×

ออกข้อกำหนดล่าสุด ยกระดับควบคุมสูงสุดโควิด-19 ใน 5 จังหวัด ฝ่าฝืนปรับ-จำคุก จงใจปิดบังไทม์ไลน์มีโทษ

โดย THE STANDARD TEAM
06.01.2021
  • LOADING...
ออกข้อกำหนดล่าสุด ยกระดับควบคุมสูงสุดโควิด-19 ใน 5 จังหวัด ฝ่าฝืนปรับ-จำคุก จงใจปิดบังไทม์ไลน์มีโทษ

วันนี้ (6 มกราคม) ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548  (ฉบับที่ 17) โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีรายละเอียดระบุว่า ตามที่ขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ออกไปถึงวันที่ 26 มีนาคม 2564 จึงออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อกำหนดมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นในการระงับยับยั้งการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ซึ่งระบาดแบบกลุ่มก้อนในเขตหลายเขตพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่จำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวด เพื่อการสกัดและยับยั้งการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด ทั้งๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ให้ความร่วมมือร่วมใจปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคมาโดยตลอด

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้

 

ข้อ 1 การยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค

 

ข้อ 2 การยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่จำเป็นต้องมีมาตรการเข้มงวดอย่างยิ่ง โดยให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางคมนาคมและยานพาหนะของประชาชนเดินทางเข้า-ออกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี, ชลบุรี, ตราด, ระยอง และสมุทรสาคร เพื่อสกัดคัดกรองคนเข้า-ออกพื้นที่ โดยบุคคลที่จะออกนอกพื้นที่ต้องแสดงเหตุผลความจำเป็น บัตรประชาชน บัตรแสดงตนอื่นๆ ควบคู่กับเอกสารรับรอง ต่อเจ้าหน้าที่

 

ข้อ 3 การปราบปรามและลงโทษผู้กระทำผิดอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค ลงโทษข้าราชการ เจ้าหน้าที่ บุคคล ที่ละเลยหรือสนับสนุนการนำพาแรงงานต่างด้าวลอบเข้าเมือง อันเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

ข้อ 4 โทษผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดซึ่งออกตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ย่อมเป็นความผิดซึ่งอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ผู้ติดเชื้อที่จงใจปกปิดข้อมูลการเดินทางหรือแจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและควบคุมโรคเป็นผลให้เชื้อโรคแพร่ออกไป อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ด้วย

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

 

คลิกอ่านข้อกำหนดฉบับเต็ม: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/004/T_0001.PDF

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising