×

นายกฯ โรดโชว์แลนด์บริดจ์ ดึงเอกชนสหรัฐฯ ร่วมลงทุน รองรับการขนส่งมหาสมุทรแปซิฟิก-อินเดีย ชี้ถูกกว่า เร็วกว่า ปลอดภัยกว่า

โดย THE STANDARD TEAM
14.11.2023
  • LOADING...
Landbridge

วันนี้ (13 พฤศจิกายน) เวลา 16.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) ณ ห้อง The Director ชั้น 3 โรงแรม The Ritz-Carlton เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมงานสัมมนาโครงการ ‘Thailand Landbridge Roadshow’ และกล่าวเปิดงานสัมมนา 

 

งานสัมมนาในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการคมนาคมขนส่ง รวมทั้งยังเป็นโอกาสการลงทุนที่ดีสำหรับภาคเอกชนอีกด้วย โดยทั่วโลกมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 38 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสูงสุดประมาณ 40% รองลงมาคือยุโรปที่ประมาณ 38% ซึ่งสำหรับการค้าทางทะเลระหว่างเอเชียและยุโรป เรือขนส่ง (Container Ship) ทุกลำจะต้องผ่านช่องแคบมะละกา

 

ช่องแคบมะละกาถือเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าหลักในระดับภูมิภาคสำหรับประเทศที่มีพรมแดนติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย 1 ใน 4 ของการค้าโลก และน้ำมันมากกว่า 70% ที่ส่งออกจากภูมิภาคตะวันออกกลางก็ขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา ทำให้กลายเป็นคอขวดที่มีการขนส่งคับคั่งที่สุดในโลก

 

ช่องแคบมะละกา สู่ ‘แลนด์บริดจ์’

 

โดยในแต่ละปีมีเรือประมาณ 90,000 ลำ ผ่านช่องแคบมะละกา และเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 2.35% ทุกปี ซึ่งปริมาณดังกล่าวคาดว่าจะเกินความจุของช่องแคบมะละกาภายในปี 2573 หากช่องแคบมะละกามีความแออัดมากขึ้นอาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมาก

 

ช่องแคบมะละกาเป็นช่องแคบที่ยาวและแคบ โดยเฉพาะในช่องฟิลลิป (The Philips Channel) ที่อยู่ตรงช่องแคบสิงคโปร์ (The Singapore Strait) ซึ่งมีความกว้างเพียง 2.8 กิโลเมตร เรือจึงต้องเข้าคิวและเคลื่อนตัวช้าๆ ในแต่ละปีมีอุบัติเหตุทางทะเลมากกว่า 60 ครั้งต่อปีเกี่ยวข้องกับเรือหลากหลายประเภท ตั้งแต่เรือท้องถิ่นไปจนถึงเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ แต่ส่วนใหญ่เป็นเรือบรรทุกสินค้าทั่วไปที่เสี่ยงต่อการปล้นเรือและสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย

 

ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงคาดว่าการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกาจะประสบปัญหามากขึ้นในอนาคต รวมถึงเวลาการขนส่งและต้นทุนที่มากขึ้น เนื่องจากเรือต้องรอหลายวันก่อนที่จะถึงสิงคโปร์ และทำให้ต้องเสียค่าเสียโอกาสและต้นทุนที่สำคัญ เนื่องจากการเน่าเสียของสินค้าในระหว่างความล่าช้า

 

ด้วยที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน และการเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ประเทศไทยจึงได้พัฒนาและกลายมาเป็นศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับการผลิตและการขนส่ง โครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นเส้นทางเพิ่มเติมที่สำคัญ เพื่อรองรับการคมนาคมขนส่ง และเป็นทางเลือกที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาช่องแคบมะละกา ที่ถูกกว่า เร็วกว่า และปลอดภัยกว่า

 

มีแลนด์บริดจ์แล้วช่วยอะไร

 

เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนและเวลาสำหรับการขนส่งผ่านแลนด์บริดจ์กับช่องแคบมะละกาแล้ว กลุ่มเป้าหมายที่เป็นไปได้ของแลนด์บริดจ์คือเรือตู้สินค้า (Feeder Vessels) สินค้าจากประเทศจีนและประเทศในยุโรปโดยเรือแม่ (Mainline Vessel) จะได้รับการส่งต่อโดยเรือตู้สินค้าในพื้นที่นี้ ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนได้อย่างน้อย 4% และดำเนินการได้เวลา 5 วัน สินค้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังเอเชียกลางและตะวันออกกลาง โดยใช้เรือตู้สินค้าข้ามระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกสามารถประหยัดต้นทุนได้อย่างน้อย 4% และประหยัดเวลาได้ 3 วัน และผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย สปป.ลาว กัมพูชา และจีนตอนใต้ ไปจนถึง BIMSTEC และประเทศในทวีปยุโรป สามารถกระจายได้โดยใช้เรือตู้สินค้าที่แลนด์บริดจ์ไปยังภูมิภาคต่างๆ ได้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากถึง 35% และประหยัดเวลาได้ 14 วัน โดยสรุปการขนส่งสินค้าผ่านแลนด์บริดจ์จะช่วยลดเวลาการเดินทางได้ 4 วัน และลดต้นทุนโดยเฉลี่ยได้ 15%

 

ปริมาณสินค้าทั้งหมดที่ท่าเรือฝั่งตะวันตกจะอยู่ที่ 19.4 ล้าน TEUs และท่าเรือฝั่งตะวันออกจะอยู่ที่ 13.8 ล้าน TEUs คิดเป็นประมาณ 23% ของการขนส่งสินค้าทั้งหมดของท่าเรือมะละกา ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการพาณิชย์ และในฐานะจุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างตะวันออกและตะวันตก ภูมิภาคนี้จะมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญเช่นกัน

 

สำหรับน้ำมันดิบ ปริมาณที่ผลิตได้จากตะวันออกกลางเพื่อการขนส่งอยู่ที่ประมาณ 19 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยมี 56% หรือประมาณ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวันที่ผ่านช่องแคบมะละกา และ 44% ไปยังเอเชียตะวันออกไกล (Asia Far East) และที่เหลือ 7% ไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงการแลนด์บริดจ์จึงมีความน่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับ 7% นี้ เนื่องจากจะช่วยประหยัดต้นทุนได้อย่างน้อย 6% นอกจากนี้ นักลงทุนยังจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาแลนด์บริดจ์ในภาคบริการ ผ่านโลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์ และการธนาคาร ในภาคการผลิตขั้นปฐมภูมิ (Primary Sector) ผ่านผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น และในภาคอุตสาหกรรม ผ่านทางอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) และการผลิต

 

โครงการแลนด์บริดจ์จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม สร้างงาน 280,000 ตำแหน่ง และคาดว่า GDP ของไทยจะเติบโต 5.5% ต่อปี หรือเทียบเท่ากับ 6.7 แสนล้านดอลลาร์เมื่อดำเนินโครงการอย่างเต็มรูปแบบ

 

นายกฯ เชื่อมั่นว่าโครงการแลนด์บริดจ์เป็นโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนในการลงทุนในโครงการสำคัญเชิงพาณิชย์และเชิงกลยุทธ์ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย โดยเชื่อมโยงผู้คนในภาคตะวันออกกับตะวันตกเข้าด้วยกัน โดยนายกฯ ได้กล่าวเชิญชวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนให้สำรวจโอกาสในการเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในโครงการประวัติศาสตร์นี้และได้รับประโยชน์ร่วมกัน

 

เอกชนรายใหญ่เตรียมสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย ย้ำรัฐบาลไม่มีนโยบายขายฝัน 

 

จากนั้นนายกฯ กล่าวระหว่างร่วมกิจกรรมพบหารือภาคเอกชนไทยในงาน โดยมีนักธุรกิจที่สำคัญเข้าร่วม โอกาสนี้ วิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนภาคเอกชนกล่าวข้อเสนอแนะให้กับนายกฯ โดยอยากให้นำนโยบายประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น สิงคโปร์ ดูไบ เวียดนาม และอินโดนีเซียมาเป็นแนวทาง โดยเสนอให้รัฐบาลปรับนโยบายสิทธิประโยชน์ทางภาษี ให้ทำศูนย์รวมบริการแบบครบวงจร หรือ All Services Center โดยเน้นย้ำธุรกิจประเภทเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อดึงดูดนักลงทุน และให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ซึ่งนโยบายของรัฐบาลเป็นสิ่งที่นักลงทุนจะตัดสินใจมาลงทุน

 

โดยนายกฯ เห็นด้วยกับการนำนโยบายของประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างสิงคโปร์ ดูไบ อินโดนีเซีย และเวียดนามมาปรับใช้ แต่ประเทศไทยมีข้อจำกัด เพราะบางนโยบายต้องใช้เงิน และ 8-9 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีการเซ็นข้อตกลง FTA ทำให้เสียโอกาสด้านการลงทุน ซึ่งจะเห็นว่าการย้ายฐานการผลิตจากไทยไปที่ประเทศเวียดนามไม่ได้เป็นประเด็นปัญหาเรื่องค่าแรง แต่เพราะไม่มีการเซ็น FTA แต่ยืนยันรัฐบาลนี้มีการผลักดันข้อตกลง FTA อย่างจริงจัง 

 

และมั่นใจว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เพราะนโยบายหลักของรัฐบาลตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ได้เดินทางไปเชิญชวนนักลงทุนจากต่างประเทศให้รับทราบว่าประเทศไทยเปิดแล้ว เช่นวันนี้มีการหารือกับบริษัท Microsoft ซึ่งจะมีข่าวดีในเร็วๆ นี้ โดยจะมีเอกชนรายใหญ่เข้ามาสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย พร้อมย้ำการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเชิญชวนนักลงทุน ยืนยันประเทศไทยพร้อมอ้าแขนรับนักลงทุนจากทั่วโลก ด้วยมาตรการที่ยืดหยุ่นและการอำนวยความสะดวกกับนักลงทุนในทุกด้าน

 

นายกฯ ย้ำพร้อมรับฟังข้อเสนอของเอกชนในทุกด้าน แต่ขอลองใช้วิธีของตนเองก่อน โดยนำร่องจากโครงการขนาดเล็ก หากประสบความสำเร็จจะได้ขยายผลในวงกว้างมากขึ้น ยืนยันรัฐบาลไม่มีนโยบายขายฝันกับนักลงทุน และเห็นด้วยว่าเรื่องนโยบายเป็นเรื่องสำคัญที่นักลงทุนจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และหากแข่งขันกับเวียดนามและอินโดนีเซีย เราเป็นต่อ แต่ขอให้เซ็นข้อตกลง FTA ให้ได้ เพราะเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และระบบการดูแลสุขภาพของไทยดีกว่า ซึ่งนโยบายเหล่านี้เอื้อต่อการเข้ามาลงทุน ยืนยันรัฐบาลจะดำเนินการอย่างเต็มที่ อะไรทำได้จะทำก่อน เชื่อว่าภายในระยะเวลาอันใกล้นี้จะได้เห็นสิ่งที่ดีๆ เกิดขึ้น

 

ชวนลุ้นข่าวดี ‘Tesla’ สนใจลงทุนในไทย คาดตัดสินใจไม่เกินไตรมาสแรกปีหน้า 

 

นายกฯ ยังเปิดเผยบรรยากาศการเยี่ยมชมบริษัท Tesla โดยเยี่ยมชมกระบวนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และร่วมทดสอบรถ Cybertruck ซึ่งเป็นรถบรรทุกที่จะเปิดตัวสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้เฉพาะที่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น และยังมีการพูดคุยกับผู้บริหารของ Tesla โดย Tesla สนใจเข้าลงทุนในไทย เพราะไทยเป็นประเทศที่ทาง Tesla ให้ความสนใจสูงสุด คาดว่าจะสามารถตัดสินใจได้ในไตรมาสแรกของปีหน้า และเจ้าหน้าที่ Tesla จะเดินทางไปประเทศไทยเพื่อไปดูที่ตั้งโรงงานซึ่งเอกชนไทยเป็นผู้เสนอจำนวน 3 แห่ง โอกาสนี้นายกฯ จึงได้ชวนให้ไปชมซอฟต์พาวเวอร์ของไทยที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเชิญเข้าร่วมเทศกาลยี่เป็ง ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีและมั่นใจว่าจะสรุปได้ในเร็ววันนี้ 

 

เผยประสบการณ์ทดสอบรถ Cybertruck ที่เตรียมเปิดตัวสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

               

นายกฯ ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรถ Cybertruck  ว่าเป็นรถรุ่นเรือธงของอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้งบริษัท Tesla ทำจากอะลูมิเนียม ใช้ค้อนทุบไม่เป็นรอย ถูกชนไม่เป็นรอย ยืนบนหลังคาที่มีความแข็งแรงขณะตนเองเป็นคนตัวใหญ่กับเจ้าหน้าที่อีกคนยืนพร้อมกันยังไม่มีรอยบุบ สำหรับสมรรถนะ มีอัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียงประมาณ 2-3 วินาที เร็วกว่ารถยนต์ Ferrari มีการทดสอบให้ดู เรียกได้ว่าน่าตื่นตาตื่นใจ เข้าโค้งได้เกาะถนน ซึ่งได้ข่าวว่ามีบริษัทในอเมริกาสั่งซื้อแล้ว 1,000,000 คัน และจากที่ได้ทดลองนั่งก็ดีมากสบายมาก

 

คาดว่าจะมีข่าวดี ได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

           

ส่วนการพบกับบริษัท HP ได้มีการหารือเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านภาษีและด้านศุลกากร เพราะต้องการความคล่องตัว เนื่องจากอยากจะย้ายฐานการผลิตเข้ามา ซึ่งทางบริษัทอยากจะประกาศการขยายกำลังการผลิตให้ได้ภายในกลางเดือนธันวาคมนี้ โดยทางซีอีโอของบริษัทจะมาพบกับตนเองอีกครั้ง คาดว่าจะมีข่าวดีและจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

             

ส่วนบริษัท ADI มีความสนใจที่จะมาเปิดโรงงานในประเทศไทย ถือเป็นโอกาสดีที่ได้พูดคุยและรับทราบความต้องการ รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่เขาต้องการจะได้รับหากเข้ามาลงทุน ส่วนตัวดีใจที่ประเทศไทยได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เนื่องจากไทยมีเรื่องการบริหารจัดการน้ำ พลังงานสะอาด และมีความต้องการบุคลากรด้านวิศวกรรมศาสตร์จำนวนมาก คาดว่าน่าจะตกลงกันได้ในเร็ววันนี้

 

ภาพ: กระทรวงคมนาคม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X