เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กล่าวระหว่างงานเสวนาว่าด้วยนโยบายการเงินของธนาคารกลางที่ทางธนาคารกลางยุโรป (ECB) จัดขึ้นที่เมืองซินตรา โปรตุเกส เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (28 มิถุนายน) โดยส่งสัญญาณชัดเจนว่า Fed จะยังคงบังคับใช้นโยบายการเงินแบบรัดกุมและเข้มงวด ซึ่งหมายรวมถึงการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 2 ครั้งในเดือนกรกฎาคมและเดือนกันยายน เพื่อสกัดเงินเฟ้อ และสกัดความร้อนแรงในตลาดแรงงาน
พาวเวลล์ให้เหตุผลด้วยการชี้ถึงตัวเลขข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ที่เศรษฐกิจและดัชนีราคาผู้บริโภค (มาตรวัดเงินเฟ้อ) ยังคงขยายตัวได้แกร่งกว่าที่คาดการณ์กันไว้ ขณะที่ตลาดแรงงานมีภาวะตึงตัว ซึ่งทั้งหมดบ่งชี้แม้นโยบายที่ผ่านมาจะเข้มงวดมากขึ้นแล้ว แต่ก็อาจจะยังเข้มงวดไม่เพียงพอ
พาวเวลล์ย้ำชัดว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหลายครั้ง สืบเนื่องจากตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง
ขณะเดียวกัน ในส่วนของความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่ได้พักการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนไปแล้ว พาวเวลล์กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งติดต่อกันในการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินครั้งหน้าและครั้งถัดไป ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นส่วนใหญ่ของเจ้าหน้าที่ Fed ที่ชี้ว่าน่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 2 ครั้งภายในปี 2023 นี้
ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พาวเวลล์ได้ขึ้นแถลงต่อสภาคองเกรส ยืนยันว่า Fed จะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ พร้อมส่งสัญญาณว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะขยับขึ้นสู่ระดับ 5.50-5.75% ในช่วงสิ้นปีนี้
นักวิเคราะห์มองว่า ความเห็นของพาวเวลล์ในครั้งนี้สะท้อนถึงศูนย์กลางความคิดของ Fed ในปัจจุบันที่เห็นว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง 10 ครั้งที่ผ่านมาไม่มีเวลาพอที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ดังนั้น Fed จึงไม่อาจแน่ใจได้ว่านโยบายที่นำมาใช้เป็นไปตามมาตรฐานที่เข้มงวดเพียงพอที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงไปถึงเป้าหมายที่ Fed วางไว้ที่ 2% ได้หรือไม่
ทั้งนี้ การที่ Fed ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าแนวทางดังกล่าวอาจจะต้องแลกกับการฉุดให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งพาวเวลล์ก็ยอมรับเช่นกันว่าการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้มีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะเกิดการชะลอตัว กระนั้น พาวเวลล์ก็ไม่วายย้ำว่า ภาวะถดถอย ไม่ใช่ ‘กรณีที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด แต่เป็นไปได้อย่างแน่นอน’
ขณะเดียวกัน ในงานเสวนายังได้ถามถึงสถานการณ์ในภาคการเงินการธนาคารของสหรัฐฯ ซึ่งพาวเวลล์ยอมรับว่า ปัญหาธนาคารภูมิภาค 3 แห่งล้มในช่วงเดือนมีนาคม ส่งผลต่อการตัดสินใจของ Fed ในการประชุม Fed ครั้งล่าสุด แม้พาวเวลล์จะยืนกรานชัดเจนว่าสถานะทั่วไปของภาคการธนาคารสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง แต่ Fed ก็จำเป็นต้องตระหนักว่าอาจมีปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับความพร้อมในการให้สินเชื่อ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ Fed ที่ต้องคอยจับตามองด้วยความระมัดระวัง
นอกจากนี้ พาวเวลล์ยังใช้โอกาสดังกล่าวสนับสนุนแนวทางของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ยังคงให้ความสำคัญกับการควบคุมอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก โดยพาวเวลล์เชื่อว่าธนาคารกลางทั้งหลายจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ในที่สุด แต่เวลานั้นยังมาไม่ถึง และน่าจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะ
ทั้งนี้ คริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB ระบุชัดว่า ECB ยังต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเพื่อสกัดเงินเฟ้อ พร้อมส่งสัญญาณพร้อมขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม ขณะที่ คาซุโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวว่า BOJ พร้อมยกระดับความเข้มงวดของนโยบายการเงินของประเทศหากว่าอัตราเงินเฟ้อไม่มีวี่แววจะคลี่คลาย และ แอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เน้นย้ำว่าสิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้ก็คือการปรับลดเงินเฟ้อ และว่าเป้าเงินเฟ้อ 2% เป็นสิ่งที่เหมาะสมดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนใดๆ
วันเดียวกัน มีรายงานว่า ฟิลิป เลน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับกรณีที่ตลาดต่างๆ เริ่มคาดการณ์ว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในช่วง 2 ปีข้างหน้า
เลนซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางไอร์แลนด์ ย้ำว่า เศรษฐกิจยูโรโซนอยู่ใน ‘ระยะปรับตัว’ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงขึ้นเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และบริษัทต่างๆ พยายามปรับขึ้นค่าจ้างให้ทันเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นตลาดจึงควรถามตัวเองเกี่ยวกับกรอบเวลาหรือความเร็วของการเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินให้ดี ซึ่งพิจารณาจากตัวเลขข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ประเมินได้ว่าเงินเฟ้อยูโรโซนจะไม่กลับคืนสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ในเวลา 2 ปีนี้แน่นอน แม้จะเริ่มมองเห็นความคืบหน้าในทางบวกแล้วก็ตาม
ความเห็นของเลนสอดคล้องกับลาการ์ด ประธาน ECB ที่กล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (27 มิถุนายน) ว่า ECB มีความคืบหน้าอย่างมากในด้านการลดเงินเฟ้อ แต่ยังคงเร็วเกินไปที่จะประกาศชัยชนะเหนือเงินเฟ้อได้ในเวลานี้
รายงานระบุว่า สถานการณ์เงินเฟ้อของยูโรโซนล่าสุด ECB เพิ่งมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 3.5% ในเดือนมิถุนายน หลังจากที่เงินเฟ้อซึ่งแม้จะส่งสัญญาณชะลอตัว แต่ก็ยังอยู่สูงกว่าเป้า 2% ของ ECB อย่างมาก
ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไปในยูโรโซนอยู่ที่ 6.1% ในเดือนพฤษภาคม ลดลงจาก 7% ในเดือนเมษายนก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสดและพลังงานอยู่ที่ 5.3% ในเดือนพฤษภาคม
เลนแนะว่าธนาคารกลางยังจำเป็นต้องรักษาความเข้มงวดทางการเงินเพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ได้ ก่อนชี้ว่า ‘ความอดทน’ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้
อ้างอิง: