×

นับถอยหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ: จับตาศึกเลือกตั้งขั้นต้น (Primary Election) ใครจะได้ไปต่อ?

07.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS. READ
  • สนามการเลือกตั้งขั้นต้นในปีนี้เริ่มจัดขึ้นแล้วที่รัฐไอโอวาเป็นรัฐแรก ซึ่งแม้ว่ารัฐนี้จะไม่ใช่รัฐใหญ่ แต่ก็มีบทบาทสำคัญในการคัดเลือกตัวแทนพรรคเพื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพราะตั้งแต่ปี 1972 เป็นต้นมา ผู้ที่ได้เป็นตัวแทนพรรคของทั้งเดโมแครต และรีพับลิกัน ส่วนมากมีคะแนนติดอันดับ 1 ใน 3 ในการเลือกตั้งขั้นต้นแบบคอคัสที่ไอโอวา
  • แคนดิเดตที่น่าจับตาของฝั่งเดโมแครตจากผลการเลือกตั้งขั้นต้นในไอโอวา ประกอบด้วย พีท บุตดิเจช, เบอร์นี แซนเดอร์ส, เอลิซาเบธ วอร์เรน และโจ ไบเดน 
  • แต่หนทางยังอีกยาวไกล โดยสหรัฐฯ จะจัดการเลือกตั้งขั้นต้นทั้งแบบคอคัสและไพรมารีในอีกหลายรัฐ ซึ่งการเลือกตั้งไพรมารีที่รัฐนิวแฮมป์เชียร์ ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ จะเป็นสนามแข่งในครั้งต่อไป ขณะที่ศึก Super Tuesday ในวันที่ 3 มีนาคม จะมีการเลือกตั้งขั้นต้นใน 14 รัฐ รวมถึงรัฐใหญ่ๆ อย่างแคลิฟอร์เนีย และเท็กซัส ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาพได้ชัดมากขึ้นว่า ใครจะได้ไปต่อ หรือใครมีโอกาสท้าชิงกับโดนัลด์ ทรัมป์ ในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน

การเลือกตั้งขั้นต้นเปรียบเหมือนกับการวัดคะแนนความนิยมของตัวแทนผู้ที่จะสมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคการเมืองแต่ละพรรคอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งแต่ละพรรคจะมีวิธีการคัดเลือกที่แตกต่างกันออกไป 

 

การเลือกตั้งขั้นต้นจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะให้ผู้สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้แสดงวิสัยทัศน์ และพูดถึงนโยบายของตนให้แก่ประชาชนได้รับรู้ และไ้ด้รู้จักตนเองมากขึ้น 

 

สนามการเลือกตั้งขั้นต้นในปีนี้เริ่มจัดขึ้นแล้วที่รัฐไอโอวา เป็นรัฐแรก เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2020 ที่ผ่านมา โดยเป็นการเลือกตั้งแบบคอคัส (Iowa Caucuses) ซึ่งเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า การเลือกตั้งขั้นต้นครั้งนี้จะส่งสัญญาณว่าใครในพรรคเดโมแครต จะได้มาเป็นตัวแทนของพรรคในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี กับโดนัลด์ ทรัมป์ 

 

รัฐไอโอวาไม่ใช่รัฐที่มีขนาดใหญ่หรือรัฐที่มีประชากรมาก แต่เป็นรัฐที่มีบทบาทสำคัญในการคัดเลือกตัวแทนพรรคเพื่อลงสมัครแข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพราะตั้งแต่ปี 1972 เป็นต้นมา ผู้ที่ได้เป็นตัวแทนพรรคของทั้งเดโมแครต และรีพับลิกัน ส่วนมากมีคะแนนติดอันดับ 1 ใน 3 ในการเลือกตั้งแบบคอคัสที่ไอโอวา 

 

และเนื่องจากว่ารัฐไอโอวาเป็นรัฐแรกที่จัดให้มีการเลือกตั้งขั้นต้น จึงทำให้ประชาชนทั่วไปและสื่อต่างๆ ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และหลังจากการทราบผลจะทำให้เราทราบว่ามีใครบ้างที่โดดเด่นพอจะได้เป็นผู้แทนพรรคเพื่อไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้บ้าง 

 

นอกจากนั้นหากผู้สมัครคนใดที่ทำผลงานได้ไม่ดีในรอบนี้ อาจจะทำให้สื่อ ผู้สนับสนุน และกลุ่มทุนที่สนับสนุนบริจาคเงินหันไปเลือกผู้สมัครที่มีโอกาสที่ดีมากกว่า และอาจมีผู้สมัครบางคนที่ประกาศถอนตัวไปเลยก็ได้ 

 

อย่างไรก็ตาม แม้มีความเชื่อที่ว่าผู้สมัคร 3 อันดับแรกที่ได้คะแนนสูงสุดจากการหยั่งเสียงเลือกตั้งครั้งแรกในรัฐไอโอวา จะมีโอกาสได้เป็นตัวแทนของพรรคเข้าไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้นั้น แต่ความเป็นจริงแล้วอาจไม่สามารถทำนายได้ถูกต้องเสมอไป 

 

เพราะจากตัวอย่างในปี 2008 การหยั่งเสียงเลือกตั้งขั้นต้นแบบคอคัสที่รัฐไอโอวา ของพรรครีพับลิกัน ปรากฏว่า จอห์น แมคเคน เป็นผู้ที่ได้คะแนนไม่ติด 3 อันดับแรก โดยพ่ายแพ้ให้กับ ไมค์ ฮัคคาบี แต่สุดท้าย แมคเคนกลับได้เป็นตัวแทนจากพรรครีพับลิกันในการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในเวลาต่อมา 

 

และก็มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วเช่นกันว่า ผู้ที่ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งที่รัฐไอโอวานี้ก็ไม่ได้หมายถึงว่าจะได้เป็นตัวแทนของพรรคไปสู่รอบการเลือกตั้งประธานาธิบดี เช่นในปี 2012 การหยั่งเสียงแบบคอคัสที่รัฐไอโอวาของพรรคริพับลิกัน มิตต์ รอมนีย์ แพ้คะแนนให้กับ ริก แซนโทรัม ไป แต่ต่อมา รอมนีย์ได้กลายมาเป็นตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในนามพรรคริพับลิกัน 

 

 

 

หรือในกรณีที่ เท็ด ครูซ ชนะโดนัลด์ ทรัมป์ ในการหยั่งเสียงเบื้องต้นแบบคอคัสที่รัฐไอโอวาเมื่อปี 2016 แต่ในเวลาต่อมา ครูซ ประกาศถอนตัวเพราะคะแนนการเลือกตั้งขั้นต้นที่รัฐอินเดียนานั้น ทรัมป์ชนะอย่างขาดลอย และท้ายที่สุดทรัมป์ก็ได้เป็นแคนดิเดตพรรคริพับลิกันลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 

 

ส่วนผลการเลือกตั้งขั้นต้นแบบคอคัสในรัฐไอโอวาของพรรคเดโมแครตที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้น ปรากฏว่า พีท บุตดิเจช เป็นผู้ที่มีคะแนนนำมาเป็นอันดับแรก และเป็นผู้ที่ได้ชัยชนะการเลือกตั้งขั้นต้นในรัฐไอโอวานี้ ตามมาด้วยวุฒิสมาชิก เบอร์นี แซนเดอร์ส ซึ่งมีคะแนนเป็นอันดับ 2 และคะแนนอันดับ 3 ได้แก่วุฒิสมาชิก เอลิซาเบธ วอร์เรน 

 

ซึ่งเรื่องที่ผิดคาดอย่างยิ่งคือตัวเต็งอย่างอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 4 

 

ส่วนพรรครีพับลิกัน การเลือกตั้งขั้นต้นแบบคอคัสในรัฐไอโววา ทรัมป์ได้คะแนนชนะผู้สมัครอีก 2 คน คือ โจ วอลช์ และ บิล เวลด์ ไปอย่างขาดลอย 

 

ในเวลานี้เรายังอาจมองไม่เห็นว่าผู้สมัครจากเดโมแครตคนใด จะได้ขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่สูสี และสามารถเอาชนะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในศึกเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา ปี 2020 นี้ได้ แต่ในเบื้องต้น เราลองมาดูแคมเปญรณรงค์หาเสียงของผู้สมัครที่เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกันก่อนว่ามีความน่าสนใจเพียงใด และเพียงพอหรือไม่ที่พวกเขาจะครองใจประชาชนชาวอเมริกัน

 

 

 

 

พีท บุตดิเจช สโลแกน ‘A Fresh Start for America’ และ ‘Win the Era’ 

นายกเทศมนตรีจากรัฐอินเดียนา ชูนโยบายหลักเรื่องการปฏิรูปทางการเมือง สนับสนุนสิทธิของกลุ่ม LGBTQ ให้มีโครงการบรรเทาหนี้เพื่อการศึกษา และสนับสนุนพลังของคนรุ่นใหม่ 

 

 

เบอร์นี แซนเดอร์ส สโลแกน ‘Not Me. Us.’ 

วุฒิสมาชิกจากรัฐเวอร์มอนต์ ชูนโยบายปฏิรูปโครงการประกันสุขภาพ เพื่อให้ชาว อเมริกันทุกคนได้รับความคุ้มครองอย่างทั่วถึง รวมถึงสนับสนุนการขึ้นภาษีคนรวย ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และให้นักศึกษาในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเรียนฟรี 

 

 

เอลิซาเบธ วอร์เรน สโลแกน ‘Persist’, ‘Best President Money Can’t Buy’ และ ‘Warren Has a Plan for That’ 

วุฒิสมาชิกจากรัฐแมสซาชูเซตส์ มีนโยบายหลักที่ใช้ในการหาเสียงคือ สิทธิของแรงงาน ค่าแรงที่เป็นธรรม และการเข้าถึงระบบประกันสุขภาพ สนับสนุนให้มีภาษีที่เก็บตามความมั่งคั่ง (Wealth Tax) สิทธิการทำแท้ง และเรียนฟรีในวิทยาลัยของรัฐ

 

 

โจ ไบเดน สโลแกน ‘Our Best Days Still Lie Ahead’ 

โจ ไบเดน เคยดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา ประเด็นที่เขาใช้ในการหาเสียงคือ จะกลับมาให้ความสำคัญกับชนชั้นกลาง เน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ให้เรียนฟรีในมหาวิทยาลัยของรัฐ และสนับสนุนการปฏิรูปพลังงานสะอาด 

 

น่าจับตาว่าตัวเต็งจากเดโมแครตเหล่านี้จะไปถึงการชิงชัยแคนดิเดตคนสุดท้ายในที่ประชุมระดับชาติของพรรคเดโมแครตในเมืองมิลวอกี รัฐวิสคอนซิน ในเดือนกรกฎาคม

 

แต่ก่อนจะถึงวันนั้นยังมีเส้นทางอีกยาวไกล โดยยังมีการเลือกตั้งขั้นต้นทั้งแบบคอคัสและไพรมารีจัดขึ้นในอีกหลายรัฐ โดยการเลือกตั้งไพรมารีที่รัฐนิวแฮมป์เชียร์ วันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้จะเป็นสนามแข่งในครั้งต่อไป 

 

และน่าจับตาอย่างยิ่งคือ Super Tuesday ในวันที่ 3 มีนาคม ซึ่งจะมีการจัดการเลือกตั้งขั้นต้นใน 14 รัฐ รวมถึงรัฐใหญ่ๆ อย่างแคลิฟอร์เนีย และเท็กซัส ซึ่งจะทำให้เราเริ่มเห็นภาพชัดมากขึ้นว่าใครจะได้ไปต่อ…น่าติดตามชนิดไม่อาจคลาดสายตา

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

FYI
  • เดโมแครตและรีพับลิกันจะจัดการเลือกตั้งขั้นต้นแบบคอคัสและไพรมารี ซึ่งทั้งสองแบบมีความแตกต่างกัน โดยคอคัสจะเป็นการประชุมกันของบรรดาแกนนำพรรค หรือสมาชิกพรรคตามสถานที่ต่างๆ ที่มีการนัดหมายเพื่ออภิปรายเกี่ยวกับตัวเลือกผู้สมัคร และนโยบายต่างๆ ก่อนจะมีการลงคะแนน ซึ่งอาจใช้วิธีหย่อนบัตรลงในหีบ หรือยกมือโหวตแบบเปิดเผย โดยแต่ละที่ประชุมจะประกาศตัวผู้สมัครที่ได้รับเลือก นอกจากนี้ยังมีการเลือกตัวแทนผู้ลงคะแนน (Delegate) เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรคด้วย 
  • ส่วนไพรมารี ซึ่งเป็นวิธีการเลือกตั้งขั้นต้นที่หลายรัฐใช้นั้น เป็นการลงคะแนนในคูหาเหมือนการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อเลือกแคนดิเดตของพรรคโดยตรง ซึ่งบางรัฐกำหนดให้ผู้ที่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกพรรคเท่านั้นจึงจะมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งขั้นต้นแบบไพรมารีของพรรคนั้นๆ แต่บางรัฐอนุญาตให้ร่วมโหวตได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคมาก่อน 
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising