×

ประเสริฐ ซักฟอก จุรินทร์ ปล่อยคนใกล้ชิดทุจริตเงิน อคส. ปมถุงมือยาง วางแผนโกงเป็นระบบ เปิดคลิปเสียง-เอกสารมัด

โดย THE STANDARD TEAM
18.02.2021
  • LOADING...
ประเสริฐ ซักฟอก จุรินทร์ ปล่อยคนใกล้ชิดทุจริตเงิน อคส. ปมถุงมือยาง วางแผนโกงเป็นระบบ เปิดคลิปเสียง-เอกสารมัด

วันนี้ (18 กุมภาพันธ์)​ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลเป็นวันที่ 3 ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ด้วยเหตุทุจริตการจัดซื้อถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ซึ่งพบคนใกล้ชิด ได้แก่ สุชาติ เตชจักรเสมา ประธานกรรมการ อคส. อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมทำให้ อคส. เสียหายเป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาทว่า ในการจัดซื้อถุงมือยางของ อคส. นั้น พบว่าไม่ได้ทำตามขั้นตอนของกฎหมายและขั้นตอนปฏิบัติปกติของราชการ และยังพบการทำสัญญาลวงกับ 7 บริษัทเอกชนที่ไม่เคยประกอบกิจการซื้อขายถุงมือยาง

 

ทั้งนี้ กระบวนการเริ่มต้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 เมื่อ เกียรติขจร แซ่ไต่ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย อคส. แจ้งกับที่ประชุม ซึ่งมี พ.ต.อ. รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ รักษาการผู้อำนวยการ อคส. ว่าเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 บริษัท เครเน็กซ์ ลอว์ ออฟฟิศ สหรัฐอเมริกา มีหนังสือแสดงเจตจำนงซื้อถุงมือยางจำนวน 500 ล้านกล่อง ราคากล่องละ 230 บาท และ อคส. ได้เจรจาซื้อถุงมือยางจากบริษัท การ์เดียน โกลฟส์ เมื่อว้นที่ 27 สิงหาคม 2563 ทั้งที่บริษัทดังกล่าวจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 ก่อนได้ทำสัญญา 2 เดือน มีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท โดยมี ธณรัสย์ หัดศรี เป็นกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นบุคคลที่ถูกพิพากษาคดีฉ้อโกงและคดีอาญา และได้รับราคาเสนอขายกล่องละ 225 บาท ทั้งนี้ มีเงื่อนไขในสัญญา อคส. ว่าต้องชำระเงินล่วงหน้าจำนวน 2,000 ล้านบาท ขณะท่ีบริษัท การ์เดียน โกลฟส์ ต้องวางเงินประกัน 200 ล้านบาท ทำให้เรื่องดังกล่าวมีเงินทอนถึง 1,800 ล้านบาท โดยตนมีข้อสังเกตว่าการเจรจาดังกล่าวไม่มีการสอบราคา ไม่ได้ตรวจสอบ และผิดขั้นตอน นอกจากนั้น พ.ต.อ. รุ่งโรจน์ ยังมีหนังสือตอบให้เร่งดำเนินการโดยด่วน

 

ประเสริฐอภิปรายด้วยว่า จากนั้นมีหนังสือเวียนแจ้งว่ามี 7 บริษัทเอกชนต้องการซื้อถุงมือยางจาก อคส. ได้แก่

1. บริษัท ไทยสไมล์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแปรรูปผักและผลไม้ จำนวน 52 ล้านกล่อง กล่องละ 225 บาท รวมเป็นเงิน 11,700 ล้านบาท

2. บริษัท กาโลลี่ แมนเนจเม้นท์ จดทะเบียนที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ซื้อ 100 ล้านกล่อง กล่องละ 223 บาท รวมเป็นเงิน 22,300 ล้านบาท

3. บริษัท เครเนค ลอว์ ออฟฟิศ เป็นบริษัทจดทะเบียนที่สหรัฐอเมริกา ซื้อ 500 ล้านกล่อง กล่องละ 230 บาท รวมเป็นเงิน 115,000 ล้านบาท

 

“ข้อสังเกตของ 3 บริษัทนี้คือเป็นสัญญาลวง ไม่มีสัญญาจริง เพื่อสร้างข้อมูลเท็จว่ามีการสั่งซื้อจำนวนมาก แต่ไม่พบการเรียกเงินมัดจำหรือหลักประกันค้ำสัญญา ซึ่งปกติต้องมี สิ่งที่ผมมองว่าเป็นสัญญาลวงเพื่อต้องการอ้างเป็นเหตุว่ามีออร์เดอร์ และ อคส. มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดหาถุงมือยาง จึงรีบเจรจากับบริษัท การ์เดียน โกลฟส์” ประเสริฐกล่าว

 

ประเสริฐอภิปรายต่อว่า 4. บริษัท ควีนพาวเวอร์ คอมปานี จำกัด ซึ่งตรวจสอบที่ตั้งแล้วเป็นเพียงสำนักงานกฎหมาย สั่งซื้อ 12 ล้านกล่อง กล่องละ 210 บาท รวมเป็นเงิน 2,520 ล้านบาท

5. บริษัท ทเวนตี้โฟร์ คลีน เอ็นเนอร์จี้ สั่งซื้อ 12 ล้านกล่อง กล่องละ 215 บาท รวมเป็นเงิน 2,580 ล้านบาท

6. บริษัท เคเค ออยล์ จำกัด สั่งซื้อ 50 ล้านกล่อง กล่องละ 220 บาท รวมเป็นเงิน 11,000 ล้านบาท

และ 7. บริษัท เอ แอเมทิสต์ จำกัด สั่งซื้อ 100 ล้านกล่อง กล่องละ 210 บาท รวมเป็นเงิน 21,000 ล้านบาท ทั้งที่เป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาทเท่านั้น



ทั้งนี้ เมื่อรวม 7 บริษัทจะมียอดสั่งซื้อ 826 ล้านกล่อง มูลค่ารวม 186,100 ล้านบาท เฉลี่ยราคาต่อกล่อง 225 บาท ถือว่าขาดทุน ดังนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องจากสัญญาที่ อคส. ดำเนินการ และไม่ใช่การช่วยเกษตรกร

 

จากนั้นประเสริฐได้อภิปรายพร้อมนำคลิปเสียงที่อ้างว่าเป็นบทสนทนาระหว่าง พ.ต.อ. รุ่งโรจน์ และสุชาติ ระหว่างการประชุมบอร์ด อคส. เมื่อ 26 สิงหาคม 2563 ว่าในบทสนทนาได้ถามถึงสัญญาที่ควรนำมาแสดง เพราะมีมูลค่าสูง แต่มีการทักท้วงว่าเป็นเรื่องลับ และสุชาติระบุว่าให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้กดดัน แสดงว่าจุรินทร์มีส่วนรู้เห็นกับเรื่องดังกล่าวใช่หรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากประชุมพบว่าบันทึกรายงานการประชุมที่ตัดวาระดังกล่าวออกจากบันทึก ซึ่งตนแปลกใจว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นอาจเป็นประเด็นเพื่อไม่ให้มีผลต่อความรับผิดชอบ หรือถูกสอบว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่

 

ประเสริฐอภิปรายอีกว่า ส่วน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้กำกับดูแล จะถูกแจ้งความดำเนินคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะไม่ได้กำกับดูแล แม้ก่อนหน้านี้ พล.อ. ประยุทธ์ จะย้าย พ.ต.อ. รุ่งโรจน์ ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ไม่พบการตรวจสอบหรือสั่งอายัดเงินจำนวน 400 ล้านบาทจากบริษัทเอกชน

 

“เชื่อว่านายกรัฐมนตรีไม่กล้าปรับหรือดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งที่กระทรวงพาณิชย์เป็นตัวอย่างการทุจริตในรัฐบาล และผมเชื่อว่ามีการทุจริตอีกหลายกระทรวง เพราะเป็นฐานเสียงให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สำหรับประเด็นที่เกิดขึ้น พบการวางแผนร่วมมือทุจริตอย่างเป็นระบบเพื่อนำเงินหลวงไปเป็นประโยชน์ต่อตนและพวกพ้อง การทุจริต หน้าด้าน ไร้ยางอาย ปล้นชาติ ช่วยคิด แบ่งแยก และหาประโยชน์อย่างไร้ยางอาย” ประเสริฐกล่าวในที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising