×

RCL ทุ่มงบ 600 ล้านดอลลาร์ สั่งต่อเรือเพิ่มอีก 6 ลำ มองธุรกิจเดินเรือผ่านจุดต่ำสุดแล้ว รองรับดีมานด์ระยะกลาง-ยาว

22.06.2023
  • LOADING...

บมจ.อาร์ ซี แอล (RCL) ประกาศแผนกลับมาลงทุนครั้งใหญ่ ทุ่มงบ 600 ล้านดอลลาร์ สั่งต่อเรือใหม่เพิ่มอีก 6 ลำ พร้อมศึกษาการขยายกองเรือเพิ่มอีก 4-6 ลำ มองธุรกิจในระยะกลางถึงระยะยาวดีมานด์เติบโตดี เชื่อธุรกิจเดินเรือผ่านจุดต่ำสุดแล้ว

 

ทวินโชค ตันธุวนิตย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.อาร์ ซี แอล หรือ RCL ผู้ดำเนินธุรกิจสายการเดินเรือที่ประกอบธุรกิจขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางทะเล เปิดเผยว่า บริษัทได้มีการเซ็นสัญญาสั่งต่อเรือใหม่ เพื่อใช้รองรับปริมาณการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มมาในกองเรือจำนวน 6 ลำ มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 600 ล้านดอลลาร์ ซึ่งได้มีการสั่งต่อเรือใหม่ดังกล่าวในปี 2565 จากปัจจุบันที่บริษัทมีกองเรือรวมจำนวน 43 ลำ โดยมีแผนเริ่มทยอยรับมอบเรือจนครบในช่วงระหว่างปี 2567-2568 เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าของลูกค้าในระยะยาวที่เพิ่มขึ้น บริษัทรองรับความต้องการจากบริษัทในอาเซียนและเอเชีย รวมถึงรองรับความต้องการขนส่งสินค้าในตลาดใหม่ๆ ที่บริษัทขยายเข้าไปทำธุรกิจก่อนหน้านี้ ที่มีการขยายตัวที่ดีทั้งตลาดแอฟริกาและตะวันออกกลาง 

 

นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องการจัดหาเรืออีก 4-6 ลำ นอกเหนือจากแผนที่มีการสั่งต่อเรือใหม่ดังกล่าว แต่จะมีการพิจารณาการลงทุนและจังหวะการลงทุนอย่างรอบคอบ โดยสถานการณ์ล่าสุด ผู้ประกอบการเรือในต่างประเทศเริ่มมีปัญหาทางการเงินจากผลกระทบของดอกเบี้ยในสหรัฐฯ และยุโรป ที่เป็นขาขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีภาระต้นดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการเรือก็มีโอกาสที่จะไม่สามารถชำระค่าเรือได้ จึงจำเป็นต้องขายเรือใหม่ที่เพิ่งต่อเสร็จออกมาในราคาที่ถูกลง

 

“หากมีโอกาสเกิดขึ้นและมีจังหวะที่เหมาะสม บริษัทก็มีความพร้อมในการลงทุนเพิ่มด้วย” ทวินโชคกล่าว  

 

ปัจจุบันบริษัทมีความพร้อมทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นไตรมาส 1/66 ที่มีประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังมีความสามารถในการกู้เพิ่มได้อีกตามแผนการลงทุนดังกล่าว โดยไม่มีผลกระทบกับฐานะทางการเงินของบริษัท

 

ขณะเดียวกัน ล่าสุด RCL ได้จัดงานเปิดตัวเรือลำใหม่และตั้งชื่อเรือว่า ‘ณัฏฐา ภูมิ NATTHA BHUM’ มีขนาดความยาว 172 เมตร กว้าง 27.5 เมตร สามารถบรรทุกสินค้าได้มากขึ้นเป็น 1,930 TEU (Twenty-Foot Equivalent Unit) เพื่อมาทดแทนเรือเดิมที่มีขนาด 1,600 TEU ส่งผลให้มีความสามารถในการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้าได้เพิ่มมากขึ้น 

 

อีกทั้งเรือใหม่ดังกล่าวยังมีเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้การใช้น้ำมันประหยัดลงจากเดิมประมาณ 15% ส่งผลให้ใช้ปริมาณน้ำมันน้อยกว่าในความเร็วและระยะทางที่เท่ากัน ปริมาณการปล่อย Co2 (Green House Effect) ก็ลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้เรือลำดังกล่าวยังได้มีการติดตั้งเครื่องกรองไอเสีย เพื่อช่วยลดปริมาณกำมะถันที่เรือปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศปกติ 3.5% จนเหลือไม่เกิน 0.5%

 

ทวินโชคกล่าวว่า ในส่วนของการขายเรือเก่านั้น บริษัทยังมีการศึกษาแผนขายเรือเก่าออกอีกจำนวน 3-4 ลำ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการทยอยขายเรือเก่าออกไปแล้วจำนวน 6-7 ลำ สอดคล้องกับแผนงานธุรกิจที่ต้องการลดอายุเฉลี่ยของกองเรือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพที่ดีขึ้นในดำเนินธุรกิจของบริษัท

 

สำหรับมุมมองต่อภาพรวมของวัฏจักรธุรกิจขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางเรือ RCL  ประเมินว่า สถานการณ์ต่ำสุดได้ผ่านไปแล้ว แต่ยังคงต้องเตรียมความพร้อม รวมถึงต้องติดตามปัจจัยความไม่แน่นอนที่อาจกระทบต่อธุรกิจในอนาคต 

 

ปัจจุบัน RCL มีรายได้จากในประเทศไทยสัดส่วนประมาณ 15-20% ส่วนที่เหลือกระจายออกไปในทั้งภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกลาง และแอฟริกา โดยทั้งหมดถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดีในอนาคต

 

“ที่ผ่านมาหลายปี RCL แทบไม่มีการลงทุนใหม่ๆ หรือลงทุนน้อยมาก เพราะยังมองว่าเป็นจังหวะที่ไม่ดี แต่ตอนนี้เริ่มเห็นสถานการณ์ดี เราทำในสิ่งที่ควรทำคือ การลงทุนเพื่อให้กองเรือของเรามีศักยภาพที่สูงขึ้น ไม่ได้ถือว่าเป็นการเร่งจังหวะการลงทุน เพราะภาพรวมของธุรกิจขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางทะเลบริษัทมองว่า ยังมีการเติบโตที่ดีในระยะกลางถึงยาวในช่วง 3-5 ปี โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ดังนั้นในการทำธุรกิจขนส่งทางเรือจึงต้องมองภาพระยะยาว จะมองภาพระยะสั้นไม่ได้ ซึ่งระยะเวลา 1 ปี ก็มองว่าสั้นเกินไป”

 

สำหรับปัจจัยทางการเมืองในประเทศหลังผ่านการเลือกตั้งมาแล้วแต่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น จากการพูดคุยกับนักลงทุนต่างประเทศ ส่วนใหญ่มีมุมมองเป็นบวกต่อภาพลงทุนและศักยภาพในประเทศไทยในระยะยาว แต่ก็มีบางส่วนที่มีความกังวลในปัจจัยการเมืองไทยที่ส่งผลให้มีการชะลอการลงทุนไปก่อน เพื่อรอดูความชัดเจนของนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งหากการจัดตั้งรัฐบาลมีความชัดเจน ก็พร้อมเข้ามาลงทุน

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising