×

‘การแพทย์แม่นยำ’ ความหวังใหม่ของการรักษาโรคมะเร็งที่ตรงจุด

01.04.2019
  • LOADING...
Precision Medicine

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ‘การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine)’ เป็นแนวทางการรักษาโรคมะเร็งรูปแบบใหม่ ช่วยให้แพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยได้จำเพาะถึงรายบุคคล โดยแพทย์จะเอารหัสพันธุกรรมหรือโปรตีนของผู้ป่วยรายนั้นๆ ซึ่งอาจเก็บได้จากตัวอย่างชิ้นเนื้อ เลือด หรือปัสสาวะของผู้ป่วย นำไปเพาะและเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลกลางที่สามารถระบุกลไกการเกิดโรคที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล เพื่อให้ทราบถึงตัวยาที่สามารถตอบสนองต่อผู้ป่วยรายนั้นได้ดีที่สุด และเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด

หากพูดถึงสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรในประเทศไทย โรคมะเร็งยังคงครองอันดับ 1 แซงหน้าอุบัติเหตุและโรคหัวใจชนิดที่ว่าขาดลอย จากสถิติปี 2556-2560 พบว่า มีอัตราผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งถึง 80,000 รายต่อปี (จำนวนและอัตราตายต่อประชากร 100,000 คน) หรือคิดเป็นจำนวน 219 รายต่อวัน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีการที่เรียกว่า One-Size-Fits-All หรือการสาดสุ่มยา โดยใช้ยาตัวเดียวกันในผู้ป่วยหลายราย ที่เป็นเช่นนี้เพราะทางการแพทย์ยังขาดฐานข้อมูลที่หลากหลายเกี่ยวกับรหัสพันธุกรรมของผู้ป่วย จึงเกิดเป็นช่องโหว่ที่ทำให้ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้อย่างหายขาด แถมยังนำมาซึ่งอาการดื้อยาหรือเกิดผลข้างเคียงตามมา อีกทั้งยังเสียค่าใช้จ่ายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นมารู้จักกับ ‘การแพทย์แม่นยำ’ แนวทางการรักษาใหม่ที่จะช่วยรักษามะเร็งได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

 

Precision Medicine

 

‘การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine)’ เป็นแนวทางการรักษาโรคมะเร็งรูปแบบใหม่ ที่ช่วยให้แพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยได้จำเพาะถึงรายบุคคล โดยแพทย์จะเอารหัสพันธุกรรมหรือโปรตีนของผู้ป่วยรายนั้นๆ ซึ่งอาจเก็บได้จากตัวอย่างชิ้นเนื้อ เลือด หรือปัสสาวะของผู้ป่วย นำไปเพาะและเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลกลางที่สามารถระบุกลไกการเกิดโรคที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล เพื่อให้ทราบถึงตัวยาที่สามารถตอบสนองต่อผู้ป่วยรายนั้นได้ดีที่สุด และเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด ซึ่งฐานข้อมูลกลางนี้จำเป็นจะต้องอาศัยการเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยโรคมะเร็งในแต่ละชนิด เพื่อนำมาศึกษา

 

อ.ดร.สมพลนาท สัมปัตตะวนิช จากภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราช ผู้ดำเนินโครงการวิจัยการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง ให้ข้อมูลว่า การรักษาโรคมะเร็งด้วยการแพทย์แม่นยำประสบความสำเร็จอย่างมาก จนเป็นที่ประจักษ์ในต่างประเทศ ซึ่งหากประเทศไทยทำสำเร็จ คลังข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยรวม เพราะนอกจากจะช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการหายาที่ตรงจุดให้กับผู้ป่วยแล้ว ยังเป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากยาต้านมะเร็งที่ไม่จำเป็นอีกด้วย

 

Precision Medicine

 

การแพทย์แม่นยำไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังป่วยเป็นโรคมะเร็งเท่านั้น ข้อมูลที่ได้ยังช่วยในการป้องกันการเกิดมะเร็งในบุคคลที่มีแนวโน้มจะป่วยเนื่องจากพันธุกรรม อย่างที่ทราบกันว่า มะเร็ง 5-10% สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ การที่บุคคลรุ่นลูกหรือรุ่นหลานเข้ารับการตรวจตั้งแต่เนิ่นๆ บวกกับได้ข้อมูลยาที่แม่นยำจากฐานข้อมูลกลาง ก็จะช่วยให้สามารถยับยั้งการเกิดมะเร็งได้อย่างทันท่วงที

 

นอกจากนี้ ด้านเศรษฐกิจของประเทศเองก็พลอยได้รับผลประโยชน์ไปด้วย เพราะหากโครงการวิจัยนี้ประสบความสำเร็จ จะนำไปสู่การกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมยาของต่างประเทศ อยากเข้ามาลงทุนในการผลิตยาต้านโรคมะเร็งในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม โครงการวิจัยนี้จะสามารถไปได้ไกลแค่ไหน หรือจะเกิดประโยชน์สูงสุดเหมือนที่ต่างประเทศหรือไม่ จำเป็นจะต้องอาศัยการระดมทุนจำนวนมากและการสนับสนุนจากภาครัฐควบคู่กันไป

 

ภาพ: shutterstock  

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • อ.ดร.สมพลนาท สัมปัตตะวนิช ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
  • ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
FYI
  • ผู้ที่สนใจสามารถร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุนโครงการวิจัยการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็งได้ที่ เลขบัญชี 901-7-05999-0 ชื่อบัญชี ‘ศิริราชมูลนิธิ กองทุนสนับสนุนการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง’ บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ (ใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้) หรือหากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 2419 4471-4
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X