×

วิทยุยังไม่ตาย! โควิด-19 ดันผู้ฟังใช้เวลามากขึ้น 17% เพลงไทยและเพลงลูกทุ่ง สองกลุ่มนิยมสูงสุด

12.06.2020
  • LOADING...

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการบริโภคสื่อของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ผู้บริโภคทำงานและใช้เวลาที่บ้านมากขึ้น ทำให้สถานที่ ระยะเวลา และอุปกรณ์หลักที่ใช้ในการรับชมสื่อนั้นมีการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงสื่อวิทยุเช่นเดียวกัน

 

นีลเส็นเผยข้อมูลจากรายงานการวิเคราะห์พฤติกรรมการรับฟังสื่อวิทยุของคนไทยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้ฟังวิทยุจำนวน 1,650 คน อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป

 

ข้อมูลในรายงานเผยให้เห็นถึงจำนวนผู้ฟังและเวลาในการรับฟังสื่อวิทยุที่เพิ่มมากขึ้นเกือบชั่วโมง เมื่อเทียบระหว่างเดือนมกราคมและเมษายน 2563 จากการฟังเฉลี่ย 14 ชั่วโมง 16 นาทีต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นมาเป็น 15 ชั่วโมง 2 นาทีต่อสัปดาห์ตามลำดับ นอกจากนี้จำนวนของผู้ฟังโดยเฉลี่ยต่อสถานีในเดือนเมษายนนั้นมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นถึง 21% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว

 

จากสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้น ทำให้ยอดผู้ฟังวิทยุจากที่บ้านเพิ่มสูงขึ้น 18% และการฟังจากในรถลดลง 1% ในส่วนของอุปกรณ์หลักที่ใช้ในการรับฟังวิทยุ เราเห็นการเติบโตที่เพิ่มขึ้นถึง 29% ของการฟังผ่านมือถือ/สมาร์ทโฟน/แท็บเล็ต ถึงแม้ว่าผู้ฟังวิทยุส่วนมากยังคงนิยมรับฟังจากเครื่องรับวิทยุ โดยมีอัตราการเติบโตที่ 0.4% เมื่อเทียบระหว่างเดือนเมษายนและมีนาคม

 

เพลงไทย เช่น ป๊อป ร็อก ฮิปฮอป และเพลงลูกทุ่ง คือสองกลุ่มหลักที่ได้รับความนิยมสูงสุด ตามมาด้วยข่าว/ข่าวกีฬา และเพลงสากล และถึงแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะดันให้ยอดผู้ฟังในทุกประเภทที่กล่าวถึงข้างต้นเพิ่มขึ้น ทว่าเพลงสากลและเพลงไทยนั้นได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์นี้มากที่สุด โดยมีการเติบโตของยอดผู้ฟังอยู่ที่ 28% และ 20% ตามลำดับ

 

เมื่อมองลึกลงไปที่โปรไฟล์ของผู้ฟังจะพบว่า ผู้ฟังหลักของเพลง ไม่ว่าจะเป็นเพลงลูกทุ่ง ไทย หรือสากล คือเพศหญิง ในขณะที่ผู้ฟังหลักของข่าว/ข่าวกีฬาคือเพศชาย ซึ่งทุกประเภทมียอดผู้ฟังเพิ่มขึ้นทั้งชาย-หญิงในอัตราการเติบโตที่พอๆ กันในกลุ่มนั้นๆ  เมื่อเทียบระหว่างเดือนเมษายนและมีนาคม

 

ในส่วนของกลุ่มอายุผู้ฟังพบว่า เพลงลูกทุ่งและข่าว/ข่าวกีฬา ได้รับความสนใจจากผู้ฟังที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ในขณะที่เพลงไทยและเพลงสากลสามารถเข้าถึงผู้ฟังในกลุ่มอายุต่ำกว่า 40 ปีได้ดีกว่า 

 

อย่างไรก็ตาม ยอดผุ้ชมที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ของแต่ละกลุ่มนั้นมีความแตกต่างกัน สำหรับเพลงลูกทุ่ง กลุ่มช่วงอายุของผู้ฟังที่มียอดผู้ชมเติบโตสูงสุดคือกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยเพิ่มขึ้น 10% ส่วนข่าว/ข่าวกีฬา คือกลุ่มอายุ 40-49 ปี เพิ่มขึ้น 4% ด้านเพลงไทย คือกลุ่มอายุ 20-29 ปี เพิ่มขึ้น 23% และเพลงสากล คือกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป เติบโตมากถึง 125% เมื่อเทียบข้อมูลระหว่างเดือนเมษายนและมีนาคม

 

ที่น่าสนใจคือ การทำงานจากที่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนเมษายน ทำให้มีผู้ฟังวิทยุเพิ่มสูงขึ้นในช่วง Non-prime time ทั้งในวันธรรมดาและวันหยุด ซึ่งในวันธรรมดาจำนวนยอดผู้ฟังวิทยุนั้นเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงเวลา 08.00-14.30 น. และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 40% ในช่วงเวลา 10.00-11.00 น. ในส่วนของวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ ช่วงเวลาที่ยอดผู้ฟังเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดอยู่ที่เวลา 08.00-14.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สั้นกว่าวันธรรมดาอยู่ครึ่งชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ช่วง Prime Time ของทุกวันยังคงอยู่ที่เวลา 16.00-17.00 น. 

 

และถึงแม้ว่ายอดผู้ฟังวิทยุจะเพิ่มขึ้น เม็ดเงินโฆษณาที่ลงกับสื่อวิทยุนั้นกลับเติบโตสวนทางเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นกับหลายๆ สื่อในช่วงเดือนเมษายน โดยลดลง 21% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม เจ้าของสินค้าที่ยังคงลงโฆษณาสื่อวิทยุและใช้เม็ดเงินโฆษณากับสื่อวิทยุสูงสุด 10 อันดับแรก ประกอบด้วยแบรนด์ในกลุ่มอุตสาหกรรมการเงิน กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล กลุ่มอาหารเสริม กลุ่มยานยนต์ และหน่วยงานรัฐบาล

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X