×

ไขปริศนา ทำไมเราชอบเล่นควิซทายนิสัย แม้จะรู้ว่าไร้สาระ

17.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • มนุษย์มีสัญชาตญาณของการรวมกลุ่ม (Tribalism) แม้จะไม่มีภูมิหลังร่วมกันเลย ซึ่งสิ่งนี้ผูกโยงอยู่กับการทำงานของสมอง การเล่นทายควิซและทำแบบทดสอบบุคลิกภาพเพื่อจัดกลุ่มของตัวเราเอง จึงตอบสนองสัญชาตญาณนี้ และสร้างความพึงพอใจให้กับสมองของมนุษย์ แม้ว่าเราอาจจะรู้ว่า ไม่มีเหตุผลที่แท้จริงก็ตาม
  • แท้จริงแล้วมนุษย์เป็นสัตว์สังคม และ ‘มนุษย์ทุกคนล้วนต้องการนิยามตัวเองกับกลุ่มทุกกลุ่ม’ ตั้งแต่การ์ตูนที่ชอบ ภาพยนตร์สุดโปรด สถานที่ท่องเที่ยวที่อยากไป รวมถึงมิติต่างๆ ในชีวิต

     ‘คุณเป็นใครในทีมอเวนเจอร์ส’

     ‘สถานที่ท่องเที่ยวสุดชิคที่ไหนที่เหมาะกับคุณ’

     ‘ผู้เข้าแข่งขัน The Face Men Thailand คนไหนที่กำลังแอบชอบคุณอยู่’

     คุณเคยเป็นไหม? เข้าหน้าวอลล์เฟซบุ๊กของใครต่อใครก็มักจะเจอผลควิซทายนิสัย ทายใจ แบ่งกลุ่มนั่นนี่เต็มไทม์ไลน์ไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในโอกาสครบรอบ 20 ปี นวนิยายเเนวแฟนตาซีชื่อก้องโลกอย่างแฮร์รี่ พอตเตอร์ (Harry Potter) เรื่องราวการผจญภัยของเหล่าพ่อมดแม่มดในโรงเรียนเวทมนตร์และโลกที่จินตนาการไร้ขอบเขต ในโลกอินเทอร์เน็ตมีควิซมากมายที่ให้เหล่าสาวกของนวนิยายเรื่องนี้ได้ทดลองทำ เพื่อลองทายดูว่า ‘คุณจะได้อยู่บ้านหลังไหนในโรงเรียนสอนคาถาพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์ฮอกวอตส์’

     และคุณเคยเป็นไหม? ทั้งๆ ที่คิดว่าเลือกคำตอบที่เป็นตัวเองมากที่สุดแล้ว แต่กลับถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่คุณรู้สึกแปลกๆ จนต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า นี่ใช่ตัวฉันเหรอ ผลลัพธ์ที่ได้แตกต่างไปจากสิ่งที่คุณคาดเดาไว้อย่างสิ้นเชิง

     ใครหลายคนอาจเคยคิดว่า จากลักษณะนิสัยของเรา เราเองก็เป็นคนกล้าหาญนะ เด็ดเดี่ยวดี ถ้าได้ลองทำควิซสุ่มบ้านเวทมนตร์ในฮอกวอตส์ก็อาจจะได้อยู่บ้านกริฟฟินดอร์แน่ๆ แต่ทำไมผลลัพธ์ที่ได้กลับจัดให้คุณอยู่บ้านสลิธีริน ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนแห่งความเจ้าเล่ห์และความทะเยอทะยานเสียอย่างนั้น มีคนจำนวนไม่น้อยเลือกทำควิซใหม่ จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ตรงใจและถูกใจ ทั้งที่ผลลัพธ์นั้นอาจจะไม่ได้มีความหมายอะไรพิเศษเลย

 

Photo: LUIS ROBAYO/AFP

 

เพราะสมองของมนุษย์ผูกโยงอยู่กับการรวมกลุ่ม (Tribalism)

     ความรู้สึกเกี่ยวกับการรวมกลุ่มเป็นส่วนพื้นฐานส่วนหนึ่งในการทำงานของสมองมนุษย์ พวกเราจะออกหากลุ่ม พอเราเจอกลุ่มแล้วเราก็จะฝังตัวในกลุ่มนั้น ซึ่งสภาพแวดล้อมของกลุ่มนั้นๆ ที่เราเลือกเข้าอยู่จะส่งผลต่อวิธีการและทิศทางการมองและการรับรู้ของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

     ในช่วงทศวรรษ 1970 เฮนรี ทาจเฟล (Henri Tajfel) นักวิทยาศาสตร์ด้านสังคมได้ทำการทดลองเพื่อแสดงให้เห็นว่า ธรรมชาติของมนุษย์โดยทั่วไปมีสัญชาตญาณของการรวมกลุ่มอย่างน่าประหลาดใจ เขาได้ทำการทดลอง ‘Minimal Group Design’ โดยให้อาสาสมัครทุกคนโยนเหรียญหัวก้อย เพื่อทำการเเบ่งกลุ่มเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งสมาชิกของแต่ละกลุ่มแทบจะไม่รู้จักหรือมีภูมิหลังร่วมกันเลย แต่ดูเหมือนว่า พวกเขาดูจะมีความรู้สึกร่วมของการรวมกลุ่มสูงมากแทบจะในทันทีที่จัดกลุ่มเสร็จ

     ในช่วงท้ายของการทดลอง เฮนรีสั่งให้สมาชิกของแต่ละกลุ่มแยกเดี่ยวออกไป โดยจะให้จับคู่กับสมาชิกของอีกกลุ่มหนึ่ง (ฝ่ายตรงข้าม) และให้ทำการแบ่งเงินให้ฝ่ายของตนและฝ่ายตรงข้าม (ใครที่มีความจงรักภักดีต่อกลุ่มจะได้รับเงินเพิ่ม) ผลปรากฏว่า สมาชิกของแต่ละกลุ่มเลือกที่จะแบ่งเงินให้กลุ่มของตัวเองมากกว่า

     การทดลองนี้สะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์มีสัญชาตญาณของการรวมกลุ่ม แม้จะไม่มีภูมิหลังร่วมกันเลย ซึ่งสิ่งนี้ผูกโยงอยู่กับการทำงานของสมอง การเล่นทายควิซและทำแบบทดสอบบุคลิกภาพเพื่อจัดกลุ่มของตัวเราเอง จึงตอบสนองสัญชาตญาณนี้และสร้างความพึงพอใจให้กับสมองของมนุษย์ แม้ว่าเราอาจจะรู้ว่า ไม่มีเหตุผลที่แท้จริงก็ตาม และความรู้สึกของการรวมกลุ่มนี้ยังขยายไปยังบางสิ่งบางอย่างได้ อย่างเช่น การเลือกที่จะอยู่บ้านหลังใดหลังหนึ่งของโรงเรียนฮอกวอตส์

 

Photo: SAVIER LEOTY/AFP

 

     อีกทั้ง เจย์ แวน เบเวล (Jay Van Bavel) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยาประจำมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) กล่าวว่า “มนุษย์ทุกคนล้วนต้องการนิยามตัวเองกับกลุ่มทุกกลุ่ม” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกีฬาที่ชื่นชอบ สถานที่ท่องเที่ยวที่อยากไป หรือแม้เเต่คุณเป็นแฟนพันธ์ุแท้หรือสาวกของโทรศัพท์มือถือค่ายไหน เป็นต้น สัญชาตญาณของการรวมกลุ่มหรือจัดกลุ่มนี้ จึงเป็นกระบวนการที่ทำงานสัมพันธ์กันระหว่างระบบสมองของมนุษย์และความรู้สึกนึกคิดหรือจิตใจ

     นี่จึงเป็นคำตอบของความสงสัยว่า ทำไมคนเราถึงชอบเล่นควิซทายนิสัย ทำแบบทดสอบบุคลิกภาพ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่จะจัดกลุ่มให้คุณอยู่กลุ่มนั้นอยู่กลุ่มนี้ แม้ผลลัพธ์นั้นอาจจะไม่ได้มีความหมายอะไรพิเศษหรือตรงกับความเป็นจริงเลยก็ตาม

     มนุษย์เราทุกคนต่างออกตามหาตัวตนของตัวเอง พยายามนิยามตัวเองผ่านควิซหรือแบบทดสอบต่างๆ ทั้งๆ ที่ตัวเราเองนั่นแหละที่อาจจะรู้จักตัวเราเองดีที่สุด คนจำนวนไม่น้อยจึงชอบเล่นควิซเหล่านี้ เขาอาจจะรู้แล้วว่าตัวเขาเป็นใคร แต่เพียงต้องการความมั่นใจและเสียงสนับสนุนความคิดเหล่านั้นเท่านั้นเอง

     จึงไม่น่าแปลกใจที่คนส่วนใหญ่หลังจากที่ทำควิซหรือแบบทดสอบจัดกลุ่มต่างๆ เสร็จ มักเลือกที่จะแชร์ผลลัพธ์เหล่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอยากบอกให้โลกใบนี้รับรู้ถึงตัวตนของตัวเองด้วย ซึ่งก็เป็นเหตุผลคล้ายๆ กับที่เราชอบถ่ายภาพสถานที่ท่องเที่ยวที่เราไป ถ่ายภาพหน้าตาอาหารที่เราทาน รวมถึงโมเมนต์อินเลิฟหรืออกหัก ที่สะท้อนมิติต่างๆ ของชีวิตและตัวตนของเรา

     ได้ผลลัพธ์ ‘เเจ็ค The Face Men’ หรือ โอปป้ารุ่นบุกเบิกอย่าง ‘กงยู’ จากการทายควิซ’ หนุ่มๆ คนไหนกำลังแอบชอบคุณอยู่’ หรือ ‘ยูอิ ฮาตาโนะ (Yui Hatano)’ คือ ‘ดาราเอวีสาวญี่ปุ่นที่เหมาะสมกับคุณ’

     เป็นคุณ คุณจะไม่อยากแชร์ผลลัพธ์ของควิซเหล่านี้ให้โลกนี้รับรู้สักนิดเลยเหรอ 😀

 

ภาพประกอบ: Thiencharas.w

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising