อนว่า คนไทยขาดเงินสดและสภาพคล่องหนัก
  • พร้อมกังวลว่า ปรากฏการณ์หมุนเงินต่างๆ อาจไหลไป NPL หรือทำให้หนี้เสีย (NPL) ของคนไทยเพิ่มขึ้นอีก 
  • ปัจจุบันหนี้เสียคนไทยอยู่ที่ 1.58 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4 ไตรมาสติดต่อกันแล้ว และคิดเป็นสัดส่วน 2.88% ต่อสินเชื่อรวม
  • ด้านสภาพัฒน์แนะให้เกิดการแก้ไขปัญหาทั้ง Ecosystem ทั้งเพิ่มการดูแลการปล่อยสินเชื่อของผู้ให้บริการ ปรับทัศนคติคนไทย และเพิ่มการดูแลผู้ขาย ภาคเอกชน และห้างสรรพสินค้า

ท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่ทั่วถึง (Uneven Recovery) ธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และปัญหาหนี้ครัวเรือนเรื้อรัง ทำให้สังคมไทยเกิดธุรกรรม ‘การหมุนเงิน’ ใหม่ๆ ขึ้นมากมาย ตัวอย่างเช่น ‘การรับจ่ายบิลแลกเงิน’ ไปจนถึง ‘จำนำ iCloud’

 

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าปรากฏการณ์หมุนเงินเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนถึง ‘การขาดเงินสดและสภาพคล่องที่เหือดแห้ง’ ของคนไทย และอาจเป็นต้นตอทำให้ปัญหา ‘หนี้เน่า’ ทั้งในและนอกระบบใหญ่ขึ้น

 

รู้จักปรากฏการณ์หมุนเงินใหม่: จำนำ iCloud คืออะไร?

 

นอกจากนี้ ในเวลาที่ไล่เลี่ยกันนี้ สังคมไทยยังเกิดการจำนำรูปแบบใหม่ ที่เรียกกันว่า ‘การจำนำ iCloud’ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการจำนำโทรศัพท์เวอร์ชันใหม่ ที่เจ้าของ iPhone ไม่จำเป็นต้องฝากโทรศัพท์ไว้กับ ‘ผู้รับจำนำ’ ทำให้เจ้าของ iPhone ยังสามารถใช้โทรศัพท์ต่อไปได้ แม้จำนำไปแล้ว

 

โดยการจำนำมาในรูปแบบที่เจ้าของ iPhone ต้องลงชื่อออก (Log Out) จากบัญชี iCloud ของตัวเอง และหันไปใช้บัญชี iCloud ของผู้รับจำนำ เพื่อที่ผู้รับจำนำจะได้กด ‘ล็อก’ โทรศัพท์ของผู้ขอจำนำได้ หากเกิดการผิดนัดชำระ

 

ซึ่งความน่ากังวลอีกประการหนึ่งจากการจำนำลักษณะนี้คือ ‘ความเป็นส่วนตัว’ ของเจ้าของโทรศัพท์จะอาจสูญเสียไป

 

ทั้งนี้ iCloud คือบริการช่วยจัดเก็บข้อมูลที่สำคัญของ Apple Inc. สำหรับผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัท เช่น iPhone, iPad และ MacBook 

 

โดยข้อมูลดังกล่าวรวมไปถึง รูปภาพ ไฟล์ โน้ต อีเมล ปฏิทิน รายชื่อสมุดโทรศัพท์ และพวงกุญแจ iCloud ที่ใช้จัดเก็บรหัสผ่าน บัตรเครดิต และอื่นๆ

 

สะท้อนว่าการจำนำ iCloud นี้อาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่ข้อมูลส่วนตัวหลายๆ ด้าน รวมถึงข้อมูลทางการเงิน ‘รั่วไหล’ ไปสู่ผู้ใช้ iCloud เดียวกันร่วมกับคนอื่นๆ ได้ หากมีการเปิดให้ Sync ข้อมูลด้วยกัน

 

นอกจากนี้การใช้ iCloud ของผู้รับจำนำยังเป็นการเปิดทางให้ผู้รับจำนำติดตามได้ว่า ผู้ขอจำนำอยู่ที่ใด ผ่านแอปพลิเคชัน Find My อีกด้วย

 

จากการสำรวจข้อมูลของ THE STANDARD WEALTH พบว่า ดอกเบี้ยของการจำนำ iCloud ‘สูงกว่า’ อัตราดอกเบี้ยที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 วางหลักไว้ว่า ‘ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปี’

 

ตัวอย่างเช่น ตั้งยอดรับ iPhone รุ่น 15 Pro Max ไว้ที่ 5,000 บาท โดยเก็บดอกลอย 1,400 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 28% ต่อเดือน

 

หรือตั้งยอดรับ iPhone 11 ไว้ที่ 2,000 บาท โดยเก็บดอกลอย 500 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 25% ต่อเดือน

 

‘การรับจ่ายบิลแลกเงิน’ คืออะไร? วิธีการแลกเงินทำอย่างไร?

 

สำหรับลูกค้า Shopee อาจเข้าใจเรื่องนี้ได้ไม่ยาก เนื่องจากแพลตฟอร์มดังกล่าวเสนอสินเชื่อให้ลูกค้าที่มีชื่อว่า ‘SPayLater’ โดยผู้ใช้สามารถนำวงเงินสินเชื่อดังกล่าวชำระเงินต่างๆ บนแพลตฟอร์มได้ รวมถึงการจ่ายบิลต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และค่าอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ดี สินเชื่อดังกล่าว ‘ไม่สามารถถอนเป็นเงินสดได้’ และด้วยเหตุผลนี้ ธุรกรรม ‘รับจ่ายบิลแลกเงิน’ จึงถือกำเนิดขึ้น

 

จะเห็นได้ว่า ธุรกรรม ‘การรับจ่ายบิลแลกเงิน’ ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยสมาชิกกลุ่มบนเฟซบุ๊กที่มีเพื่อทำธุรกรรมดังกล่าวกลุ่มหนึ่งได้ทะลุ 2 แสนคนไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่คล้ายคลึงกันอีกมาก

 

นอกจากนี้ไม่ใช่แค่ Shopee เท่านั้นที่เสนอบริการดังกล่าว แต่ยังมี Pay Next ผ่าน TrueMoney ของบริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด และ K PAY LATER ผ่านแอปพลิเคชัน K PLUS ของธนาคารกสิกรไทย

 

เพื่อเข้าใจวิธีการแลกเงินมากขึ้น ตามคำอธิบายในกลุ่มเฟซบุ๊กกลุ่มหนึ่งระบุว่า ‘ผู้หาจ่าย’ คือ ผู้ที่มีบิลค้างชำระ ซึ่งต้องการจ่ายบิลในราคาที่ถูกลงจากยอดในบิล ‘ตามราคาที่ตกลงกัน 2 ฝ่าย’ และ ‘ผู้รับจ่าย’ หมายถึง ผู้ที่มีวงเงินสินเชื่อ

 

โดยจากการสำรวจคร่าวๆ THE STANDARD WEALTH พบว่า ผู้ที่มีบิลค้างชำระมักจะเสนอราคาที่ต่ำกว่าราว 10-30% ตัวอย่างเช่น

  • ยอดค่าไฟ 1,991.42 บาท โอนให้หลังยอดตัด 1,600 บาท (ได้ส่วนลด 19.65%)
  • ยอดค่าน้ำ 276.65 บาท โอนให้หลังยอดตัด 200 บาท (ได้ส่วนลด 27.70%)
  • ยอดค่าอินเทอร์เน็ต 631.30 บาท โอนให้หลังยอดตัด 500 บาท (ได้ส่วนลด 20.79%)
  • ยอดค่าโทรศัพท์ 705.56 บาท โอนให้หลังยอดตัด 600 บาท (ได้ส่วนลด 14.96%)

 

หน่วยงานกำกับการชำระเงินอย่าง ‘แบงก์ชาติ’ มองเรื่องนี้อย่างไร?

 

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายน ในงาน BOT Monthly Briefing ภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือนมีนาคม 2567 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การทำธุรกรรม ‘รับจ่ายบิลแลกเงินสด’ ไม่ได้ผิดหลักเกณฑ์การให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (Digital Personal Loan) เนื่องจากเป็นการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคและบริโภค ไม่ได้ผิดวัตถุประสงค์ ตามการตกลงและความยินยอมของทั้งเจ้าของบิลและผู้ใช้สินเชื่อ

 

อย่างไรก็ตาม ทาง ธปท. ได้มีกำชับกับผู้ให้บริการสินเชื่อ ‘เป็นการทั่วไป’ ว่า ต้องดูแลความเสี่ยงของตัวเอง โดยในกรณี หากลูกหนี้มีการทำธุรกรรมลักษณะดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวผู้ประกอบการเองก็จะมีความเสี่ยง

 

นอกจากนี้ ธปท. ยังเตือนทั้งเจ้าของบิลและผู้ใช้สินเชื่อว่า ‘ให้ระวัง’ โดยมองว่า ทั้ง 2 ฝ่ายมีความเสี่ยงที่จะเจอมิจฉาชีพ และอาจเป็นภัยการเงินอย่างหนึ่ง

 

‘เร่งหมุนเงิน’ สะท้อน ‘สภาพคล่องคนไทย’ ทรุดหนัก? หวั่นดัน NPL พุ่งต่อ

 

สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH เกี่ยวกับกรณีการรับจ่ายบิลแลกเงินสดว่า ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า คนต้องการเงินสด และขาดสภาพคล่อง โดยการไปรับจ่ายหนี้แทน ทำเพื่อประวิงเวลาจ่ายเงินสดออกไป ไม่ต่างจากการนำสินเชื่อบัตรเครดิตมาใช้จ่าย

 

“ปรากฏการณ์แบบนี้สะท้อนชัดเจนว่า คนกำลังวิ่งหาเงินสดกันหูดับตับไหม้ จึงไปประกาศขอเป็นหนี้แทนคนอื่น อยู่ดีๆ มีคนเอาเงินมาจ่ายแทนในอัตราที่มีส่วนลด เหตุการณ์นี้ไม่ค่อยสมเหตุสมผล”

 

นอกจากนี้ สุรพลยังเตือนว่า ปรากฏการณ์นี้อาจทำให้สัดส่วนหนี้เสีย (NPL) ในระบบเพิ่มขึ้นอีกได้ หลังจากยอดหนี้เสีย (NPL) หรือหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน จากฐานข้อมูลของเครดิตบูโรในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 อยู่ที่ 1.09 ล้านล้านบาทแล้ว เพิ่มขึ้นถึง 14.9%YoY หรือ 4.4%QoQ 

 

หนี้เสียไทยเพิ่มขึ้น 4 ไตรมาสติดแล้ว จ่อเพิ่มขึ้นต่อ?

 

ตามข้อมูลล่าสุดของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แสดงให้เห็นว่า หนี้สินครัวเรือน ณ ไตรมาส 4 ปี 2566 (ตัวเลขล่าสุด) เพิ่มขึ้น 3% มีมูลค่า 16.4 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 91.3%

 

จำนวนนี้เป็นหนี้เสีย 1.58 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.52 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4 ไตรมาสติดต่อกันแล้ว และคิดเป็นสัดส่วน 2.88% ต่อสินเชื่อรวม

 

โดยเมื่อแยกเป็นสินเชื่อรายวัตถุประสงค์พบว่า สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นในสินเชื่อทุกประเภท ทั้งที่อยู่อาศัย ยานยนต์ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล สะท้อนว่า ‘ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนด้อยลงทุกประเภท’

 

 

สภาพัฒน์แนะ แก้ปัญหาทั้ง Ecosystem รวมเจ้าหนี้-ลูกหนี้-ร้านค้า

 

ขณะที่ ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล นอกเหนือจากการดูแลการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และผู้ออกบัตรเครดิตแล้ว (Issuer) ทางการควรดูแลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ในระบบนิเวศ (Ecosystem) ด้วย เช่น ฝั่งผู้ขาย เอกชน ห้างสรรพสินค้า

 

รวมไปถึงทัศนคติของผู้ใช้สินเชื่อ เช่น ทัศนคติที่ว่า ‘ของมันต้องมี’ พร้อมแนะว่า ผู้ใช้สินเชื่อควรพิจารณาเรื่องรายได้สุทธิของตนเองมากขึ้นว่า เพียงพอต่อรายจ่ายต่อเดือนหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดเป็น ‘วงจรอุบาทว์’

 

“ต้องช่วยกันแก้ระบบนิเวศ (Ecosystem) ของตลาด เนื่องจากทุกวันนี้สินค้าสามารถผ่อนบัตรเครดิตได้แทบทุกอย่าง ผ่อนแล้วยังได้ส่วนลดอีก นับเป็นส่วนที่ทำให้หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มสูงขึ้น”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X