×

รวิศ หาญอุตสาหะ “ผมตัดสินใจรีแบรนด์ศรีจันทร์จากการอ่านหนังสือ”

15.01.2019
  • LOADING...

รวิศ หาญอุตสาหะ ชื่อที่หลายคนรู้จักในฐานะผู้บริหารที่ลุกขึ้นมารีแบรนด์เครื่องสำอางศรีจันทร์จนประสบความสำเร็จ หรือในฐานะของเจ้าของเพจ Mission to the Moon ที่มีผู้ติดตามกว่า 200,000 คน แต่ไม่ว่าในมุมไหน เชื่อหรือไม่ว่าสิ่งที่เขาคิดและตัดสินใจทำล้วนได้แรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือ THE STANDARD POP ชวน รวิศ หาญอุตสาหะ มานั่งคุยในฐานะนักอ่านตัวยงที่มีหนังสือเป็นจุดเปลี่ยนในการตัดสินใจ รวมทั้งเผยแพร่นิสัยรักการอ่านไปยังครอบครัวและคนใกล้ตัวอีกด้วย

 

คุณเริ่มรักการอ่านตั้งแต่เมื่อไร

เด็กๆ ชอบอ่านหนังสือครับ แต่เพิ่งกลับมาอ่านจริงๆ จังๆ ตอนเปลี่ยนสายงาน เพราะว่างานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้ตรงกับที่เรียนมา ผมเรียนวิศวกรรม แต่ต้องมาทำงานมาร์เก็ตติ้ง เลยต้องหาความรู้เพิ่มเติม ก็เลยอ่านหนังสืออย่างจริงจังตั้งแต่ตอนนั้น แม้ว่าตอนนั้นจะมีวิธีหาความรู้หลายทาง ซึ่งทางที่ดีที่สุดคือการไปเรียนหรือเทกคอร์สเป็นเรื่องเป็นราว แต่ผมเลือกอ่านหนังสือเพราะรู้ว่ามันเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ผมชอบ เพราะอ่านแล้วเก็ต ได้ขีด เขียน สัมผัส และเชื่อว่าการอ่านหนังสือมันช่วยสอนเรื่องที่เราอยากรู้ได้จริงๆ

 

หลังจากนั้นแม้จะรู้ตัวว่างานยุ่งมาก แต่การอ่านหนังสือมันสามารถทำตอนไหนก็ได้ หยุดเมื่อไรก็ได้ และจะกลับมาอ่านเมื่อไรก็ได้ ก็เลยกลายเป็นคนติดการอ่านหนังสือไปโดยปริยาย เพราะอ่านแล้วรู้สึกสงบ ยิ่งอ่านเรายิ่งค้นพบว่ามันยังมีหนังสือที่น่าสนใจอยู่อีกมาก เลยค่อยๆ อ่านจากเรื่องที่มันเกี่ยวข้องกันกับความสนใจของเราตอนนี้

 

จากจุดเริ่มต้นที่อ่านหนังสือเพื่อหาความรู้ในการทำงาน มันขยับขยายไปเป็นหนังสือหมวดอื่นๆ ได้อย่างไร

จากช่วงที่อ่านเอาความรู้ด้านมาร์เก็ตติ้งจริงๆ พออ่านไปเรื่อยๆ เลยค้นพบว่า มาร์เก็ตติ้งเกี่ยวข้องกับจิตวิทยาของมนุษย์ ก็เลยเริ่มอ่านหนังสือหมวดจิตวิทยามาเรื่อยๆ พออ่านแล้ว เฮ้ย มันสนุกจริงๆ นอกจาก 2 เรื่องนี้แล้ว ผมก็พยายามหาอ่านเรื่องที่มันลึกขึ้น อย่างเช่น วิธีการทำรีเสิร์ชที่เกี่ยวข้องกับคน เขาทำกันอย่างไร แต่ก็ไม่ได้หยุดแค่นี้นะครับ หนังสือนิยายก็อ่าน เพราะมันทำให้รู้สึกทึ่งทุกครั้ง นิยายมันไม่สามารถเขียนไปเรื่อยๆ ได้ แต่ต้องคิดโครงเรื่องให้เสร็จก่อนทั้งหมดถึงจะเริ่มลงมือเขียน มันเลยทำให้เราทึ่งว่า โครงเรื่องที่มันซับซ้อนขนาดนี้คิดได้อย่างไร อีกอย่างนิยายที่ดีมันจะทำให้เราได้จินตนาการถึงภาพจากตัวอักษรได้ ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่นิยายทุกเล่มที่ทำได้ ทุกครั้งที่ได้อ่านนิยายที่เจ๋งๆ เลยทำให้รู้สึกว่า เฮ้ย มันเก่งว่ะที่ทำให้เรานึกภาพออก

 

พออ่านไปเรื่อยๆ มันยิ่งทำให้ผมชอบศาสตร์ในการเขียนและอยากเขียน ก็เลยเริ่มหาหนังสือที่เขาว่ากันว่าวิธีการเขียนดี ตอนนั้นมีคนแนะนำหนังสือของ Dave Trott ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นนักเขียนเกี่ยวกับธุรกิจที่ชอบที่สุดอยู่ มาลองอ่านดู เพราะวิธีการใช้ศัพท์ของเขาดีมาก มันทำให้ผมอยากเขียนหนังสือบ้าง จนในที่สุดตอนนั้นก็มีหนังสือเล่มแรกเป็นของตัวเอง

 

 

นอกจากหนังสือของ Dave Trott แล้วยังมีหนังสือเล่มไหนที่ส่งผลต่อความคิด พฤติกรรม หรือการตัดสินใจของคุณอีกบ้าง

เล่มหนึ่งที่จำได้และส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ มากในหน้าที่การงานก็คือหนังสือเรื่อง What I wish I knew when I was 20 หรือที่แปลเป็นภาษาไทยคือ น่าจะรู้อย่างนี้ตั้งแต่ตอนอายุ 20 คนเขียนชื่อ Tina Seelig ซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ที่สแตนฟอร์ด หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมกล้ารีแบรนด์ศรีจันทร์ เพราะทั้งหมดทั้งมวล สิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้คือ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทั้งหมด มันน่ากลัวน้อยกว่าความเสียดายที่เราไม่ได้ทำอย่างนั้น ถ้าเวลามันผ่านไปแล้ว เพราะชีวิตคนเรามันไม่ได้ยาวมาก หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่พูดได้ดี วิธีการเล่าก็ดี มันเลยทำให้เรากล้ารีแบรนด์ศรีจันทร์ ไม่ใช่สิ ต้องบอกว่าแม้แต่กล้าคิดที่จะรีแบรนด์ เพราะสำหรับผมมันคือก้าวที่ยิ่งใหญ่และน่ากลัว หนังสือมันช่วยให้เรามีพลังที่จะคิดต่อว่า ถ้ามันผิดพลาดขึ้นมา มันไม่ได้เสียหายมากมายอย่างที่กลัว หนังสือเล่มนี้คือจุดเริ่มต้น

 

อีกเล่มหนึ่งที่ชอบมากก็ยังเป็นของ Dave Trott คือ Predatory Thinking เกิดเป็นกระต่าย ต้องคิดให้ได้อย่างหมาป่า เล่มนี้คือเล่มที่ทำให้ผมรู้ว่า เวลาที่จะอธิบายอะไรให้คนฟังหรือจะพูดอะไร วิธีการพูดสำคัญไม่แพ้เรื่องที่จะพูดเลย อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า Dave Trott เป็นคนที่เขียนหนังสือเก่ง เขาเขียนเรื่องสั้นมากๆ แต่ทรงพลัง แม้แต่ย่อหน้า จุดฟูลสตอป หรือการใช้ตัวอักษรเล็กใหญ่ หลายอันมันไม่ได้ถูกตามหลักไวยากรณ์ แต่ทุกสิ่งที่เขาเขียนออกมามันพิสูจน์แล้วว่าวิธีการเขียนมันสำคัญ ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องธุรกิจ แต่ถ้าเขียนด้วยวิธีอื่นมันไม่มีทางสนุกได้ขนาดนี้ หนังสือเล่มนี้มันส่งผลกับผมในแง่ที่ว่าเวลาทำงาน จะพยายามสโคปเรื่องที่พูดให้เหลือแค่ไม่กี่เรื่อง แล้วทุกเรื่องที่พูดต้องสรุปในตัวมันเอง อย่างน้อยถ้าคุยกับใครสักคนแล้วเขาเดินจากไปเราต้องมั่นใจได้ว่าเขาเข้าใจตรงกัน นี่กลายเป็นจุดประสงค์ของการพูดทุกครั้งเวลาทำงาน ซึ่งเรียกได้ว่าเปลี่ยนวิธีการทำงานของผมไปเยอะเหมือนกัน ตั้งแต่วิธีการเขียนอีเมลจนถึงการประชุม เรียกว่าเป็นพื้นฐานของการสื่อสารอย่างหนึ่งที่เราได้มาจนถึงทุกวันนี้

 

เล่มที่ 3 คือ Principles ซึ่งเพิ่งได้อ่านเมื่อไม่นานมานี้ หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่หนามาก เป็นเล่มที่ใช้พลังในการอ่านมากที่สุด และเป็นเล่มที่เขียนรีวิวไว้ยาวสุดๆ ราว 30 กว่าหน้า ต้องบอกว่า Principles เป็นหนังสือที่คุณภาพคับแก้วจริงๆ ว่าด้วยแนวคิดของผู้ชายคนหนึ่งที่น่าอัศจรรย์มากจริงๆ ซึ่งคือผู้ก่อตั้งเทรดฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แล้วเขาบันทึกแทบทุกเรื่องในชีวิตเขาว่า ขณะที่เขาทำเรื่องนี้เขาคิดอะไรอยู่ แล้วเอามารวบรวมเหมือนไดอะรีชีวิตเขา แต่เป็นไดอะรีที่ละเอียดมากราวกับว่ามันถูกบันทึกโดยหุ่นยนต์ เขาเล่าว่าสิ่งที่เขาทำหรือเห็นคนอื่นทำ เขาเหล่านั้นใช้หลักการทำอะไรในการทำเรื่องนั้นๆ เขาทำนายการล่มสลายของเศรษฐกิจได้อย่างไร ทำไมเขาถึงสามารถบริหารจัดการกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ เขาคิดอย่างไรตอนที่เขาเลือกพนักงาน การคิดแบบนี้ถูกหรือผิดอย่างไรแล้วส่งผลอย่างไรบ้าง มันเจ๋งมาก ผมยังไม่เจอหนังสือประวัติของคนเล่มไหนที่ดีเท่าหนังสือเล่มนี้

 

 

นอกจากนั้นแล้วหนังสือยังทำให้คุณลุกขึ้นมาทำพอดแคสต์ Mission to the Moon จนเป็นที่รู้จัก

มันเกิดจากความเชื่ออย่างหนึ่งที่คิดว่า ทุกวันนี้เราอาจเรียนรู้ไม่เร็วพอ และบางครั้งก็อาจพัฒนาตัวเองช้าเกินไป ผมเชื่ออย่างนี้ เลยมาถามตัวเองว่าจะทำอย่างไรให้ได้รู้เรื่องใหม่ๆ ในทุกวัน เลยสัญญากับตัวเองว่าจะต้องมีเรื่องใหม่ๆ ไปเล่าให้คนอื่นฟังทุกวัน มันเริ่มจากการเล่าให้คนที่ทำงานฟังก่อนเป็น Knowledge Sharing ที่เป็นเรื่องอะไรก็ได้ พอทำไปก็รู้สึกว่ามันสามารถต่อยอดให้ดีขึ้นไปกว่านั้นได้ด้วยการที่เล่าออกมาให้เป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ อย่างการทำพอดแคสต์ ทุกอย่างมันเริ่มจากการที่เราอยากอัปเดตตัวเองตลอดเวลา ทีนี้พอมีสัญญาว่าจะต้องมาอัดพอดแคสต์ เลยต้องหาเรื่องที่จะต้องมาอัดให้ได้ มันเลยทำให้ได้อ่านหนังสือเยอะขึ้น ส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่สนใจและต้องการใช้ประโยชน์จากมัน เช่น ตอนนี้สิ่งที่ต้องการใช้เยอะที่สุดคือเรื่องการบริหารคน ฉะนั้นถ้าฟัง Mission to the Moon ก็จะมีเรื่องคนเยอะมาก ตั้งแต่การบริหารจัดการลักษณะขององค์กร จนกระทั่งเราจะเลี้ยงลูกอย่างไร มันมีทุกเรื่องที่เกี่ยวกับคน เพราะผมเชื่อว่าไม่ว่าธุรกิจไหนก็ตามจะผ่านความเปลี่ยนแปลงช่วงนี้ไปได้มันไม่ใช่อาศัยเทคโนโลยีเสียทีเดียว แต่ความคิดของคนในองค์กรต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญ หนังสือที่เลือกอ่านก็เลยเป็นเรื่องแถวๆ นี้ แต่เทคโนโลยีก็ไม่ใช่ไม่สำคัญ โดยส่วนตัวแม้จะเรียนวิศวกรรมมา แต่ผมเป็นเด็กวิศวกรรมที่นอกจากเรียนหนังสือไม่เก่งแล้ว ถ้าจัดกลุ่มกัน ผมก็จะเป็นกลุ่มโลว์เทคที่สุด ก็เลยรู้สึกว่าจะปล่อยให้ตัวเองโลว์เทคแบบนี้ต่อไปไม่ได้ เราอาจเขียนโค้ดอะไรไม่เป็น แต่เราต้องอ่านให้รู้เรื่องจนไปคุยกับพวกที่เขียนโค้ดได้ ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ต้องอ่านบ่อยๆ เพราะสิ่งที่อ่านไปเมื่อ 6 เดือนที่แล้วมันอาจจะไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องของวันนี้แล้วก็ได้

 

 

นอกจากตัวเองแล้ว คุณยังสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับคนในครอบครัวด้วย

ลูกคนโตของผมอ่านหนังสือเยอะมาก เผลอๆ อ่านเยอะกว่าผมเสียอีก ต้องเล่าให้ฟังว่าห้องสมุดของผมกับห้องของลูกอยู่ติดกัน นอกจากผมมีหนังสือปกติแล้ว ผมยังสะสมหนังสือเก่าด้วย ที่ประหลาดใจคือ อยู่ๆ ผมก็เจอบทละครโบราณหนาเท่าสมุดหน้าเหลืองที่สะสมไว้อยู่ในห้องนอนลูก เขาอ่านอยู่ คือเขาไปหยิบมาจากตู้ ตอนแรกเขาก็กลัวโดนดุ แต่บอกเขาไปว่าแค่สงสัย เพราะพ่อเองซื้อมาพ่อยังไม่ได้อ่านเลยด้วยซ้ำ ปรากฏว่าเขาอ่านแล้วสนุกดี ชอบด้วย เอาจริงๆ คือเขาอ่านหนังสือแทบทั้งวัน อ่านเยอะ อ่านเร็ว แล้วก็สั่งซื้อหนังสือเองจนทุกวันนี้หนังสือเขากับหนังสือผมเยอะพอๆ กันแล้ว (หัวเราะ) มันเลยส่งผลให้เขาเป็นคนเขียนหนังสือดีด้วย เพราะคนที่อ่านหนังสือเยอะส่วนใหญ่ทักษะการเขียนก็จะมาคู่กัน

 

หรือแม้แต่ในบริษัท คุณก็ยังสอดแทรกวัฒนธรรมการอ่านให้กับพนักงาน

ที่ศรีจันทร์จะมีสวัสดิการให้พนักงานซื้อหนังสือได้เดือนละเล่มต่อคน จะเป็นประเภทไหนก็ได้ มันเริ่มมาจากผมได้ความรู้จากการอ่านหนังสือเยอะมาก หลายอย่างที่ทำทุกวันนี้มีผลมาจากหนังสืออย่างเต็มที่ แม้แต่เทรนนิ่งคอร์สให้พนักงานในบริษัทก็มาจากการอ่านหนังสือทั้งนั้น ฉะนั้นก็อยากให้ทุกคนรักการอ่าน แต่จะไปบังคับให้ทุกคนอ่านหนังสือแบบเดียวกับที่เราชอบก็กระไรอยู่ แต่ปกติถ้าชอบหนังสือเล่มไหนมากๆ ก็จะซื้อแจกอยู่แล้ว มันเลยเป็นความคิดที่ว่า ถ้าอยากให้เขารักการอ่านก็ต้องสนับสนุนให้เขามีหนังสืออยู่ที่บ้านเยอะๆ และเริ่มต้นจากหนังสือแนวที่ตัวเองชอบก่อนก็ได้ เพราะเราไม่มีทางที่จะอ่านหนังสือที่ตัวเองไม่ชอบ ก็เลยให้ทุกคนเริ่มจากตรงนั้น

 

นอกจากนั้นแล้วนานๆ ครั้งเราก็จะมีการจัด Book Club ขึ้นในบริษัท หนังสือเล่มไหนที่เรารู้สึกว่ามันเจ๋งจริงๆ ก็อยากให้ทุกคนได้อ่านแล้วมาแชร์ไอเดียกันก็เลยจัดเป็น session ให้ทุกคนได้มีโอกาสคุยกันถึงหนังสือเล่มนี้ว่าแต่ละคนได้อะไรจากหนังสือเล่มนี้บ้าง แล้วก็ไม่น่าเชื่อนะ การให้สวัสดิการพนักงานไปซื้อหนังสือ ถ้าเทียบกับสวัสดิการอื่นๆ มันเป็นสิ่งที่ใช้เงินน้อยมาก แต่หลังจากสำรวจมาแล้วเป็นสวัสดิการที่พนักงานชอบที่สุด ผมก็ไม่ได้ถามเขาต่อเหมือนกันว่าทำไม แต่คงเป็นเพราะเราอยากให้ แล้วเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์จริงๆ ผมรู้สึกว่าสิ่งที่บริษัทพยายามจะบอกว่าตัวเองเป็น Learning Company มันถูกจุดประกายด้วยเรื่องนี้ว่า อย่างน้อยที่สุดเราก็สนับสนุนให้คุณพยายามเรียนรู้ในสิ่งที่คุณสนใจด้วย

 

ใครๆ ต่างพูดว่าทุกวันนี้ธุรกิจหนังสือเป็นสิ่งที่ยากลำบาก ในฐานะที่คุณเป็นนักธุรกิจ คุณมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร

โดยส่วนตัวผมเข้าใจเลยว่าสื่อแบบใหม่มันง่ายและทำให้คนติดกว่าเยอะ ผมเพิ่งพูดเรื่องนี้กับแฟนว่า สังเกตไหมเวลาเราทำงานเหนื่อยๆ แล้วกลับถึงบ้านเราจะอ่านหนังสือไม่ไหว ต่อให้เป็นนิยายที่ชอบ แต่เราเล่นมือถือได้ วันนั้นเลยได้ข้อสังเกตว่าโซเชียลมีเดียลักษณะมันเล่นง่ายกว่าจริงๆ อันนี้ต้องยอมรับ โดยส่วนตัวผมก็ยังไม่มีคำตอบเหมือนกันว่าธุรกิจหนังสือควรจะทำอย่างไรต่อไป ใจหายทุกครั้งที่เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น แต่ผมเชื่อจริงๆ ว่าหนังสือจะยังอยู่ได้อีกนาน เพราะเอาจริงๆ คอนเทนต์ที่มีสาระมากๆ เราไม่อ่านบนโซเชียลมีเดียหรอก มันยาวเกินไป ถ้าเราต้องการอะไรที่ลึกจริงๆ หนังสือจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เราไม่มีทางนั่งจ้องหน้าจอมือถือเพื่ออ่านบทความ 100 หน้า ฉะนั้นผมยังเชื่อว่าหนังสือคือเครื่องมือที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งในการหาความรู้ลึกๆ จริงๆ

 

อีกประเด็นหนึ่งคือ ผมพยายามชวนคนรอบข้างคิดว่า หนังสือเล่มหนึ่งกว่านักเขียนจะเขียนมาได้เขาใช้พลังงงานเยอะมาก เราใช้เงินไม่กี่ร้อยบาทซื้อสิ่งที่ดีที่สุดที่สมองเขาคิดได้ออกมาในรูปแบบหนังสือ ฉะนั้นมันคุ้มมากที่เราใช้เวลากับมัน

 

ในด้านธุรกิจผมเชื่อหนังสือมันจะยังอยู่ไปได้ เพราะคนกลุ่มนี้แมสพอที่จะประคองให้ธุรกิจนี้ยังอยู่ต่อไปอีกนาน แม้ว่าตอนที่ผมตายก็เชื่อว่ามีหนังสือเป็นเล่มๆ อ่านอยู่ เพราะฟอร์แมตการเขียนออกมา 200-300 หน้า มันไม่มีทางเหมือนกับการเสพคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียอย่างสิ้นเชิง ต่อให้เราเอาหนังสือเล่มนั้นมาสรุปเป็นบทสั้นๆ ก็ไม่มีทางเหมือนกัน อีกอย่างคือผมรู้สึกว่าเวลาที่อ่านหนังสือมันคือเวลาที่เราสงบและได้ใช้เวลากับตัวเองจริงๆ ได้นั่งตกผลึก ยิ่งอายุเยอะขึ้นจะยิ่งเข้าใจเวลาเหล่านี้คือเวลาที่มีค่า และเราจะโหยหาเวลาแบบนี้ ซึ่งการอ่านให้สิ่งนี้กับเรา

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

FYI
  • LIT Fest เทศกาลหนังสือสนุกไฟลุกพรึ่บ! ลงทะเบียนเข้างาน LIT Fest @LITFest2019 ได้ที่ www.zipeventapp.com/e/LIT-Fest-2019 หรือผ่านทางแอปพลิเคชัน ZipEvent โชว์ QR CODE ที่บูท Registration เพื่อรับสายรัดข้อมือ สมุดโน้ต และโปสเตอร์ฟรี
  • LIT Fest คือเทศกาลหนังสือสุดสนุกครั้งแรกของเมืองไทย อารมณ์ประมาณงานสัปดาห์หนังสือแต่งงานกับเทศกาลดนตรี แล้วมีลูกเป็นงาน LIT Fest
  • เทศกาลหนังสือ ดนตรี ศิลปะ ในสวนที่คุณจะได้พบกับไอเดียบรรเจิดจากกว่า 30 สำนักพิมพ์ กระทบไหล่ชนแก้วปิคนิคกับนักเขียน นักแปล บรรณาธิการกว่า 100 คน เต้นรำชิลๆ กับ 15 วงดนตรี เอนจอยกับ Book Club ลับสมองจนไฟลุก สนุกกับหนัง ละครเวที แสงสีกลางแจ้งเคล้าลมหนาว ในบรรยากาศสบายๆ อิ่มอร่อยกับอาหารที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ
  • งานจัดวันที่ 18 -19 -20 มกราคม 2019 เวลา​ : งานภายในอาคารเริ่ม​ 13.00​ / งานกลางสนามเริ่ม 16.00​ -​ 22.00 ที่ มิวเซียมสยาม
  • ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/LITFest.th
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X