×

ตัวจริงนอกนวนิยายของ ปราบดา หยุ่น

23.04.2018
  • LOADING...

นอกจากจะคุ้นชื่อ คุ้นหน้า และคุ้นเคยกับตัวอักษรผ่านงานเขียน มองดูรวมๆ ปราบดา หยุ่น ในวันนี้ยังคงเป็นนักเขียนที่ดูดีสมวัย อาจจะอวบอุ่นขึ้นนิดหน่อย มีเส้นสีขาวๆ โผล่ผุดออกมาจากเคราดกๆ บ้างประปราย ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ด้วยเพราะอายุที่เดินหน้าสู่หลัก 44 ใกล้จะ 45 เต็มทน

 

เราพบกันในคราวนี้เนื่องในโอกาสที่ เบสเมนต์ มูน (Basement Moon) งานนวนิยายแนวไซไฟ-แฟนตาซีเล่มใหม่ของเขาเพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน (ย้อนกลับไปทำความรู้จักกับงานใหม่ของปราบดา ได้จากบทความ thestandard.co/prabda-yoon-basement-moon)

 

งานเขียนชิ้นใหม่ของปราบดาว่าด้วยเรื่องราวโลกอนาคตของเมืองไทยในปี 2069 ซึ่งเดินล้ำหน้าจากปัจจุบันนี้ไปอีก 51 ปี เขาจินตนาการถึงโลกดิสโทเปียที่ประเทศไทยยังคงตกอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยม พูดถึงเทคโนโลยีใหม่ที่ชื่อว่า จิตสำนึกประดิษฐ์ และขบวนการกบฏใต้ดิน… ซึ่งจะว่าไปเรื่องราวในนวนิยายก็กัดเซาะ กัดแซะ เทียบเคียงกับสภาพสังคม การเมืองไทยในปัจจุบันได้อย่างออกรสออกชาติ

 

และถ้าผู้อ่านเชื่อว่าปัจจุบันย่อมเชื่อมโยงกับตัวตนในอดีต งานชิ้นนี้ก็ยิ่งน่าสนใจ เพราะนั่นหมายความว่าเราจะได้ ‘อัปเดต’ ทำความรู้จักกับตัวตน ความคิด ความเชื่อของ ปราบดา หยุ่น ในวันนี้ ที่หลายสิ่งหลายอย่างรอบตัวนั้นเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง การมาของสิ่งใหม่ และการล้มหายตายจากของสิ่งเก่า ขณะที่ตัวเขาเองล่ะจะ ‘ยืนอยู่’ และเดินทางต่อไปในทิศทางแบบไหน

 

 

‘เบสเมนต์ มูน’ พูดถึงโลกอนาคตอีก 51 ปีข้างหน้า จินตนาการไปถึงจิตสำนึกประดิษฐ์ (Artificial Consciousness) ที่มีปัญญาสูงส่ง ขณะเดียวกันในวันนี้ โลกกำลังเถียงกันว่า ตกลงแล้วการมีอยู่ของ AI จะส่งผลดีหรือร้ายต่อมนุษย์ในอนาคต นักเขียนอย่างคุณคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้บ้าง

สำหรับผมนะ AI มันก็คือเครื่องมือแบบหนึ่งของมนุษย์ เป็นแค่เครื่องมืออย่างหนึ่งที่เราได้ประโยชน์จากมัน และก็มีโทษบางอย่างที่มนุษย์ต้องคอยระวังไม่ให้เรื่องร้ายๆ เกิดขึ้น แน่นอน ผมเชื่อว่าในอนาคตมันคงจะมีวิกฤตหรือเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นจาก AI แต่นั่นหมายความว่า ‘มนุษย์ไม่ควรสร้าง AI ใช่ไหม’ ผมคิดว่าก็ไม่นะ เพราะแง่ดีมันก็มี AI ช่วยเราได้หลายอย่าง เพราะฉะนั้นเราปฏิเสธเทคโนโลยีไม่ได้

 

คนเรามักจะมองแยกว่า ‘เทคโนโลยี’ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ แต่สำหรับผม ผมมองว่ามันคือส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ มนุษย์คิดค้นเทคโนโลยีมาตั้งแต่เราเริ่มมีอารยธรรม ทุกอย่างรอบตัวอย่างจานข้าว แก้วน้ำ เก้าอี้ นี่ก็เป็นเทคโนโลยี

 

จริงๆ แล้วนวนิยายเรื่องนี้ยังจะพูดถึงเทคโนโลยีด้านภาษาด้วย คือผมคิดว่า ‘ภาษา’ เป็นเทคโนโลยีที่ลึกลับซับซ้อนมากๆ ซึ่งสำหรับผม จริงๆ แล้วภาษาของมนุษย์มันล้ำกว่า AI มากๆ คือการคิดค้นภาษาขึ้นมาใช้มันสุดยอดมากๆ และมันก็เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เจริญขึ้นมาถึงทุกวันนี้ เราแตกต่างไปจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลกใบนี้ก็เพราะภาษา การเกิดได้ของ AI ก็เพราะว่าเรามีภาษา เพราะฉะนั้นภาษามันเป็นเครื่องมือที่ดูเหมือนจะง่ายมาก แต่มันสามารถทำให้เกิดผลผลิตที่งอกเงยตามมาได้มหาศาล

 

การเขียนก็เป็นภาษา ศิลปะก็มาจากภาษาก่อน และเช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ ภาษาก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ทุกวันนี้ที่เราทะเลาะกันมันก็เกิดขึ้นจากการทะเลาะกันผ่านภาษา

 

เหมือนคนส่วนใหญ่จะกลัวว่าถ้าพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ AI อาจจะฉลาดเกินมนุษย์ หรือมนุษย์อาจจะถูกควบคุมโดย AI เหมือนอย่างในหนัง   

ตอนนี้สิ่งที่ทุกคนกลัวคือการกลัวในสิ่งที่มนุษย์ยังพัฒนาไปไม่ถึง เพราะปัจจุบันยังไม่มี AI ที่สามารถทำอะไรได้ถึงขนาดนั้น แล้วเท่าที่ผมศึกษา ถ้าถามคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้จริงๆ ยังไม่มีใครที่กลัวถึงขั้นนั้น ความกลัวในลักษณะที่เราเห็นในฮอลลีวูดมันก็ยังไม่มี (หัวเราะ)

 

ผมคิดแม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ที่เรามีความรู้สึกว่ามนุษย์ขาดอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ได้ แต่ความจริงแล้วเราก็ยังขาดมันได้อยู่นะ คือถ้าเราตัดสินใจว่าจะเลิกใช้มือถือ เลิกใช้คอมพิวเตอร์ เราก็ยังอยู่ได้นะ

 

ทุกวันนี้ อย่างการมีสมาร์ทโฟน จริงๆ แล้วผมไม่ได้จำเป็นต้องใช้มันถึงขนาดว่าผมขาดมันไม่ได้นะ มันจำเป็นสำหรับผมแค่สองอย่างคือ ผมจำเบอร์โทรศัพท์ใครไม่ได้แล้ว ก็เลยต้องเปิดหาในโทรศัพท์ (หัวเราะ) สองคือเวลาเดินทาง ผมรู้สึกว่าแผนที่มีประโยชน์มาก ผมทำให้ผมไม่เคยหลงทางเวลาไปไหนอีกต่อไปแล้ว เวลาจะเดินทาง ผมแค่เปิดกูเกิลแมป ผมก็ไปถูกโดยไม่ต้องเตรียมตัวอะไรก่อน

 

แต่ถามว่าถึงกับขาดมันไม่ได้เลยจริงไหม ผมคิดว่าไม่ใช่ เพราะผมก็ยังสามารถจะใช้แผนที่ตามปกติ หรือเดินดุ่มๆ ได้เหมือนเดิม เพราะถ้าวันหนึ่ง AI มันพัฒนาไปถึงขั้นคุกคามความสงบสุขในชีวิตคนจริงๆ ผมคิดว่ามันก็ยังอยู่ในขั้นที่เราจัดการได้ เราดึงปลั๊กได้ (หัวเราะ) เราปล่อยให้แบตฯ มันหมดได้ เพราะในตอนนี้เรายังไม่มีสิ่งประดิษฐ์ที่พัฒนาไปถึงระดับที่สามารถเอาตัวรอดด้วยตัวเองได้ เหมือนกับสิ่งมีชีวิตที่หาของกินเองได้ ขยายพันธุ์เองได้  

ผมเชื่อว่าหนังสือยังอยู่ได้อีกนาน เพราะหนังสือมันมีการสัมผัส มีความสวยงาม หมายถึงว่าถ้าคุณออกแบบปกสวย คุณทำรูปแบบที่แตกต่าง น่าสะสม ฯลฯ ผมเชื่อว่าคนเราชอบวัตถุ และความต้องการของสวยงามมันยังไม่หายไปจากคน

พูดง่ายๆ ว่าถ้าปราบดาไม่มีมือถือ ไม่มีคอมพิวเตอร์สักหนึ่งเดือน หนึ่งปี อย่างไรเสียระบบชีวิตก็ไม่ล่ม   

จริงๆ แล้วผมอยากจะทำอย่างนั้นมากเลย ผมไม่ได้ต่อต้านเทคโนโลยีนะ แต่ผมมีความรู้สึกว่าผมใช้มันไม่คุ้ม และหลายๆ อย่างที่ใช้นอกจากไม่ได้จำเป็น แต่ยังสร้างความรำคาญและความทุกข์ให้ตัวเอง คือผมไม่ได้เป็นคนติดกับชีวิตออนไลน์สักเท่าไร โดยเฉพาะในโซเชียลเน็ตเวิร์ก แล้วผมรู้สึกว่ามันไม่แฟร์ที่สังคมกดดันว่าเราต้องใช้ สมมติว่ามีคนบอกว่า “ช่วยแชร์หน่อย” คือทำไมกูต้องช่วยมึงแชร์ (หัวเราะ)

 

มันเหมือนมีอะไรเพิ่มขึ้นมาในชีวิตที่เราไม่เคยตกลงกันมาก่อน แล้วอยู่ดีๆ เราก็ต้องจำยอมทำ หรือแม้แต่กับการทำงาน… คือผมไม่ได้ทำงานประจำ ไม่ได้ทำงานในออฟฟิศ แต่ผมก็เห็นใจคนที่มีความรู้สึกว่าเขาต้องทำงานตลอดเวลา ทั้งที่ในยุคหนึ่ง การทำงานมันมีเวลาจำกัดและชัดเจน คุณไปทำงานช่วงนี้ หลังจากนั้นคุณมีเวลาส่วนตัว คุณจะอยู่บ้านหรืออยากออกไปทำอะไรก็ได้ แม้แต่เจ้านายคุณก็เกรงใจที่จะติดต่อวันเสาร์-อาทิตย์ แต่เดี๋ยวนี้เส้นแบ่งมันหายไปแล้ว (หัวเราะ) บางคนตอนตีสามคุณก็ยังได้รับอีเมลสั่งงานอยู่ แล้วคนก็คาดหวังว่าคุณจะต้องทำ ถ้าคุณไม่ทำมันจะเหมือนกับว่าคุณไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร หรือไม่คุณก็ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งมันไม่แฟร์

 

ผมรู้สึกว่าโลกโซเชียลหรือโลกออนไลน์แบบทุกวันนี้เหมือนมันสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาโดยที่ยังไม่ได้มีการตกลงร่วมกัน แล้วผมก็รู้สึกว่าตัวเองไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปอยู่ในวงจรนั้น

 

สมมติว่ามีอาชีพเป็นนักเขียน ผมพูดถึงในต่างประเทศแล้วกัน เท่าที่ทราบนะครับ เดี๋ยวนี้เวลาที่นักเขียนออกหนังสือใหม่ สำนักพิมพ์ก็จะคาดหวังว่าตัวนักเขียนต้องช่วยโปรโมต ต้องช่วยพูดถึงงานของตัวเองทางทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์ส่วนตัว ยิ่งพูดเยอะเท่าไรก็ยิ่งดี หนังสือจะได้ขายเยอะๆ ซึ่งนั่นเท่ากับว่าสำนักพิมพ์ก็แค่พิมพ์หนังสือ แล้วคาดหวังว่านักเขียนจะต้องช่วยพีอาร์ แต่ในอดีตมันไม่ใช่หน้าที่ของนักเขียนที่จะต้องมานั่งพีอาร์หนังสือตัวเอง สำนักพิมพ์ต่างหากต้องมีหน้าที่กระตุ้นการขาย แต่เดี๋ยวนี้เหมือนทุกคนถูกคาดหวังว่าจะต้องช่วย ซึ่งถ้าพูดในฐานะนักเขียนผมก็รู้สึกว่าถ้าต้องไปทำอย่างนั้นมันก็ไม่แฟร์ เพราะทุกคนมันมีความถนัดกันคนละแบบ อย่างคนที่เป็นนักเขียน ก็เพราะว่าเขาถนัดที่จะเป็นนักเขียน เขาอาจจะไม่ถนัดที่จะเป็น ‘โซเชียลคอมเมนเตอร์’ หมายถึงว่ามันไม่ได้จำเป็นว่าทุกคนจะต้องมีความคิดเห็นหรือชำนาญในการแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก

 

 

การเป็นนักเขียนที่เป็นนักเขียนเฉยๆ กับการเป็นนักเขียนที่สำนักพิมพ์เป็นของตัวเอง สนุกต่างกันไหม

มันก็ต่างนะ ผมมีเพื่อนนักเขียนหลายคนที่ทำสำนักพิมพ์ของตัวเอง แล้วผมเชื่อว่าโดยส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากทำหรอก มันไม่ใช่เรื่องสนุก แต่สาเหตุที่ทำก็เพราะมันดีในแง่ผลประโยชน์ที่เราจะได้รับ รวมไปถึงการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง แต่ถามว่านักเขียนที่ชอบเขียนหนังสือ เขาอยากจะทำธุรกิจ อยากทำสำนักพิมพ์ ติดต่อสื่อสารกับโรงพิมพ์ การทำบัญชี หรืออย่างการทำสต็อกไหม ผมคิดว่าไม่…   

 

อีกอย่างในความเป็นจริง เวลาเราบอกว่าพิมพ์หนังสือที่ตัวเองเขียนกับคนต่างชาติ โดยเฉพาะโลกตะวันตก หรือในสังคมที่วัฒนธรรมการพิมพ์หนังสือเขาเจริญแล้ว มันจะตลกมาก หมายถึงถ้าทำแบบนี้ในประเทศของเขามันจะโดนดูถูกว่าไม่จริงจัง ดูถูกว่าเป็นการโปรโมตตัวเอง มึงไม่ได้รับการยอมรับจากใคร อยู่ดีๆ มึงพิมพ์ขายเอง คือมึงมาจากไหน ใครบอกว่างานมึงดี (หัวเราะ)

 

ในขณะที่บ้านเรา สำหรับนักเขียนหลายคนทำเองกลับดีกว่า พูดง่ายๆ เพราะว่าเราเข้าใจงานตัวเองมากกว่า หรือบางทีเราตัดสินใจได้ว่าจะบรรณาธิการมันอย่างไร ย่อยให้เล็กลงไปอีกอย่างเรื่องการพิสูจน์อักษร บางทีเรายังเชื่อมั่นมากกว่าในการพิสูจน์อักษรเอง เพราะหลายครั้งสำนักพิมพ์ก็ทำให้เราผิดหวังกับการพิสูจน์อักษรที่ไม่รัดกุม ทั้งหมดทั้งมวลกลายเป็นว่าการพิมพ์หนังสือเองในบ้านเรามันคล่องตัวกว่า ไปจนถึงอาจจะได้คุณภาพที่ดีกว่า

แต่ละยุคสมัยมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง เท่าที่ผมสังเกตนะ สิ่งที่ตายมันมักจะเป็นสิ่งที่อยู่บนพื้นฐานของความเปราะบางแต่แรกอยู่แล้ว เช่น แมกกาซีน ซึ่งการผลิตมีต้นทุนสูงมาก แต่คุณต้องขายในราคาถูก ไม่อย่างนั้นไม่มีใครซื้อ ฉะนั้นก็เลยต้องไปหาโฆษณามาลงเยอะๆ ‘แมกกาซีนอยู่ได้เพราะโฆษณา’

คุณมองภาพรวมของแวดวงวรรณกรรมบ้านเราในตอนนี้อย่างไรบ้าง หลายคนบอกว่านี่เป็นยุคที่คนอ่านหนังสือน้อย แล้วหันไปเสพข้อมูลทางโซเชียลเน็ตเวิร์กเสียส่วนใหญ่

แวดวงวรรณกรรมมันมีความพิเศษอย่างหนึ่ง คือมันเป็นที่สนใจของคนกลุ่มน้อยมาตลอดอยู่แล้ว มันอาจจะมีช่วงรุ่งเรืองบ้างเป็นบางยุค แต่ถ้าย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจำนวนพิมพ์ จำนวนคนอ่าน จำนวนยอดขาย หรือค่าลิขสิทธิ์ต่างๆ มันใกล้เคียงกันมาตลอดนะครับ แล้วมันเป็นเหมือนกันทั่วโลก ยกตัวอย่าง บางคนอาจจะมองว่าเมืองไทยพิมพ์หนังสือกันทีละแค่พันเล่ม สองพันเล่ม ความจริงในอเมริกาหรืออังกฤษเขาก็พิมพ์หนังสือกันด้วยหลักพันเล่ม สองพันเล่ม เพราะว่าวรรณกรรมในลักษณะที่ซีเรียสหน่อยมันไม่เคยมีคนอ่านเยอะอยู่แล้ว หนึ่ง เพราะมันเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยสำหรับชีวิตของคนที่ต้องหากิน สอง มันไม่ใช่สิ่งที่เป็นเรื่องรสนิยมของทุกคน แล้วเขาก็ไม่จำเป็นต้องอ่าน ซึ่งนักเขียนเองก็ต้องยอมรับตรงนี้เหมือนกันว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ แล้วเรากำลังทำอยู่ในสังคมแบบไหน

 

สมมติว่าคุณเป็นนักเขียนวรรณกรรมทดลอง หรือวรรณกรรมอะไรที่มันอ่านยากๆ หน่อย ผมคิดว่าถ้าเราไปมีความคาดหวังที่เกินจริง เราก็จะรู้สึกว่าทุกอย่างมันแย่ ทุกอย่างมันไม่เคยมีอะไรดีเลย แต่ถ้าเราทำความเข้าใจว่า มันก็แย่อยู่ก่อนแล้ว (หัวเราะ) เราก็ต้องหาวิธีที่จะอยู่กับมัน ถ้าเรายังรักที่จะทำมัน

 

ผมเองคิดเสมอเลยว่าการที่เราเป็นนักเขียนวรรณกรรมหรือการเป็นอะไรที่มันยากๆ ทั้งหลาย อย่างการเป็นกวี การเป็นศิลปิน การเป็นคนทำหนังอิสระ ฯลฯ ความจริงแล้วทำเป็นงานอดิเรกดีกว่า คือถ้าคุณมีลู่ทางในการหารายได้อย่างอื่นที่สามารถจะเอาตัวรอด หาเงินมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องคุณและคนในครอบครัวได้ คุณทำอย่างอื่นไปเลย  

แผ่นเสียงมันเหมือนงานศิลปะอย่างหนึ่ง มันมีขนาดที่ใหญ่พอสมควร หน้าปกติดแล้วเหมือนรูปภาพ อะไรก็ตามที่ทำให้คนรู้สึกว่ามีวัฒนธรรม เป็นวัตถุสวยงาม มันจะยังมีชีวิตของมันต่อไป ทำไมเทปคาสเซ็ตต์ถึงไม่กลับมา ก็เพราะมันไม่สวยงามไง

ส่วนการทำงานศิลปะเนี่ย ให้มันมาทำให้จิตใจคุณรื่นรมย์ ชุ่มชื่น มีน้ำหล่อเลี้ยงในหัวใจ ด้วยช่วงเวลาอื่น ที่คุณไม่ต้องมานั่งคาดหวังว่ามันจะทำเงินมหาศาล เพื่อจะเลี้ยงชีวิตคุณหรือคนในครอบครัวได้ เพราะถ้าคุณอยากจะทำอย่างนั้น ถึงยังไงคุณก็ต้องประนีประนอม… ไม่ใช่ว่านักเขียนรวยไม่ได้ ผมเชื่อว่ารวยได้ แต่คุณจะเขียนอย่างที่คุณอยากเขียนทั้งหมดไม่ได้ คุณก็ต้องเขียนแบบที่ตลาดชอบ หรือต้องเขียนในแบบที่คนอยากให้คุณเขียน

 

 

แล้วปราบดาอยู่ตรงจุดไหนของทั้งสองอย่าง

ผมเองก็ทำทั้งสองอย่างนะ หนึ่ง ก็ต้องยอมรับว่าผมก็ไม่ได้มาจากครอบครัวที่ฐานะยากจน ผมก็เลยไม่ได้ต้องคิดเรื่องปากท้องเป็นอันดับหนึ่ง ตั้งแต่เด็กผมก็เลยโตขึ้นมาพร้อมกับความคิดที่เพ้อฝันอยู่แล้ว (หัวเราะ) ว่าชอบศิลปะ ชอบวรรณกรรม ชอบอ่านหนังสือ แต่เมื่อถึงวันหนึ่งที่เรียนจบ ออกมาทำงาน ผมก็เป็นคนที่ไม่ชอบให้ใครมาดูถูกว่าขอเงินที่บ้านกิน ในเมื่อเราไม่อยากเป็นแบบนั้น มันเลยมีส่วนที่ทำให้เราพยายามอยากจะดิ้นรนด้วยตัวเอง

 

ถามว่าส่วนใหญ่ผมได้ทำในสิ่งที่อยากทำไหม ก็ใช่ ผมโชคดีที่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ แต่ในขณะเดียวกันผมก็ต้องทำงานที่ต้องประนีประนอมเพื่อให้เกิดรายได้ด้วยเหมือนกัน อย่างงานเบื้องหลังรายการทีวี งานเขียนบทหนัง หรืองานบางอย่างที่มันเป็นเชิงพาณิชย์หน่อย

เราแค่เข้าใจว่าตัวเองเป็นแบบไหน แล้วพยายามที่จะใช้ชีวิตสอดคล้องกับที่เราเป็น โดยไม่ทำอะไรที่เกินตัวหรือผิดไปจากที่ตัวเองเป็น ไอ้ความเข้าใจตรงนี้ก็นำพามาซึ่งความสงบในใจได้เหมือนกัน

จริงๆ อยากทำไหม หรือทำเพราะต้องประนีประนอม

ก็อยากทำนะครับ คือบางอย่างผมคิดว่ามันควรจะทำ อย่างเช่นทำหนัง (ช่วงปีที่แล้ว ปราบดามีผลงานภาพยนตร์อิสระออกมาถึง 2 เรื่องคือ Motel Mist โรงแรมต่างดาว และ Someone From Nowhere) คืออย่างนี้นะครับ ผมคิดว่าการที่เราทำหนังอิสระด้วยเงิน… สมมติว่า 5 ล้าน แล้วทำตามใจตัวเองทุกอย่างเลย อาร์ตมากๆ ไม่ประนีประนอมใดๆ แล้วเวลามันเข้าโรงฉาย หนังได้เงิน 80,000 บาท แบบนี้ผมคิดว่ามันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

 

ผมคิดว่าการทำสิ่งที่มันต้องลงทุนมากขนาดนั้น มันควรจะพยายามให้ได้อะไรกลับมา อย่างน้อยเพื่อทุกคนที่ทำงานหรือคนที่เกี่ยวข้องกับงานจะได้ค่าตัวที่เหมาะสม คือมันไม่ควรจะมีใครต้องลำบากจากการปรนเปรอศิลปิน (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นถ้าผมจะทำหนัง ผมก็อยากทำอย่างมีการประนีประนอมด้วย ไม่ใช่ว่าตามใจตัวเองทั้งหมด

 

ถือว่าประสบความสำเร็จไหมในการทำสิ่งใหม่แต่ละอย่าง

บางอย่างก็ได้ บางอย่างก็ไม่ได้ เช่น ภาพยนตร์ก็ยากอยู่ เพราะการทำหนังมันมีปัจจัยที่เยอะ เราควบคุมเองไม่ได้ อย่างเช่นการกระจายหนัง การพาหนังเข้าฉาย จำนวนโรงฉาย ซึ่งมีกรอบของมัน ยากที่จะไปจัดการด้วยตัวเอง

 

 

คุยเรื่องวงการวรรณกรรมแล้วก็ทำให้นึกถึงวงการสิ่งพิมพ์ คุณมองปรากฏการณ์ที่เขาบอกกันว่า ‘สื่อเก่ากำลังจะตาย’ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ฯลฯ ในมุมแบบไหน

บางอย่างจริงแน่นอน เพราะมันตายไปแล้ว อย่างเช่นแมกกาซีน ผมเป็นคนที่ไม่ยึดติดมาก การเปลี่ยนแปลงสำหรับผมมันเป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่บางคนอาจจะปรับตัวง่าย บางคนอาจจะปรับตัวยาก ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าสะเทือนใจสำหรับคนที่ปรับตัวไม่ได้ บางคนที่เขาอยู่มาอย่างนี้จนอายุ 60-70 แล้ว อยู่ดีๆ จะให้เขาไปเปลี่ยนมันก็ยาก ก็น่าเห็นใจ

 

แต่ละยุคสมัยจึงมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง เท่าที่ผมสังเกตนะ สิ่งที่ตายมันมักจะเป็นสิ่งที่อยู่บนพื้นฐานของความเปราะบางแต่แรกอยู่แล้ว เช่น แมกกาซีน ซึ่งการผลิตมีต้นทุนสูงมาก แต่คุณต้องขายในราคาถูก ไม่อย่างนั้นไม่มีใครซื้อ ฉะนั้นก็เลยต้องไปหาโฆษณามาลงเยอะๆ ‘แมกกาซีนอยู่ได้เพราะโฆษณา’

 

กระทั่งวันหนึ่งเมื่อเจ้าของสินค้าคิดว่าการไปลงโฆษณากับคุณไม่ได้ประโยชน์อะไร  เขาก็เอาสินค้าไปลงโฆษณากับสื่ออื่นที่เข้าถึงคนมากกว่า เป็น logic ที่ชัดเจนมาก อีกเหตุผลหนึ่งคือข่าวสารหรือเนื้อหาสาระที่มันมาพร้อมกับแมกกาซีน ยกตัวอย่าง บทสัมภาษณ์ คำแนะนำเกี่ยวกับสินค้าใหม่ๆ ฯลฯ คนเสพก็สามารถหาได้ในสื่อใหม่ เร็วกว่าอีกต่างหาก ข่าวเดียวกันวันนี้ลงออนไลน์ไปแล้ว แต่แมกกาซีนคุณต้องรออาทิตย์หน้า

แม้ว่าคุณพ่อผมเขาจะเป็นคนที่ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ขึ้นมา ทุกวันนี้เขาก็พูดตลอดเวลาว่าหนังสือพิมพ์มันจะตายแล้ว เขาก็ก้าวไปสู่สิ่งอื่นโดยไม่ยึดติด แล้วที่น่าทึ่งคือเขาก็จะทำไปเลย สมมติว่าผมคิดจะทำ ผมอาจจะเตรียมตัวก่อน ว่าทำยังไงให้ไลฟ์ออกมาสวยงาม ฉากควรจะเป็นยังไง ผมต้องแต่งตัวยังไง แต่พ่อผมไม่เลย เขาทำเลย อยู่บ้านใส่เสื้ออะไรอยู่เขาก็ไลฟ์เลย ผมรู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขามาก

ถึงแม้ว่าผมจะเคยเป็นคนที่ชอบอ่านแมกกาซีนมาก และเห็นคุณค่าของแมกกาซีนบางหัวที่ต้องตาย แต่ผมก็รู้สึกว่ามันไม่ได้น่าแปลกใจหรือน่าเสียดาย เพราะเรายังคงได้ข้อมูลที่ดีพอกันไหมในออนไลน์ ตรงนี้เป็นอีกคำถามหนึ่งที่สำคัญกว่า

 

แต่อีกสิ่งที่ผมเห็นในตอนนี้คือ คุณภาพของออนไลน์อาจจะแย่กว่า ตรงนี้เราก็ต้องแยกแยะเองแล้วว่าสื่อไหนมีคุณภาพในการเขียน หรือมีความละเอียดอ่อนในการเรียบเรียง พิสูจน์อักษร เวลาอ่านบทความออนไลน์เราจะเห็นได้เลยว่า ‘คำผิด’ มีเพียบเลย เพราะเขาต้องรีบ เลยไม่มีเวลาจะพิสูจน์อักษรกันอย่างละเอียด

 

ความจริงมีหลายอย่างมากเลยนะ ไม่ใช่แค่แมกกาซีน อย่างการฟังเพลงด้วยซีดีที่ไม่มีคนซื้อฟังกันแล้ว ที่เมื่อก่อนฟังก็เพราะว่ามันมีให้เลือกแค่นั้น คือมีเครื่องเล่นแผ่นเสียง เทปคาสเซ็ตต์ และซีดี อยากซื้อหรือเปล่าไม่รู้นะ แต่คุณก็ต้องซื้อ วันนี้พอมีตัวเลือกอื่นที่ทำให้คุณไม่ต้องออกจากบ้านไปซื้อที่สยาม อยู่ในห้องที่บ้านคุณฟังได้เลยทันที คนก็เลือกฟังอย่างนั้นไง ผมเลยคิดว่าทุกความเปลี่ยนแปลงมันมี logic ของมันทั้งหมด

 

แต่สถิติล่าสุดยอดขายแผ่นเสียงสูงกว่ายอดดาวน์โหลดเพลงเป็นครั้งแรกเลยนะ

ใช่ๆ อย่างแผ่นเสียงเนี่ย ที่ยอดขายมันเพิ่มสูงขึ้นเพราะรูปแบบการเสพมันกลายเป็นนีชเหมือนหนังสือ ผมเชื่อว่าหนังสือยังอยู่ได้อีกนาน เพราะหนังสือมันมีการสัมผัส มีความสวยงาม หมายถึงว่าถ้าคุณออกแบบปกสวย คุณทำรูปแบบที่แตกต่าง น่าสะสม ฯลฯ ผมเชื่อว่าคนเราชอบวัตถุ และความต้องการของสวยงามมันยังไม่หายไปจากคน

 

ตอนนี้ยอดขายอีบุ๊กก็เริ่มตกลง เพราะถึงจุดหนึ่งผมเชื่อว่าคนที่ชอบอ่านหนังสือเขาจะรู้สึกว่าการซื้ออีบุ๊กซื้อมา 500 เล่ม ก็อยู่แต่ในอุปกรณ์ชิ้นนี้ที่ใช้อ่าน เห็นก็ไม่เห็น อ่านก็ไม่หมด แต่ถ้าคุณซื้อมาเป็นเล่มๆ คุณอาจจะไม่ได้อ่านมันเหมือนกัน แต่คุณก็ยังได้เห็นไงว่านี่ไงหนังสือฉัน แล้วหนังสือมันมีความสวยงาม ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าของสวยงามมันก็คือเครื่องประดับอย่างหนึ่ง หรือการที่เราซื้อแผ่นเสียงแล้วเห็นว่ามันสวย เรามาตั้งโชว์ในห้อง นั่นก็ทำให้เรามีความรู้สึกดีของตัวเอง เรามีความรื่นรมย์ รู้สึกว่าได้เห็นของสวยงาม

 

แผ่นเสียงมันเหมือนงานศิลปะอย่างหนึ่ง มันมีขนาดที่ใหญ่พอสมควร หน้าปกติดแล้วเหมือนรูปภาพ อะไรก็ตามที่ทำให้คนรู้สึกว่ามีวัฒนธรรม เป็นวัตถุสวยงาม มันจะยังมีชีวิตของมันต่อไป ทำไมเทปคาสเซ็ตต์ถึงไม่กลับมา ก็เพราะมันไม่สวยงามไง (หัวเราะ)

 

 

หนังสือพิมพ์น่าจะรวมอยู่ในกลุ่ม ‘สื่อเก่า’ ด้วย

ใช่ ก็เก่านะครับ

 

ได้คุยกับคุณสุทธิชัย หยุ่น เรื่องพวกนี้บ้างไหมครับ

คุณพ่อผมเขาเป็นคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวของโลกมากกว่า แล้วปรับตัวเข้ากับโลกมากกว่าผมอยู่แล้ว ทุกวันนี้เขาทำเฟซบุ๊กไลฟ์ ขณะที่ผมเองยังไม่เคยทำสักครั้งเดียวเลย (หัวเราะ) เขาล้ำกว่าผมมาก เป็นคนที่สนใจและตื่นตัวกับสื่อใหม่ๆ ไม่ว่าปัจจุบันโลกจะเปลี่ยนไปเป็นอะไร เขาก็จะตาม อยากจะลอง อยากจะทำ ซึ่งต่างจากผม ผมมีความสนใจเฉพาะด้านของผมเอง

 

ได้ติดตาม Suthichai Live บ้างไหมครับ

ดูบ้างๆ เมื่อคืนก็ดู (หัวเราะ)

 

คุณมองพ่อในแง่มุมนี้อย่างไรบ้าง เพราะไม่ใช่ทุกคนแน่ๆ ไม่ว่าจะวัยนี้หรือวัยไหน ที่จะสนใจ มีไฟจะตามโลกขนาดนั้น  

สำหรับผมก็น่าทึ่งนะครับ เพราะเขาเองก็ไม่ยึดติดกับสิ่งเก่าเหมือนกัน แม้ว่าเขาจะเป็นคนที่ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ขึ้นมา ทุกวันนี้เขาก็พูดตลอดเวลาว่าหนังสือพิมพ์มันจะตายแล้ว เขาก็ก้าวไปสู่สิ่งอื่นโดยไม่ยึดติด

 

แล้วที่น่าทึ่งคือเขาก็จะทำไปเลย หมายถึงสมมติว่าผมคิดจะทำ ผมอาจจะเตรียมตัวก่อน อาจจะคิดว่าทำยังไงให้ไลฟ์ออกมาสวยงาม (หัวเราะ) ฉากควรจะเป็นยังไง ผมต้องแต่งตัวยังไงถึงจะออกมาโอเค แต่พ่อผมไม่เลย เขาทำเลย อยู่บ้านใส่เสื้ออะไรอยู่เขาก็ไลฟ์เลย ผมรู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขามาก

ยกเลิกเกณฑ์ทหารได้ก็ดี เพราะผมเชื่อว่าถ้าเปิดให้เป็นทหารตามความสมัครใจ ยังไงก็มีคนสมัครใจในจำนวนเพียงพอที่จะเข้าไปเป็นทหารแน่ๆ เพราะถ้าไม่ได้อยากเป็นแต่ต้องไปเป็น ผมว่ามันเสียเวลาชีวิตคน แล้วผมยังมองไม่เห็นประโยชน์อะไรเลยนะ โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้

อนาคตของประเทศล่ะคุณมองอย่างไรบ้าง ล่าสุดมีคนรุ่นใหม่เปิดตัวจะทำงานการเมืองเยอะเลย

แน่นอนผมรู้สึกว่ามันเป็นทางเลือกที่ดี เพราะตั้งแต่เด็กผมตั้งคำถามมานานแล้วว่าทำไมเราต้องเลือกแต่คนแก่ๆ ทำไมในรัฐบาลถึงมีแต่คนที่อยู่ในรัฐบาลมาหลายทศวรรษแล้ว ทำไมถึงไม่มีคนหนุ่มสาวเข้ามาทำงานบ้าง ณ วันนี้เมื่อมันมีขึ้นมาแล้ว ผมรู้สึกว่ามันก็เป็นเรื่องที่ดีนะฮะ มันสร้างความตื่นตัว สร้างสีสันใหม่ๆ แล้วผมเชื่อว่ามันก็มีผลจริงๆ ในการกระตุ้นให้พรรคเก่าๆ พยายามเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคสมัย

 

แต่ขณะเดียวกันในวัยนี้ ผมก็มีความเข้าใจในระบบสังคมมากขึ้น มีความเข้าใจในความต้องการของผู้คนมากขึ้น ผมเชื่อว่าก็ยังเป็นเรื่องยากที่… ความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่จะสอดคล้องกับความต้องการของสังคม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มันต้องใช้เวลา โดยเฉพาะในบ้านเราเนี่ย มันต้องต่อสู้กับอะไรหลายอย่างที่ฝังรากลึก แนวคิดอนุรักษนิยมบางอย่างมันยากที่จะเปลี่ยนแปลงหรือขจัดออกไป

 

มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่ประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นคนหนุ่ม คนรุ่นใหม่ เหมือนอย่างประเทศอื่นบ้าง

เป็นคนหนุ่มเราก็เคยมีนะ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะไง

 

มีตัวเลือกใหม่กว่านี้ หนุ่มกว่านี้ สดกว่านี้อีกหน่อยไหม…

หนุ่มกว่านี้เหรอ ผมอยากให้มีนะ แต่ ณ วันนี้ จะเรียกว่ามองโลกในแง่ร้ายหรือเปล่า แต่ผมคิดว่ายังยาก ไม่ใช่เพราะประเทศเราไม่สามารถสร้างคนที่มีคุณภาพหรือมีประสิทธิภาพจะทำแบบนั้นได้นะครับ แต่เป็นเพราะอำนาจเก่าเขาจะไม่ยอมให้มี เพราะต่อให้คุณได้ขึ้นมาเป็นผู้นำ คุณก็ต้องเข้าไปทำงานกับอำนาจเก่าที่ไม่แคร์ความเปลี่ยนแปลงของโลกจริงๆ คือเขายังยึดติดอยู่กับฟองอากาศบางอย่างที่มันไม่สอดคล้องกับความเป็นสมัยใหม่ในโลกปัจจุบัน

 

ผมมองว่าทุกสังคมมีอำนาจเก่าที่มันฝังรากหรือสร้างอะไรเอาไว้เยอะจนมันยากที่จะเปลี่ยนแปลง แล้วหลายๆ อย่างนั้นมันต้องการวิกฤต มันถึงจะเปลี่ยน เพราะถ้าไม่มีวิกฤต คนก็จะอยู่กันอย่างนั้น มันไม่มีใครไปเขย่า ไม่มีใครไปรื้อถอน ซึ่งประเทศไทยมันเป็นอย่างนั้นมานานมากเสียจน …มีหลายอย่างมากที่ต้องการการรื้อถอนอย่างจริงจัง แต่จะทำยังไงให้รื้อถอนโดยไม่เกิดการสูญเสีย ไม่ต้องใช้ความรุนแรง และเปลี่ยนแปลงอย่างสงบพอสมควร ซึ่ง ณ ตอนนี้ผมรู้สึกว่ามันยังยาก แต่ไม่ใช่ว่าไม่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงนะ ถ้าเปลี่ยนได้ก็ดีครับ

 

อีกอย่างผมรู้สึกว่าถ้าลองเอาตัวเองไปแทนตัวคนที่เขาพยายามจะเปลี่ยนแปลง นึกภาพตัวเองว่าถ้าได้เข้าไปเป็นรัฐบาลแล้วต้องเจอกับอะไรบ้าง โอ้โห แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว เพราะสิ่งที่ต้องเปลี่ยนข้างในนั้นบางอย่างมันเป็นเครือข่าย เต็มไปด้วยบุคลากรเบื้องหลังที่เรายากที่จะเข้าถึง ซึ่งมันเยอะเสียจนเรานึกไม่ออกว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร

 

 

เดือนเมษายนที่ผ่านมา บรรยากาศเกณฑ์ทหารกำลังแรง กระแสรณรงค์ให้ยกเลิกระบบเกณฑ์ทหารก็แรงด้วยเหมือนกัน ไหนๆ คุณก็เคยผ่านการเกณฑ์ทหารมาแล้ว รู้สึกอย่างไรกับมันบ้าง เป็นอีกระบบที่ควรเปลี่ยนแปลงด้วยหรือเปล่า  

สาเหตุที่ผมกลับมาเมืองไทยก็เพื่อมาเป็นทหาร ผมไม่ได้เกณฑ์ทหารนะครับ ผมไปสมัคร

 

ชีวิตปราบดา หยุ่นตอนฝึกทหารเป็นอย่างไรบ้าง

จะเรียกว่าไงดี สุขภาพดี แต่สมองหยุดนิ่ง (หัวเราะ) มันต้องตื่นเช้านะครับ วิ่งรอบสนามทุกเช้า แต่เวลาที่เหลือตลอดทั้งวันคือไม่มีอะไรทำเลย สิ่งที่มีให้คือสมุดหนึ่งเล่มกับปากกาที่หมึกไม่ค่อยดี เขาห้ามอ่านหนังสือ ห้ามเขียนอะไรจริงจัง เพราะฉะนั้นมันคือการฝึกกับอยู่เฉยๆ ซึ่งไอ้ช่วงอยู่เฉยๆ มันทำให้สมองแน่นิ่งมาก มันไม่รู้จะทำอะไรจริงๆ มันเลยไม่มีความสร้างสรรค์ใดๆ ในช่วงนั้น สมองตายได้ง่ายๆ กล้ามแข็งแต่ปัญญาอ่อน (หัวเราะ)  

 

ยกเลิกเกณฑ์ทหารได้ก็ดี ควรจะเป็นทหารตามความสมัครใจ เพราะผมเชื่อว่าถ้าเปิดให้เป็นทหารตามความสมัครใจ ยังไงก็มีคนสมัครใจในจำนวนเพียงพอที่จะเข้าไปเป็นทหารแน่ๆ เพราะถ้าไม่ได้อยากเป็นแต่ต้องไปเป็น ผมว่ามันเสียเวลาชีวิตคน แล้วผมยังมองไม่เห็นประโยชน์อะไรเลยนะ โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้

 

ตอนนี้คุณอายุ 44 ฝรั่งเขามีคำพูดกันประมาณว่า ชีวิตเริ่มต้นตอนอายุ 40 คุณเห็นด้วยไหม ความคิด ความรู้สึกตอนนี้กับตอนเขียนนวนิยายเล่มแรกหรือเล่มก่อนหน้านี้ต่างกันอย่างไรบ้าง

คนอื่นเป็นยังไงผมไม่รู้ แต่ส่วนตัวผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่มันเริ่มมาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือผมเข้าใจตัวเองมากขึ้น และยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นมากขึ้น หมายถึงไม่ได้คิดว่าเราจะต้องเป็นอะไรไปมากกว่านี้แล้ว อาจจะมีทั้งความพอ การยอมรับ และการเข้าใจตัวเอง อาจจะเป็นเพราะว่าเราอยู่มาครึ่งชีวิตแล้ว เกินครึ่งแล้วด้วยซ้ำ คือเราไม่รู้ไงว่าอนาคตจะตายเมื่อไร ถ้าเราวัดจากชีวิตคนโดยทั่วไปที่ส่วนใหญ่อยู่กันได้ถึง 70-80 ปี ตอนนี้ก็ถือว่าเกินครึ่งหนึ่งมานิดหน่อย

 

มันอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้รู้สึก… ไม่ได้คาดหวังอะไรกับตัวเองไปมากกว่านี้ เราแค่เข้าใจว่าตัวเองเป็นแบบไหน แล้วพยายามที่จะใช้ชีวิตสอดคล้องกับที่เราเป็น โดยไม่ทำอะไรที่เกินตัวหรือผิดไปจากที่ตัวเองเป็น ไอ้ความเข้าใจตรงนี้ก็นำพามาซึ่งความสงบในใจได้เหมือนกัน  

 

แสดงว่าเมื่อก่อนตอนวัยหนุ่มจะว้าวุ่นกับสิ่งที่ตัวเองอยากเป็น อยากทำมากกว่านี้

ผมเป็นแบบนั้นตั้งแต่วัยรุ่น เรามีความรู้สึกอยากทำโน่นทำนี่เต็มไปหมด แล้วก็รู้สึกว่าบางอย่างฉุดรั้งให้เราทำมันไม่ได้ เช่น การเรียน

 

สมัยเรียนผมจะรู้สึกว่าทำไมกูต้องเรียนหนังสือวะ มีความมั่นใจมากๆ ว่าไม่ต้องเรียนก็ทำได้ เราอยากเป็นศิลปิน อยากเขียนหนังสือ สนใจดนตรี แล้วตอนที่เข้าไปเรียนหนังสือก็จะคิดว่า ไม่จำเป็นเลยที่ต้องเรียนเลข เรียนภาษาไทย ตอนเป็นเด็กมีความเชื่อแบบนั้นว่าสามารถจะเลิกเรียนแล้วก็ไปเป็นศิลปินได้

 

เราจะอึดอัดกับวิถีที่สังคมกำหนดให้เราต้องทำ ทำไมเราต้องเรียนมหาวิทยาลัย 4 ปีวะ มันจะมีคำถามพวกนี้ตลอดเวลา เราไม่เชื่อในใบปริญญา เพราะเราเชื่อว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องทำตามขั้นตอนเหล่านั้น

 

แต่พอชีวิตมันผ่านมาจนถึงตอนนี้ ถามว่ายังคิดเหมือนเดิมไหม ก็อาจจะมีบางส่วนที่คิดเหมือนเดิม และอีกส่วนที่คิดต่างออกไป สำคัญคือประสบการณ์ที่ผ่านมา มันทำให้เรารู้ตัวมากขึ้นว่าเราเหมาะกับอะไร เราเหมาะที่จะใช้ชีวิตแบบไหน เรามีความสุขกับอะไร งานที่เราทำ เราทำได้ประมาณไหน มีการสำรวจตัวเองมาเรื่อยๆ จนทำให้รู้สึก โอเคกับตัวเองในระดับหนึ่ง

 

 

จากนักเขียนนวนิยายโลกอนาคต มองเห็นภาพอนาคต หรือคาดหวังในอนาคตของตัวเองไว้อย่างไรบ้าง

ไม่ค่อยมีนะ แต่ว่าผมเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบพึ่งพาคนอื่น เพราะฉะนั้นเวลาที่คิดถึงอนาคต เรามีเรื่องที่กังวลอย่างเดียวคือไม่อยากเป็นภาระของใคร ไม่อยากเป็นคนแก่ที่ทุกคนจะต้องมาคอยดูแล หรือสมมติว่าป่วยไข้มากๆ ต้องเข้าโรงพยาบาล ต้องนอนอยู่บนเตียง แล้วต้องมีคนมาคอยเฝ้า นั่นคือสิ่งที่ผมไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นทุกวันนี้ถ้าทำอะไรที่จะป้องกันได้ผมจะพยายาม เช่น ดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น ทำยังไงให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้มากที่สุด ผมมองในลักษณะนั้นมากกว่า ไม่ได้มองเป็นภาพว่าต้องใช้ชีวิตอย่างไร หรือว่าต้องอยู่แบบไหน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising