ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์พบส่วนใหญ่เชื่อว่า Fed จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 26-27 กรกฎาคมนี้ จากนั้นมีโอกาสที่จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยคาดว่าจะปรับขึ้นอีก 0.5% ในเดือนกันยายน และอาจเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครึ่งหลังปี 2023 เพื่อรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ 44 ราย โดยสำนักข่าว Bloomberg ซึ่งเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 15-20 กรกฎาคม พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.75% ในการประชุมวันที่ 26-27 กรกฎาคมนี้ จากนั้นจะเริ่มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ
โดยผลสำรวจระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนกันยายน จากนั้นจึงเลื่อนไปที่การปรับขึ้นรายไตรมาสในการประชุมอีกสองครั้งที่เหลือของปี
ซึ่งหากเป็นดังคาดการณ์ จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยขยับขึ้นไปแตะกรอบสูงสุดที่ 3.5% ภายในสิ้นปี 2022 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2008 ซึ่งเป็นมุมมองที่ชันกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนการประชุมในเดือนมิถุนายน ที่คาดการณ์ไว้ว่าสิ้นปี 2022 อัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นเป็น 3.4% และและ 3.8% ในปี 2023
ทั้งนี้ เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.75% ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มขึ้นที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 1994 ซึ่งก่อนหน้านี้ เจอโรม พาวเวลล์ เคยกล่าวไว้ว่า การจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% หรือ 0.75% นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ Fed ที่จะมีการประชุมวันที่ 26-27 กรกฎาคมนี้ แม้ว่าความคิดเห็นของผู้กำหนดนโยบายส่วนใหญ่จะชี้ไปที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ก็ตาม
ขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในต้นปี 2023 ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยแตะกรอบสูงสุดที่ 3.75% ก่อนหยุดชั่วคราว และเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อนสิ้นปี
นักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg ระบุในแบบสำรวจว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อสร้างความสมดุลที่ถูกต้อง ความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มสูงขึ้นยังมีสูง ด้วยกรณีของโควิดที่เพิ่มขึ้นอีกครั้ง และสงครามในยูเครนยังคงโหมกระหน่ำ จึงเป็นไปได้ว่าเรายังไม่เห็นอุปทานที่ไม่พึงประสงค์ และด้วยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่มีอยู่แล้วบนพื้นฐานที่สั่นคลอน Fed จำเป็นต้องดำเนินการป้องกันไว้ก่อน
Fed กำลังพยายามคลายความต้องการทางเศรษฐกิจเพื่อตอบสนองต่อเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งคงอยู่นานกว่าที่คาดไว้ และทำให้เกิดความกังวลว่าเงินเฟ้ออาจไม่ลดลงตามที่หวัง โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 9.1% ในเดือนมิถุนายนจากปีก่อนหน้า เป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1981
และหาก Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75 %ในสัปดาห์หน้า การเพิ่มขึ้น 1.50% จากฐานในช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม จะเป็นภาพจำของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่ชันที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่ Paul Volcker เป็นประธาน Fed และต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่สูงเสียดฟ้า
ดังนั้นในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์เกือบทั้งหมดในการสำรวจ จึงไม่มีใครเชื่อว่า Fed มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% ในวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางฉันทามติอย่างท่วมท้นว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนนี้ แต่ทีมเศรษฐศาสตร์ของสหรัฐฯ ของ Nomura Securities กลับเชื่อว่า Fed ต้องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1%
ค่อยๆ ลดขนาดงบดุล
นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่าในที่สุด Fed จะปรับลดงบดุลของตน ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ด้วยการไหลออกของหลักทรัพย์ที่ครบกำหนดไถ่ถอน โดย Fed กำลังค่อยๆ ลดการถือครองพันธบัตรลงสู่ระดับ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งคาดการณ์ว่าจะทำให้งบดุลอยู่ที่ 8.4 ล้านล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปี 2022 ลดลงเหลือ 6.5 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนธันวาคม 2024
ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ Fed จะหันไปขายหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันโดยทันที สอดคล้องกับความต้องการที่ระบุไว้ว่าจะถือเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ส่วนเวลาที่จะเริ่มขายนั้น มีมุมมองที่ค่อนข้างหลักหลาย โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าจะเริ่มในปี 2023 เป็นต้นไป
ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังมี
นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ระบุว่า เห็นสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง (Hard Landing) ด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเป็นทางการ หรืออาจได้เห็นการเติบโตของ GDP เป็น 0 หรือติดลบ
เมื่อเร็วๆ นี้ นักเศรษฐศาสตร์ได้แสดงความวิตกมากขึ้นเกี่ยวกับศักยภาพของเศรษฐกิจภาวะถดถอย เนื่องจาก Fed เข้มงวดนโยบายการเงินท่ามกลางปัญหาต่างๆ ซึ่งรวมถึงราคาพลังงานที่สูง และสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ค่อนข้างหลากหลายในประเด็นแนวโน้มเศรษฐกิจ โดย 48% เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะถดถอยในอีกสองปีข้างหน้า ขณะที่ 40% เห็นว่ามีโอกาสที่แนวโน้มการเติบโตของ GDP จะเป็น 0 หรือติดลบ และที่เหลือหวังว่า Fed จะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง และดึงเงินให้ต่ำลง
ส่วนมุมมองต่อเงินเฟ้อนั้น 37% เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุด และ 19% เห็นว่าความเข้มงวดมากเกินไปนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากความกังวลที่มากขึ้น ส่วนที่เหลือกังวลทั้งเงินเฟ้อและนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่เจ้าหน้าที่ของ Fed ยอมรับว่า พวกเขามองว่าเงินเฟ้อสูงอย่างต่อเนื่องเป็นความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่พวกเขาเผชิญ
เริ่มเห็นสัญญาณปรับ ‘ลดดอกเบี้ย’
นอกเหนือจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ชะลอตัวแล้ว นักเศรษฐศาสตร์มองว่าในที่สุด Fed จะพลิกกลับทิศทางนโยบายดอกเบี้ย เพื่อตอบสนองต่อการเติบโตและอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง โดยส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า FOMC จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครึ่งหลังของปี 2023
โดย 45% เห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 ในขณะที่ 31% คาดว่าจะลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 ในทางกลับกัน ตลาดเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยจะแตะกรอบสูงสุดภายในไตรมาสแรกของปี 2023 จากนั้นจะลดลงในช่วงปลายปี
เจมส์ ไนท์ลีย์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศของ ING Financial Markets กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อน่าจะเริ่มลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2023 เป็นต้นไป เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัย รถยนต์ใช้แล้ว และราคาน้ำมันมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในแต่ละปี ซึ่งจะช่วยเปิดประตูสู่การลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 2/23
อ้างอิง: