พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เราใช้กันอยู่ปัจจุบันถูกเริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งหลังจากการประกาศใช้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเนื่องจากสร้างความยากลำบากให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจแอลกอฮอลล์ โดยเฉพาะกับช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ตั้งแต่ปี 2020 ที่ผ่านมาในช่วงเวลาที่บาร์และผู้ประกอบการแอลกอฮอลล์รายย่อยได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากจากการต้องปิดกิจการ แต่กลับถูกกฎ ‘มาตรา 32’ ว่าด้วยเรื่องของการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้การปรับตัวท่ามกลางวิกฤตเป็นไปได้ยากกว่าเดิม เนื่องจากค่าปรับต่อการโพสต์สำหรับบุคคลทั่วไปสูงถึง 50,000 บาท
ความคลุมเครือของการบังคับใช้นำมาสู่พลังของประชาชนที่เดินเรื่องยื่นแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ให้เป็นธรรมและชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันทางภาครัฐเองก็ได้ออกร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ จัดทำโดยสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยมีเนื้อหาที่เพิ่มค่าปรับสูงขึ้นและมาตรการที่เข้มงวดขึ้น เนื้อหาสำคัญสรุปได้ต่อไปนี้
- เพิ่มค่าปรับจาก 50,000 บาท เป็น 500,000 บาท สำหรับบุคคลทั่วไป และปรับจาก 500,000 บาท เป็น 1,000,000 บาท สำหรับเจ้าของประกอบการธุรกิจ
- แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษกรณีต่อสู้ ขัดขวาง หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงาน ค่าปรับรายวัน วันละ 50,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
- ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการบุกจับและยึดสินค้าได้โดยที่ไม่ต้องใช้หมายศาล
- สามารถออกข้อบังคับเพิ่มเติมได้โดยที่ไม่ต้องใช้ประชามติ
- ข้อห้ามในการพูดถึงแอลกอฮอล์ กว้างและครอบคลุมมากขึ้น อาทิ เพิ่มบทบัญญัติห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใดที่อาจทำให้เข้าใจว่าหมายถึงการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจจะสามารถตีความได้ว่าโลโก้ที่อยู่บนขวดโซดาอาจจะใช้ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว
โดยร่างฉบับนี้อยู่ในช่วงของการเปิดลงประชามติ ประชาชนทั่วไปสามารถโหวต ‘ไม่เห็นด้วย’ ได้ที่: http://alcoholact.ddc.moph.go.th/act/ จนถึงวันที่ 9 กรกฎาคม
พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 สร้างความยากลำบากให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจแอลกอฮอล์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะมาตรา 32 ที่เป็นการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีเนื้อหาไม่ชัดเจน คลุมเครือ เปิดช่องให้ตีความเป็นอะไรก็ได้ตามใจเจ้าหน้าที่พนักงาน ประชาชนสามารถถูกปรับได้ทันทีโดยเจ้าหน้าที่โดยที่ไม่ต้องมีการพิสูจน์ความถูกผิดในชั้นศาล รวมถึงการที่เจ้าหน้าที่จะได้รับเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งจากยอดที่ปรับอีกด้วย
ซึ่งในส่วนของภาคประชาชนนั้นก็ได้ทำร่างขึ้นมาเช่นกัน โดยเนื้อหาบางส่วนมีใจความสำคัญต่อไปนี้
- ให้ยกเลิกข้อห้ามที่ไม่จำเป็น เช่น ห้ามขายแอลกอฮอล์ระหว่างเวลา 14.00-17.00 น. ห้ามขายวันสำคัญทางศาสนา ห้ามขายออนไลน์ ห้ามลดราคา
- สามารถโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยยึดจากหลักข้อเท็จจริงของสินค้า
- ลดค่าปรับให้เหมาะสมโดยที่ไม่มีรางวัลนำจับ กฎหมายเดิมปรับ 500,000 บาท สำหรับผู้ประกอบการ โดยที่เจ้าหน้าที่จะได้เงินส่วนแบ่ง 60-80% ของค่าปรับ
สำหรับร่างฉบับประชาชนก็ยังอยู่ในขั้นตอนการเปิดให้ประชาชนเข้าไปร่วมโหวต ‘เห็นด้วย’ หรืออ่านเพิ่มเติมได้ที่:
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่:
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น