×

สรุปวงเสวนา ‘ปมสั่งขังก่อนพิพากษา’ ปัญหาปฏิบัติสวนทางกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์

07.11.2022
  • LOADING...

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง ‘ปัญหาการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย’ โดยมีการถ่ายทอดผ่าน Facebook Live แฟนเพจ ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

วิทยากร ประกอบด้วย

 

  • รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • พล.ต.ต. เจนเชิง ประทุมสุวรรณ ผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมาเป็นวิทยากรแทน พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
  • รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
  • ชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม
  • ปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

ส.ส. โรม อดเข้างาน ‘อุ่นไอรัก’ เพราะมีคดีมาตรา 116

รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขอเล่าสภาพปัญหาที่เจอ ตั้งแต่ก่อนเป็น ส.ส. เคยเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองมาก่อน ซึ่งนักกิจกรรมก็มักจะไม่เป็นที่ชอบพอของรัฐเท่าไร เคยไปสถานีตำรวจ ค่ายทหาร เรือนจำ ศาลทหาร ศาลยุติธรรม 

 

ทันทีที่เข้าสู่กระบวนการพิมพ์ลายนิ้วมือ เราก็จะอยู่ในฐานะมีชื่ออยู่ในบัญชีอาชญากรรม ซึ่งไม่ต่างอะไรจากการเป็นอาชญากร 

 

ครั้งหนึ่งเคยไปงานอุ่นไอรัก กิจกรรมของประเทศ ซึ่งจะมีการตรวจบัตรประชาชนผู้ที่เข้าร่วมงานเพื่อดูว่ามีประวัติอาชญากรรมหรือไม่ วันนั้นกำลังพบรักกับภรรยาซึ่งเป็นชาวอินโดนีเซีย จึงพาเธอไปดูว่างานเกี่ยวกับประเทศไทย เช่น ขนม มีอะไรบ้าง ปรากฏว่าเข้างานไม่ได้เพราะมีประวัติโชกโชน ‘อายุน้อยร้อยข้อหา’ เขากลัวจะไปประท้วงภายในงานดังกล่าว แม้ยังไม่เคยโดนคดีมาตรา 112 แต่โดนมาตรา 116

 

วันนั้นจึงถูกกักตัวไว้ 30 นาที และถูกพาตัวไปถามว่ามาทำไม เหมือนสอบสวนแต่ก็ไม่ใช่การสอบสวนตามกฎหมาย ก็ตอบเขาว่าอยากจะพาภรรยามาร่วมงานเพื่อมาดูวัฒนธรรมไทย 

 

เรื่องนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การที่เราเคยทำกิจกรรมอาจจะถูกดำเนินคดี แม้ไม่มีคดีไหนเคยถูกตัดสินเลย แต่ก็ทำให้เรามีความยากลำบากในการใช้ชีวิตปกติ การจะเข้าร่วมกิจกรรมบางอย่างก็ประสบปัญหา 

 

ประชาชนขาดความรู้ ขาดทนายความ

รังสิมันต์กล่าวว่า เรื่องต่อมาที่สะท้อนปัญหาคือ เคยเข้าไปนั่งใต้ถุนศาล ซึ่งไม่ได้มีแค่คนทำกิจกรรมทางการเมือง แต่มีคนที่โดนคดีอื่นๆ อยู่ด้วย ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องแต่ละคดีขอฝากขัง ปรากฏว่ามีคนก่อนหน้าตนเองซึ่งจะต้องไปยืนต่อหน้าศาล แล้วศาลก็จะถามว่าจะคัดค้านการยื่นคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนไหม ประมาณ 20 คนไม่มีใครคัดค้านเลย 

 

“ผมแปลกใจมากว่าพวกคุณกำลังจะถูกนำตัวไปฝากขัง เป็นเรื่องใหญ่มากเลยนะ แต่ไม่มีใครคัดค้านเลยแม้แต่คนเดียว เหตุผลง่ายๆ เพราะเขาไม่มีทนายความ เขาไม่รู้ว่ามันคัดค้านได้ แล้วพอมาถึงคิวผมที่ต้องไปยืนต่อหน้าศาล แล้วศาลถามว่า พนักงานสอบสวนมีคำร้องขอให้ฝากขัง มีอะไรจะคัดค้านไหม พอผมคัดค้าน คนก่อนหน้าผมก็คุยกันว่าคัดค้านได้ด้วยเหรอ 

 

“เพราะทันทีที่คนแรกบอกว่าไม่คัดค้าน คนต่อๆ มาก็บอกไม่คัดค้าน ตอนนั้นจึงเหมือนกับทุกคนต้องทำแบบเดียวกัน 

 

“แต่ว่าผมมีทนายความ ในขณะที่ประชาชนทั่วๆ ไปไม่มี ซึ่งเขาอาจจะถูกดำเนินคดีด้วยข้อหายาเสพติดหรือลักทรัพย์ แต่ทุกคนมีสิทธิที่จะพิสูจน์ตัวเอง”

 

รังสิมันต์กล่าวต่อไปว่า อีกเรื่องคือเคยไปอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มีคนที่ถูกดำเนินคดีหลากหลาย การที่เรียนจบนิติศาสตร์ และอาชีพแรกที่ได้ทำคือเป็นนักโทษ ทำให้มีหลายคนมาปรึกษาเรื่องข้อกฎหมาย จึงได้ไปเป็นที่ปรึกษาอยู่ในเรือนจำ เวลาให้คำแนะนำคนที่มาถามจะบอกว่าให้ต่อสู้คดี แล้วส่วนใหญ่ที่เจอคือเขาจะไม่มีทนายความ 

 

“ผมก็จะแนะนำขั้นต้นให้บอกญาติไปหาทนายความก่อน แต่หลังจากให้คำแนะนำแล้ววันต่อมาเขากลับมาบอกผมว่า เขาจะไม่สู้คดีแล้ว เขาบอกว่า ‘สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน สารภาพติดพอประมาณ’ ส่วนใหญ่เคสแบบนี้ยังไม่มีคำพิพากษาตัดสิน ส่วนข้อหาความผิดมีหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่เขารู้สึกว่าถ้าสารภาพ ยอมติดคุกไม่นาน อาจจะ 1-2 ปี บวกลบกับการอภัยโทษอาจจะทำให้ได้ออกเร็วกว่า ในขณะที่ถ้าสู้ก็ไม่รู้จะจบเมื่อไร แล้วกรณีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นมากกับเคสมาตรา 112 ที่หลายกรณีไม่ได้รับการประกันตัว คำถามคือตกลงกระบวนการยุติธรรมคือการพิสูจน์เพื่อบอกว่าคนนั้นผิด หรือให้เขามาต่อสู้ว่าตัวเองบริสุทธิ์ หลักการกลับตาลปัตร

 

“เคสที่ 4 ผมเคยถูกศาลทหารนำไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นกรณีการฝากขังที่ยังไม่มีการฟ้องร้องโดยพนักงานอัยการเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นการฝากขังชั่วคราว พบว่าตอนที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องเพื่อขอฝากขัง ผมคัดค้านการฝากขังแต่ไม่ได้ยื่นประกันตัว เพราะเชื่อว่าตัวเองไม่ผิด สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สุดท้ายถูกฝากขังทั้งๆ ที่เวลาพนักงานสอบสวนมีหมายเรียกให้เราไปรายงานตัว เราไปตลอดเวลา แต่เขาฝากขังโดยสันนิษฐานว่าเดี๋ยวเราจะหลบหนี คำถามคือการที่เราไปพบพนักงานสอบสวน การที่เราไปรายงานตัว หรือแม้กระทั่งการที่เราไปที่ศาล ไม่เป็นเหตุให้เชื่อว่าเรามีเครดิตเพียงพอว่าจะไม่หลบหนีหรือ 

 

“ดังนั้นทั้ง 4 กรณีมาสู่บทสรุปว่าปัญหา Presumption of Innocence หรือหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งถูกบัญญัติในรัฐธรรมนูญไม่เป็นความจริงเลยในทางปฏิบัติ”

 

หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีอยู่จริงโดยเฉพาะคดีการเมือง

รังสิมันต์กล่าวว่า เคสตั้งแต่ยุค คสช. คือกรณี ไผ่ ดาวดิน กับการเพิกถอนการประกันตัวในคดีมาตรา 112 นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นอกจากนั้นเหตุผลในการไม่ให้ประกันตัวคนที่ต่อต้านนายกรัฐมนตรีเพราะอาจก่อเหตุอันตรายประการอื่น อาจจะไปกระทำความผิดซ้ำ ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ขณะที่ตำรวจอยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรี การเลื่อนขั้นของตำรวจขึ้นอยู่กับศูนย์กลางอำนาจ จึงพบว่าการดำเนินคดีกับคนที่ต่อต้านนายกรัฐมนตรีมักจะดำเนินการด้วยข้อหาแปลกๆ แล้วยื่นคำร้องขอฝากขัง ซึ่งผู้ถูกดำเนินคดียังเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่หากศาลอธิบายเหตุผลการไม่ให้ประกันตัวดังที่กล่าวไปแล้วนั้น เท่ากับสรุปไปแล้วว่านักกิจกรรม เช่น เพนกวิน, อานนท์, ไผ่, รุ้ง, ปอ และบุ้ง ไปทำกิจกรรมที่ผิด เพราะการบอกว่าถ้าปล่อยไปแล้วไปทำแบบเดิมเป็นการทำผิดซ้ำ คำถามคือแล้วยังต้องมีการสืบพยานพิสูจน์ว่าตัวเองบริสุทธิ์หรือไม่ เท่ากับกลุ่มคนเหล่านี้ถูกสรุปไปแล้วว่ากระทำความผิด ดังนั้นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญไม่มีอยู่จริง มีการละเมิดรัฐธรรมนูญผ่านกระบวนการยุติธรรม

 

รังสิมันต์กล่าวสรุปว่า กระบวนการ Presumption of Innocence หรือหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่มีอยู่จริงในไทย แม้คดีทั่วไปอาจจะพอมีมาตรฐานอยู่บ้าง แต่สำหรับคดีการเมืองหรือคดีท้าทายผู้มีอำนาจหลายๆ กรณี มาตรฐานเหล่านี้ไม่ถูกบังคับใช้ การจะพิสูจน์ว่ากฎหมายศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ ทุกคนอยู่ใต้กฎหมายหรือไม่ ต้องดูคดีเหล่านี้ เพราะเป็นคดีที่เกิดขึ้นจากการท้าทายผู้มีอำนาจ

 

“ผมจึงเห็นด้วยที่เราจะกลับมาทบทวนและดำเนินการแก้ไข เพื่อให้มั่นใจได้ว่าหลักกฎหมายจะใช้หลักสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาทุกคนยังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะถูกตัดสินว่าผิด”

 

รังสิมันต์กล่าวว่า สำหรับการไม่เปิดเผยประวัติอาชญากรรมยกเว้นคดีร้ายแรง การไม่เปิดเผยจะช่วยผู้คนจำนวนมากให้สมัครงานได้ และใช้ชีวิตในสังคมปกติได้ จึงเห็นสอดคล้องกับร่างกฎหมายฉบับนี้ และจะไปพูดคุยในพรรคก้าวไกลเพื่อดำเนินการต่อไป ส่วนการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ จะนำไปดำเนินการสู่การพิจารณาแก้ไขต่อไป รวมถึงการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อบัญญัติเรื่องผู้ตรวจการศาล เพื่อตรวจสอบศาลโดยหลักความเป็นอิสระของศาลยังคงอยู่

 

หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์มีในรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ถูกใช้ในทางปฏิบัติ

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหากระบวนการยุติธรรมทางอาญามากกว่าเรื่องอื่น จึงตั้งหัวข้อนี้ขึ้นมา ‘ปัญหาการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย’ เพราะปัญหาใหญ่คือผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้ถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งวางหลักตั้งแต่ปี 2492 หลัก Presumption of Innocence 

 

ขณะที่ในทางปฏิบัติกลับตรงกันข้ามกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการให้มีการแก้ไข เช่น การบันทึกลงในทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นเหตุให้คนที่ไปสมัครงานแล้วเขาไม่รับ และไม่รู้ตัวด้วย ในใบสมัครมีช่องให้ติ๊กยินยอมให้ตรวจประวัติอาชญากร ทุกคนต้องติ๊ก ใครไม่ยินยอมเขาคัดทิ้งรอบแรกเลย พอติ๊กแล้วกองทะเบียนประวัติก็ถือว่ายินยอมแล้ว โดยในทางปฏิบัติก็ไม่ได้บอกว่าข้อหาไหน จบอย่างไร รู้แต่มีชื่อในทะเบียนประวัติอาชญากร ฟังดูร้ายแรงทั้งที่อัยการสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว หรือศาลยกฟ้อง หรือแค่โทษปรับ 100-500 บาท แต่ท่านเป็นอาชญากร นี่คือปัญหา

 

ประโยคที่ว่าจะปฏิบัติต่อเสมือนเป็นผู้กระทำผิดก่อนศาลพิพากษามิได้ ก็ไม่ได้รับการปฏิบัติ ความจริงคุกต้องขั้นสุดท้ายหลังศาลพิพากษา แต่เราต้องพูดเรื่องคุกตั้งแต่ตอนสอบสวน เพราะเอาไปขังตั้งแต่ตั้งข้อหา ส.ส. รังสิมันต์ โรม ก็ทราบ โดนข้อหาก็เอาไปขังไว้เลย เพราะ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ เราถือว่าผิดไว้ก่อน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาใช้คำว่า ปล่อยชั่วคราว หลัก Presumption of Guilt หรือสันนิษฐานว่าผิด ประกาศใช้ปี 2477 

 

หมายความว่า หลัก Presumption of Innocence มาภายหลังในปี 2492 ซึ่งยังไม่มีการแก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้สอดคล้องกับหลักการใหม่จนถึงปัจจุบัน ส่วนที่แก้มีแก้เป็นจุดๆ ดีขึ้น แต่ยังไม่แก้โครงสร้างหลัก ทำให้โดยรวมแล้วกระบวนการยังไม่อยู่บนหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ 

 

ถ้าใครมีเงินก็ประกันตัวได้ ใครจนก็ติดคุกไปโดยไม่เกี่ยวว่าผิดหรือไม่ผิด แล้วคนมีเงินวางเงินแล้วก็หนีเลยถ้าเขาทำผิด ส่วนคนจนต่อให้บริสุทธิ์ก็ต้องติดคุกไปจนกว่าศาลจะพิพากษา นี่สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด

 

กระบวนการยุติธรรมไทยถ้าเป็นคนจนก็ลำบากหน่อย ติดคุกไป มีความเหลื่อมล้ำสูง คุกเต็มไปด้วยคนจน และมีสิ่งที่เรียกว่า ‘แพะ’ อยู่จำนวนหนึ่ง และสู้คดีลำบาก เพราะติดคุกไปแล้วจะหาโอกาสสู้คดีก็สู้ยาก เป็นเรื่องจริงและหวังว่าจะมีแพะน้อยลง ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา 

 

สรุป 5 ข้อ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 

 

  1. ต้องแก้ไขกฎหมาย เปลี่ยนให้เป็นหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ 

 

  1. ตอนตั้งข้อหาให้บันทึกในทะเบียนผู้ต้องหา และล้างประวัติเก่าให้ผู้ที่ศาลยกฟ้อง อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลรอลงอาญา หรือแค่ปรับ 

 

  1. เปลี่ยนปล่อยตัวชั่วคราวเป็นกักขังชั่วคราว และกักขังเฉพาะเพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี รวมถึงยกเลิกการใช้เงินเป็นหลักประกัน 

 

  1. ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ประกันตัวไม่ได้ ต้องกักขังไว้ในที่ที่ไม่ใช่คุกหรือเรือนจำของนักโทษ และไม่ปฏิบัติเสมือนเป็นผู้กระทำผิด

 

  1. กระทรวงยุติธรรมต้องบูรณาการ ประเมินผล และป้อนข้อมูลกลับ ทั้งกระบวนการรวมไปถึงต้นทางที่ฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข

 

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมของเราแยกเป็นท่อนๆ ตำรวจก็ต่างหาก อัยการก็ต่างหาก ส่วนกระทรวงยุติธรรมก็พยายามบูรณาการ แม้ท่านสั่งตำรวจ อัยการ ศาล ไม่ได้ แต่หากบูรณาการให้ฐานข้อมูล 3 หน่วยงานเชื่อมกันคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ อาจจะต้องทำให้เป็นร่างกฎหมายเพื่อให้เกิดการบูรณาการ ต้องช่วยกัน 

 

“สำหรับคณะนิติศาสตร์ ผมได้แจ้งท่านคณบดีตอนคณบดีขอผมให้มาเป็นผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ ผมบอกว่าจะทำเรื่องนี้เป็นเรื่องหลักจนกว่าจะสำเร็จ ถ้าไม่สำเร็จไม่เลิก เรื่องทะเบียนประวัติอาชญากรต้องแยกแยะ ก่อนศาลพิพากษายังไม่ใช่อาชญากร รวมถึงพิพากษาแต่รอลงอาญาก็ไม่ควรใช่ แต่เมื่อพิพากษาแล้วเป็นความผิดมีโทษร้ายแรงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คนละประเด็นกัน 

 

“การที่หลังถูกปั๊มลายนิ้วมือแล้วเป็นอาชญากร แม้อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง ต้องไปขอลบเองซึ่งลบยากมาก จึงควรจะยกเลิกไป แล้วการขังก่อนศาลพิพากษาก็ควรให้มีน้อยที่สุด ต้องเปลี่ยนจากปล่อยชั่วคราวเป็นขังชั่วคราว”

 

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า หลายท่านอาจจะสับสนเรื่องหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ การถูกใส่ร้ายใส่ความคดีที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแม้ยังไปไม่สุด แต่ก็เริ่มต้นแล้วคือคดีเชอรี่แอน ดันแคน นำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง

 

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวถึง ‘คดีการเมือง’ ว่า หลักการแบ่งแยกอำนาจแบ่งเป็น นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แต่คนที่ไปจับกุมคือตำรวจอยู่ใต้ฝ่ายบริหาร ซึ่งถ้าเป็น ‘คดีการเมือง’ เมื่อไร ประชาชนเราก็มักจะถูกดำเนินคดี ซึ่งโดยข้อหาแล้วไม่มีการเขียนว่าเป็น ‘ข้อหาการเมือง’ แต่เป็นการใช้ข้อหาปกติมาใช้จัดการทางการเมือง 

 

ความเสมอภาคไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเงินประกันตัว 

รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงที่มาพัฒนาการจากเดิมที่ใช้หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด แล้วเปลี่ยนแปลงเข้าสู่หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ในปัจจุบันว่า มีที่มาจากคดีหนึ่งที่ส่งผลอย่างยิ่งในการทำให้เกิดหลักสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ในปัจจุบัน เป็นกรณีที่ฝรั่งเศส พ่อค้าผ้าคนหนึ่งมีลูกชายที่เปลี่ยนนิกายไป แล้วลูกชายอีกคนจะเปลี่ยนนิกายตาม แต่พ่อไม่ให้จึงทะเลาะกัน เมื่อทะเลาะกันแล้วกลายเป็นลูกชายคนนี้ฆ่าตัวตาย แล้วสมัยสังคมโบราณมีเสียงลือว่าพ่อฆ่าลูกเพราะไม่ยอมให้เปลี่ยนนิกาย เพียงแค่นี้พ่อก็ถูกจับส่งขึ้นศาลในข้อหาฆ่าลูกแล้วในระบบเดิม สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด 

 

เมื่อถูกส่งขึ้นศาลถูกพิจารณาคดี ต้องพิสูจน์ว่าตัวเองไม่ได้ฆ่าลูก และไม่ได้ฆ่าอย่างไร พ่อค้ายืนยันไม่ได้ฆ่าแต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยันความบริสุทธิ์ของตน ซึ่งนอกจากถูกใส่ความโดยไม่มีหลักฐานแล้ว หลักฐานการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ก็ไม่มี

 

เมื่อศาลยังใช้หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด และไม่มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ ก็ถูกพิพากษาประหารชีวิตโดยการจับขึงและควักไส้ซึ่งทารุณโหดร้ายมากในอดีต

 

จนกระทั่งทายาทพ่อค้าผ้าร้องเรียน Voltaire นักปรัชญาฝรั่งเศส ให้มีการเรียกร้องความเป็นธรรม จึงมีแนวคิดการปล่อยผู้กระทำผิดหนึ่งคน ดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์หนึ่งคน เป็นจุดเริ่มต้นหลักสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ 

 

การเปลี่ยนหลักสันนิษฐานว่าผิดมาเป็นสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ เพราะเจ็บช้ำจากหลักสันนิษฐานว่าผิดมาเป็นเวลานานแล้วเป็นหลักสากลทั่วโลก รวมถึงไทยอยู่ในมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ค่อยตระหนักหลักการนี้ในชั้นสอบสวน 

 

รศ.ดร.ปกป้องกล่าวเปรียบเทียบไทยกับฝรั่งเศสว่า ตำรวจฝรั่งเศสควบคุมผู้ต้องหาได้ 24 ชั่วโมง น้อยกว่าไทย เนื่องจากไทยควบคุมได้ 48 ชั่วโมง 

 

ตำรวจฝรั่งเศสจะพาไปเจออัยการ ไปเจอศาล แล้วศาลฝรั่งเศสปล่อยเป็นหลัก เป็นมาตรการควบคุมโดยศาลให้มารายงานตัวกับตำรวจ มีเงื่อนไขต่างๆ ถ้าเอาไม่อยู่จึงจะใช้อีกระดับคือ ควบคุมที่บ้านโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ คือ EM แบบไทย แต่ไทยใช้ตรงกันข้ามคือ ขังก่อน แล้วใส่ EM เมื่อได้ประกันตัว ขณะที่ในฝรั่งเศสถ้าใส่ EM แล้วยังเอาไม่อยู่จึงค่อยออกหมายขัง ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยไม่ได้มีบทบัญญัติแสดงมาตรการเช่นนั้นเลย 

 

รศ.ดร.ปกป้องกล่าวว่า การขังในฝรั่งเศสมีความยาก ต้องอ้างเหตุใดเหตุหนึ่งใน 7 เหตุ เพราะเขาสร้างวิธีที่ซับซ้อนจึงจะสามารถขังได้ คนที่จะพิจารณาสั่งขังคือศาล แต่คนที่จะเสนอไม่ใช่ตำรวจ ตำรวจต้องเสนออัยการ แล้วอัยการเป็นผู้เสนอ และผู้ต้องหาต้องมีทนายความเสมอ ถ้าไม่มีทนายศาลต้องตั้งให้ 

 

เพราะฉะนั้นกระบวนการในฝรั่งเศส คนที่จะขอให้ขังได้ระหว่างสอบสวนคืออัยการ โดยผู้ต้องหาต้องมีทนาย ถ้าไม่มีทนายศาลสั่งขังไม่ได้ ต้องตั้งทนายให้เสมอ และมีวิธีพิจารณาแบบรับฟังความทุกฝ่าย จึงขังกันค่อนข้างยาก 

 

ในขณะที่เปรียบเทียบกับประเทศไทย พนักงานสอบสวนยื่นขอออกหมายขังโดยที่อัยการไม่ทราบเรื่องเลยในปัจจุบัน ขั้นตอนง่ายมาก หลังจากอยู่โรงพัก 48 ชั่วโมง ก็พาผู้ต้องหาไปที่ศาลพร้อมกับคำร้องขอออกหมายขังโดยที่อัยการไม่ทราบเรื่องเลย จะมีหรือไม่มีทนายก็ได้ เพราะมีเอกสารให้ผู้ต้องหาเซ็นปฏิเสธไม่ต้องมีทนายได้

 

เพราะฉะนั้นเป็นการไต่สวนอย่างรวดเร็ว ออกหมายขังได้เร็วมาก ตรงนี้จึงทำให้เกิดสภาพขังเป็นหลัก โดยที่ตรงกันข้ามกับที่ฝรั่งเศสก็คือ การขังจะมีกระบวนการ มีขั้นตอนการคุ้มครองสิทธิมากกว่าจะขังระหว่างสอบสวน 

 

ข้อเสนอ 3 ข้อในการแก้ปัญหา 

 

1. การขังระหว่างดำเนินคดีอาญาเป็นยาแรงที่จำเป็น ไม่มีก็ไม่ได้ เพราะบางคดีอุกฉกรรจ์ หลักฐานสูง หลักฐานชัด เป็นที่สะเทือนขวัญ และสุ่มเสี่ยงที่เขาจะไปทำความผิดอื่น เราไม่ขังก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นการขังระหว่างดำเนินคดีเป็นยาแรงที่จำเป็น รุนแรงในระดับทำลายความบริสุทธิ์ผู้ถูกกล่าวหา รุนแรง และเป็นมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม 

 

2. ดังนั้นการใช้ยาแรงควรใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ควรใช้เป็นหลักทั่วไป 

 

3. ควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยเฉพาะมาตรา 87 ในการฝากขังครั้งแรกสำคัญมาก เพราะฉะนั้นเราควรจะพิจารณาลำดับคือ ไม่ควรจะพิจารณาออกหมายขังก่อน ให้ศาลใช้มาตรการอื่นก่อน และใช้มาตรการขังเป็นมาตรการสุดท้าย 

 

  • 3.1 กำหนดมาตรการควบคุมผู้ต้องหาโดยศาลให้มารายงานตัว และเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ติดตาม
  • 3.2 กำหนดให้มีมาตรการขังที่บ้าน โดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (EM)
  • 3.3 ในกรณีจำเป็นอย่างยิ่งที่มาตรการอื่นไม่สามารถใช้ได้แล้ว จึงออกหมายขังได้ในเฉพาะคดีที่มีอัตราโทษขั้นสูงตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป หรือตามที่ประเทศเราเห็นควร โดยศาลต้องแสดงเหตุผลที่จะขังผู้ต้องหาหรือจำเลยเพราะอะไร ไม่ใช่เพียงอธิบายว่าโทษสูงแล้วจะหนี ต้องอธิบายว่าด้วยเหตุอะไรจึงต้องขังเขาไว้ เป็นมาตรการสุดท้ายจริงๆ 

 

“ผมว่าถ้าแก้เรื่องเหล่านี้ได้ การขังโดยไม่จำเป็นจะลดลง ความเสมอภาคในเรื่องการมีเงินประกันหรือไม่มีเงินประกันก็จะหมดไป และสุดท้ายการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ก็จะกลับมาในประเทศไทยอย่างสมบูรณ์” รศ.ดร.ปกป้องกล่าว

 

บางหน่วยงานไม่อัปเดตข้อมูลประวัติอาชญากรรม 

ชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม กล่าวว่า มีประสบการณ์ตรงจากการร่วมหารือและนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สมศักดิ์ เทพสุทิน เรื่องทะเบียนประวัติอาชญากรรม สำหรับปัญหาการที่ประชาชนไปขอใช้หรือตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของตนเองกับทางตำรวจ 

 

ปัญหาเริ่มต้นจากไม่มีการจัดการคัดแยกอย่างที่ท่านอาจารย์ปริญญากล่าวถึงเป็นส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งในเชิงปฏิบัติคือการนำข้อมูลไปใช้ 

 

วันนี้ข้อมูลของตำรวจเป็นฐานข้อมูลกลาง ที่น่าจะเป็นการเก็บข้อมูลผู้กระทำความผิดที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศ 

 

ปรากฏว่ามีบางหน่วยงานเกิดกรณีประชาชนจะข้ามฝั่งไปมาเลเซีย พอจะข้ามด่าน กลับข้ามไม่ได้เพราะมีหมายจับติดอยู่ พอสืบไปสืบมา สอบไปสอบมา ทางประชาชนบอกว่าไม่ได้อยู่ในหมายจับแล้ว บริสุทธิ์แล้ว ดำเนินการทั้งหมดแล้ว แต่ทางเจ้าหน้าที่บอกว่ายังมีหมายจับอยู่จึงข้ามไปไม่ได้

 

จากนั้นมีคนกลางเข้ามาช่วยให้ไปสืบค้นข้อมูล พอไปสืบค้นข้อมูลอีกฐานข้อมูลหนึ่ง จึงพบว่าหมายจับนั้นไม่ได้อยู่ในระบบแล้วจริงๆ เหตุที่เป็นอย่างนี้เพราะหน่วยงานนั้น เอาข้อมูลของตำรวจไปใช้แล้วเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ของตัวเอง แล้วก็ไม่ได้ปรับปรุงความทันสมัยของข้อมูล แล้วนำข้อมูลนั้นมาตรวจสอบประชาชน เรื่องนี้เกิดขึ้นจริง

 

ฉะนั้นการปฏิบัติต่อประชาชน ถ้าต้องการให้หลัก Presumption of Innocence แปลงไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมและจับต้องได้จริงๆ เราต้องปรับหลายๆ เรื่อง เช่น หน่วยที่จะนำข้อมูลตำรวจไปใช้ต้องอัปเดตข้อมูล 

 

ต้องอยู่ในโลกของความเป็นจริง 

ชัยวัฒน์กล่าวว่า การไปดูงานที่รู้ลึกรู้จริงไม่ใช่เพียงผิวเผิน ต้องไปฝังตัวเรียนรู้กับการทำงานจริงๆ จึงจะทราบว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร เราต้องอยู่ในโลกของความเป็นจริง สาเหตุที่สถานการณ์การสันนิษฐานว่าต้องทำผิดไว้ก่อน ในทางปฏิบัติตำรวจต้องไปจับกุมผู้ต้องหาที่มีหมายจับ การที่เขาจะออกไปปฏิบัติหน้าที่จับตัวผู้ต้องหาต้องมี Mindset ภายใต้ความเชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์แน่แท้ หรือคนนี้เป็นผู้ก่อความผิด ตำรวจจะไปจับ ต้องเตรียมความพร้อมการป้องกันตนเองหรือไม่ หากเชื่อโดยสุจริตและมั่นใจว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ตำรวจอาจจะไม่ต้องพกปืนไปก็ได้ อาจจะไม่ต้องเตรียมความพร้อมก็ได้ภายใต้ความเชื่อนั้น

 

แต่ในชีวิตความเป็นจริง ในทางปฏิบัติมีบางเคสเป็นผู้บริสุทธิ์จริงๆ และบางเคสอาจจะไม่ใช่ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้นการทำข้อสันนิษฐานหลัก Presumption of Innocence นี้ให้เป็นจริง ถ้าเราบริหารจัดการสัดส่วนดีๆ เรื่องนี้เป็นไปได้

 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้สันนิษฐานผู้ถูกกล่าวหาผิดไว้ก่อนเพราะมีเหตุ และโดยระบบราชการมีปัญหา ทั้งหมดมีที่มา แต่ถ้าจะพลิกโฉมกระบวนการยุติธรรม นอกจากมาตรการทางสารบัญญัติแล้ว เราต้องมาปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานยุติธรรมของประเทศใหม่ โดยต้องมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน

 

ต้องการให้มีที่ยืน

ชัยวัฒน์กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติประวัติอาชญากรรม เหตุที่มาเพราะมีผู้กระทำความผิดไปสมัครงาน แล้วเจ้าของธุรกิจไปขอประวัติ ปรากฏว่าเรื่องไม่เป็นเรื่องก็เกิดขึ้น เช่น เคยทำผิดฐานลักเล็กขโมยน้อย เคยทำผิดตั้งแต่เป็นเด็กเยาวชน ประวัติขึ้นมาหมดเลย แสดงให้เห็นว่าการบริหารฐานข้อมูลประวัติอาชญากรรมมีปัญหา เป็นไปตามที่อาจารย์ปริญญาพูดทุกประการ 

 

แต่ถ้าเกิดพระราชบัญญัติฉบับนี้ประกาศใช้ ต่อไปนี้เราจะเปิดเผยให้หน่วยงานที่จะขอประวัติหรือไม่อยู่ที่กฎหมายฉบับนี้ และการระบุว่าเป็นอาชญากรจะต้องเป็นคนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วเท่านั้น คนที่ถูกจับ ถูกดำเนินคดีจะไม่ขึ้นเป็นข้อมูล ไม่เหมือนในอดีตที่ผ่านมากรณีที่อยู่ในชั้นตำรวจ อัยการยังไม่ฟ้อง แต่ปรากฏในฐานข้อมูล ทำให้ตัดโอกาสประชาชนกลุ่มนี้เยอะมาก เหมือนกับพอเขาถูกกล่าวหา เขากลับกลายเป็นคนที่ไม่มีที่ยืนในสังคม เพราะฉะนั้นต้องทำให้คนเหล่านี้มีโอกาสใช้พลังศักยภาพไปขับเคลื่อนประเทศ นี่เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ ต้องการให้โอกาสผู้กระทำความผิดนั้นมีที่ยืน 

 

ดังนั้น คดีที่จะเข้าสู่ฐานข้อมูลประวัติอาชญากรรมต้องเป็นคดีที่ถึงที่สุดแล้วเท่านั้น แล้วคดีต้องมาจาก 2 ศาลเท่านั้นคือ ศาลยุติธรรม และศาลทหาร จะส่งข้อมูลมายังกระทรวงยุติธรรม โดยร่างกฎหมายฉบับนี้มีการกำหนดให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นนายทะเบียน รับผิดชอบการจัดเก็บประวัติอาชญากรรม มีทั้ง 2 ส่วนคือ ส่วนที่เปิดเผยได้ และเปิดเผยไม่ได้ ถ้าเป็นฐานข้อมูลที่ห้ามเปิดเผยก็ต้องไม่เปิดเผยจริงๆ เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนเหล่านี้มีที่ยืน เช่น คดีที่กระทำผิดขณะเป็นเด็กเยาวชน คดีที่ได้รับการล้างมลทินแล้ว คดียกฟ้องต้องไม่เข้าสู่ฐานข้อมูลนี้ แต่ร่างนี้ยังไม่เข้า ครม. 

 

ขณะเดียวกันมีคดีที่เปิดเผยได้ เจตนาคือต้องการคุ้มครองสังคม ต้องการอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพราะถ้าไม่มีข้อมูลเหล่านี้ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่จะไม่สามารถต่อยอด เพื่อทำให้กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งได้ 

 

เพราะฉะนั้นเรื่องการเปิดเผยได้ จะเป็นประวัติอาชญากรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการต้องหาคดีตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆ คือเปิดเผยตามหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม หรือหน่วยงานความมั่นคง หรืออาชีพสำคัญๆ องค์กรวิชาชีพ ซึ่งมีกฎหมายรองรับ หรือประวัติอาชญากรรมที่เป็นฐานความผิดร้ายแรง ปัจจุบัน กระทรวงยุติธรรมเสนอกฎหมายขึ้นมาอีกฉบับ เรียกว่าพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากอาจารย์ปกป้อง เป็นผู้ศึกษาเรื่องนี้และเป็นตัวแทน กระทรวงยุติธรรมช่วยชี้แจงคณะกรรมการกฤษฎีกา และจะประกาศใช้วันที่ 23 มกราคม 2566 

 

‘ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน’ โครงการโดย พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ 

พล.ต.ต. เจนเชิง ประทุมสุวรรณ ผู้บังคับการ กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมาเป็นวิทยากรแทน พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 

 

พล.ต.ต. เจนเชิงกล่าวว่า เรื่องประวัติทะเบียนอาชญากรมีโครงการ ‘ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน’ เป็นเครดิตของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว

 

เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่เคยมีประวัติถูกฟ้องคดีอาญา แต่ศาลยกฟ้อง แล้วยังมีประวัติอาชญากรรมอยู่ในฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากร ทำให้อาจถูกตัดสิทธิ ไม่ได้รับการพิจารณาเข้าทำงาน ขาดโอกาสในการกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ

 

มีทั้งผู้ที่เข้าหลักเกณฑ์และไม่เข้าหลักเกณฑ์ ระเบียบที่ใช้ปัจจุบันมีรายการข้อมูลประวัติที่ค้างสะสมไว้และส่วนที่เกิดขึ้นใหม่ ส่วนที่สองเรื่องระเบียบระบบในการดำเนินการในอนาคต ระเบียบนี้รองรับหลักการที่อาจารย์ได้กล่าวมา กรอบแนวคิดในวงเสวนานี้ ทางท่านรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล ถือปฏิบัติตามแนวทางนี้มาตลอด

 

แนวทางแก้ไขระเบียบจะมีหลักการเช่นเดียวกับในวงเสวนานี้ มีส่วนที่ใช้ในส่วนตำรวจ และส่วนที่เปิดเผยให้ผู้มาขออนุญาตใช้ ต้องแยกเป็นส่วนผู้ต้องหากับอาชญากร โดยอาชญากรหมายถึงคดีถึงที่สุด และติดคุกอยู่ 

 

พล.ต.ต. เจนเชิง ตอบคำถามผู้เข้ารับฟังเสวนาเรื่องการพิมพ์มือและการทำงานของตำรวจหลังรับแจ้งความว่า เรื่องพิมพ์มือต่อไปนี้ในอนาคตระเบียบใหม่ของตำรวจจะสอดคล้องกับหลักการในการเสวนา คดีใดถึงที่สุดไม่ผิด ประวัติจะไม่ถูกแสดงในอนาคต แต่ถ้าถึงที่สุดเป็นโทษจำคุก จะถือเป็นอาชญากร 

 

สำหรับการทำงานของตำรวจ หลังจากรับแจ้งความ ตำรวจจะไปหาผู้กระทำความผิด รับรู้รับฟังพิสูจน์ทราบ โดยมีการตรวจสอบอย่างละเอียด ตรวจสอบแม้กระทั่งว่าผู้เสียหายแจ้งความเท็จไหม แจ้งความจริงไหม แล้วจึงชั่งน้ำหนักซึ่งมีขั้นตอนรายละเอียดเยอะมากในหนึ่งเคส มีทั้งความเชื่อ ข้อกฎหมาย และหลักฐาน ถ้าความเชื่อไปไม่ถึงหลักฐานก็ต้องยึดโยงที่หลักฐาน 

 

ถูกขังนานกว่าโทษที่ศาลพิพากษา 

ปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สนับสนุนกฎหมายเรื่องประวัติอาชญากรของกระทรวงยุติธรรม สำหรับเรื่องประกันตัว การขัง ควรจำแนกผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี และควบคุมตัวให้น้อยที่สุด เนื่องจากมีกรณีที่ถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดี ไม่ได้ประกันตัว แต่ศาลพิพากษาโทษน้อยกว่าระยะเวลาของการถูกควบคุมตัว มีปัญหาหลายประการ เนื่องจากในมุมตำรวจกว่าจะจับมาก็ยาก จึงต้องมีข้อยกเว้นกรณีมีความเสี่ยงหลบหนี อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การทำงานกองทุนยุติธรรม เรียนได้เลยว่าคนจนไม่ค่อยหนีเพราะไม่รู้จะไปไหน เพราะฉะนั้นน่าจะได้รับการประกันตัว และให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาสามารถไปหาพยานหลักฐานต่อสู้คดี

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising