×

ปราบดา หยุ่น พูดถึง ‘เบสเมนต์ มูน’ นวนิยายที่จะพาไปสู่โลกอนาคต

11.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins read
  • ‘เบสเมนต์ มูน’ (Basement Moon) นวนิยายลำดับที่ 5 ของ ปราบดา หยุ่น เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกอนาคต (ค.ศ. 2069) กรุ่นกลิ่นบรรยากาศ ‘ดิสโทเปีย’ ที่ประเทศไทยจะยังคงตกอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยม ไม่เปลี่ยนแปลง
  • ความน่าสนใจของ ‘เบสเมนต์ มูน’ คือการพูดถึงวิวัฒน์ทางเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า จิตสำนึกประดิษฐ์ (Artificial Consciousness) ซึ่งมีปัญญาตระหนักรู้ถึงตัวตน เช่นเดียวกับที่มนุษย์รู้จักตัวเอง เมื่อฝ่ายรัฐ ‘เผด็จการ’ ใช้จิตสำนึกประดิษฐ์เพื่อหวังจะสอดแนมความเคลื่อนไหวของฝ่าย ‘ขบวนการกบฏใต้ดิน’

ปราบดา หยุ่น เดินทางมา THE STANDARD เพื่อเล่าถึง ‘เบสเมนต์ มูน’ (Basement Moon) ผลงานนวนิยายแนวไซไฟ-แฟนตาซีเล่มใหม่ ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศกรุ่นกลิ่น ‘ดิสโทเปีย’ โลกอนาคต (ค.ศ. 2069) และประเทศไทยยังคงตกอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมไม่เปลี่ยนแปลง

 

ความน่าสนใจของ ‘เบสเมนต์ มูน’ คือการพูดถึงวิวัฒน์ทางเทคโนโลยีใหม่ที่ชื่อว่า จิตสำนึกประดิษฐ์ (Artificial Consciousness) ซึ่งมีปัญญาตระหนักรู้ถึงตัวตน เฉกเช่นเดียวกับที่มนุษย์รู้จักตัวเอง อีกทั้งยังพาตนเองสวมใส่เข้าสู่กายหยาบที่เรียกว่า ‘สุญชน’ เพื่อภารกิจสอดแนมฝ่ายต่อต้านที่ชื่อว่า ‘ขบวนการกบฏใต้ดิน’

 

งานนวนิยายชิ้นใหม่ของ ปราบดา หยุ่น ยังคงเต็มไปด้วยลีลาย้อนแย้ง ผ่านศัพท์แสง ภาษาเฉพาะตัว เนื้อหาพูดถึงโลกอนาคต แต่ก็กัดเซาะ เทียบเคียงกับสภาพสังคมและการเมืองไทยในปัจจุบันอย่างเจ็บแสบ

 

  

 

ทำความรู้จักกับ ‘เบสเมนต์ มูน’

‘เบสเมนต์ มูน’ (Basement Moon) เป็นนวนิยายเรื่องล่าสุด ถ้านับเฉพาะนวนิยายก็เป็นลำดับที่ 5 ไม่ได้เขียนนิยายมานานพอสมควร (งานนวนิยายเล่มก่อนหน้าของปราบดาคือ ‘นอนใต้ละอองหนาว’ ห่างจากเล่มล่าสุดถึง 11 ปี) เนื้อหาเป็นงานไซไฟ-แฟนตาซี เรื่องราวเกิดขึ้นในโลกอนาคต แต่คำว่า ‘ไซไฟ’ มันก็ไม่ใช่ความหมายแบบเดียวกับ ‘ไซไฟ’ ในหนังฮอลลีวูด พอไม่รู้จะเรียกยังไง ก็เลยใช้คำว่า ‘ไซไฟ’ มาอธิบาย แต่ความจริงแล้วมันเป็นวรรณกรรมทดลอง มากกว่าหมวดไซไฟที่คุ้นเคยกัน

 

รูปแบบมันเป็นงานวรรณกรรม ที่เราเลือกใช้เนื้อหาที่เกิดขึ้นในโลกอนาคต มีประเด็นที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีในอนาคต โดยหลักเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคม การเมือง เรื่องเชิงปรัชญา โดยการเล่าผ่านตัวละครหลักที่เรียกว่า ‘จิตสำนึกประดิษฐ์’ (Artificial Consciousness) ซึ่งผมจินตนาการว่าในอนาคตจะมีเทคโนโลยีนี้เกิดขึ้น ปัจจุบันนี้เขาก็พยายามจะพัฒนาให้มันเกิดขึ้นอยู่นะครับ เพียงแต่ ณ ตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ว่ามันเป็นจริงได้หรือเปล่า หรือว่าต้องทำอย่างไรจึงจะเกิดจิตสำนึกประดิษฐ์ขึ้นมาได้

 

 

ทำความรู้จัก ‘จิตสำนึกประดิษฐ์’ ในความหมายของ ปราบดา หยุ่น  

จิตสำนึกประดิษฐ์ คือปัญญาประดิษฐ์ที่ตระหนักรู้ถึงตัวตนของตัวเอง เช่นเดียวกับที่มนุษย์รู้ว่าเรามีตัวตน รู้ว่าเราเป็นใคร รู้สึกอย่างไร รู้ว่าวันหนึ่งเราต้องตาย

 

ทุกวันนี้โลกอาจจะมีสิ่งที่เรียกว่าปัญญาประดิษฐ์แล้ว แต่ว่าคำว่าปัญญาประดิษฐ์ ณ จุดนี้มันก็ยังอยู่ในขั้นที่เป็นเครื่องจักร ยังทำตามคำสั่งที่มนุษย์ป้อนข้อมูลเข้าไป มันอาจจะคำนวณอะไรได้บ้าง แต่การคำนวณด้วยตัวมันเองก็ยังเกิดขึ้นจากโค้ดที่มนุษย์เขียนโปรแกรมให้ปฏิบัติตาม

 

ปัจจุบันมันยังเป็นสิ่งที่มนุษย์พยายามจะพัฒนาต่อให้สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้มากขึ้นและซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสมองหรือประสาทเทียม เขาก็ยังไม่ยอมรับว่ามันคือปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงจริงๆ

 

มันอาจจะทำได้ในอนาคต เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์อาจจะค้นพบวัตถุดิบใหม่ๆ ที่จะพัฒนาเครื่องจักรไปถึงขั้นนั้นได้ เช่น นาโนเทคโนโลยี หรือการสร้างเส้นประสาทเทียม ฯลฯ หลายๆ อย่างมันยังถูกพัฒนาแยกส่วนกันอยู่ ซึ่งก็เป็นไปได้ที่วันหนึ่งโลกจะมีสิ่งที่เรียกว่าจิตสำนึกประดิษฐ์ขึ้นมา

 

ส่วนตัวคุณคิดว่ามันจะมีวันนั้นไหม วันที่โลกมี ‘จิตสำนึกประดิษฐ์’

มันเป็นคำถามที่ทำให้เขียนเรื่องนี้เหมือนกันนะ เพราะสำหรับเรา มันน่าสนใจตรงที่ มันเป็นคำถามเชิงเทคโนโลยี คำถามเชิงปรัชญา และคำถามเชิงวิวัฒนาการของมนุษย์ด้วย เพราะทุกวันนี้มนุษย์เองก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าสิ่งที่เรียกว่า ‘จิตสำนึก’ คืออะไร หมายถึงว่า มนุษย์รู้สึกว่าเรามีตัวตนใช่ไหมครับ รู้สึกว่าเราเป็นปัจเจก

 

อย่างเราเป็นปราบดา เรามีคุณสมบัติบางอย่างในตัว ซึ่งไม่เหมือนคนอื่น เรามีความทรงจำ เรามีอดีต เมื่อวานทำอะไร เราจำได้ พรุ่งนี้อยากจะทำอะไร เรามีความเชื่อในความเป็นปราบดา แต่ที่พูดมาทั้งหมดทั้งมวล สำหรับนักวิทยาศาสตร์แล้วก็ยังไม่อาจจะสรุปได้ว่า ‘จิตสำนึก’ มันคืออะไร

 

ในอดีตนักปรัชญาจะบอกว่ามันคือ ‘วิญญาณ’ (Soul) และจนถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ก็ยังเชื่ออยู่ว่า ‘ร่างกาย’ เรียกว่าเป็น ‘รูปธรรม’ กับ ‘วิญญาณ’ ที่ถูกมองเป็น ‘นามธรรม’ เป็นสิ่งที่แยกออกจากกัน ฉะนั้นบางคนจึงเชื่อในเรื่องการไปเกิดใหม่ หรือเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย

 

ถ้าวางอยู่บนพื้นฐานความเชื่อเรื่องวิญญาณ จิตสำนึกก็คือวิญญาณนั่นเอง และแม้จะมีความเชื่อเรื่องผี เรื่องวิญญาณ แต่แนวคิดนี้ก็ยังเป็นข้อถกเถียง ยังไม่เคยมีการพิสูจน์ได้ว่ามีจริง มันยังอยู่ในขั้นของความเชื่อ

 

ในเชิงปรัชญาเองก็เช่นกัน ทุกวันนี้ยังมีข้อถกเถียงระหว่างคนที่เชื่อว่า ‘มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นแล้วดับสูญไป แค่นั้นจบ’ กับอีกฝ่ายที่คิดว่า ‘มนุษย์มีวิญญาณ และเมื่อตายไป วิญญาณจะยังคงอยู่และเป็นพลังงานอย่างหนึ่ง’ อาจจะเชื่อในเชิงศาสนาก็ได้ หรือจะเชื่อในเชิงวิทยาศาสตร์ที่มองว่าวิญญาณคือพลังงานบางอย่าง

 

กลับมาที่เรื่อง  ‘จิตสำนึกประดิษฐ์’ ผมเอาแนวคิดเหล่านี้มาประมวล แล้วจินตนาการต่อยอดเองว่า ถ้ามนุษย์สามารถสร้างเทคโนโลยีที่เรียกว่าเป็นจิตสำนึกประดิษฐ์ ซึ่งหมายถึงปัญญาที่รับรู้ได้ว่าตัวเองมีตัวตน สิ่งนี้มันน่าจะมีลักษณะอย่างไร มันควรจะทำงานอย่างไร และมันควรจะมีบทบาท มีการปฏิสัมพันธ์กับสังคมมนุษย์อย่างไร ซึ่งทั้งหมดที่พูด มันกลายมาเป็นพื้นฐานของนวนิยายเรื่อง ‘เบสเมนต์ มูน’

 

 

การต่อสู้ระหว่าง ‘ขบวนการกบฏใต้ดิน’ และ ‘อำนาจนิยม’

เนื้อเรื่องที่ขับเคลื่อนในนวนิยายมันเกี่ยวข้องกับ ‘ขบวนการกบฏใต้ดิน’ ที่พยายามจะท้าทายอำนาจรัฐ โดยมีฉากหลักที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2069 ซึ่งประเทศไทยก็ยังอยู่ในบรรยากาศของการถูกปกครองโดยอำนาจนิยมอยู่

 

เมื่อถูกท้าท้าย ฝ่ายอำนาจนิยมก็พยายามจะกำจัดขบวนการนี้ ทั้งที่ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และมีวิธีการเผยแพร่ความคิดที่ท้าทายรัฐได้อย่างไร เมื่อไม่รู้ รัฐก็เลยอยากจะใช้ ‘จิตสำนึกประดิษฐ์’ เข้าไปสอดแนมขบวนการนี้ โดยที่อีกฝ่ายไม่รู้ตัว

 

วิธีการคือแฝงตัวเข้าไปอยู่ในร่างมนุษย์ ซึ่งในเรื่องจะมีชื่อเรียกว่า ‘สุญชน’ คือคนที่ทำให้ตัวเอง ‘ว่าง’ เพื่อที่จะเป็นร่างทรงให้กับจิตสำนึกประดิษฐ์ได้ เรื่องราวใน ‘เบสเมนต์ มูน’ เลยจะมีการผจญภัยกันนิดหน่อย (ยิ้ม)

 

ถึงจะบอกว่าพล็อตเกิดขึ้นในโลกอนาคต แต่แอบรู้สึกได้ว่าเรื่องราวมันเกี่ยวข้องกับบรรยากาศสังคม-การเมืองไทยในโลกปัจจุบัน ถามจริงๆ คุณตั้งใจหรือเปล่า

คุณสมบัติอย่างหนึ่งของนิยายวิทยาศาสตร์หรือแฟนตาซีก็ตาม มันมักจะเป็นภาพสะท้อนของยุคปัจจุบันนั่นแหละ เพราะในความเป็นจริงแล้ว การพยากรณ์ถึงอนาคตมันเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก

 

มันมีตัวอย่างพิสูจน์มานับไม่ถ้วนแล้วว่า การพยากรณ์ลักษณะนั้นมักจะไม่ตรง และไม่เป็นจริง อย่างเช่น 20 ปีก่อนก็ไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่าเราจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘เฟซบุ๊ก’ หรือเราจะมีสิ่งที่เรียกว่าสมาร์ทโฟน ไอพอด ไอแพด ต่างๆ

 

แต่ภาพยนตร์หรือนวนิยายวิทยาศาสตร์หลายเรื่องก็จินตนาการถึงเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ในยุคอนาคตไว้ใกล้เคียงเหมือนกันนะ

ใช่ๆ แต่เราไม่สามารถพยากรณ์ถึงบทบาทที่เทคโนโลยีเหล่านี้จะมีต่อชีวิตคนได้อย่างละเอียดเท่าที่มันเป็นจริง

 

ณ ตอนนี้มันมีสิ่งที่เรารู้จัก เช่น AI (Artificial Intelligence) แต่อีก 2 ปีข้างหน้า ไม่แน่ว่ามันอาจจะมีสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกค้นพบขึ้นมาใหม่ ที่เราไม่เคยรู้เลยว่ามันมีอยู่ หรือมันจะเกิดขึ้นได้ แล้วสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นใหม่มันก็อาจจะมีบทบาทมากกว่าสิ่งที่มีบทบาทอยู่ตอนนี้ก็ได้ ฉะนั้นการพยากรณ์ถึงอนาคต มันเป็นเรื่องซึ่งถ้าคนมีปัญญาจริงๆ เขามักจะหลีกเลี่ยงที่จะทำ เพราะมันมักจะผิด (หัวเราะ)

 

 

การออกแบบนวนิยายให้บรรยากาศอนาคตเป็นโลก ‘ดิสโทเปีย’ นี่ตั้งใจจะแฝงนัย แนวคิด หรือทัศนคติทางการเมืองของตัวเองไว้ด้วยหรือเปล่า

แน่นอน เพราะมันก็เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตัวเอง และเป็นสิ่งที่ผมสนใจ คือเหตุผลหนึ่งที่ทิ้งช่วงในการเขียนนวนิยายไปนานถึง 11 ปี นอกจากความขี้เกียจ (หัวเราะ) และการงานอื่นๆ ที่ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาแล้วเนี่ย อีกเหตุผลคือ ผมพบว่ามันยากขึ้นทุกทีที่จะเขียนเรื่องที่ตัวเองไม่สนใจ

 

ถึงแม้ว่าจะคิดพล็อตได้ คิดว่าเขียนออกมาแล้วมันอาจจะสนุก อาจจะบันเทิง อาจจะมีความหมายอะไรบางอย่างกับคนอ่าน แต่มันยากมากที่ผมจะผลักดันตัวเองให้เขียนนวนิยายเรื่องหนึ่งออกมาได้สำเร็จ ถ้าเนื้อหาในเรื่องมันไม่สอดคล้องหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผมสนใจ ณ ปัจจุบัน

 

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศเราเจอกับวิกฤตทางการเมือง ทางสังคม มากมาย มันหลีกเลี่ยงยากมากที่ประเด็นเหล่านี้จะไม่อยู่ในความรู้สึกนึกคิดของเรา ในฐานะที่เราชอบคิด ชอบวิเคราะห์ ชอบวิจารณ์ต่อสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้นก็ต้องรอเรื่องที่จะทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นที่จะเขียนจริงๆ

 

กระทั่งค่อนข้างตกผลึกกับความคิดเรื่องจิตสำนึกประดิษฐ์ เรื่องขบวนการใต้ดิน ซึ่งเป็นสองประเด็นที่ผมนำมารวมกัน แต่ขณะเดียวกันผมก็ไม่อยากให้มันเป็นเรื่องที่เจาะจงว่าเกี่ยวกับประเด็นการเมืองในปัจจุบัน เพราะผมเป็นคนไม่ถนัดที่จะถ่ายทอดสถานการณ์จริงออกมาตรงๆ คือเขียนแล้วผมจะเบื่อเอง (หัวเราะ) เวลาเขียนก็เลยใส่จินตนาการเข้าไป แต่งให้มันเป็นเรื่องราวไซไฟ เพิ่มคาแรกเตอร์ของตัวละครที่มีสีสัน หรือเพิ่มพล็อตที่เชื่อมโยงกับความเป็นมนุษย์ในด้านอื่นๆ เช่น เรื่องความรัก เรื่องครอบครัว เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคน มันอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองโดยตรง แต่เนื้อหามีมิติทุกอย่างของความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้น  

 

 

คุณทำงานที่เกี่ยวกับเรื่องราวไซไฟ โลกอนาคตบ่อยเหมือนกันนะ อย่าง ‘ชิทแตก!’ นวนิยายเรื่องแรกก็พูดถึงโลกอนาคต หนังเรื่องแรก Motel Mist โรงแรมต่างดาวก็มีกลิ่นอายไซไฟ

ใช่ๆ มันแปลกอยู่อย่างหนึ่ง อย่างที่บอกว่าผมไม่ได้สนใจงานไซไฟในแบบที่คนอื่นเขาชอบ ผมไม่ได้สนใจประเด็นในเรื่องการต่อสู้ในอวกาศ อย่างหนัง Star Wars คือไปดูได้เพื่อความบันเทิง แต่ผมไม่ใช่แฟนเลย  

 

สาเหตุที่ผมเลือกรูปแบบการเขียนเป็นไซไฟ เพราะผมชอบใช้จินตนาการที่มันมีความเป็นจริงรองรับ ผมไม่สามารถเขียนงานแบบ Harry Potter หรือเรื่องราวที่จินตนาการไปเลยว่ามีมังกรอยู่บนโลก ผมเขียนงานแบบนั้นไม่ได้ เพราะว่าผมไม่รู้สึกอินไปกับมัน แต่ถ้าให้ผมจินตนาการถึงบรรยากาศ สภาพบ้านเมืองในอนาคต หรือในอดีต อย่างนี้ผมชอบ รู้สึกว่าจินตนาการของผมมันบรรเจิดขึ้นมาเมื่อคิดถึงเรื่องแบบนี้ ซึ่งผมมักจะคิดว่างานเขียนของผมมันเป็นแฟนตาซีสำหรับผู้ใหญ่

 

โลกกำลังถกเถียงกันมากว่ามนุษย์ควรจะพัฒนา AI ต่อหรือควรหยุด ตกลงการมี AI จะส่งผลดีหรือร้ายต่อมนุษย์ในอนาคต แล้วนักเขียนที่ล่าสุดข้ามไปสนใจ ‘จิตสำนึกประดิษฐ์’ ล่ะมองมุมไหน

สำหรับผมนะ AI มันก็คือเครื่องมือแบบหนึ่งของมนุษย์ เป็นแค่เครื่องมืออย่างหนึ่งที่เราได้ประโยชน์จากมัน และก็มีโทษบางอย่างที่มนุษย์ต้องคอยระวังไม่ให้เรื่องร้ายๆ เกิดขึ้น แน่นอน ผมเชื่อว่าในอนาคตมันคงจะมีวิกฤตหรือเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นจาก AI แต่นั่นหมายความว่า ‘มนุษย์ไม่ควรสร้าง AI ใช่ไหม’ ผมคิดว่าก็ไม่นะ เพราะแง่ดีมันก็มี AI ช่วยเราได้หลายอย่าง เพราะฉะนั้นเราปฏิเสธเทคโนโลยีไม่ได้

 

คนเรามักจะมองแยกว่า ‘เทคโนโลยี’ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ แต่สำหรับผม ผมมองว่ามันคือส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ มนุษย์คิดค้นเทคโนโลยีมาตั้งแต่เราเริ่มมีอารยธรรม ทุกอย่างรอบตัว อย่างจานข้าว แก้วน้ำ เก้าอี้ นี่ก็เป็นเทคโนโลยี

 

จริงๆ แล้วนวนิยายเรื่องนี้ยังจะพูดถึงเทคโนโลยีด้านภาษาด้วย คือผมคิดว่า ‘ภาษา’ เป็นเทคโนโลยีที่ลึกลับซับซ้อนมากๆ ซึ่งสำหรับผม จริงๆ แล้วภาษาของมนุษย์มันล้ำกว่า AI มากๆ คือการคิดค้นภาษาขึ้นมาใช้ มันสุดยอดมากๆ และมันก็เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เจริญขึ้นมาถึงทุกวันนี้ เราแตกต่างไปจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลกใบนี้ก็เพราะภาษา การเกิดได้ของ AI ก็เพราะว่าเรามีภาษา เพราะฉะนั้นภาษามันเหมือนเป็นเครื่องมือที่ดูเหมือนจะง่ายมาก แต่มันสามารถทำให้เกิดผลผลิตที่งอกเงยตามมาได้มหาศาล

 

การเขียนก็เป็นภาษา ศิลปะก็มาจากภาษาก่อน และเช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ ภาษาก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ทุกวันนี้ที่เราทะเลาะกัน มันก็เกิดขึ้นจากการทะเลาะกันผ่านภาษา

 

แล้วถ้าปราบดามีชีวิตอยู่จนถึงปี 2069 อย่างใน ‘เบสเมนต์ มูน’ คิดว่าโลกในตอนนั้น ประเทศไทยในตอนนั้นจะเหมือนหรือใกล้เคียงกับที่เขียนอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าบางอย่างก็น่าจะมีสภาพคล้ายกับปัจจุบันนี้นะครับ โดยส่วนตัวผมเชื่อว่ามนุษย์มีธรรมชาติ วิธีคิด หรือพฤติกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนช้า ทุกวันนี้ที่เราเป็นหรือทำกันอยู่ ย้อนกลับไปเมื่อ 100 ปีที่แล้วก็ยังทำคล้ายๆ กันอยู่ แต่ถ้าสัก 1,000 ปี หรือ 2,000 ปี อาจจะเปลี่ยน

 

ฉะนั้นต่อให้ผ่านไปอีก 50 ปี บางอย่างก็จะยังคงอยู่ เพราะถือเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก แต่ถ้าถามว่าสังคมไทยจะยังเหมือนทุกวันนี้ไหม มันก็เป็นเรื่องที่ตอบยากเลยนะ เพราะในความคิดของผม สังคมไทยเป็นสังคมที่คาดเดายากมาก

 

เวลามีคนถามเรื่องนี้ ผมมักจะบอกว่า ผมคิดว่าสังคมไทย เหมือนยืนอยู่ที่ทางแยกตลอดเวลา แล้วเราเดาใจสังคมไม่ถูกเลยว่าจะแยกไปทางซ้ายหรือทางขวา เพราะเขาไปได้ทั้งสองทาง เหมือนเราเป็นสังคมที่ไม่ค่อยมีเหตุผลรองรับสักเท่าไร ว่าจะเลือกไปทางไหน (หัวเราะ) จะฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวาก็เป็นไปได้ทั้งสองฝั่ง  

 

ยกตัวอย่าง ณ วันนี้เลยก็ได้ สมมติว่าถ้าเราจะมองในแง่ดีว่ากำลังมีคนรุ่นใหม่หลายกลุ่มที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย มีนักการเมืองหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้น อย่างที่ก็ไม่ได้คาดคิดว่าจะมี

 

ก่อนนี้เราบ่นกันมาตลอดว่านักการเมืองมีแต่คนเก่าๆ ผมเองบ่นมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าทำไมมันไม่มีนักการเมืองหรือคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยๆ พอมาวันนี้เราเริ่มมีคนหน้าใหม่ที่พอจะเป็นตัวเลือกได้บ้าง ฉะนั้นถ้ามองในแง่ดี ปีหน้า หรืออีก 2-3 ปีข้างหน้า ประเทศไทยน่าจะก้าวไปในทิศทางที่ดีขึ้น เราจะมีระบบที่มั่นคงขึ้น มีความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคมมากขึ้น เริ่มเห็นความหวัง เห็นแสงที่ปลายทางเพิ่มขึ้นมาอีกนิดหน่อย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising