×

นายกฯ กล่าวปาฐกถาเวที GCNT Forum 2022 มุ่งบรรลุเป้าหมาย ลดภาวะโลกร้อน ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล ยั่งยืน

โดย THE STANDARD TEAM
02.11.2022
  • LOADING...

วันนี้ (2 พฤศจิกายน) ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (UNCC) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานประชุม Global Compact Network Thailand Forum (GCNT 2022) หัวข้อ เร่งหาทางออกของภาคธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนและวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพ 

 

โดยมี วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ผู้นำองค์กรธุรกิจ ผู้แทนสหประชาชาติ ผู้แทนภาครัฐและภาคประชาสังคม เข้าร่วมงาน

 

ภายหลังเสร็จสิ้น อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

 

พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า การเข้าร่วมการประชุม GCNT ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญและเป็นช่วงของการเตรียมตัวก่อนที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC 2022 โดยไทยได้ผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาค APEC ในยุคหลังวิกฤตโควิด เพื่อให้ทุกประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน สมดุล และครอบคลุมมากขึ้น 

 

ภายใต้หัวข้อหลัก ‘Open. Connect. Balance.’ โดยหนึ่งในวาระสำคัญที่มุ่งผลักดัน คือการสร้างสมดุลทางสิ่งแวดล้อมและการขับเคลื่อนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลไทยยืนยันถึงเจตนารมณ์ ความมุ่งมั่นและการลงมือทำของไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุม APEC เพื่อลดสภาวะโลกร้อนและความเสียหายต่อธรรมชาติ โดยภาคเอกชนและสหประชาชาติเป็นภาคีสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของไทย

 

พล.อ. ประยุทธ์ยังกล่าวถึง ประสบการณ์ของไทยที่เป็นสัญญาณเตือนว่าภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีความรุนแรงขึ้น ทุกคนจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือและปรับตัว ขณะเดียวกันยังต้องเผชิญกับสถานการณ์โลกที่มีความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โควิด โรคอุบัติใหม่ สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ความไม่มั่นคงด้านอาหารและพลังงาน สภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งการสูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติ ทำให้ทุกประเทศต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประเทศและประชาชนของตนเอง

 

ทั้งนี้เน้นย้ำว่า ไทยตระหนักดีว่าการลดภาวะโลกร้อนมิใช่เพื่อแก้ปัญหาภาวะวิกฤตธรรมชาติเท่านั้น แต่เพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วย ซึ่งได้เสนอหลักการการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG ที่คำนึงถึงการพัฒนาเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการเยียวยารักษาธรรมชาติอย่างมีสมดุล เป็นหัวใจของเอกสารผลลัพธ์ของ APEC ที่เรียกว่า เป้าหมายกรุงเทพว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) 

 

พล.อ. ประยุทธ์กล่าวต่อไปว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนทั้งแนวคิดและวิถีชีวิต ปรับเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจและโมเดลธุรกิจให้สมดุลและยั่งยืน โดย BCG เป็นรูปแบบที่ไทยได้เริ่มแบ่งปันกับประชาคมโลกเพื่อเป็นหนทางสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างงาน สร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

เป้าหมายกรุงเทพฯ จะบรรลุผลและนำไปสู่ความร่วมมือในภูมิภาคที่เป็นรูปธรรม สอดรับกับความพยายามของไทยในการร่วมมือกับประชาคมโลกแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งผลักดันให้ใช้แนวคิด BCG มาส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การจัดการป่าไม้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่เพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้ประชาชนท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีของเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย

 

ในช่วงท้าย พล.อ. ประยุทธ์ย้ำว่า การขับเคลื่อนประเด็นทั้งหมดนี้ จะไม่มีทางสำเร็จได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนและทุกภาคส่วน ซึ่งสิ่งสำคัญคือการขับเคลื่อนทั้งองคาพยพ ส่งเสริมให้ธุรกิจ SMEs ทุกขนาด มีขีดความสามารถในการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ประเทศไทยมีโครงข่ายรากฐานที่เข้มแข็ง จากความร่วมมือของทุกคน ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ทุกภาคส่วน ให้ทุกคนจับมือก้าวเดินไปด้วยกันอย่างเข้มแข็งที่สุด 

 

สำหรับงานประชุม GCNT 2022 เป็นการขยายความร่วมมือ ระดมความมุ่งมั่นและการปฏิบัติจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคเอกชน เพื่อร่วมหารือในการบรรเทาและป้องกันปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้และความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อนุรักษ์และใช้ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising