×

ปฏิรูปสถาบันให้เป็นราชประชาสมาสัย ราชกับประชาอยู่ร่วมกัน คือทางออกเดียวของประเทศไทย

โดย THE STANDARD TEAM
25.10.2020
  • LOADING...
ปฏิรูปสถาบัน ราชประชาสมาสัย

THE STANDARD เดินทางมาพูดคุยกับ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นักคิด นักเขียน และเจ้าของสำนักพิมพ์ openbooks ในช่วงเวลาที่แหลมคมที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย การนัดสัมภาษณ์ครั้งนี้ไม่ใช่การพูดคุยเพื่อแนะนำหนังสือใหม่ ‘ปัญญาฝ่าวิกฤต’ ของเขาตามปกติทั่วไป แต่ภิญโญเตรียมตัวและตั้งใจเรียบเรียงความรู้และความในใจทั้งหมดที่อยากจะสื่อสารไปยังสาธารณะ โดยเฉพาะกับฝ่ายผู้มีอำนาจในเวลานี้

 

“วันนี้เรายังมีเวลาพอที่จะคุยกันเรื่องนี้ แล้วสนทนากันอย่างสร้างสรรค์ และรวมพลังกันทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายเยาวชนของชาติ ทั้งฝ่ายอนุรักษนิยม ทั้งฝ่ายก้าวหน้า เพื่อจะสร้างโมเดลที่ดีที่สุดของประเทศไทยในทางการเมืองขึ้นมาได้ เรายังไม่เคยถึงจุดเส้นอันตรายที่จะนำไปสู่สงครามกลางเมือง เราคุยกันวันนี้ ออกอากาศวันไหนไม่ทราบ แต่เรายังมีโอกาสที่จะทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้” ภิญโญกล่าว

 

ช่วงหนึ่งระหว่างการสัมภาษณ์ เราพยายามขี่ม้าเลียบค่าย แต่ภิญโญบุกเข้าไปในค่ายและยิงตรงประเด็นว่าเรากำลังคุยกันเรื่อง ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’

 

ภิญโญกล่าวว่า “เราเริ่มมาคุยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความขัดแย้งในรอบนี้ ที่เด็กเขาตั้งประเด็นขึ้นมา เราพูดประหนึ่งว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยไม่เคยปรับตัวเลย ซึ่งไม่จริง สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่สูงสุดของสังคมไทย เป็นไปได้อย่างไรที่ไม่เคยปรับตัวเลย เพียงแค่เราไม่รู้ เพราะไม่เคยใช้วิธีคิดในการมองสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าเป็นสถาบันที่มีความยืดหยุ่นสูงมาก และปรับตัวเองสูงมากในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา 

 

“ถ้าเราย้อนไปดูในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตอนที่กำลังจะเสด็จสวรรคต ท่านก็มีรับสั่งว่าคนที่จะได้ขึ้นครองราชย์ต่อแล้วสามารถปกครองบ้านเมืองต่อได้คือเจ้าฟ้าใหญ่และเจ้าฟ้าน้อย เจ้าฟ้าใหญ่กับเจ้าฟ้าน้อยไม่ใช่ลูกท่าน เจ้าฟ้าใหญ่คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เจ้าฟ้าน้อยคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้าท่านไม่ปรับตัว ท่านบอกว่าจะเอาพระราชโอรสท่านขึ้นครองราชย์ เกิดสงครามกลางเมือง ท่านเห็นว่าวันนั้นพระบารมีและความชอบธรรม จริงๆ รัชกาลที่ 4 ควรได้ขึ้นครองราชย์ก่อนรัชกาลที่ 3 โดยความชอบธรรม สืบสานสันตติวงศ์มา เพราะเกิดภายใต้เศวตฉัตร เรื่องมันยาว เอาสั้นๆ แบบนี้ แต่พอรัชกาลที่ 3 ท่านเป็นลูกคนโตของรัชกาลที่ 2 และมีอำนาจในราชสำนักสูง ท่านก็ปกครองต่อมา รัชกาลที่ 4 ก็เลยต้องไปบวช จนบั้นปลายของชีวิตพระองค์จึงกลับมา ถ้ารัชกาลที่ 3 ไม่มีวิธีคิดที่จะยืดหยุ่น เอาพระราชโอรสขึ้น บ้านเมืองลุกเป็นไฟแน่นอน ท่านก็ดึงพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป นี่คือความยืดหยุ่นของพระเจ้าแผ่นดิน แล้วรัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์ เสร็จแล้วยังไง รัชกาลที่ 4 ไม่ได้ขึ้นครองราชย์คนเดียว ท่านเป็นหมอดูที่เก่งมาก ท่านรักษาชาวบ้าน ท่านรู้วิชาโหราศาสตร์ ท่านดูแล้วว่าท่านปกครองคนเดียวไม่ได้ ท่านบอกว่าดวงเจ้าฟ้าน้อยแข็งแกร่งมาก ดวงได้เป็นถึงกษัตริย์ ท่านจึงตั้งให้รัตนโกสินทร์ในสมัยท่านมีกษัตริย์ 2 พระองค์ เราลืม เราไม่ได้ศึกษา พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวคือพระมหากษัตริย์ สะพานพระปิ่นเกล้า วังหน้าตรงนั้นคือวังของพระมหากษัตริย์ มีพระจอมเกล้ากับพระปิ่นเกล้าคู่กัน 

 

“ลองไปอ่านนิทานวรรณคดีของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ รัตนโกสินทร์หรือเมืองไทยมีกษัตริย์ 2 พระองค์เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ทำไมไม่ใส่ไว้ในหนังสือเรียน จะได้เข้าใจว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ท่านปรับตัว ไม่ใช่ไม่ปรับ ท่านปรับตัวสูงสุดเลยนะ มากกว่าข้อเรียกร้องของเด็กอีก ปรับตัวตั้งแต่การสืบราชสมบัติ 

 

“สมัยรัชกาลที่ 4 เผชิญความท้าทายจากตะวันตก ไม่ปรับตัวเหรอ พระราชโอรสนี่เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ทรงพระเยาว์นะ ทุกคนรู้ภาษาอังกฤษดี รัชกาลที่ 4 ตอนเสด็จสวรรคต พูดภาษาชาวบ้านคือมีพระบรมราโชวาทพูด 3 ภาษา บอกว่าเราจะไปแล้ว เราจะสวรรคตแล้ว เพื่อให้รู้ว่าสติสัมปชัญญะยังอยู่นะ พูดภาษาไทย พูดภาษาอังกฤษ พูดภาษามคธ โชว์ว่าสติยังดีอยู่ แล้ววันนั้นท่านรับสั่งกับขุนนางผู้ใหญ่ว่ายังไงรู้ไหม ท่านบอกว่าให้เลือกเอาคนที่เห็นว่าเหมาะสมเพื่อขึ้นครองราชย์ต่อ ไม่ได้บอกว่าให้เอาลูกเรานะ วันนั้นทรงประชวรทั้งสองพระองค์ รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 แล้วท่านบอกเสนาบดีผู้ใหญ่ที่มาเข้าเฝ้าฯ ซึ่งมีอำนาจ ตระกูลบุนนาคในยุคนั้น ไปอ่านประวัติศาสตร์ ไม่รู้ว่าจะถูกยึดราชสมบัติหรือเปล่า ท่านบอกว่าเลือกเอาคนที่เหมาะสม ถ้าพระราชโอรสของท่านกระทำความผิด อย่าให้ต้องโทษประหาร สูงสุดให้แค่เนรเทศออกไป ขอชีวิตไว้ 

 

“นี่คือปัญญาระดับพระมหากษัตริย์ ท่านปรับตัวสูงสุดว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นขอให้มีชีวิตไว้ โทษสูงสุดให้แค่เนรเทศ ให้ขุนนางทุกคนรับปาก แผ่นดินจึงเปลี่ยนผ่านมาได้ สมัยรัชกาลที่ 5 ข้าราชบริพารหรือลูกๆ หลานๆ พระราชโอรสทั้งหลายไปศึกษาต่างประเทศ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองในยุโรปตะวันตก แล้วก็รู้สึกว่าบ้านเมืองไทยตอนนั้นต้องมีรัฐบาล ต้องมีรัฐธรรมนูญ ถวายฎีกาว่าขอรัฐธรรมนูญ ขอให้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลง แต่รัชกาลที่ 5 เพิ่งรวบรวมอำนาจหัวเมืองเข้ามาเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต้องการอำนาจที่จะบริหารแผ่นดินอยู่ ท่านก็บอกว่ายังไม่ถึงเวลา ตอนนั้นยังไม่ถึงเวลา เพราะว่ามันต้องรับมือกับตะวันตก รับมือกับนครรัฐเล็กๆ ต้องรวมศูนย์มาเพื่อบริหาร ฝ่าวิกฤตไปได้ ท่านก็บอกว่ายังไม่ถึงเวลา แต่ถ้ามีรับสั่งว่าเดี๋ยวจะให้ลูกวชิราวุธพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ ไม่ปรับตัวเหรอ นี่ปรับตัว ท่านบอกว่าเดี๋ยวจะให้ลูกวชิราวุธพระราชทานให้เมื่อขึ้นครองราชย์ ก็คือรัชกาลที่ 6 ซึ่งรัชกาลที่ 6 เผชิญวิกฤตรอบด้าน จำเป็นต้องปรับตัวสูงมาก และปรับตัวช้า ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งปัญหามันมาเร็วมาก ในยุคนั้นวิกฤตเศรษฐกิจมันกำลังเกิดขึ้นทั่วโลกแล้ว พระองค์ท่านมีข้อจำกัด คนมันอยู่ในสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดหมด เกิดกบฏขึ้นมา ร.ศ.130 ต้องการเปลี่ยนแปลง แต่จับได้กลายเป็นกบฏ 

 

“ท่านยังพระราชทานอภัยโทษให้ทั้งหมดเลยนะ ติดคุกกันอยู่ไม่กี่ปี จริงๆ มันต้องประหารชีวิตนะ แต่ท่านพระราชทานอภัยโทษแล้วอยู่กันต่อมาได้ บ้านเมืองสงบ แต่การปรับตัวมันยังไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง มันจึงนำมาสู่คณะราษฎร 2475 ไง เพราะว่ามันดีเลย์การเปลี่ยนแปลง ด้วยข้อจำกัดของแต่ละยุคสมัย ต้องเข้าใจพระองค์ท่านและเข้าใจยุคสมัย เราตัดสินจากอดีต มองย้อนไม่ได้ ไม่แฟร์กับอดีต

 

“แต่พอมาถึงรัชกาลที่ 7 ปี 2475 สถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมมันสุกงอมเต็มที มันจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น แต่ถ้าถามว่าวันนั้นรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ยืดหยุ่น สั่งให้รบ คุณไม่รู้นะว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นยังไง 

 

“คือถ้าฝ่ายคณะราษฎรแข็งตัวมาก ไม่ปรับตัวเลย บ้านเมืองก็ลุกเป็นไฟ ถ้าฝ่ายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ปรับตัวเลย ไม่เจรจาต่อรองเลย ประวัติศาสตร์ไทยจะไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ 

 

“นี่ไม่เห็นพระอัจฉริยภาพในการปรับตัวของสถาบันพระมหากษัตริย์ในแต่ละยุคที่ผ่านมาเหรอ เราคิดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ปรับตัวเลยเหรอ นี่คืออัจฉริยภาพสูงสุดที่ซ่อนอยู่ในพระราชวงศ์ คือการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ไม่ต้องพูดถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งโลกมันเปลี่ยนแปลงสูงมาก มีสงครามคอมมิวนิสต์เกิดขึ้น มีสงครามเย็นเกิดขึ้น โอ้โฮ เต็มไปหมด 70 ปีแห่งการครองราชย์เต็มไปด้วยความผันผวนทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม พระองค์ท่านไม่ปรับตัวเลยเหรอ ทำไมเราจะบอกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ปรับตัวหรือปรับตัวไม่ได้ ปรับได้ ท่านดำเนินพระราชกุศโลบายยิ่งใหญ่มากในการปรับตัวมาทุกยุคทุกสมัย วันนี้ถูกต้องแล้วว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องปรับตัวเข้ากับยุคสมัยใหม่ ประวัติศาสตร์ได้สอนเราไว้ทั้งหมดแล้ว”

 

ภิญโญกล่าวด้วยว่า “ถ้าวันนี้เรายืนยันว่านี่คือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คือ ‘ประชาธิปไตย’ และ ‘พระมหากษัตริย์’ คือคุณค่าสูงสุดของสังคมไทย ถ้าเราสามารถหาสมดุลได้ว่าจะอยู่กันยังไงและรักษาสมดุลสองคุณค่านี้ไว้ได้ มันจะเป็นโมเดลต้นแบบว่าเราจะอยู่กันแบบนี้ แล้วจะทำให้สถาบันอยู่รอดได้ด้วย เพราะปรับแล้วนี่ ปรับเข้าสู่คุณค่าของโลกสมัยใหม่ ปรับเข้าสู่คุณค่าของประชาธิปไตย ไม่มีใครอยากล้มล้าง คุณจะเอาใครเป็นประธานาธิบดี 

 

“สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติที่ดีกว่าประธานาธิบดี แต่ว่าจะอยู่ยังไงกับประชาธิปไตย ให้ผมเลือก ผมก็ยังเลือกสถาบันพระมหากษัตริย์ที่อยู่กับประชาธิปไตย จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่นุ่มนวล และดำรงคุณค่าของสังคมไทยไว้ได้มากที่สุด แต่คุณต้องเข้าใจว่านี่คือยุคประชาธิปไตย ฉะนั้นอย่าหมุนเข็มนาฬิกากลับไปที่ 2474 ต้องหมุนเข็มนาฬิกาไปที่ 2564 ว่าประเทศเราจะดีขึ้นด้วยการรอมชอม ด้วยพระปรีชาสามารถ ซึ่งเป็นปัญญารวมของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยรวมกับปัญญารวมหมู่ของจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยของเด็ก 

 

“ให้มันเกิดสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เรียกว่าราชประชาสมาสัย ซึ่งเป็นคำโบราณ ราชกับประชา สมาสัยคืออาศัยอย่างสมดุลร่วมกัน เขาได้คิดคำเหล่านี้ไว้แล้วว่าราชประชาจะสมาสัยกันได้อย่างไร ถ้าคุณถอดสมการนี้ออก ประเทศจะดีมาก และจะนำไปสู่ยุคใหม่ 

 

“นี่คือทางออกที่ดีที่สุดที่จะเสนอ ผมตอบชัดที่สุดคืออยู่ด้วยกันทั้งคู่ ราชและประชาสมาสัย อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล สร้างสมดุลใหม่ให้กับประเทศไทย แล้วจะเป็นยุคชาววิไลที่แท้จริง แล้วทุกคนจะมีความสุขหมด ทุกฝ่ายจะมีความสุขหมด 

 

“วันนี้เรายังมีเวลาพอที่จะคุยกันเรื่องนี้ แล้วสนทนากันอย่างสร้างสรรค์ และรวมพลังกันทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายเยาวชนของชาติ ทั้งฝ่ายอนุรักษนิยม ทั้งฝ่ายก้าวหน้า เพื่อจะสร้างโมเดลที่ดีที่สุดของประเทศไทยในทางการเมืองขึ้นมาได้ เรายังไม่เคยถึงจุดเส้นอันตรายที่จะนำไปสู่สงครามกลางเมือง เราคุยกันวันนี้ ออกอากาศวันไหนไม่ทราบ แต่เรายังมีโอกาสที่จะทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้ แต่ทุกฝ่ายต้องเห็นว่าเราอยู่ในจุดวิกฤต เราอยู่ในวิกฤตที่พาเรามาอยู่ตรงกลางแล้ว เราต้องสร้าง ‘ปัญญา’ ออกไปให้ได้ ‘ปัญญา’ ก็คือสิ่งเหล่านี้ ถ้าการจะปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์คือการทำให้เป็นราชประชาสมาสัย ราชกับประชาอยู่ร่วมกันได้ สร้างสังคมสันติสุขใหม่ขึ้นมาให้ได้ นี่คือทางออกเดียวของประเทศไทยที่จะไม่นำไปสู่ความรุนแรง” 

 

ฟังคลิปสัมภาษณ์เต็ม 1 ชั่วโมงได้ที่พอดแคสต์ The Secret Sauce

https://thestandard.co/podcast/thesecretsauce300/

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising