วันนี้ (14 ส.ค.) พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังรับหน้าที่เป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และพิจารณาการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปี 2563 ระบุว่ารัฐบาลมีความห่วงใยในปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น และเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เร่งดำเนินการมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยในส่วนของมาตรการเร่งด่วน ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินการให้สามารรถช่วยเหลือประชาชนให้ทันท่วงที ซึ่งประกอบไปด้วย
1. ปฏิบัติการฝนหลวง เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 11 สิงหาคม 2562 จำนวน 4,214 เที่ยวบิน และมีจังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 58 จังหวัด
2. การสำรวจพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำและการสนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือช่วยเหลือประชาชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานสนับสนุนเครื่องสูบน้ำสำหรับพื้นที่นาปี-พืชไร่ จำนวน 214 เครื่อง และสำหรับการอุปโภค-บริโภค 71 เครื่อง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำได้ทำการสูบน้ำ 40,154,373 ลูกบาศก์เมตร แจกจ่ายน้ำ 9,660,471 ลิตรให้กับครัวเรือน 384,346 ครัวเรือน และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้แจกจ่ายน้ำ 8,091,370 ลิตร เป็นต้น
3. การพิจารณาปรับแผนการระบายน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ โดยเฉพาะที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุ สทนช. ได้ประชุมผู้เกี่ยวข้องวางแผนการระบายน้ำเป็นรายอ่างเก็บน้ำ ทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม ถึง 31 ตุลาคม 2562 ในลักษณะเช่นเดียวกับการปรับลดการระบายน้ำ 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีเงื่อนไขคาดการณ์ปริมาณน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำใช้ปีฝนแล้ง และน้ำในเขื่อนปลายฤดูฝนจะต้องไม่น้อยกว่าระดับน้ำต่ำสุด
ทั้งนี้ยังได้มอบหมายให้ สทนช. ติดตามผลการดำเนินการรายงาน ครม. ต่อไป ในส่วนของการพิจารณางบประมาณภายใต้แผนงานบูรณาการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ 2563 ได้กำชับให้การพิจารณาแผนงานสอดคล้องกับแผนแม่บทน้ำและนโยบายของรัฐบาล ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนด จัดลำดับความสำคัญ ทั้งนี้เพื่อลดความซ้ำซ้อนของแผนงานโครงการ จึงมอบให้สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และ สทนช. พิจารณาความซ้ำซ้อนร่วมกับงบบูรณาการอื่นๆ งบตามภารกิจของหน่วยงาน และงบท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องด้วย
ขณะเดียวกัน สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์น้ำในภาพรวมของประเทศไทยในปัจจุบัน ปริมาณฝนที่ตกตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ถึง 11 สิงหาคม 2562 มีปริมาณต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันออกที่มากกว่าค่าเฉลี่ย 1% และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ที่มากกว่าค่าเฉลี่ย 3% สำหรับการคาดการณ์ฝนในระยะ 3 เดือนต่อจากนี้ เดือนสิงหาคม ปริมาณฝนใกล้เคียงค่าปกติ ยกเว้นภาคกลางและภาคตะวันออก เดือนกันยายน ปริมาณฝนใกล้เคียงค่าปกติ ยกเว้นภาคใต้ ส่วนเดือนตุลาคม ปริมาณฝนในทุกภาคต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 10%
โดยในส่วนของการเคลื่อนตัวของพายุโซนร้อนวิภาในช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาคเหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก มีฝนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เขื่อนใหญ่มีน้ำเพิ่ม 1,560 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปริมาณน้ำปัจจุบันมีน้ำผิวดินทั้งประเทศ 40,062 ล้านลูกบาศก์เมตร (49%) โดยภาคเหนือ กลาง อีสาน และตะวันออก มีน้ำน้อยกว่า 50% โดยแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% ถึง 26 แห่ง ด้านสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลัก ลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การ 1,457 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบายวันละ 21 ล้านลูกบาศก์เมตร หากไม่มีน้ำมาเติม จะระบายได้อีก 54 วัน
ทั้งนี้ ในที่ประชุมมีการพิจารณาการปรับปรุงแผนงบประมาณรายจ่าย แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2563 ซึ่งเป็นการทบทวนแผนที่คณะกรรมการฯ ชุดเดิมได้เคยเห็นชอบไว้แล้ว ที่ประชุมวันนี้ได้ยืนยันหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ โดยหน่วยรับงบประมาณต้องส่งคำของบประมาณผ่านรัฐมนตรีเจ้าสังกัด เพื่อให้คณะกรรมการฯ พิจารณากลั่นกรองและเสนอประธานให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งสำนักงบประมาณพิจารณา
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบคำสั่งปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ คณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ได้รวบรวมแผนงบประมาณด้านน้ำที่หน่วยงานปรับปรุงคำขอเพิ่มเติมจากที่อนุมัติไว้เดิม เพื่อเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณา จำนวน 17,283 รายการ คิดเป็นวงเงินประมาณ 180,000 ล้านบาท
โดยหลังจากนี้ สทนช. จะได้นำแผนงานที่ผ่านมติที่ประชุมไปจัดลำดับความสำคัญตามหลักเกณฑ์และข้อสังเกตในที่ประชุม จากนั้นจะนำเสนอสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาและเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้ความเห็นชอบต่อไป
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า