×

กางสถิติ ‘ซ้อมทรมาน’ ผ่านเรื่องร้องเรียน ปฏิรูปตำรวจ-พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ช่วยได้แค่ไหน?

14.09.2021
  • LOADING...
การซ้อมทรมาน

HIGHLIGHTS

15 Mins. Read
  • THE STANDARD รวบรวมสถิติ ข้อมูลเบื้องหลัง และความคิดเห็นมาจำนวนหนึ่งจากหลายองค์กร ทั้งองค์กรอิสระที่มีหน้าที่โดยตรง ตลอดจนภาคประชาสังคม และนักวิชาการด้านอาชญาวิทยา สถิติและความเห็นเหล่านี้อาจจะสะท้อนปัญหาที่ถูกเก็บสะสมผ่านกาลเวลา เชื่อมโยงถึงกระบวนการยุติธรรม และสะท้อนถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง
  • โรงเรียนนายร้อยตำรวจหรือโรงเรียนนายสิบตำรวจไม่มีการสอนวิธีการทรมานผู้ต้องสงสัย แต่พฤติกรรมที่ต่างกันของตำรวจจะเกิดขึ้นจากเมื่อหลังจบการศึกษาแล้วแยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ตามสถานที่หรือหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะได้เรียนรู้ ซึมซับประสบการณ์ พฤติกรรม จากทั้งเพื่อนร่วมงาน รุ่นพี่ รุ่นน้อง ที่หน่วยงานที่แต่ละคนปฏิบัติงานอยู่ ซึ่งหากได้เจอพี่เลี้ยงที่ดีก็จะได้แนวโน้มทิศทางการเป็นตำรวจที่ดี แต่หากไปพบกับวัฒนธรรมกลุ่มที่มีการใช้วิธีการซ้อมทรมาน ก็อาจจะเกิดการเรียนรู้ นำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบ
  • ชัดเจนว่าการซ้อมทรมาน (และอุ้มหาย) ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย และการปฏิรูปตำรวจหรือความพยายามผลักดันร่างกฎหมายเพื่อลดปัญหาดังกล่าวเข้าสู่สภาที่กำลังเกิดขึ้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เราหยิบยกขึ้นมานำเสนอ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ถูกพูดถึงมานาน เช่น กองทัพ หรือกระบวนการยุติธรรม และยังคงเป็นคำถามต่อไปว่า พัฒนาการสิทธิมนุษยชนในไทยจะเดินหน้าอย่างไร

คลิปการจับกุมผู้ต้องหาคดียาเสพติดของ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีต ผกก.สภ.นครสวรรค์ กับพวก ที่ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ในทุกสื่อ นำมาซึ่งความสนใจในประเด็น ‘การซ้อมทรมาน’ ที่ต่อยอดไปสู่อีกหลายประเด็น ทั้งการปฏิรูปตำรวจ ตลอดจนการเร่งรัดผลักดันกฎหมายป้องกันการอุ้มหายและซ้อมทรมานในขณะนี้

 

แม้หลายคนเชื่อว่านี่ไม่ใช่กรณีแรกของการซ้อมทรมานในไทย แต่เรื่องนี้ก็ชวนให้เราก็สงสัยต่อไปว่า แล้วที่ผ่านมาสถานการณ์เป็นเช่นไรบ้าง

 

THE STANDARD รวบรวมสถิติ ข้อมูลเบื้องหลัง และความคิดเห็นมาจำนวนหนึ่งจากหลายองค์กร ทั้งองค์กรอิสระที่มีหน้าที่โดยตรงอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตลอดจนภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านนี้มาอย่างต่อเนื่อง และนักวิชาการด้านอาชญาวิทยาที่เคยอยู่ในราชการตำรวจมาก่อน สถิติและความเห็นเหล่านี้อาจจะสะท้อนปัญหาที่ถูกเก็บสะสมผ่านกาลเวลา เชื่อมโยงถึงกระบวนการยุติธรรม และสะท้อนถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง

 

อย่างไรก็ดี สถิติเหล่านี้มาพร้อมกับคำเน้นย้ำเพื่อการทำความเข้าใจจากหลายหน่วยงานว่า ผู้ร้องเรียนอาจจะร้องเรียนกรณีเดียวกันต่อหลายหน่วยงานได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความซ้ำซ้อน และการร้องเรียนที่ปรากฏอาจเป็นเพียง ‘ส่วนหนึ่ง’ ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และอาจไม่ได้สะท้อนสถานการณ์ที่เป็นอยู่ได้ทั้งหมด

  

เปิดสถิติเรื่องร้องเรียน กสม. ‘ซ้อมทรมาน-ใช้อำนาจมิชอบ’ โดยตำรวจ

ฟังคำตอบ ‘ทำไมหลายเรื่องถูกยุติ?’

 

ข้อมูลชุดแรกเป็นสถิติที่เราได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชี้ว่าเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่เข้ามายัง กสม. ในช่วง 4 ปีปฏิทินล่าสุด (2560-2563) มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

แต่นั่นไม่ใช่กับเรื่องร้องเรียนที่ถูก กสม. จัดไว้ใน 2 กลุ่ม ได้แก่กลุ่ม ‘เจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อมทรมานและทำร้ายร่างกายระหว่างควบคุมตัว’ และกลุ่ม ‘เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย’ (เช่น จับกุมมิชอบ ค้นโดยมิชอบ ใช้อำนาจข่มขู่ ฯลฯ) ที่ยังคงเห็นจำนวนเรื่องร้องเรียนที่ ‘ขึ้นๆ ลงๆ’ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา สะท้อนว่าการเรื่องเรียนเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และหากรวมจำนวนเรื่องร้องเรียน 2 กลุ่มนี้เข้าด้วยกัน ก็พบว่ามีอัตราส่วนต่อเรื่องร้องเรียนในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดที่ ‘สูงขึ้น’ ตลอด 4 ปีดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อมูลใน 8 เดือนแรกของปี 2564 ซึ่งเก็บมาจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม พบว่าสัดส่วนเรื่องร้องเรียนใน 2 กลุ่มนี้ต่อเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยสัดส่วนนี้ลดลงมากกว่าครึ่งหากเทียบกับปี 2563

 

 

สำนักงาน กสม. ยังอธิบายต่อไปว่า การออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับปี 2560 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา จาก ‘เรื่องร้องเรียน’ ที่แสดงจำนวนไว้ก่อนหน้านี้ กสม. จะพิจารณาในที่ประชุมก่อนว่าจะพิจารณารับเป็น ‘คำร้อง’ หรือไม่ เนื่องจาก พ.ร.ป. ฉบับนี้มีบทบัญญัติในมาตรา 39 ที่ทำให้แม้กรรมการสิทธิฯ จะมีเป้าหมายที่จะรับเรื่องร้องเรียนเป็นคำร้อง แต่บางเรื่องร้องเรียนก็ไม่สามารถรับไว้ได้ เช่น เรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล หรือเรื่องที่ศาลมีคําพิพากษา คําสั่ง หรือคําวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว นอกจากนี้ ก่อนหน้าเดือนพฤศจิกายน 2563 จะไม่มีการรับเรื่องร้องเรียนในหมวด ‘เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย’ ไว้เป็นคำร้อง หากต้องมีการประสานการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนกับหน่วยงานอื่น แต่จากนั้นเป็นต้นมาก็มีกำหนดให้มีการรับไว้เพื่อการประสานการคุ้มครองต่อ

 

การปรับระบบเหล่านี้อาจทำให้การเปรียบเทียบแนวโน้มจำนวนเรื่องร้องเรียนที่สำนักงาน กสม. รับไว้เป็น ‘คำร้อง’ ตลอด 4 ปีกว่าที่ผ่านมานั้นทำไม่ได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่าจำนวนเหล่านี้อาจพอสะท้อนทิศทางบางอย่างได้บ้าง จึงแสดงออกมาเป็นตารางดังที่ กสม. ส่งให้เราต่อไปนี้

 

 

 

แต่สิ่งที่อาจสำคัญกว่าต่อจากนั้นคือเรื่อง ‘ผลการตรวจสอบ’

 

ข้อมูลผลการตรวจสอบที่เราได้รับจากสำนักงาน กสม. (ซึ่งข้อมูลที่ระบุตัวตนบุคคลได้ถูกนำออกไปแล้วก่อนมาถึงมือเรา) พบว่าเรื่องร้องเรียนทั้ง 2 กลุ่มที่เกี่ยวกับตำรวจ แม้จะมีบ้างที่ตรวจพบการละเมิดสิทธิมนุษยชนจริง เช่น เมื่อปี 2561 มีกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมที่จังหวัดแห่งหนึ่งทำร้ายร่างกายในขณะตรวจค้น กลั่นแกล้ง จับกุม และดำเนินคดีโดยที่ไม่ได้กระทำความผิด ซึ่ง กสม. พิจารณาเห็นว่ามีการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิ และมีข้อเสนอแนะไปถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมดังกล่าว ซึ่งอยู่ระหว่างติดตามผลว่า สตช. มีการดำเนินการอย่างไร

 

ทว่า ข้อมูลผลการพิจารณาคำร้องอื่นที่เราได้รับจำนวนมากกลับมีผลการตรวจสอบออกมาว่า ‘ยุติเรื่อง’ ด้วยสาเหตุที่ต่างกัน เช่น ผู้ร้องถอนเรื่อง, ส่งเรื่องให้หน่วยงานอื่น, ให้มีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, ไม่พบการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิฯ, พยานหลักฐานยังไม่สามารพิสูจน์หรือปรากฏได้แน่ชัด หรือเป็นเรื่องที่อยู่ในชั้นศาลหรือศาลมีคำตัดสินแล้ว เป็นต้น

 

แม้คำอธิบายที่เราได้รับพร้อมข้อมูลจะระบุว่าการ ‘ยุติเรื่อง’ ไม่จำเป็นต้องหมายถึง ‘ไม่พบการละเมิดสิทธิมนุษยชน’ แต่อาจจะเกิดจากการถูกตัดอำนาจในการวินิจฉัย เช่น ตามมาตรา 39 ที่เราอธิบายไว้ก่อนหน้านี้ การยกเรื่องขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาลซึ่งก็อาจปรากฏขึ้นได้ภายหลังการรับไว้เป็นคำร้อง ทำให้กรรมการสิทธิฯ ก็ต้องยุติเรื่องตามกฎหมายมาตราดังกล่าวเช่นกัน อย่างไรก็ดี เราก็ยังคิดว่าในการยุติเรื่องบางกรณีอาจมีคำอธิบายมากกว่านั้น

 

จากพูดคุยกับ ปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดที่ 4 ซึ่งเริ่มปฏิบัติงานมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เธอบอกว่าการดำเนินการของ กสม. ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่ก็ยอมรับเกี่ยวกับกรณีซ้อมทรมานว่า กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีข้อจำกัดที่ทางกรรมการสิทธิฯ ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้อย่างไม่เต็มที่นัก เนื่องจากผู้ร้องมักอยู่ในสถานที่ควบคุม กว่าจะออกมาร้องเรียน หรือพบกับญาติแล้วออกมาร้องเรียนได้ก็ล่าช้าเกินไป อาจจะไม่พบพยานหลักฐาน และผู้ที่ถูกร้องเมื่อได้รับการขอข้อเท็จจริงไป ก็มักจะบอกว่าไม่ได้กระทำ และอาจจะเป็นการ ‘แก้เกี้ยว’ ของผู้ถูกร้อง เพื่อให้มีผลต่อคดี ซึ่งไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือพื้นที่ที่มีการใช้กฎหมายพิเศษ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือกฎอัยการศึก มักจะทำให้เกิดกรณีนี้ขึ้นมา

 

“มันเป็นความเจ็บปวดของ กสม. เหมือนกันนะ ทั้งเจ้าหน้าที่ทั้งอะไรทั้งหลายทั้งปวง ว่าแล้วเราจะมีวิธีการอย่างไร ตอนนี้เราก็กำลังหามาตรการที่กำลังจะทำให้การดำเนินการเรื่องนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาจจะต้องไปร่วมมือกับดีเอสไอ หรือทางนิติวิทยาศาสตร์ให้สามารถหาพยานหลักฐานให้ กสม. ลงเป็นเรื่องของการละเมิดได้” เธอระบุ

 

 ปิติกาญจน์ สิทธิเดช

 

เราถามต่อไปว่า กรณีที่คำร้องส่วนหนึ่งที่ถูกระบุว่า ‘ยุติเรื่อง’ เพราะผู้ถูกร้องขอถอนเรื่อง หรือไม่ประสงค์จะร้องเรียนต่อ สิ่งนี้สะท้อน ‘ความกังวล’ ในความปลอดภัยของผู้ร้องเรียนหรือไม่ เธอยอมรับว่าใช่ และระบุว่าผู้เสียหาย เหยื่อ หรือครอบครัวของคนกลุ่มนี้ เมื่อต้องขึ้นศาลก็จะต้องมาเป็นพยานในคดี ซึ่งมักจะมีความกลัว และมักจะถอนเรื่องไป ไม่ดำเนินการต่อ

 

“แต่เราก็บอกว่าเราไม่ได้ลงเรื่องละเมิดอย่างเดียว เราก็ประสานความช่วยเหลือ ก็จะแนะนำเขาไปว่าเรามีกฎหมายเรื่องคุ้มครองพยานนะ ถ้าเขาถูกข่มขู่ คุกคาม เพราะอันนี้มันเป็นคดีอาญาแล้ว ก็สามารถที่จะไปใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองพยานได้ จากกระทรวงยุติธรรม ให้คุ้มครองพยานเขา” ปิติกาญจน์กล่าว เธออธิบายกลไกของการคุ้มครองพยานว่า พยานรวมถึงครอบครัวของพยานจะได้รับความคุ้มครอง แล้วแต่ความรุนแรงของเหตุ เช่น การพาเข้าเซฟเฮาส์ หรือพาไปอยู่ที่อื่น หรือการเปลี่ยนชื่อ นามสกุล เปลี่ยนอาชีพ เป็นต้น ซึ่งกรณีคำร้องที่ไม่เกี่ยวกับตำรวจ กระทรวงยุติธรรมอาจจะประสานตำรวจในท้องที่เป็นผู้คุ้มครอง แต่หากคู่กรณีเป็นผู้มีอิทธิพล ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ ทางสำนักงานคุ้มครองพยานของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจะเป็นผู้ดำเนินการ

 

ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจอีกชุดหนึ่งคือ เธอระบุว่าตั้งแต่ปี 2547 มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการซ้อมทรมานและการทำร้ายร่างกายในระหว่างการควบคุมตัว ซึ่งเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจและทหารในสถานที่ควบคุมจำนวนทั้งสิ้น 306 กรณี พิจารณาไปแล้วทั้งสิ้น 298 กรณี เหลือคงค้าง 8 กรณี 

 

เปิดข้อมูลภาคประชาสังคมและรายงานระดับสากลกับตัวเลขเรื่องร้องเรียน ‘ซ้อมทรมาน-อุ้มหาย’ ที่ไม่เจาะจงกลุ่มผู้ถูกกล่าวหา

 

ตัวเลขชุดต่อมาเป็นตัวเลขที่ปรากฏในรายงานที่นำเสนอโดยประเทศไทย และมีการเผยแพร่โดยคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน ระบุว่า ระหว่างปี 2560-2563 คณะอนุกรรมการคัดกรองกรณีถูกกระทำทรมานและบังคับให้หายสาบสูญ (ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ที่มีกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงาน) ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีการกระทำทรมานทั้งสิ้น 258 กรณี และการบังคับให้หายสาบสูญอีก 5 กรณี

 

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้มีเรื่องร้องเรียนการกระทำทรมาน 188 กรณีที่ถูกยุติ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับเกณฑ์และคำจำกัดความของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี, มี 68 กรณีร้องเรียนการกระทำทรมาน และ 4 กรณีร้องเรียนกรณีบังคับให้หายสาบสูญยังอยู่ระหว่างการพิจารณา และกรณีเรื่องร้องเรียนที่ถูกระบุว่า ‘มีมูล’ สำหรับการซ้อมทรมานมีอยู่ 2 กรณี และสำหรับการบังคับให้หายสาบสูญมีอยู่ 1 กรณี อนึ่ง เรื่องร้องเรียนในกลุ่มนี้ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลว่าบุคคลกลุ่มใดบ้างที่เป็นผู้ถูกกล่าวหา

 

 

 

อย่างไรก็ดี ความเห็นของ ภัทรานิษฐ์ เยาดำ เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายรณรงค์เชิงนโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า จำนวนทั้งในเชิงสถิติและขอบเขตหรือนิยามของการทรมานและการบังคับสูญหายตามที่ปรากฏในรายงานดังกล่าวไม่แสดงถึงสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น เนื่องจากรัฐยังไม่มีระบบการบันทึกคำร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำทั้งสองอย่างเป็นระบบและอย่างเป็นทางการมาก่อน ตัวเลขที่ปรากฏ นอกจากในรายงานขององค์กรพัฒนาเอกชนหรือองค์กรในพื้นที่แล้ว การรับรู้รับทราบ ความโปร่งใส แม้แต่รายงานหลักเกณฑ์ในการรับคำร้อง ระบบการอุทธรณ์ หากคณะกรรมการชี้แจงว่าไม่เข้านิยามหรือองค์ประกอบ ยังไม่ปรากฏต่อสาธารณะหรือประชาชนทั่วไป ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ง่าย

 

ภัทรานิษฐ์ เยาดำ

 

“ดังนั้น ในสถานการณ์จริงที่ยังมีกฎหมาย ทั้งตามคำสั่งหัวหน้า คสช. กฎหมายพิเศษในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกฎหมายยาเสพติด ที่อนุญาตให้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาเกิน 48 ชั่วโมง อีกทั้งยังมีเคสที่คนไทยถูกบังคับสูญหายในต่างประเทศ อย่างเช่นผู้ลี้ภัยทางการเมืองในช่วงหลังรัฐประหารที่ผ่านมา จึงอาจมีผู้เสียหายจากการทรมานหรือบังคัญสูญหายอีกเป็นจำนวนมาก และอาจจะมากกว่าตัวเลขที่ปรากฏในรายงาน แต่รัฐไทยยังไม่ได้เริ่มเสาะหาข้อเท็จจริงหรือบันทึกข้อมูลไว้” ภัทรานิษฐ์กล่าว

 

สถิติอีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมาจาก พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นภาคประชาสังคมที่ทำงานตรวจสอบข้อร้องเรียนด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ พรเพ็ญให้ข้อมูลกับเรา 2 ชุด ซึ่งสะท้อนความสำคัญของปัญหาการซ้อมทรมานในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งพรเพ็ญบอกว่า ผู้ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่เป็นทหาร แต่ก็มีบางกรณีที่เป็นตำรวจและกลุ่มอื่นๆ โดยชุดแรกเป็นข้อมูลของศูนย์ทนายความมุสลิมที่ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2550 ถึงเดือนมิถุนายน 2557 มีสถิติข้อร้องเรียนเรื่องการทรมานและปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมจำนวนอย่างน้อย 364 กรณี และอีกชุดหนึ่งเป็นช่วงระหว่างปี 2557 ถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นสถิติที่เก็บมาโดยกลุ่มด้วยใจ เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ผ่านโครงการกองทุนสนับสนุนผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมานขององค์กรสหประชาชาติ (UN Voluntary Fund for Torture Victims) ซึ่งระบุว่า มีเรื่องร้องเรียนในกลุ่มเดียวกันอย่างน้อย 250 เรื่อง

 

 

พรเพ็ญบอกว่า แม้มูลนิธิของเธอมีขอบข่ายงานอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสำคัญ แต่ก็มีบางกรณีที่อาศัยข้อมูลจากสื่อหรือหน่วยงานอื่นๆ ในความพยายามที่จะประสานเข้าไปให้ความช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการซ้อมทรมานในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ ซึ่งสำหรับเธอแล้ว พัฒนาการของสถานการณ์การซ้อมทรมานนั้นดู ‘แย่ลง’ โดยเธอระบุถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเมื่อปี 2551 ให้เพิ่มเติมมาตรา 226/1 ซึ่งมีเนื้อหาระบุถึงการห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ เว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน และยังระบุถึงการพิจารณาพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ในการใช้ดุลยพินิจรับฟังหลักฐานดังกล่าว ซึ่งพรเพ็ญระบุว่า การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ทำให้เห็นผลว่ามีการรับฟังพยานหลักฐานที่ได้จากการทรมาน

 

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

 

“มันไม่ได้ใช้ในการทั่วไป แต่มันถูกสร้างวัฒนธรรมการอนุญาตให้พยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบแบบนี้เข้าไปสู่ในสำนวนง่ายขึ้นกว่าสมัยก่อน โดยอาศัยบริบทที่เป็นบริบททางคดีนโยบาย” เธอระบุ และยกตัวอย่างคดีในกลุ่ม ‘คดีนโยบาย’ ที่เธอหมายถึง เช่น คดีใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และคดียาเสพติด

 

 

วิเคราะห์เหตุปัจจัย ทำไมซ้อมทรมานถึงยังอยู่ และ ‘ปฏิรูปตำรวจ’ จะสำเร็จได้อย่างไร

 

อีกคำถามที่น่าสนใจคือ นอกจากเรื่องกฎหมายแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นใดที่ทำให้กระบวนการซ้อมทรมานยังคงมีอยู่

 

ในแง่ของตำรวจ เราคุยกับ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเคยมีประสบการณ์ในการปฏิบัติราชการตำรวจ การจับกุมในคดียาเสพติด และการเป็นอาจารย์ในโรงเรียนนายร้อยตำรวจมาก่อน เขาเล่าให้เราฟังว่า ในโรงเรียนตำรวจ เช่น โรงเรียนนายร้อยตำรวจหรือโรงเรียนนายสิบตำรวจ ไม่มีการสอนวิธีการทรมานผู้ต้องสงสัย แต่พฤติกรรมที่ต่างกันของตำรวจจะเกิดขึ้นจากเมื่อหลังจบการศึกษาแล้วแยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ตามสถานที่หรือหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะได้เรียนรู้ ซึมซับประสบการณ์ พฤติกรรม จากทั้งเพื่อนร่วมงาน รุ่นพี่ รุ่นน้อง ที่หน่วยงานที่แต่ละคนปฏิบัติงานอยู่ ซึ่งหากได้เจอพี่เลี้ยงที่ดี ก็จะได้แนวโน้มทิศทางการเป็นตำรวจที่ดี แต่หากไปพบกับวัฒนธรรมกลุ่มที่มีการใช้วิธีการซ้อมทรมาน ก็อาจจะเกิดการเรียนรู้ นำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบ

 

และนอกจากเพื่อนร่วมงานแล้ว เขายังบอกว่าการเรียนรู้ยังเกิดขึ้นได้จากสื่อ หรือแม้กระทั่งเรียนรู้จากพฤติกรรมอุ้มซ้อมทรมานกันเองของผู้ต้องหา

 

แต่ในมุมของนักสิทธิมนุษยชนอย่างพรเพ็ญ เธอพูดถึงหลายปัจจัยที่ทำให้การซ้อมทรมานยังคงอยู่ ปัจจัยแรกคือ วัฒนธรรมที่ปล่อยให้คน ‘พ้นผิดลอยนวล’

 

“ไม่ได้หมายความว่าการคลุมถุงดำบนศีรษะของผู้ต้องหาไม่เคยถูกพิจารณามาก่อน มันเคยถูกพิจารณา มันเคยมีเรื่องร้องเรียน ในกรณีมันที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญามันมีน้อยมาก” เธอระบุ “ดังนั้น มันจึงมองเห็นได้ว่าไม่ใช่แค่ถุงดำ ในเรื่องของการซ้อมทรมานผู้ต้องหา ถ้าเกิดขึ้นแล้วมันสามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้เนี่ยมันก็จะไม่มีคนทำอีก เพราะว่าหวาดกลัวกับโทษที่จะได้รับหรือว่าอาชีพการงาน...นายด่าเอา ไอ้นี่ซ้อมชาวบ้านแล้วถูกสั่งย้าย มันก็ไม่เพียงพอสำหรับในมุมผู้เสียหาย แต่อย่างน้อยที่สุด เจ้าหน้าที่ก็จะได้รับการลงโทษในหลายๆ ระดับ”

 

ปัจจัยต่อมาที่เธอระบุคือ นโยบายบางอย่างที่เธอบอกว่าสร้างให้เกิดการทำลายหลักนิติธรรม ทำลายกระบวนการยุติธรรมที่เคยดำรงอยู่ เธอย้ำว่า หากความเป็นอิสระของตุลาการ ความเป็นอิสระของอัยการในการสั่งคดี หรือพนักงานสอบสวนที่มีความเป็นมืออาชีพนั้นไม่สามารถดำรงอยู่ ก็จะไม่สามารถจะทำให้วัฒนธรรมนี้หมดสิ้นไปได้ เธอยังเสนอให้พัฒนาสวัสดิการและทักษะวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวน และให้มีระบบ ‘Public Defender’ ที่ทำหน้าที่เหมือนทนายของรัฐให้กับประชาชน

 

และปัจจัยสุดท้ายที่เธอพูดถึงคือ ‘การปฏิรูปตำรวจ’ โดยเฉพาะการแยกอำนาจสืบสวนออกจากอำนาจสอบสวน

 

“ก็คือคนจับ คนไปสืบค้นข้อมูลเบื้องต้น คุณก็มีสมมติฐานของคุณได้ระดับหนึ่ง คุณอาจจะคลุกคลีอยู่ในพื้นที่มีสายข่าว แต่พอถึงขั้นตอนการสอบสวน มันต้องมีหน่วยอื่นมาสอบ เพื่อที่จะตรวจทานการตัดสินใจของพนักงานสืบสวนที่ใช้อำนาจช่วงแรกในการจับ แล้วให้สอบสวนสืบ โดยให้แยกกันเป็นอิสระ ไม่ใช่ขึ้นตรงต่อกัน” เธอกล่าว และย้ำว่าจำเป็นต้อง ‘ลงทุน’ ให้กับพนักงานสอบสวนในการค้นหาความจริง พิสูจน์ความบริสุทธิ์หรือการกระทำความผิดโดยหลักการตามกฎหมายและหลักนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็มีทั้งแนวคิดที่ยังให้คงพนักงานสอบสวนไว้ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือให้แยกออกไปเลย หรือให้อัยการมาเป็นพนักงานสอบสวนแทน

 

“อันนี้มันก็เป็นอันที่เราคิดว่ามันสร้างปัญหาอยู่ ก็คืออำนาจการควบคุมคดี โดยเฉพาะคดียาเสพติด ถ้าฮั้วกันทั้งสอบทั้งสืบและนายขึ้นไปด้วย ก็เป็นโรงงานเลยค่ะ มันก็ส่งต่อๆ กันไป คนที่เสียหายเขาอาจจะหลุดจากกระบวนการยุติธรรมแบบนี้ แต่เดี๋ยวเขาก็เข้ามาใหม่ เพราะวงจรข้างนอกก็ยังเป็นแบบนี้ ก็คือมีส่วนร่วมในการค้าสิ่งผิดกฎหมายกันในระบบวงการราชการ” พรเพ็ญระบุ

 

ส่วนความเห็นของ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ต่อกรณีการแยกอำนาจสืบสวน-สอบสวนนั้น เขาตั้งคำถามประเด็นแรกว่า ปัจจุบันการสอบสวนของตำรวจมักจะถูกแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชาเองและหน่วยงานการเมืองที่มีอำนาจเหนือตำรวจ หากแยกอำนาจสอบสวนออกจากองค์กรตำรวจแล้ว การทำงานจะมีความเป็นอิสระมากขึ้นหรือไม่ และอีกประเด็นหนึ่งคือ พนักงานอัยการเองก็ไม่มีกำลังคนมากพอที่จะมาดูสำนวนคดีของตำรวจได้ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเสนอแนวคิดให้ตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนเป็นผู้ช่วยพนักงานอัยการ แล้วทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน แต่อยู่ในสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุด ไม่ใช่สังกัดตำรวจอีกต่อไป และให้ทำงานอยู่ที่โรงพักเช่นเดิม เพื่อเป็นการคานอำนาจกันในการ ‘สืบ’ และ ‘สอบ’ นั่นเอง

 

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล

 

นอกเหนือจากประเด็นนี้แล้ว เขายังชี้ว่าการปฏิรูปตำรวจมีหลายมิติ แต่หนึ่งในสิ่งที่สำคัญคือ ‘ความเป็นมืออาชีพ’ หรือพูดอย่างง่ายคือ การทำงานโดยยึดหลักสากล เขายังบอกด้วยว่า การปฏิรูปตำรวจจะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าผู้มีอำนาจมีความจริงใจเพียงใด และตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารมักประกาศแนวทางในการปฏิรูปตำรวจเสมอ โดยระบุเหตุผลว่า ตำรวจถูกแทรกแซงทางการเมือง มีการบังคับใช้กฎหมายไม่เสมอภาค ซึ่งไม่ว่าจะมาจากสาเหตุเพราะการเปลี่ยนขั้วอำนาจ หรือความต้องการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง หรือสาเหตุอื่นใด เขาก็บอกว่าเป็นไปได้ทั้งหมด

 

ส่วนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนใหญ่จะไม่พูดถึงการปฏิรูปตำรวจ เพราะ พ.ร.บ.ตำรวจปี 2547 ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และในฐานะนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นนักการเมือง ก็เท่ากับมีกลไกการบังคับใช้กฎหมายอยู่ในมือ

 

“นายกฯ ก็นักการเมืองใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นก็มีกลไกการบังคับใช้กฎหมายอยู่ในมือ ใครไม่ชอบบ้าง เช่น คนเห็นต่าง อาจจะใช้กลไกนี้ในการดำเนินคดีก็ได้ คือเราต้องยอมรับ ในโลกประชาธิปไตยเนี่ยเป็นไปไม่ได้เลยทั่วโลกนะครับ ที่จะให้คนทั้งชาติเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐทุกเรื่อง เป็นไปไม่ได้หรอกครับ ก็ต้องมีบ้างที่เห็นต่าง แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีความเห็นต่างจะต้องไปจับกุมคุมขังเขาหรือดำเนินคดีกับเขา ถูกไหมครับ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมาดูว่าบ้านเราเป็นอย่างนั้นไหม ถ้าเป็นอย่างนั้นก็แสดงว่า อ้าว แล้วทำไมเขาถึงทำ แล้วก็ดีไหมล่ะที่เขารู้สึกว่าเขามีตำรวจที่เป็นกลไกให้กับเขาในการบังคับใช้กฎหมายตามทิศทางที่เขาต้องการได้ นั่นก็วกกลับมาที่บอกว่า เพราะฉะนั้นตำรวจก็ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องปฏิรูป นี่คือคำตอบของผู้มีอำนาจถูกไหมครับ” เขาระบุ

 

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ยังระบุถึงมิติที่น่าจะต้องสนใจในการปฏิรูป มิติแรกคือ การกระจายอำนาจของตำรวจ ซึ่งต้องเปลี่ยนจากการรวมศูนย์อำนาจที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปสู่การฟังเสียงประชาชนให้มากขึ้น

 

“หลักสากลเขาบอกว่า ถ้าจะให้ดี ตำรวจทำงานให้กับชุมชน ต้องฟังเสียงชุมชน การบริหารงานตำรวจต้องเปลี่ยนจากรวมศูนย์อำนาจแบบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติปัจจุบันเป็นอยู่ เป็นกระจายอำนาจ เพราะว่าตำรวจในพื้นที่จะได้ฟังเสียงประชาชน แต่ปัจจุบันเป็นระบบรวมศูนย์ หมายความว่าตำรวจทั่วประเทศก็ต้องฟังที่ส่วนกลาง หรือฟังผู้บังคับบัญชาในส่วนที่ให้คุณให้โทษได้โดยตรงเท่านั้น ชาวบ้านสะท้อนอะไรไม่ได้”

 

มิติต่อมาที่เขาพูดถึงคือ การเน้นบทบาทความรับผิดชอบของตำรวจ ที่ควรเน้นเฉพาะงานป้องกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรมและรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง และงานส่วนอื่นควรถูกปรับโอนไปให้หน่วยงานอื่นบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะ เช่น งานจราจร งานเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ และมิติของการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ประชาชนทุกภาคส่วนอาจยังไม่ค่อยมีสิทธิมีเสียงในการทำงานของตำรวจเท่าที่ควร อาทิ คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจระดับสถานีตำรวจ (กต.ตร.สถานีตำรวจ) ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตจากประสบการณ์ของเขาว่า กต.ตร. ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มนักธุรกิจ เขาย้ำว่าตำรวจเองต้องเป็นตัวแทนของคนทุกกลุ่ม นอกจากนี้ยังมีมิติของการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งเขาบอกว่าตำรวจน่าจะทราบดีว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่, มิติของการฝึกอบรม ที่ต้องสอดแทรกความเป็นมืออาชีพในโรงเรียนตำรวจ, เงินเดือน สวัสดิการ ที่ยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง, อุปกรณ์ในการทำงานที่ก็ยังขาดแคลน เช่น อาวุธปืน วิทยุ น้ำมันรถในการทำงาน และมิติของการแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบของข้าราชการตำรวจ ซึ่งเขาบอกว่าสังคมน่าจะเป็นผู้ให้คำตอบได้ว่ามีการแก้ไขหรือไม่

 

เขายังบอกว่าการปฏิรูปตำรวจในหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จ อาศัยหลัก 3P ได้แก่ Political View เจตจำนงทางการเมืองต้องแน่วแน่ว่าจะปฏิรูป, People หรือ Public ประชาชนต้องอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในองค์กรตำรวจ, และ The Police ตำรวจเองที่ก็ต้องอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในองค์กร ในการพัฒนาขึ้นเป็นมืออาชีพ และสร้างการยอมรับจากประชาชนมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

 

เปิดมุมมอง เทียบเนื้อหา ‘พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน’ มีแล้วได้อะไร มีประเด็นไหนที่ต้องคิดต่อ?

 

มาถึงอีกประเด็นสำคัญ นั่นคือการผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่ล่าสุดร่างดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 วันที่ 8 กันยายน 2564 ในวาระเรื่องด่วน ลำดับที่ 9 และมีความพยายามของเครือข่ายญาติผู้เสียหายจากการทรมานและอุ้มหาย เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน และตัวแทนภาคประชาชนเมื่อ 6 กันยายนที่ผ่านมา ที่เดินทางมายังสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นหนังสือขอให้เร่งรัดการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นมาเป็นวาระเรื่องพิจารณาเร่งด่วน ลำดับที่ 1 และล่าสุดสภาเห็นชอบให้เลื่อนการพิจารณาขึ้นมาเป็นวาระเรื่องพิจารณาเร่งด่วน ลำดับที่ 4 ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะทันสมัยประชุมนี้หรือไม่ พรเพ็ญระบุว่า ร่าง พ.ร.บ. ชื่อดังกล่าวที่จะได้รับการพิจารณาพร้อมกันมีอยู่ 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างฉบับที่คณะรัฐมนตรีเสนอ และร่าง พ.ร.บ. ชื่อเดียวกันอีก 3 ฉบับ จาก ส.ส. ที่เป็นกรรมาธิการกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปรับต่อมาจากร่างภาคประชาชน, ส.ส. พรรคประชาชาติ และ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์

 

ปิติกาญจน์เล่าที่มาว่า ไทยเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งเมื่อเข้าเป็นภาคีแล้วก็มีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญานี้ โดยจะต้องมีการอนุวัติการ ก็คือการออกกฎหมายภายในประเทศเพื่อให้ไปเป็นไปตามอนุสัญญาดังกล่าว สิ่งที่ปิติกาญจน์และพรเพ็ญบอกคล้ายกันก็คือ ระบบกฎหมายของไทยไม่สามารถจะนำกฎหมายระหว่างประเทศมาบังคับใช้ในประเทศได้โดยตรง และการมีร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้มีการกำหนดให้การทรมานและการอุ้มหายเป็นความผิดและมีกำหนดโทษอยู่ในกฎหมายไทย

 

อย่างไรก็ดี ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวในฉบับของคณะรัฐมนตรีกับฉบับของ ส.ส. กลุ่มต่างๆ นั้นมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ดังรายละเอียดบางส่วนที่เรายกมาเปรียบเทียบต่อไปนี้

 

 

นอกจากต้องการให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาแล้ว พรเพ็ญยังกล่าวถึงความผิดฐาน ‘ปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ ซึ่งถูกเขียนไว้ในร่างของ ส.ส. พรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งเธอบอกว่ากรณีนี้ไม่ถึงขั้นการซ้อมทรมาน แต่ก็สามารถใช้สำหรับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเป็นอยู่ของคนในเรือนจำและสถานที่ควบคุมทั้งหมด หรือแม้แต่ค่ายทหาร เพื่อป้องปรามไม่ให้ถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือนำข้อจำกัดต่างๆ มาใช้จำกัดสิทธิของประชาชน เช่น การคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องขังในเรื่องยารักษาโรค การป้องกันโควิด หรือผ้าอนามัย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่าไม่ค่อยกล่าวถึงเรื่องนี้ เพราะเป็นเนื้อหาที่ละเอียด และมักถูกคัดค้าน เนื่องจากพูดถึงบรรทัดฐานในการนำตัวคนผิดมาลงโทษได้ยาก เธอบอกว่าเรื่องนี้อาจจะถูกตัดออกไปในการพิจารณาร่างกฎหมาย เนื่องจากในร่างของคณะรัฐมนตรีไม่บัญญัติไว้ และยอมรับว่ากติกาสากลเองก็ไม่ได้มีข้อบังคับให้ไทยในการทำกฎหมายภายในประเทศแบบนี้ แต่เวลามีการอภิปรายกันก็เห็นถึงความจำเป็นถึงการคุ้มครองสิทธิของคนอีกจำนวนมาก

 

เมื่อพูดถึงความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์เห็นว่า คำตอบปลายทางอาจไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย แต่อยู่ที่ความจริงใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้กำหนดนโยบาย และผู้เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา และการออกกฎหมายต้องนำไปสู่การบังคับใช้จริงจึงจะเกิดประโยชน์ เขาชี้ว่าตามหลักวิชาการแล้ว โทษจำคุกเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้คนไม่กระทำความผิด แต่ยังมีสิ่งที่สำคัญกว่าคือ มาตรการเชิงป้องกัน หรือมาตรการในการกำกับติดตามตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ที่มิชอบของเจ้าหน้าที่

 

อย่างไรก็ตาม ปิติกาญจน์ระบุว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นเจตนาเฉพาะ เป็นสิ่งไม่เคยปรากฏในกฎหมายของไทยมาก่อน และจะทำให้มีกลไกในการยับยั้งและคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่จะถูกทรมานและอุ้มหาย เธอเชื่อว่าจะเป็นการปรามและทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะนี้ลดลง รวมถึงมีมาตรการเยียวยาเหยื่อที่ถูกกระทำซึ่งมีอยู่ในกฎหมาย และก่อนหน้านี้ไม่มีการพูดถึง

 

“กสม. ไม่ใช่ศาล แต่เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสนอแนะมาตรการแนวทางแก้ไขการละเมิด ตลอดจนการเยียวยาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อรัฐบาล และรัฐสภา ดังนั้น เราถึงต้องสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ นั่นหมายความว่า ต่อไปนี้ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านออกมา เจ้าหน้าที่รัฐรวมทั้งผู้บังคับบัญชาที่สั่งการให้มีการทรมานอุ้มหาย จะต้องเป็นการกระทำความผิดและมีโทษตามกฎหมายชัดเจน”

 

ส่วนพรเพ็ญก็บอกว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นทันทีหลังมีกฎหมายฉบับนี้ได้แก่ ความชื่นชมจากประชาคมระหว่างประเทศ เพราะเรื่องนี้ถูกติดตามมาโดยตลอดตั้งแต่การหายตัวไปของสมชาย นีละไพจิตร กระทั่งมีกรณีของผู้สูญหายรายอื่น อย่างบิลลี่ พอละจี หรือวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ประการต่อมาคือ การสร้างมาตรฐานทางกฎหมายที่เข้มแข็งว่าการทรมานเป็นอาชญากรรม จะมีการเยียวยาเหยื่อจากการอุ้มหาย และผู้กระทำผิดจะได้รับการลงโทษ

 

​​และภัทรานิษฐ์ระบุว่า สามารถกล่าวได้ว่าประเทศไทยยังไม่มีระบบกฎหมาย/แนวทางการบริหารงานที่คุ้มครองสิทธิของผู้ที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการทรมานหรือบังคับสูญหายอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งหนทางที่ดีที่สุดคือ การเร่งอนุวัติการตามอนุสัญญาทั้งสองฉบับที่กำหนดทั้งอำนาจและหน้าที่ของรัฐ ตลอดทั้งสิทธิของผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียหายในการเข้าถึงความเป็นธรรม-กระบวนการยุติธรรมได้

 

“กสม. ขณะนี้ก็ไม่มีอำนาจในการฟ้องคดีแทนผู้เสียหาย มีเพียงอำนาจในการตรวจสอบคำร้องเท่านั้น และเราทราบว่าคำร้องเกี่ยวกับการทรมานและอุ้มหายถูกปิดลงจำนวนมาก เนื่องจากไม่สามารถเสาะหาหรือขอความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ ส่วนตัวคณะกรรมการ (จัดการเรื่องจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ) เอง เป็นเพียงหน่วยเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาช่วงระยะเปลี่ยนผ่านหรือระหว่างรอการอนุวัติการตามอนุสัญญาทั้งสองฉบับเท่านั้น ดังนั้น จึงแทบไม่มีมาตรการป้องกัน เช่น ตรวจสอบการควบคุมตัว เรียกให้เจ้าหน้าที่รายงานข้อมูลผู้ที่ควบคุมตัวอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนกระบวนการเยียวยาก็ยังล่าช้า และที่สำคัญที่สุดคือ การทรมานและบังคับสูญหายยังไม่เป็นความผิดทางอาญา จึงไม่สามารถเริ่มต้นการสอบสวนและดำเนินคดีในชั้นศาลได้ด้วยเหตุดังกล่าว ซึ่งเรามองว่ามันควรแยกจากความผิดอาญาอื่นที่มีฐานความผิดใกล้เคียงกัน ผู้เสียหายจากการกระทำทั้งสองนี้จึงถูกบังคับให้อยู่นอกการคุ้มครองของกฎหมายอย่างสิ้นเชิง” เธอระบุ

 

ชัดเจนว่าการซ้อมทรมาน (และอุ้มหาย) ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย และการปฏิรูปตำรวจหรือความพยายามผลักดันร่างกฎหมายเพื่อลดปัญหาดังกล่าวเข้าสู่สภาที่กำลังเกิดขึ้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เราหยิบยกขึ้นมานำเสนอ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ถูกพูดถึงมานาน เช่น กองทัพ หรือกระบวนการยุติธรรม และยังคงเป็นคำถามต่อไปว่า พัฒนาการสิทธิมนุษยชนในไทยจะเดินหน้าอย่างไร

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising