×

จาก ‘ผู้หญิงคนนั้น’ สู่ ‘ราชินีแห่งอังกฤษ’: ชีวิตที่ต้องฝ่าขวากหนามของควีนคามิลลา

01.05.2023
  • LOADING...
ควีนคามิลลา

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งอังกฤษในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่กำลังจะมาถึงนี้ถือเป็นข่าวใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ โดยนอกจากจะเป็นพระราชพิธีที่ไม่ได้มีการจัดมานานเกือบ 70 ปีแล้ว เรื่องราวของสมาชิกราชวงศ์วินด์เซอร์ก็เป็นที่สนใจของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวของพระราชินีคามิลลา ผู้ที่จะร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระราชินีแห่งราชบัลลังก์อังกฤษโดยสมบูรณ์

 

The Other Woman

ช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ท่ามกลางกระแสข่าวความร้าวฉานในชีวิตคู่ของเจ้าชายชาร์ลส์กับไดอานา สเปนเซอร์ ไดอานาเคยกล่าวไว้ว่า “มีคน 3 คนอยู่ในชีวิตการแต่งงานของเรา” (There were three of us in this marriage.) ซึ่งคนที่ 3 ในความสัมพันธ์ดังกล่าวคือ ‘คามิลลา พาร์กเกอร์ โบลส์’ หรือผู้ที่ไดอานากล่าวถึงว่าเป็น “ผู้หญิงคนนั้น” (The Other Woman)

 

คามิลลา พาร์กเกอร์ โบลส์ หรือชื่อเดิม คามิลลา แชนด์ เกิดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 1947 (ก่อนพระเจ้าชาร์ลส์ 1 ปีเศษ) เธอนั้นมีช่วงชีวิตวัยเด็กที่อบอุ่นกับครอบครัวที่มีฐานะดี โดยได้เข้ารับการศึกษาที่ Queen’s Gate School ในกรุงลอนดอน ก่อนจะไปศึกษาต่อที่ Mon Fertile School ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่ The Institut Britannique ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

 

คามิลลานั้นพบกับเจ้าชายชาร์ลส์ครั้งแรกเมื่อปี 1971 ก่อนที่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะค่อยๆ พัฒนาขึ้นจนเกิดเป็นความผูกพันอย่างลึกซึ้ง โดยทั้งคู่ต่างมีความเข้าอกเข้าใจและต่างมีส่วนเติมเต็มซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานะของเจ้าชายชาร์ลส์ ในฐานะรัชทายาท ผู้จะสืบราชบัลลังก์อังกฤษในอนาคต ชีวิตคู่ของพระองค์นั้นถูกคาดหวังถึงเรื่องความเหมาะสมมากกว่าความรัก 

 

ด้วยสถานะรัชทายาท ทำให้ราชสำนักอังกฤษเข้ามามีส่วนสำคัญในการกำหนดชีวิตความรักของเจ้าชายชาร์ลส์ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าคามิลลานั้นไม่เหมาะสมกับเจ้าชาย ทั้งจากเรื่องราวความรักในอดีตของเธอ รวมถึงการขาดคุณสมบัติที่จะเป็นเจ้าหญิง จึงมีความพยายามในการกีดกันความรักของทั้งคู่ พร้อมกับเลือกหาผู้ที่เหมาะสมเป็นคู่ชีวิตของชาร์ลส์แทน ทำให้ความสัมพันธ์อย่างเปิดเผยของทั้งคู่ต้องยุติลง โดยชาร์ลส์ได้ออกเรือไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะราชนาวีอังกฤษ ส่วนคามิลลานั้นเข้าพิธีแต่งงานกับ แอนดรูว์ พาร์กเกอร์ โบลส์ ในปี 1973 ซึ่งบางคนกล่าวว่าการแต่งงานดังกล่าวมีขึ้นเพื่อปิดโอกาสไม่ให้เจ้าชายได้สมรสกับคามิลลา

 

ต่อมา ด้วยแรงผลักดันและการสนับสนุนจากราชสำนักซึ่งเห็นว่า ไดอานา สเปนเซอร์ เด็กสาวผู้มาจากครอบครัวเชื้อสายขุนนางที่มีความสนิทสนมกับราชวงศ์ ตลอดจนมีภาพลักษณ์ที่ดีนั้น เป็นผู้ที่เหมาะสมกับชาร์ลส์ ทำให้ทั้งคู่ได้พัฒนาความสัมพันธ์จนนำไปสู่การประกาศหมั้นและการจัดพิธีสมรสในปี 1981 อันถือเป็นข่าวใหญ่มากในเวลานั้น โดยมีการเทียบชีวิตของไดอานาว่าเป็นดั่งเจ้าหญิงในนวนิยาย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วหลายฝ่ายระบุตรงกันว่าทั้งชาร์ลส์และไดอานานั้นมีอายุที่แตกต่างกันถึง 13 ปี ประกอบกับส่วนใหญ่แล้วทั้งคู่นั้นต่างไม่มีเรื่องที่สนใจเหมือนกันเลย เว้นแต่เพียงเรื่องดนตรีเท่านั้น 

 

อีกประเด็นที่สำคัญคือตัวตนของชาร์ลส์เอง ซึ่งเขาต้องแบกรับทั้งความคาดหวังและแรงกดดันที่ทุกฝ่ายต่างมีต่อชีวิตของเขานับแต่เขาเกิดมา ด้วยฐานะรัชทายาทที่วันหนึ่งจะขึ้นเป็นกษัตริย์อังกฤษ รวมถึงช่วงเวลาของวัยเยาว์ที่เขาไม่ได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกับครอบครัวมากนัก ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลต่อความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของเขา

 

หลังจากนั้นไม่นาน ด้วยความแตกต่างดังที่กล่าวมาข้างต้น ชีวิตสมรสของทั้งคู่ก็ค่อยๆ ปรากฏปัญหาระหว่างกัน ไดอานาทั้งให้สัมภาษณ์และออกหนังสือเล่าเรื่องราวของตนเอง รวมถึงการออกหนังสือที่เหมือนเป็นการตอบโต้ของชาร์ลส์ ทำให้ปัญหายิ่งบานปลายมากยิ่งขึ้น และด้วยภาพลักษณ์และการปฏิบัติตนของไดอานาที่โดดเด่นและแตกต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติที่เคร่งครัดของราชสำนัก จึงเกิดการเปรียบเทียบ ทำให้ปัญหาที่เดิมจำกัดแค่เพียงความสัมพันธ์ของทั้งคู่ได้ขยายวงกว้าง และดูกลายเป็นปัญหาระหว่างราชสำนักอังกฤษกับไดอานาในที่สุด 

 

แม้ว่าคามิลลาจะแต่งงานไปก่อนแล้วก็ตาม แต่เชื่อกันว่าในช่วงเวลาที่เจ้าชายต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ นั้น คามิลลาเป็นผู้คอยอยู่เคียงข้างและให้กำลังใจแก่เจ้าชายอยู่เสมอ ทำให้ทั้งภาพและเรื่องราวของชาร์ลส์กับคามิลลาซ้อนทับกับชีวิตสมรสของชาร์ลส์กับไดอานา อันนำมาซึ่งคำให้สัมภาษณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั้งโลกว่า “There were three of us in this marriage.”

 

ชีวิตคู่ที่สมหวัง (?) ในที่สุด

ชีวิตคู่ของเจ้าชายชาร์ลส์กับเจ้าหญิงไดอานาแห่งเวลส์นั้นปรากฏปัญหาระหองระแหงกันมาโดยตลอด จนนำไปสู่การแยกกันอยู่ตั้งแต่ปี 1992 และจบลงด้วยการหย่าร้างในปี 1996 อันเป็นการสิ้นสุดชีวิตคู่ของเจ้าชายและเจ้าหญิงในนิยายของใครหลายคน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาชีวิตคู่และเรื่องราวอื้อฉาวต่างๆ นั้นส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของชาร์ลส์และสถาบันกษัตริย์อังกฤษเป็นอย่างยิ่ง 

 

หลังการหย่าร้างกับไดอานา เจ้าชายชาร์ลส์มักปรากฏพระองค์กับคามิลลาอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งขณะนั้นคามิลลาเองได้หย่าร้างกับแอนดรูว์ พาร์กเกอร์ โบลส์แล้ว (1995) โดยชาร์ลส์ได้กล่าวว่าความสัมพันธ์ของเขากับคามิลลานั้นเป็นเสมือนสิ่งที่ถูกลิขิตมาแล้ว และไม่อาจแปรเปลี่ยนไปได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ (Non-negotiable) ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เกิดคำถามถึงสถานะของทั้งอยู่ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยมีทั้งผู้ที่คาดว่าชาร์ลส์คงจะไม่สมรสอีกครั้ง ในขณะที่หลายคนคิดว่า แม้จะมีการสมรส แต่คามิลลาก็คงไม่อาจขึ้นเป็นพระราชินีได้  

 

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อไดอานาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนถึงแก่ชีวิตที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี 1997 อันนำมาซึ่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงทั้งต่อสถาบันกษัตริย์และครอบครัวของเธอ ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ราชสำนักในการนิ่งเฉยต่อข่าวการจากไปของไดอานา จนเกิดกระแสต่อต้านราชวงศ์ การโจมตีชาร์ลส์ต่อเรื่องในอดีต และความสูญเสียที่มีผลต่อจิตใจของเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รีซึ่งขณะนั้นยังอายุไม่ถึง 20 ปี

 

เรื่องราวระหว่างชาร์ลส์กับคามิลลานั้นยืดเยื้อยาวนานกว่า 10 ปี อันเป็นปัญหากระอักกระอ่วนใจสำหรับทั้งราชสำนัก รัฐบาล และประชาชน หรือที่เรียกกันว่า ‘The Camilla Problem’ โดยเฉพาะเรื่องสถานะหรือตำแหน่งแห่งที่ของคามิลลาว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งย่อมไม่ส่งผลดีสำหรับชาร์ลส์หากเขาต้องขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ ในขณะที่สถานะของเขากับคามิลลานั้นยังไม่ชัดเจน 

 

อย่างไรก็ตาม สถานะระหว่างชาร์ลส์กับคามิลลาค่อยๆ มีความชัดเจนมากขึ้น โดยทั้งคู่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2002 และภายหลังจากที่ได้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ทั้งเรื่องความยุ่งยากจากข้อกำหนดของศาสนจักรอังกฤษ (The Church of England) และปัญหาสถานะทางกฎหมายของการแต่งงานดังกล่าว รวมถึงการได้รับอนุญาตจากสมเด็จพระราชินีนาถแล้ว จึงได้มีการประกาศข่าวการสมรสของทั้งคู่ในปี 2005

 

หากมองในมุมของคามิลลา ชีวิตของเธอต้องเผชิญกับแรงกดดันและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ทุกการกระทำของเธอต้องถูกจับจ้องและเป็นที่สนใจจากทั้งชาวอังกฤษและทั่วโลกเสมอ ซึ่งคามิลลาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่มีใครหรอกที่อยากจะมีชีวิตที่เป็นที่สนใจอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่เราจะต้องหาทางที่จะอยู่กับมันให้ได้” และปฏิเสธไม่ได้ว่าความรักและความผูกพันระหว่างเธอกับชาร์ลส์นั้นลึกซึ้งมาก จนทำให้เธอนั้นมีความเข้มแข็งและอดทนในการฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ที่ทำร้ายและทำลายชีวิตของเธอมาได้

 

หากมองในอีกแง่หนึ่ง แม้สุดท้ายแล้วเธอจะสมหวังในชีวิตสมรสกับชาร์ลส์ แต่ก็ยากที่จะรู้ได้ว่าความสมหวังดังกล่าวนั้นเทียบได้กับเรื่องราวที่ผ่านมาที่ทำให้ชีวิตของเธอเต็มไปด้วยความวุ่นวายและเรื่องเศร้าหรือไม่ 

 

