×

ทำไมตุรกีเป็นพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว ป้องกันได้หรือไม่ แล้วแรงสั่นสะเทือนจะเกิดต่ออีกนานแค่ไหน

โดย Mr.Vop
09.02.2023
  • LOADING...
แผ่นดินไหวในตุรกี

แผ่นดินไหวใหญ่ที่ตุรกีและซีเรียเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อหายนะอย่างใหญ่หลวง มีผู้คนล้มตายนับหมื่น โครงสร้างพื้นฐานพังทลาย

 

ความเสียหายที่เกิดขึ้นสามารถอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ได้หรือไม่ และแรงสั่นสะเทือนจะเกิดขึ้นอีกนานแค่ไหน บทความนี้จะไขข้อสงสัยให้ทราบกัน

 

เกิดอะไรขึ้น

ย้อนกลับไปเมื่อเวลา 04.17 น. ของวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตรงกับเวลา 08.17 น. ตามเวลาในประเทศไทย เกิดแผ่นดินไหว ‘เมนช็อก’ ขนาด 7.8 ขึ้นที่รอยเลื่อนอนาโตเลียตะวันออก (East Anatolian Fault)​ บริเวณจังหวัดคาฮ์รามันมารัช ในระดับความลึก 17.9 กิโลเมตร จากนั้นก็มีอาฟเตอร์ช็อกขนาด 6.7 ตามมาอีก 1 ครั้ง ต่อมาในช่วงสายของวันเดียวกันเมื่อเวลา 10.24 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งตรงกับ 14.24 น. ตามเวลาในประเทศไทย ก็เกิดเมนช็อกครั้งที่ 2 ที่เราเรียกว่า ‘ดับเบิลช็อก’ ขนาด 7.5 ในระดับความลึกไม่เกิน 10 กิโลเมตรซ้ำอีกครั้ง ครั้งนี้เกิดที่รอยเลื่อนย่อยเซอกู (Sürgü Fault)​ ห่างออกไปทางตอนเหนือของจุดเกิดเหตุช่วงเช้า แผ่นดินยังคงไหวสะเทือนด้วยอาฟเตอร์ช็อกที่ตามมาอีกเป็นจำนวนมาก นับเฉพาะถึงคืนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ก็มีอาฟเตอร์ช็อกขนาดใหญ่กว่า 4.5 เกิดขึ้นกว่า 173 ครั้ง

 

ที่มาของแผ่นดินไหวนี้

พื้นที่ส่วนใหญ่ของตุรกีนั้นตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกอนาโตเลีย (Anatolian Plate) แต่จังหวัดต่างๆ ทางภาคตะวันออกของประเทศกลับวางตัวคร่อมอยู่บนแผ่นเปลือกโลกอีก 2 แผ่น อันได้แก่แผ่นเปลือกโลกแอฟริกา (African Plate) ด้านทิศใต้ และแผ่นเปลือกโลกอาระเบีย (Arabian Plate) ทางด้านทิศตะวันออก โดยมีจุดบรรจบของ 3 เปลือกโลกนี้เป็นรอยเลื่อนแนวระนาบเหลื่อมซ้าย (Left-Lateral Strike-Slip Fault) ขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่า ‘รอยเลื่อนอนาโตเลียตะวันออก’ (East Anatolian Fault)

 

แผ่นดินไหว

 

แผ่นดินไหว ‘ดับเบิลช็อก’ ที่เกิดขึ้นนี้ มีสาเหตุมาจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกอาระเบียขึ้นทางเหนือด้วยความเร็ว 15-20 มิลลิเมตรต่อปี การเคลื่อนตัวนี้ก่อให้เกิดการผลักแผ่นเปลือกโลกอนาโตเลียไปทางตะวันตก เมื่อมีการสะสมพลังจนถึงจุดหนึ่งที่แนวรอยเลื่อน ก็จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่แบบที่ก่อให้เกิดหายนะในครั้งนี้ขึ้นมา

 

ก่อนหน้านี้เคยเกิดไหม

ผู้คนในตุรกีคุ้นเคยกับแผ่นดินไหวเป็นอย่างดี ด้วยความที่ประเทศตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกที่ถูกกดดันรอบด้าน เพราะนอกจากแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่นที่ก่อปัญหาแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดตามที่อธิบายมาข้างต้นแล้ว ทางทิศเหนือของตุรกียังมีแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียเคลื่อนตัวกดดันลงมาตลอดเวลา เมื่อปี 1939 ตุรกีก็เคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 7.8 ในจังหวัดเอร์ซินจานทางตอนเหนือของประเทศ จนผู้คนล้มตายมากกว่า 32,000 คน และเมื่อปี 1668 ก็เคยมีแผ่นดินไหวขนาดเกือบ 8.0 ในจังหวัดซัมซุนชายฝั่งทะเลดำ แต่ด้วยความที่มีผู้คนเบาบางก็เลยล้มตายน้อยกว่าที่เกิดในครั้งหลังๆ คือนับได้ประมาณ 8,000 คน

 

แล้วแรงสั่นไหวยังจะเกิดต่อไปอีกนานแค่ไหน

แผ่นดินไหวขนาด 7.0 ขึ้นไป เราเรียกว่าแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ และหากเกิดในระดับตื้นกว่า 70 กิโลเมตร มักมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดตามมาเป็นจำนวนมากและยาวนาน อย่างเช่นแผ่นดินไหวที่ก่อให้เกิดหายนะในตุรกี-ซีเรียครั้งนี้ ก็จะเกิดอาฟเตอร์ช็อกต่อไปอีกนานนับปี โดยความถี่ของการเกิดอาฟเตอร์ช็อกในแต่ละวันจะลดลงเรื่อยๆ ตามกฎของโอโมริ (Omori’s Law) รวมทั้งขนาดของอาฟเตอร์ช็อกที่เกิดในแต่ละครั้ง แม้จะสลับขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง แต่แนวโน้มโดยรวมก็จะมีขนาดที่เล็กลงเรื่อยๆ ตามกฎของกูเต็นเบิร์ก-ริกเตอร์ (Gutenberg-Richter Law) จนในที่สุดก็จะจางหายไป

 

ทำไมเสียหายหนักขนาดนี้

แผ่นดินไหวมีตัวเลขหลัก 2 ตัวที่มักสับสนกัน ตัวแรกคือ ‘ขนาด’ เป็นตัวเลขที่มีทศนิยมหนึ่งหน่วย นิยมใช้อ้างอิงกันเวลากล่าวถึงแผ่นดินไหว ตัวเลขนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงไม่ว่าเราจะพูดถึงมันจากบริเวณไหนของโลก ส่วนตัวเลขตัวที่ 2 คือ ‘ความรุนแรง’ ตัวเลขนี้ไม่มีทศนิยม และจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความห่างจากจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวเป็นสำคัญ

 

แผ่นดินไหวที่ก่อหายนะในตุรกี-ซีเรียรอบนี้มี ‘ขนาด’ วัดได้ที่ 7.8 และ 7.5 ตามมาตราโมเมนต์ แต่มี ‘ความรุนแรง’ วัดได้ถึงระดับ IX (เลข 9 ในอักษรโรมัน) ตามมาตราเมอร์แคลลี โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้ศูนย์กลาง ในความรุนแรงระดับ IX นี้คือความรุนแรงในระดับที่อาคารทั่วไปไม่อาจทนอยู่ได้ พื้นดินเคลื่อนตัวด้วยความเร่ง ระบบพื้นฐานถนน สะพาน ท่อน้ำ ท่อก๊าซใต้ดิน ก็อาจพังเสียหายโดยสิ้นเชิง

 

และปัจจัยสำคัญอีกอย่างคือเวลา แผ่นดินไหวนี้เกิดในช่วงเวลา 04.17 น. ซึ่งผู้คนส่วนมากยังคงหลับใหลอยู่ในเคหสถาน มีน้อยมากที่ออกจากอาคารมาสัญจรบนถนน รวมทั้งจังหวัดคาฮ์รามันมารัชที่เป็นศูนย์กลางแผ่นดินไหวยังมีแต่อาคารเก่าที่ยังไม่ได้ปรับปรุงฐานรากให้สามารถต้านแผ่นดินไหวได้อย่างอาคารใหม่ๆ ในกรุงอังการา เมืองหลวงของประเทศ ทั้งหมดนี้คือเหตุผลของความเสียหายและจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายที่มากมายจนน่าสลดใจ

 

แผ่นดินไหวป้องกันได้ไหม

แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่วิทยาการในทุกวันนี้ยังไม่อาจทำนายเวลา พิกัด และขนาดที่จะเกิดล่วงหน้าได้ เราจึงได้แต่ฝึกฝนเตรียมพร้อมเพื่อรับมือภายหลังเกิดเหตุตามที่หน่วยงานที่รับผิดชอบในประเทศต่างๆ จะจัดให้มีการซักซ้อมเอาไว้ ซึ่งก็จะช่วยลดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินได้ไม่มากก็น้อย

 

ภาพ: Burak Kara / Getty Images

FYI

การ​จัดว่าแผ่นดินไหวไหนเป็นเมนช็อกหรืออาฟเตอร์ช็อก ให้ยึดตามกฎของบาธ (Båth’s Law)​ นั่นคือให้แผ่นดินไหว​ที่มีขนาดใหญ่​สุดที่เกิดในรอบนั้นเป็นเมนช็อก และขนาดที่เล็กกว่าเมนช็อกตั้งแต่ 1.1-1.2 ลงไป ที่เกิดในพื้นที่​เดียวกัน​เป็น​อาฟเตอร์ช็อก และถ้ามีขนาดใหญ่​โผล่มาอีก ก็ให้ถือเป็นเมนช็อกครั้งที่ 2 หรือดับเบิล​ช็อก แต่ถ้าที่โผล่ตามหลังมาเป็นขนาดใหญ่มากกว่าเมนช็อกแรก ให้ถือเมนช็อกแรกเป็นฟอร์ช็อก

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising