ตลอดเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คุณย่อมได้เห็นกิจกรรมหรือแคมเปญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ที่เต็มไปด้วยสีสันแห่งสายรุ้ง แต่คุณรู้หรือไม่ว่าที่มาและเบื้องหลังของความภาคภูมิใจนี้แลกมาด้วยอะไร ทั้งการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBTQ ในยุค 70 หรือการจลาจลที่สร้างแรงกระเพื่อมไปสู่หน้าประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของโลก เราขออนุญาตพาคุณย้อนกลับไปร่วมเป็นพยานในที่มาที่ไปของเดือนแห่งความภาคภูมิใจนี้ด้วยกันอีกครั้ง
เบื้องหลังภาพความสนุกสนานของ LGBT Pride ในปัจจุบัน แท้จริงแล้วเริ่มต้นจากการถูกเลือกปฏิบัติ ถูกใช้ความรุนแรง และการถูกตีตราว่าคนกลุ่ม LGBT มีความผิดปกติทางจิต จนในยุคก่อนครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ชาว LGBT คิดว่าการเปิดเผยตนเองและการแต่งงานกับคู่รักของตนคงเป็นเพียงแค่ความฝัน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อคืนวันที่ 28 มิถุนายน 1969 อันเป็นจุดเปลี่ยนของหน้าประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่ไม่เพียงส่งผลต่อชุมชนชาว LGBT ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังเป็นชนวนหลักให้ชาว LGBT ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพครั้งแรกในประวัติศาสตร์ กล้าประกาศตัวว่าตัวเองแตกต่างบนท้องถนน แสดงให้เห็น Gay Power! ผ่านหน้าจอโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ทั่วโลก
เหตุการณ์ครั้งนี้นำมาสู่การเดินขบวนเรียกร้องสิทธิสำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT Pride March) ครั้งแรกในวันที่ 28 มิถุนายน 1970 ที่เมืองนิวยอร์ก และอีก 3 เมืองใหญ่อย่างลอสแอนเจลิส ซานฟรานซิสโก และชิคาโก เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สโตนวอลล์
ภาพจากงาน Taiwan Pride 2018
ในช่วงเวลาที่เหตุการณ์สโตนวอลล์เกิดขึ้นเป็นช่วงที่คนรักเพศเดียวกันนั้นถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย รวมทั้งการแต่งกายไม่ตรงกับเพศกำเนิดถือเป็นเรื่องที่ผิดในสังคม การได้ใช้ชีวิตอย่างเปิดเผย เป็นตัวของตัวเอง แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ และเสี่ยงต่อการถูกจับกุมในบาร์ Stonewall Inn ย่านกรีนวิช วิลเลจ ที่เจ้าของเป็นมาเฟียนั้น นับเป็นสิ่งที่คุ้มค่าสำหรับชาว LGBT สมัยนั้น
ในขณะที่เช้ามืดของวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ตำรวจมาตรวจบาร์ตามปกติ แต่สิ่งที่ต่างจากปกติคือในวันนั้นผู้คนในบาร์ขัดขืนต่อการเลือกปฏิบัติของตำรวจ เพราะที่ผ่านมาคนเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อที่ถูกกลั่นแกล้งและทำให้อับอายเพียงเพราะพวกเขาเป็นตัวของตัวเอง การจลาจลปะทุขึ้นจากความรุนแรงระหว่างสองฝ่ายจนขยายวงกว้างออกมาบนถนนบริเวณหน้าบาร์ ทั้งตำรวจและฝูงชนก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนเหตุการณ์คืนนั้นค่อยๆ ยุติลง โดยคืนต่อมานั้นจำนวนผู้ชุมนุมก็มากขึ้นหลายพันคน
ภาพ: Getty Images
ในปี 2000 ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น ‘เดือนแห่งความภูมิใจของชาวเกย์และเลสเบี้ยน’ (Gay & Lesbian Pride Month) และในอีก 9 ปีต่อมา ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น ‘เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ’ (Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender Pride Month) เพิ่มการตระหนักรู้ถึงความหลากหลายในกลุ่ม LGBT
เมืองต่างๆ ทั่วโลกนั้นจะมีตารางการจัด LGBT Pride แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของสภาพอากาศ อย่างประเทศในยุโรปจะจัดงานช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนกันยายน หรืออย่างในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี หรือไต้หวันเองก็จัดมาอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็มีงาน Metro Manila Pride ซึ่งถือเป็น LGBT Pride ยาวนานที่สุดในอาเซียน ซึ่งจัดมาแล้วกว่า 20 ปี แต่ทั้งนี้เมืองต่างๆ ทั่วโลกก็ร่วมแสดงความภาคภูมิใจในช่วงเดือนมิถุนายนด้วยเช่นกัน
ภาพจากงาน Seoul Pride 2017
ส่วนในประเทศไทย กว่า 13 ปีแล้วที่ LGBT Pride ครั้งสุดท้ายถูกจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2006 ก่อนหน้านั้นมีการเดินขบวนอยู่หลายปี แต่ส่วนมากผู้เข้าร่วมมักเป็นนักกิจกรรม ชาวเกย์และกะเทยในแวดวงบาร์ และธุรกิจเกี่ยวกับเกย์ที่จัดโดยภาคธุรกิจ ซึ่งยังไม่ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ รวมทั้งยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงประชาชนมากนัก นอกจากนี้ที่ผ่านมายังมีการจัด IDAHOT (International Day Against Homophobia, Transphobia and Biphobia) หรือวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ ที่ตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี
ส่วนที่จังหวัดภูเก็ตก็มีการจัด Phuket Pride มาตลอดทุกปีตั้งแต่ปี 1999 โดยผู้ร่วมขบวนเป็นพนักงานจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกย์และกะเทยในหาดป่าตองและชาวต่างชาติเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีความพยายามในการเดินขบวน LGBT Pride ที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2009 แต่ถูกขัดขวางจากผู้ต่อต้านจนไม่สำเร็จและยกเลิกงานไป
ส่วนในปีนี้ THE STANDARD POP เองก็ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเฉลิมฉลอง Pride Month ด้วยกิจกรรม POP TALK: Our Pride ที่จะประกาศรายละเอียดให้คุณได้รู้เร็วๆ นี้