ชาร์ลส์-คามิลลา กับเงาสะท้อนที่ซ้อนทับของไดอานา

ความคิดเห็นต่อการสมรสของชาร์ลส์กับคามิลลาในปี 2005 อาจแบ่งได้เป็น 2 ฝ่าย กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งนั้นเห็นใจและรู้สึกเสียใจต่อความรักของพวกเขา ซึ่งควรจะแต่งงานกันและมีชีวิตคู่ที่สมหวังตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน โดยที่ไม่ควรต้องรอมาจนเกือบถึงครึ่งชีวิตของพวกเขา ในขณะที่บางส่วนนั้นยังคงรักและเทิดทูนไดอานา และไม่เคยให้อภัยแก่คามิลลา ด้วยยังจดจำเรื่องราวและบทบาทของคามิลลาที่ส่งผลให้ชีวิตสมรสของไดอานานั้นไม่ราบรื่นและประสบกับปัญหาต่างๆ 

 

ดังนั้นแม้ว่าคามิลลาจะสมรสกับชาร์ลส์ตามกฎหมาย ซึ่งทำให้เธอมีสิทธิในสถานะ ‘เจ้าหญิงแห่งเวลส์’ แต่เนื่องจากเรื่องราวในอดีตและการเปรียบเทียบกับไดอานาที่คนส่วนใหญ่ยังคงจดจำเธอในฐานะ ‘เจ้าหญิงแห่งเวลส์’ ทำให้คามิลลาเลือกที่จะใช้อิสริยยศเพียง ‘ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์’ (อันเป็นอีกตำแหน่งสำหรับรัชทายาทแห่งราชวงศ์อังกฤษที่จะครองตำแหน่งเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ ดยุกแห่งคอร์นวอลล์ และดยุกแห่งรอธเซย์) เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว

 

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือบทบาทของคามิลลากับเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี โอรสทั้งสองของไดอานา ซึ่งเคยเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นไปด้วยความราบรื่นและมีความรักใคร่กันดีนั้น ความเข้าใจดังกล่าวต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเรื่องเล่าในหนังสืออัตชีวประวัติของเจ้าชายแฮร์รีที่เพิ่งพิมพ์เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้

 

จากหนังสือเรื่อง Spare เจ้าชายแฮร์รีเขียนไว้ว่าทั้งเจ้าชายวิลเลียมและเขาได้ขอร้องไม่ให้พ่อสมรสกับคามิลลา เนื่องจากไม่เห็นถึงความจำเป็นในการสมรส ประกอบกับเขามักกล่าวถึงคามิลลาโดยแฝงไว้ซึ่งความไม่พอใจและไม่เคารพหลายครั้ง อันแสดงให้เห็นว่าความรักและความผูกพันที่เขามีต่อไดอานา แม่ของเขา ทำให้เขาไม่อาจยอมรับคามิลลาให้เป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวได้ 

 

นอกจากนั้นแล้วเจ้าชายแฮร์รียังกล่าวหาพาดพิงด้วยว่าคามิลลานั้นได้จัดฉากวางแผนและเล่นในเกมนี้มาอย่างยาวนาน โดยมุ่งหวังถึงการสมรสและการสวมมงกุฎราชินี ซึ่งทอม พาร์กเกอร์ โบลส์ ลูกชายของคามิลลาได้ออกมาตอบโต้ว่า สิ่งที่แม่ของเขาทำไปนั้นเป็นเพียงการแต่งงานกับคนที่เธอรักเท่านั้น

 

พร้อมกันนี้สำนักพระราชวังอังกฤษได้มีแถลงการณ์ภายหลังการสมรสดังกล่าว โดยยืนยันว่าภายหลังจากการขึ้นครองราชย์ของชาร์ลส์แล้ว คามิลลาจะมีอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงพระชายา (Princess Consort) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีสถานะต่ำกว่าสมเด็จพระราชินี (Queen Consort) ทั้งนี้คาดว่าเพื่อเป็นการลดกระแสการต่อต้านและการเปรียบเทียบกับไดอานา ผู้ที่หลายคนยังจดจำและคาดหวังให้เธอได้เป็นราชินีอังกฤษเคียงคู่กับชาร์ลส์ 

 

อาจกล่าวได้ว่าในทุกย่างก้าวของชาร์ลส์กับคามิลลานั้น เงาสะท้อนของไดอานายังคงปรากฏอยู่เสมอ 

 

ราชินีของอังกฤษต้องไม่เคยหย่าร้าง?

โดยพระราชสถานะกษัตริย์ในฐานะพระประมุขแห่งศาสนจักรอังกฤษ กษัตริย์อังกฤษจะต้องไม่สมรสกับหญิงหม้ายที่สามียังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นหากเป็นหญิงที่เคยหย่าร้างหรือเคยผ่านการสมรสมาโดยที่สามีเก่ายังมีชีวิตอยู่ หญิงนั้นจะไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นพระราชินี

 

เรื่องดังกล่าวนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในสังคมอังกฤษ อันจะเห็นได้จากกรณีวิกฤตการสละราชสมบัติ (Abdication Crisis) ในปี 1936 เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ทรงยืนยันว่าจะสมรสกับ วอลลิส ซิมป์สัน หญิงหม้ายชาวอเมริกัน ผู้หย่ากับสามีมาแล้วครั้งหนึ่ง และกำลังจะหาหนทางหย่าอีกครั้งกับสามีคนที่สอง

 

การตัดสินพระทัยดังกล่าวถูกคัดค้านทัดทานทั้งจากราชสำนัก จากอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ผู้นำสูงสุดของศาสนจักรอังกฤษ และจากนายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษ เนื่องจากเป็นการขัดต่อราชประเพณีและการธำรงสถานะเป็นประมุขแห่งศาสนจักรอังกฤษ รวมทั้งยังมีข้อกังขาถึงความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งพระราชินีของวอลลิส ซิมป์สันด้วย

 

สุดท้ายแล้วพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจำต้องทรงประกาศสละราชสมบัติด้วยวาทะอันลือลั่นว่า “…ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกษัตริย์ดังที่ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะกระทำ โดยปราศจากความช่วยเหลือของสตรีที่ข้าพเจ้ารัก…”

 

แม้ต่อมาจะมีการกล่าวถึงเหตุในการสละราชสมบัติว่าเป็นผลจากการที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงตัดสินพระทัยที่จะเป็นตัวของตัวเอง และเลือกที่จะไม่ทำตามขนบธรรมเนียมของสถาบันกษัตริย์ ทำให้ทรงถูกกดดันจากราชวงศ์ในขณะนั้น แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการฝ่าฝืนข้อห้ามเรื่องการสมรสกับหญิงหม้ายที่สามียังมีชีวิตอยู่อันเป็นค่านิยมสำคัญในขณะนั้นก็เป็นเหตุผลประการหนึ่ง

 

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาธรรมเนียมความเชื่อดังกล่าวซึ่งดูจะไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิเสรีภาพได้ถูกลดทอนความสำคัญลงไป อันเนื่องมาจากเหตุผลที่เปิดกว้างและความเปลี่ยนแปลงไปของโลก ทำให้ราชสำนักอังกฤษยอมรับเรื่องดังกล่าวมากขึ้น อันจะเห็นได้จากการสมรสครั้งที่ 2 ของเจ้าหญิงแอนน์ในปี 1992, การสมรสของชาร์ลส์กับคามิลลาในปี 2005 และล่าสุดคือการสมรสในปี 2018 ของเจ้าชายแฮร์รีกับ เมแกน มาร์เคิล ซึ่งเคยหย่าร้างกับสามีคนก่อนมาแล้ว

 

From Other Woman to the Queen

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีพระราชดำรัสในวโรกาสทรงครองราชสมบัติครบ 70 ปีเมื่อปี 2022 โดยทรงกล่าวถึงดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ พระชายาในเจ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษว่า 

 

“…เมื่อเวลานั้นมาถึง ข้าพเจ้าปรารถนาให้คามิลลาได้รับการยอมรับในฐานะพระราชินี…” (…When the time comes, Camilla will be known as Queen Consort)

 

นอกจากนั้นแล้ว ด้วยสภาพการณ์ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปสู่การยอมรับคามิลลามากยิ่งขึ้น ประกอบกับไม่มีข้อจำกัดด้านกฎหมายและความเชื่อทางศาสนาแล้ว ความในพระราชดำรัสดังกล่าวซึ่งแสดงให้เห็นว่าราชสำนักได้ยอมรับคามิลลาในฐานะพระราชินี จึงทำให้สิ่งที่สำนักพระราชวังอังกฤษได้เคยประกาศไว้เมื่อปี 2005 ว่าคามิลลาจะมีสถานะเป็นเพียงเจ้าหญิงพระชายาเท่านั้นต้องสิ้นผลไป และเส้นทางในการดำรงสถานะเป็นพระราชินีอังกฤษของคามิลลานั้นเริ่มมีความชัดเจนขึ้น  

 

เกร็ดที่น่ารู้เกี่ยวกับสถานะพระราชินี (Queen) ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษนั้นคือ แม้ในประวัติศาสตร์อังกฤษจะมีพระราชินีมาโดยตลอด แต่สถานะของแต่ละพระองค์ก็มีความแตกต่างกัน โดยแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ตำแหน่งสมเด็จพระราชินีนาถ (Queen Regnant) ซึ่งทรงเป็นผู้ที่มีสิทธิธรรมในการครองราชบัลลังก์ ทำให้ทรงมีพระราชอำนาจที่จะขึ้นครองราชย์โดยพระองค์เอง และมีสถานะเป็นกษัตริย์ผู้ปกครองและเป็นประมุขของประเทศ ดังเช่นสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (1837-1901) และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (1952-2022)

 

ส่วนอีกตำแหน่งหนึ่งคือ สมเด็จพระราชินี (Queen Consort) ซึ่งเป็นเพียงพระมเหสีของกษัตริย์ และไม่มีพระราชอำนาจในการปกครอง โดยทั่วไปแล้วพระชายาหรือคู่สมรสของกษัตริย์อังกฤษมักจะได้รับการสถาปนาเป็นพระราชินีตำแหน่งนี้ ซึ่งจะได้รับการยกย่องและมีสถานะเคียงคู่กับกษัตริย์ เช่น สมเด็จพระราชินีแมรีในพระเจ้าจอร์จที่ 5 หรือสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธในพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระมารดาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ หรือที่เรียกว่า ‘The Queen Mother’ เป็นต้น

 

ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2022 เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ได้ทรงเอ่ยถึงคามิลลาในพระราชดำรัสแรกต่อสาธารณชนว่า “เพื่อระลึกถึงการอุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ตลอด 17 ปีของการสมรส คามิลลาจึงมีสถานะเป็นพระราชินีของข้าพเจ้า” (In recognition of her own loyal public service since our marriage 17 years ago, she becomes my Queen Consort.) กรณีจึงเป็นที่ยุติเกี่ยวกับสถานะของคามิลลาในท้ายที่สุดว่าเธอได้รับการประกาศให้เป็นสมเด็จพระราชินี (Queen Consort) 

 

อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา สำนักพระราชวังอังกฤษได้ออกหมายกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ โดยมีการระบุอิสริยยศของคามิลลาเป็น ‘Queen Camilla’ จากเดิมที่ใช้คำว่า Queen Consort ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นว่า แม้จะเปลี่ยนเป็นคำว่า Queen แต่สถานะของคามิลลายังคงเป็นเพียงสมเด็จพระราชินี (Queen Consort) หาได้เป็นสมเด็จพระราชินีนาถ (Queen Regnant) ที่จะมีพระราชอำนาจในการปกครองประเทศร่วมกับพระเจ้าชาร์ลส์แต่อย่างใด ทั้งนี้ สำหรับการสถาปนาหรือแต่งตั้งพระราชินีนั้นถือเป็นพระราชอำนาจโดยเฉพาะของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน โดยไม่ผูกพันกับการตัดสินพระทัยของกษัตริย์พระองค์ก่อน

 

นอกจากนั้นแล้วยังมีผู้ให้เหตุผลว่า การเรียกขานคามิลลาว่า Queen Consort ในช่วงแรกหลังการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าชาร์ลส์นั้น เพื่อให้แตกต่างจากการเอ่ยถึงสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ล่วงลับ (the Queen) เพราะหากเรียกว่า the Queen เหมือนกันแล้ว อาจทำให้เกิดความสับสนได้

 

สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ คามิลลาจะได้รับการยืนยันถึงสถานะของเธอจากการที่อยู่เคียงข้างชายผู้ที่เธอรักยิ่ง ผู้ซึ่งได้ผ่านพ้นเรื่องราวและฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ร่วมกันมายาวนานกว่า 50 ปี ในฐานะพระราชินีแห่งอังกฤษโดยสมบูรณ์ 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X