นี่คือบรรยากาศเขื่อนพระราม 6 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสถานะปักธงแดง คือ สถานการณ์น้ำวิกฤต ต้องมีการประกาศแจ้งเตือนให้ชาวบ้านขนของ อพยพขึ้นสู่ที่สูง โดยการปักธงแดงล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อครั้งเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554
อำพล ฤทธิ์มณี ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า เขื่อนพระราม 6 เป็นจุดที่อยู่ท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และอยู่ช่วงท้ายของคลองชัยนาท-ป่าสัก ที่ไหลมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เต็มความจุแล้ว จึงมีการระบายมาที่เขื่อนพระราม 6 ประมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนคลองชัยนาท-ป่าสัก ไม่มีมวลน้ำมาเติม แต่ต้องรับมวลน้ำที่ท่วมในอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี และมีการระบายน้ำมาที่เขื่อนพระราม 6 ประมาณ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ในขณะนี้มีมวลน้ำไหลมารวมกันที่เขื่อนพระราม 6 โดยประมาณ 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
สำหรับแผนการระบายน้ำของเขื่อนพระราม 6 จะมีการระบายน้ำ 2 ส่วนด้วยกัน คือ ระบายไปที่แม่น้ำป่าสัก 735 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลกระทบกับชุมชนด้านท้ายวัดสะตือ ชุมชนตลาดท่าเรือ และบริเวณริมตลิ่งที่จะไปเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา จุดใกล้ๆ กับวัดพนัญเชิงฯ อีกส่วนหนึ่งจะผันน้ำไปทางคลองระพีพัฒน์ ประมาณ 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อให้น้ำไปออกอ่าวไทย
ส่วนการปักธงแดงที่เขื่อนพระราม 6 นั้น หากน้ำน้อยกว่า 400 ลูกบาศก์เมตร จะปักธงเขียว แต่ถ้าหากมากกว่า 400-550 ลูกบาศก์เมตร จะมีการปรับเป็นธงสีเหลือง เพื่อเป็นสัญญาณเตือน และถ้าหากมากกว่า 550 ลูกบาศก์เมตร ก็จะเปลี่ยนเป็นธงแดง คือสถานการณ์น้ำวิกฤต
อำพลยืนยันว่า เขื่อนพระราม 6 ยังรับกับสถานการณ์น้ำไหว ซึ่งเขื่อนพระราม 6 สามารถเปิดระบายน้ำได้ถึง 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ตอนนี้ระบายเพียงแค่ 735 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเท่านั้นเอง ความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อนไม่มีปัญหา ส่วนที่หลายคนกังวลว่าน้ำจะเข้ามาท่วมพื้นที่ปริมณฑล ปทุมธานีและนนทบุรีหรือไม่นั้น ไม่ต้องกังวล เนื่องจากว่าเราสามารถควบคุมทิศทางของน้ำไม่ให้ไปไหลรวมที่แม่น้ำเจ้าพระยาได้
ภาพ: พงษ์พัฒน์ มะหะหมัด