×
SCB Omnibus Fund 2024

PwC คาด ดีลควบรวม-เทกโอเวอร์พุ่งแรงในอีก 12 เดือนข้างหน้า ภาคธุรกิจเริ่มมีหวัง พร้อมทุ่มลงทุน

30.09.2021
  • LOADING...
PwC

PwC ประเทศไทย คาด ปริมาณและมูลค่าการทำดีลในประเทศไทยในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะสูงกว่าช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ หลังธุรกิจมีความหวังว่า ประเทศไทยจะสามารถกลับมา Reopening โดยช่วงครึ่งแรกปี 2564 มีการควบรวมและซื้อขายกิจการในอุตสาหกรรมบริการทางการเงินและกลุ่มสินค้าเพื่อผู้บริโภครายย่อยของไทยมากที่สุด ขณะที่กิจกรรมการควบรวมและซื้อกิจการของไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้สูงกว่าปีที่ผ่านมา

 

ฉันทนุช โชติกพนิช หุ้นส่วนและหัวหน้าสายงานดีล บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปริมาณและมูลค่าการทำดีลในประเทศไทยในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะสูงกว่าช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 หลังจากที่ภาคธุรกิจเริ่มมีความหวังว่าจะกลับมาเปิดทำการได้ตามปกติอีกครั้ง (Reopening) จึงพร้อมที่จะลงทุนหรือทำกิจกรรมดีลในธุรกิจที่จะเป็นเทรนด์ของโลกหลังสถานการณ์โควิดผ่านพ้นไป เพื่อสามารถสร้างรายได้และกระแสเงินสดได้ทันทีเมื่อทุกอย่างเริ่มฟื้นตัว

 

นอกจากนี้ยังพบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ปริมาณและมูลค่าการของการทำดีลในประเทศไทยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งหลายบริษัทมองว่าเป็นจังหวะในการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ทบทวนธุรกิจในพอร์ตโฟลิโอ และความสามารถในการทำธุรกิจเดิมของตน ขณะที่บางแห่งตัดขายธุรกิจหรือแสวงหาธุรกิจใหม่ที่ตนเองยังขาด หรือมีโอกาสเติบโตในอนาคตมากกว่าเข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง

 

“น่าแปลกใจมากที่เราเห็นกิจกรรมดีลในประเทศไทยทั้งฝั่งซื้อและฝั่งขายเยอะมาก หลายคนอาจมองว่าตลาดเงียบเพราะโควิด แต่จริงๆ แล้วหลายบริษัททำดีลเงียบๆ เพราะพวกเขาเห็นแล้วว่าการเกิดโควิดเหมือนเป็นตัวกระตุ้นปฏิกิริยาทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในโลก พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ผู้คนพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น ธุรกิจจึงกลับมาทบทวนพอร์ตโฟลิโอของตัวเองว่าธุรกิจที่มีอยู่นั้นมีศักยภาพและความสามารถในการเติบโตแค่ไหน ควรจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหนที่เชื่อมโยงกับแนวโน้มของโลกหลังโควิด นี่จึงนำไปสู่การซื้อกิจการเพื่อเปลี่ยนผ่านธุรกิจของตัวเองทางลัด ในทางกลับกัน หลายบริษัทก็ตัดสินใจขายทิ้งบางธุรกิจที่มีอยู่แต่ยังเชี่ยวชาญ เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่เหมาะกับเทรนด์ในอนาคต เพื่อถือเงินสดเก็บไว้ทำธุรกิจหรือรอจังหวะที่ดีในการลงทุน” ฉันทนุชกล่าว

 

ทั้งนี้ แนวโน้มดังกล่าวของประเทศไทยยังสอดคล้องกับรายงาน Global M&A Industry Trends: 2021 mid-year outlook ของ PwC ที่วิเคราะห์การทำดีลทั่วโลกและรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมดีล เพื่อระบุถึงแนวโน้มสำคัญที่ขับเคลื่อนกิจกรรมการควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions) และคาดการณ์การลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 2564 และ 2565 ที่พบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ทั่วโลกมีการทำดีลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทั้งในแง่ของปริมาณและมูลค่าของดีล โดยมูลค่าของดีลทั่วโลกยังสร้างสถิติการเติบโตมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อไตรมาส (ราว 33 ล้านล้านบาทต่อไตรมาส) ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา 

 

โดยมูลค่าที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากบริษัทที่สร้างขึ้นมาเพื่อระดมเงินทุนไปซื้อบริษัทอื่น (Special Purpose Acquisition Companies: SPAC) บวกกับการเพิ่มทุนของการลงทุนในหุ้นที่ไม่มีตลาดรอง (Private Equity: PE) และการเข้าซื้อกิจการขององค์กรโดยเน้นไปที่สินทรัพย์ทางด้านเทคโนโลยี 

 

กลุ่มบริการทางการเงินและผู้บริโภครายย่อยของไทย M&A สูง

ฉันทนุชกล่าวต่อว่า ธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน (Financial Services) และกลุ่มสินค้าเพื่อผู้บริโภครายย่อย (Retail Consumer and Business to Customer) ของไทย ถือเป็น 2 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการทำดีลควบรวมและซื้อกิจการมากที่สุดในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

 

โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ปรับโครงสร้างต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการทำกำไร รองลงมาเป็นธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะรองรับการเติบโตของโลกอนาคต เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ดาต้าเซ็นเตอร์ อาหารในกลุ่มต้นน้ำ แหล่งวัตถุดิบ และแหล่งผลิต เป็นต้น

 

แตกต่างจากแนวโน้มการทำดีลทั่วโลกในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา ซึ่งรายงานของ PwC ระบุว่า การทำดีลส่วนใหญ่เป็นการควบรวมและซื้อกิจการในธุรกิจเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของเมกะดีลทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้

 

ขณะที่การมุ่งไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ยังเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อกิจกรรมการควบรวมและซื้อกิจการในอุตสาหกรรมพลังงาน สาธารณูปโภค และทรัพยากรอีกด้วย โดยพบว่า ปัจจุบันปริมาณและมูลค่าของดีลในอุตสาหกรรมนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาด 

 

ฉันทนุชกล่าวว่า แม้กิจกรรมการทำดีลในไทยจะมีความคึกคัก แต่ยังมีธุรกิจบางประเภทที่เห็นการทำดีลน้อย เช่น โรงแรมและสายการบิน เพราะถึงแม้ตลาดจะมองว่าธุรกิจเหล่านี้มีราคาถูกลงกว่าเดิมแล้ว แต่ผู้ซื้อกลับมองว่า ธุรกิจเหล่านี้ยังไม่ใกล้เวลาฟื้นตัวจริงๆ หากซื้อกิจการในเวลานี้ เงินที่ลงทุนก็จะจมหายไป เพราะไม่สามารถสร้างรายได้หรือเงินสดหมุนเวียนในกิจการได้ทันที 

 

โดยมองว่า หลังสถานการณ์โควิดผ่านพ้นไป อาจมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์น่าจะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและก่อสร้าง ฉะนั้นธุรกิจที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เหล่านี้จะเป็นเทรนด์ในอนาคตของไทย

 

“แม้ว่าเวลานี้ธุรกิจควรถือเงินสด แต่ไม่ควรกลัว อยากแนะนำให้รีบมองหาโอกาสที่จะเป็นประโยชน์กับธุรกิจในอนาคต หากเราเห็นเทรนด์และมีแหล่งเงินทุนพร้อม ควรรีบทำดีลที่มองไว้” 

 

สำหรับธุรกิจที่ยังตั้งรับสถานการณ์วันต่อวัน อยากแนะนำให้แบ่งเวลามาศึกษาเทรนด์ของตลาดและกลับมาทบทวนตัวเองว่า ด้วยรูปแบบธุรกิจเดิม องค์กรเหมาะที่จะโฟกัสธุรกิจไหนที่เข้ากับเทรนด์หรือธุรกิจยังขาดอะไร ต้องรีบซื้อเข้ามาเสริม ส่วนธุรกิจอะไรที่ไม่เหมาะ อาจพิจารณาว่าควรขายออกในเวลานี้ไหม เพื่อที่กำลังคนและเงินของบริษัทจะเหลือมากขึ้น และหาธุรกิจที่จะสร้างหรือช่วยรักษามูลค่าของกิจการเข้ามาเสริม เพราะการรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันอาจไม่เพียงพอสำหรับโลกหลังโควิด แต่ธุรกิจจะต้องมีความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงต่อไปที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising