ผมเป็นคนแรกๆ ที่ออกมาพูดเรื่อง ‘การตื่นรู้ของคนรุ่นใหม่’ หรือ ‘The Great Awakening’ ตามมาด้วยการเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาฯ ในขณะนั้น ขอให้เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้นิสิต นักศึกษา เคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัย มิพักต้องเอ่ยถึงว่า ผมเป็นคนแรกและคนสุดท้ายในวงการโทรทัศน์ไทยที่นำเสนอประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์มาออกอากาศติดต่อกันเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์
นั่นเป็นครั้งแรกและเพียงครั้งเดียวที่ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้อภิปรายประเด็นดังกล่าวในรายการโทรทัศน์ ซึ่งในขณะนั้นจนถึงขณะนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก นำมาสู่การแทรกแซงภายในจากหลายคนในสถานี จนนำมาสู่การงดออกอากาศรายการในค่ำวันศุกร์ ซึ่งขัดทั้งรัฐธรรมนูญ ประมวลจริยธรรมของสถานี เพราะเทปบันทึกรายการดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการในทุกระดับ ก่อนจะได้รับพิจารณาออกอากาศอย่างเป็นทางการ
นั่นเท่ากับจำนวนผู้มีวิจารณญาณผู้ยืนยันว่า เนื้อหาในรายการนั้นไม่มีความตอนใดที่ผิดกฎหมาย เมื่อสถานียอมระงับรายการเสียเอง ในวันเสาร์ ผมและทีมงานจึงประกาศยุติรายการ เพื่อกดดันให้สถานีชี้แจงหลักการต่อสาธารณะ จนในที่สุด หลังการประชุมในวันอาทิตย์ สถานี Thai PBS จึงนำเทปบันทึกรายการดังกล่าวมาออกอากาศในวันจันทร์
กระนั้น ผมก็ได้ตัดสินใจที่จะยุติบทบาทการทำงานร่วมกับ Thai PBS ไปแล้ว
ที่เข้าใจกันว่า ผมถูกสถานีปลดออก จึงเป็นความเข้าใจผิด
แท้จริงแล้ว ผมเป็นฝ่ายปลดสถานีออกตั้งแต่วันเสาร์ เพราะสถานีโทรทัศน์สาธารณะตามรัฐธรรมนูญทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง ด้วยการแทรกแซงสื่อตัวเอง
นี่คือการทำผิดหลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดทางวิชาชีพ ซึ่งในเวลานั้นหลายคนอาจจะยังไม่เห็นหรือแกล้งไม่เห็น เพราะได้ผลประโยชน์ที่ตามมาจากสถานการณ์นั้น
เหตุการณ์นั้นนำมาสู่การแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อผมและผู้ร่วมรายการตามสถานีตำรวจทั่วประเทศ เป็นการใช้กฎหมายนี้เล่นงานปัญญาชน นักวิชาการ และสื่อมวลชน ครั้งใหญ่ และผมได้รับเกียรติให้ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ จนผมต้องใช้เวลาตั้งรับกับเรื่องนี้นานปี แม้จนบัดนี้ก็ยังมีราคาที่ต้องจ่าย
การพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในเวลานั้นไม่ได้ทำได้ง่ายเหมือนทุกวันนี้ แม้จะเป็นการสนทนาอารยะอย่างปัญญาชนก็ตามที ผมจึงเข้าใจหัวอกของเยาวชนคนหนุ่มสาวทุกวันนี้ จึงไม่มีเหตุผลใดที่ผมจะขัดขวางการเปลี่ยนแปลง หรือพยายามหมุนเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปหาอดีต
นั่นคือเหตุที่ทำให้ผมเขียนหนังสือ Future | ปัญญาอนาคต เป็นเล่มแรก เพื่อชี้ชวนให้ทุกคนในสังคมมุ่งมั่นสร้างตัวตน สร้างความคิด สร้างอนาคตขึ้นมาใหม่ ผมเซ็นชื่อในหนังสือนับพันเล่มว่า “ขอให้เห็นอนาคตใหม่”
จากนั้นผมจึงเขียน Past | ปัญญาอดีต เพื่อปลุกความกล้าหาญและสร้างสรรค์ให้เยาวชนคนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงและสร้างจิตวิญญาณแห่งยุคสมัย
ผมเขียน One Million | ปัญญาหนึ่ง ถึงร้อยหมื่น เพื่อชี้ให้เห็นการทำงานของโลกสมัยใหม่ว่าคนเพียงหนึ่ง อาจมีพลานุภาพได้ถึงล้าน ด้วยการสนับสนุนของเทคโนโลยีและการเชื่อมต่อในโลกสมัยใหม่
ในช่วงที่สังคมไทยเผชิญหน้ากับวิกฤตรอบด้าน ผมเขียน Crisis Wisdom | ปัญญา {ฝ่า} วิกฤต เพื่อสร้างแพลตฟอร์มทางปัญญาให้ผู้อ่านใช้ขบคิดร่วมกับประสบการณ์ชีวิตส่วนตนว่าจะตัดสินใจอย่างไรเมื่อต้องเผชิญหน้ากับวิกฤต
นี่เป็นที่มาของการให้สัมภาษณ์คุณเคน นครินทร์ แห่ง THE STANDARD
ผมพยายามใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดราว 1 ชั่วโมง 11 นาที อธิบายเหตุและปัจจัยที่นำประเทศไทยมาสู่วิกฤตใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อย่างกระชับ ซึ่งวิญญูชนย่อมเข้าใจได้เมื่อวางใจเป็นธรรมว่า ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ผมเข้าใจว่าการพูดในวาระที่สังคมแตกแยกแบ่งฝ่าย ร้าวลึกลงไปถึงในระดับครอบครัวนั้น จัดได้ว่าเป็นความเสี่ยงภัยขั้นสูง จนยากจะมีผู้ใดอยากจะรับความเสี่ยงนั้นไว้ แต่ผมก็ยังยินดีที่จะทำหน้าที่นั้นด้วยจิตที่ปรารถนาดีต่อประเทศชาติบ้านเมือง ต่อผู้หลักผู้ใหญ่ ต่อคนรุ่นใหม่ และอนาคตของประเทศไทย
ผมพยายามวิเคราะห์ แยกแยะปัญหา และหาทางออกด้วยปัญญา ซึ่งถ้าฟังให้ครบจบกระบวนความ ผู้ฟังย่อมพึงได้รับรู้ถึงความตั้งใจนั้น บทสนทนาชิ้นนี้จึงถูกส่งต่ออย่างกว้างขวาง ไปจนกระทั่งถึงระดับไลน์กลุ่มของครอบครัวที่กำลังมีความขัดแย้งกันจนยากจะประสาน บทสนทนาชิ้นนี้ได้ทำหน้าที่ประสานรอยแยกแตกนั้นเท่าที่มันพอจะทำได้
ปัญหาจึงตกมาอยู่ที่รอยแยกใหญ่ของประเทศไทย
กล่าวอย่างรวบรัด เฉพาะประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ วันนี้มีผู้พึงใจจากฝั่งขวาสุด ในระดับจะกลับไปสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปจนถึงสุดทางฝั่งซ้าย ผู้มีความฝันในระดับไปสู่การเป็นสาธารณรัฐ
คำถามสำคัญที่สุดจึงอยู่ที่ว่า เราจะจัดวางตำแหน่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันไว้ ณ ที่จุดไหน
จุดก่อนเหตุการณ์ 2475 ซึ่งดีที่สุดสำหรับองค์กษัตริย์
จุดหลัง 2475 ซึ่งดีที่สุดสำหรับคณะราษฎร
จุดก่อนการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 10 (ตามข้อเสนอของ คุณบรรยง พงษ์พานิช)
หรือการร่วมสร้างร่วมคิด เพื่อหาตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ใหม่ ตำแหน่งที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ได้สถาวร ปลอดภัย เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย และเป็นที่พึงใจหรือยอมรับได้จากทุกฝ่าย
‘ราชประชาสมาสัย’ ที่ผมนำเสนอ จึงไม่ใช่ราชประชาสมาสัยโบราณแบบที่ผู้ไม่ได้ฟังบทสนทนา หรือฟังไม่จบ หยิบยกไปกล่าวอ้าง บิดเบือน ให้ร้าย ว่าผมจะนำพาประเทศไทยกลับไปอยู่ในอดีต
มีแต่ผู้ยึดติดอยู่กับอดีต ตำราเล่มเดิม และกรอบคิดเก่าเท่านั้น ที่ชอบพาตนเองและสังคมกลับไปหาอดีต
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผมศึกษาอดีตเพื่อหาทางออกที่ดีให้กับสังคม และให้ลูกหลานมีลู่ทางในการสร้างอนาคตใหม่ แม้จะมีข้อจำกัดอยู่รอบด้านมากมาย
‘ราชประชาสมาสัย 2020’ จึงคือข้อเสนอในการหาสมการให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ร่วมกันได้กับประชาธิปไตย
หาจุดที่พระราชาอยู่ร่วมกันได้กับประชา โดยการสร้างสมดุลใหม่ หลังจากสมดุลเดิมได้สูญเสียไป
ในสมดุลใหม่ มิใช่ว่าทุกฝ่ายต้องมีอำนาจเท่ากัน หากแต่ต้องมีอำนาจถ่วงดุลที่ทุกฝ่ายพึงใจและพอยอมรับร่วมกันได้ ซึ่งเป็นคำถามที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันหาคำตอบว่า สมดุลใหม่นั้นคือจุดใด
เมื่อกำหนดเป้าหมายได้ชัด เราจึงจะออกแบบกฎ กติกา เพื่อสร้างสมดุลใหม่นั้น
ถ้าสังคมทำให้ราชและประชาอาศัยอยู่ร่วมกันได้ เราจึงจะก้าวข้ามความขัดแย้งครั้งใหญ่ในมหาวิกฤตนี้ไปได้
แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดความบาดเจ็บ เสียหาย หรือล้มตาย สมดุลอันเหลืออยู่เพียงน้อยนิดย่อมมิอาจเพียงพอให้สังคมทรงตัวต่อไปได้ นั่นคือจุดเสี่ยงที่จะทำให้สังคมล่มสลาย จนยากต่อการเยียวยาแก้ไขกลับมา
ในฐานะผู้ก้าวออกมายืนเบื้องหน้า เพื่อรับทุกความเสี่ยงภัยมาทุกยุคทุกสมัย
ผมไม่ได้ต้องการคำชื่นชมหรือความเห็นใจ
ผมขอเพียงอย่าบิดเบือนเอาคำพูดที่ผมไม่ได้กล่าวมาใส่ปากผม
อย่าใส่หนังสืออ้างอิงในสิ่งที่ผมไม่ได้อ้าง เพื่ออ้างว่าเป็นแนวคิดผม
อย่าตัดตอนประเด็นใหญ่ให้เหลือเพียงประเด็นเดียว เพื่อทำลายภาพใหญ่
โปรดจงมองให้เห็นป่าทั้งป่า และพิจารณาประเด็นทั้งหมดในบทสนทนาอย่างรอบด้าน
ผมเชื่อว่าผู้มีใจเป็นกลางและเป็นธรรมจะมองเห็นความงดงามของข้อคิดต่างๆ ที่ผมนำเสนอไว้
ครั้งหนึ่งผมเคยถูกกล่าวหาว่าล้มเจ้า จนเวลาผ่านไป ผู้คนจึงเริ่มเล็งเห็นว่า ความพยายามที่แลกมาด้วยหน้าที่การงานและเดิมพันแห่งอิสรภาพนั้น ถ้าทำสำเร็จจะเป็นผลดีต่อสถาบันในระยะยาวเพียงใด และสังคมไทยคงไม่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นทุกวันนี้
ผู้ที่ได้ชม ตอบโจทย์ สถาบันพระมหากษัตริย์ ตอนสุดท้าย คงจะทราบว่า แม้ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็ยังยอมรับที่จะอยู่ร่วมกับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ ถ้าเสียงส่วนใหญ่ในประเทศต้องการให้เป็นเช่นนั้น
นี่คือบทสรุปอันงดงามที่ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ยอมให้ออกอากาศ และแนวคิดแห่งการรอมชอมได้ปลาสนาการไป พร้อมการลี้ภัยของอาจารย์สมศักดิ์ การบีบบังคับกดดันจนทำให้อาจารย์สมศักดิ์และผู้เห็นต่างทางการเมืองทั้งหลายต้องลี้ภัย เป็นความผิดพลาดร้ายแรง และนำมาสู่มหันตภัยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันยากจะประเมินได้ จนถึงวันนี้ ผู้ตัดสินใจคงประจักษ์ในความเสียหายที่ก่อขึ้นนั้น
7 ปีผ่านไป ผมยังคงเป็นคนคนเดิม มีจุดยืนเดิม ประกอบสัมมาชีพด้วยการเขียนหนังสืออย่างสมถะ แต่มาคราวนี้ กลับถูกกล่าวหาว่าพยายามจะล้มล้างความก้าวหน้า ล้มล้างนักศึกษา ขัดขวางอนาคต
เพราะมีขบวนการดึงแนวคิดราชประชาสมาสัยกลับไปในอดีต เพื่อเป็นการเบี่ยงเบนทางเลือกเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการนำมาซึ่งความขัดแย้งรุนแรงครั้งใหม่ และมิใช่ข้อเสนอใดของผม
ข้อเสนอของผมคือส่วนผสมและดุลอานาจใหม่ คือ ‘ราชประชาสมาสัย 2020’ ซึ่งต้องฉีกตำราและแนวคิดในอดีตทิ้งไป ก่อนเราจะเริ่มออกแบบความสัมพันธ์และอนาคตใหม่ได้
ผมจะไม่กล่าวลงไปในรายละเอียด แต่ในฐานะผู้มีประสบการณ์ตรง ผมเพียงอยากจะบอกว่า กระบวนการ วิธีคิด อคติ ของทั้งฝ่ายเหลืองสุดข้างและแดงสุดขั้วนั้น มีวิธีการทำงานแทบไม่แตกต่างกัน และอย่างแทบไม่น่าเชื่อ
การไม่มุ่งถกกันที่ประเด็น แต่ขับเน้นด้วยการทำลายในเรื่องส่วนตัว การผสมโรงโดยไม่ยั้งคิด การผลิตซ้ำความเกลียดโดยไม่ศึกษา บัดนี้ได้ก้าวเข้ามาครอบงำผู้อ้างตนเองว่าก้าวหน้า จนพาผมให้หวนคิดถึงเหตุการณ์เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา
ไม่มีอะไรเลวร้ายกว่า การกลายเป็นปีศาจที่ตัวเองกล่าวหา ไม่ว่าจะในเสื้อคลุมของเผด็จการหรือความก้าวหน้า จำนวนหนึ่งจึงสะใจที่ได้แขวนประจาน เอาเก้าอี้ฟาด และจำนวนมากยืนหัวเราะอย่างสะใจใต้ต้นมะขาม เมื่อกระบวนการทำลายล้างได้เริ่มต้นกับคนผู้หนึ่ง
จากหนึ่งจะกลายเป็นล้าน ถ้าเรายังไม่หยุดยั้งความรุนแรงในหัวใจ
สังคมไทยยังพอมีเวลาที่จะขบคิดหาทางออกที่สร้างสรรค์ร่วมกัน เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของยุคสมัย ผมได้พยายามตั้งคำถามที่ท้าทายสังคมอย่างเต็มที่
แน่นอน ราคาที่ต้องจ่ายทุกครั้งนั้นมี และผมก็ยินดีที่จะจ่ายราคานั้นเสมอมา เพื่อไม่ให้สังคมโดยรวมต้องจ่ายราคาที่แพงกว่า
บัดนี้ ถึงเวลาที่เราจะละวางความเกลียดชัง มองไปยังเส้นทางที่ยังพอมีแสงสว่างและความหวัง แล้วสร้างอนาคตของประเทศไทยไปสู่ยุคสมัยใหม่ร่วมกัน
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
27 ตุลาคม 2564