หมวดที่ 7 ของ POP Powerful Voices in Crisis คือพาร์ตที่ 2 ของศิลปินที่นอกจากสร้างสรรค์ศิลปะในวงการบันเทิงแล้ว ยังใช้ทั้ง ‘พลัง’ และ ‘เสียง’ ของตัวเอง พูดแทนสิ่งที่ประชาชนหลายคนรู้สึก หรือสิ่งที่บางคนเคยพูดแต่ไม่ได้รับความสนใจตามแนวทางที่ตัวเองถนัด
ซึ่งมีทั้งลงมือทำ, ให้ความรู้, เปิดโหมดด่า, นำเสนอผ่านงานศิลปะ, เพื่อส่งข้อความออกไปให้รัฐบาลและทุกคนที่มีส่วนต้องรับผิดชอบกับวิกฤตที่เกิดขึ้นได้ยิน
รายชื่อในพาร์ตนี้ประกอบด้วย หมอเจี๊ยบ-ลลนา ก้องธรนินทร์, อั๋น-ภูวนาท คุนผลิน, โอ๊ต-ปราโมทย์ ปาทาน, มิว-ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์, เพชร-กรุณพล เทียนสุวรรณ, บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี, ป๊อบ-ปองกูล สืบซึ้ง, Tattoo Colour, Lomosonic, Taitosmith, Three Man Down, ใบเฟิร์น-อัญชสา มงคลสมัย และ บีมบีม-กมลพร โกสียรักษ์วงศ์
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ ‘เสียง’ และการกระทำ จากคนในวงการบันเทิงสาขาต่างๆ ที่สร้างอิมแพ็กต่อสังคมในช่วงเวลาวิกฤต ยังมีคนบันเทิงอีกจำนวนมากที่ส่งเสียงแทนประชาชนในรูปแบบที่ตัวเองถนัด เพื่อพูดแทนประชาชนอย่างกล้าหาญ และใช้ความสามารถที่ตัวเองมีช่วยเหลือผู้คนที่กำลังเดือดร้อนให้ได้มากที่สุด
THE STANDARD POP ขอบคุณอีกครั้ง แด่ทุก ‘พลัง’ จากทุกชีวิตที่ลงมือทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ให้ทุกคนผ่านวิกฤตอันเลวร้ายครั้งนี้ไปด้วยกัน
- หมอเจี๊ยบ-ลลนา ก้องธรนินทร์: Jeab Lalana Kongtoranin / นักแสดง, แพทย์ผู้ชำนาญการ สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
- อั๋น-ภูวนาท คุนผลิน: Un Puwanart Kunpalin / นักร้อง, พิธีกร
- โอ๊ต-ปราโมทย์ ปาทาน: Oat Pramote Pathan / นักร้อง, พิธีกร, ยูทูเบอร์, เจ้าของบริษัทโคตรคูล
- มิว-ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์: Mew Suppasit Jongcheveevat / นักร้อง, นักแสดง, พิธีกร
- เพชร-กรุณพล เทียนสุวรรณ: Petch Karoonpon Tieansuwan / นักแสดง
- บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี: Boom Panadda Wongphudee️️ / นักแสดง, พิธีกร
- Tattoo Colour / วงดนตรี
- Lomosonic / วงดนตรี
- ป๊อบ-ปองกูล สืบซึ้ง: Pop Pongkool Suebsung / นักร้อง, นักแสดง
- Taitosmith / วงดนตรี
- Three Man Down / วงดนตรี
- ใบเฟิร์น-อัญชสา มงคลสมัย: Bifern Anchasa Mongkhonsamai / นักแสดง
- บีมบีม-กมลพร โกสียรักษ์วงศ์: Beambeam Kamonporn Kosriyarakwong / นักร้อง, สตรีมเมอร์
Artist: หมอเจี๊ยบ-ลลนา ก้องธรนินทร์
ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก แพทย์หญิงลลนา ก้องธรนินทร์ หรือหมอเจี๊ยบ คืออีกหนึ่งคนบันเทิงที่คอยช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดและผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดในด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ผ่านทางมูลนิธิ Let’s Be Heroes Foundation ที่หมอเจี๊ยบเป็นผู้ก่อตั้ง
โดยหมอเจี๊ยบและมูลนิธิ Let’s Be Heroes Foundation ได้เปิดรับบริจาคเพื่อจัดทำเต็นท์ความดันลบให้แก่โรงพยาบาลหลายแห่ง เพื่อใช้ในการป้องกันและรักษาผู้ป่วยโควิด พร้อมทั้งได้จัดโครงการแจกอาหารให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดในในชุมชนต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ และได้ส่งมอบชุด PPE ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อใช้ป้องกันการติดเชื้อให้กับทางโรงพยาบาลที่ต้องการ ฯลฯ
รวมถึงจัดทำโครงการ ‘ตัวเล็กใจใหญ่’ ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดรับสมัครแพทย์อาสาและบุคคลทั่วไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดที่ต้องรอการรักษาอยู่ที่บ้านโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านการรักษาในรูปแบบ Telemedicine (ระบบแพทย์ทางไกล) โดยทีมแพทย์อาสาจะคอยให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยผ่านทางออนไลน์ พร้อมทั้งจัดส่งชุดอุปกรณ์สำหรับใช้ในการติดตามอาการ ยารักษา และของใช้จำเป็นให้แก่ผู้ป่วยถึงบ้าน อีกทั้งยังมีการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิดและขั้นตอนการดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวที่บ้าน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถนำไปปรับใช้อย่างเข้าใจง่าย
นอกจากงานด้านมูลนิธิ Let’s Be Heroes Foundation แล้ว หมอเจี๊ยบยังใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง บอกเล่าถึงสถานการณ์ของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่กำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งจัดสรรวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึงให้แก่บุคคลากรทางการแพทย์และประชาชนโดยเร็ว
Artists: อั๋น-ภูวนาท คุนผลิน
“ถ้าจะให้ภาคประชาชนทำมากกว่านี้ จะมีรัฐบาลไว้ทำให้ทุกอย่างช้าไปทำไม”
คำถามราบเรียบแต่เย็นเยียบไปถึงหัวใจ หนึ่งใน ‘เสียง’ ชวนคิดจาก อั๋น-ภูวนาท คุนผลิน หนึ่งในคนจากวงการบันเทิงที่ใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียและการให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ ในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอยู่ตลอด
จากพื้นฐานที่เรียนจบระดับปริญญาเอก สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายข่าวช่อง GMM25 ทำให้จุดเด่นในการแสดงความคิดเห็นของอั๋น ไม่ใช่เปิดโหมดด่าเพื่อความสะใจ
แต่เป็นการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน คิด วิเคราะห์ แยกแยะ แล้วกลั่นออกมาผ่านน้ำเสียงนุ่มๆ เป็นเอกลักษณ์ พูดจบแล้วมีรอยยิ้มเล็กๆ ที่มุมปาก เลือกใช้คำสุภาพ เรียบง่าย ที่ฟังแล้วลื่นหู อ่านแล้วสบายตา แต่คนที่ถูกพูดถึงรู้สึกชาไปถึงกลางหลัง จนเราอยากยกตำแหน่ง ‘มีดโกนอาบน้ำผึ้งแห่งวงการบันเทิง’ ให้มากที่สุด
ไม่ใช่แค่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล อั๋นก็เป็นหนึ่งในคนที่พยายามช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนจากวิกฤตโควิดอย่างเต็มที่ ทั้งออกเงินและระดมทุนบริจาคซื้อเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อลดภาระของบุคลากรด่านหน้า เอาอาหารกล่องและน้ำดื่มไปแจกทุกวันอาทิตย์
ถึงแม้การช่วยเหลือจะทำให้อิ่มใจ แต่บางครั้งเขาจะกลับบ้านมาพร้อมกับคำถามจำนวนมาก ที่ได้แต่หวังว่าเราจะได้คำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อย่าให้การมีอยู่ของรัฐบาล เป็นการมีอยู่เพื่อทำให้ทุกอย่างช้าแบบนี้อีกเลย
Artist: โอ๊ต-ปราโมทย์ ปาทาน
นอกจากการมอบบทเพลง สร้างเสียงหัวเราะและความสนุกสนานให้กับแฟนๆ แล้ว โอ๊ต-ปราโมทย์ ปาทาน ศิลปินหนุ่มอารมณ์ดีและเจ้าของช่องยูทูบ ‘โคตรคูล’ ยังคอยจัดรายการ WHYLIVE ร่วมกับ ป๊อบ-ปองกูล สืบซึ้ง เพื่อเปิดรับบริจาคจากผู้ชมและนำเงินไปมอบให้แก่องค์กรต่างๆ อยู่เสมอ พร้อมทั้งเชิญเพื่อนศิลปินมามอบความสุขผ่านเสียงเพลงให้แก่ผู้ชมในยามวิกฤต
เช่น จัดรายการ WHYLIVE สู้ไวรัส!! 2nd Time ขึ้นในวันที่ 29 มีนาคม 2563 เพื่อนำเงินมอบให้แก่โรงพยาบาลราชวิถี รวมถึง WHYLIVE ครั้งที่ 11 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 โดยหยิบนำสิ่งของของตัวเองและเพื่อนศิลปินมาให้แฟนๆ ได้เลือกซื้อและเปิดประมูล เพื่อรวบรวมเงินไปมอบให้แก่มูลนิธิ Bangkok Community Help Foundation เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด
นอกจากนี้โอ๊ตยังมีการหยิบนำข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดมานำเสนอผ่านรายการ หมีLIVEปะ? ร่วมกับ อาร์ต-มารุต ชื่นชมบูรณ์ พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ชมในเรื่องการ Call out ของกลุ่มศิลปิน นักแสดง และผู้มีชื่อเสียง
สุดท้ายแม้จะเจอทั้งเสียงชื่นชมและคำติติงสำหรับการขับเคลื่อนในฐานะคนมีชื่อเสียง ถึงอย่างนั้น THE STANDARD POP ขอส่งพลังใจให้กับความกล้าหาญและหัวจิตหัวใจที่กว้างขวางสำหรับการแลกเปลี่ยนมุมมองในฐานะประชาชนและเพื่อนมนุษย์ ที่ต่างก็กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตโรคระบาดครั้งสำคัญของประเทศในเวลานี้
ภาพ: @oatpramote / Instagram
Artist: Oat Pramote Pathan
Apart from delivering his songs and creating laughter and joy for fans, the humorous artist and the owner of ‘Khotkool’ channel on YouTube, Oat Pramote Pathan has hosted a show called WHYLIVE. Collaborating with Pop Pongkool Suebsung, they have always been collecting donations from viewers and forwarding the fund to organizations. Furthermore, many artists were invited to the show and pass forward the joyfulness through their music to viewers in this crisis.
One of the episodes called WHYLIVE fights the virus!! 2nd Time was held on March 29th, 2020 to collect donations for Rajavithi Hospital. Another one was the 11th WHYLIVE episode on August 7th, 2021 when they held a charity auction letting the fans bid for artists’ personal stuff. The donations they collected were given to Bangkok Community Help Foundation to help people who got affected from COVID-19 situation.
Moreover, Oat brought up the news about COVID-19 in his other show Mhee Live Pa? with his co-host Art-Marut Cheunchomboon. In the show, they talk and exchange their opinions with viewers about artists, actors, and celebrities’ callouts.
Despite the praise and criticism he received for his action as a celebrity, THE STANDARD POP has perceived the courageous and generous mind he got for exchanging the perspective as one of the population and humankind, who is currently facing Thailand’s major pandemic crisis as well.
Artists: มิว-ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์
มิว-ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์ คือนักแสดงจากซีรีส์ What The Duck รักแลนดิ้ง และ TharnType The Series ที่ส่งให้เขาเป็นที่รู้จักและมีฐานแฟนคลับทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศในเวลาเพียงไม่นาน
นอกจากนี้มิวก็ยังมีผลงานเพลงอีกด้วย โดยต้นเดือนที่ผ่านมา มิวเป็นศิลปินไทยคนแรกที่พาเพลงในอัลบั้ม 365 (Three Six Five) อัลบั้มแรกของเขา ไต่เข้าไปอยู่ใน Top 10 ของชาร์ตบิลบอร์ดสาขา World Digital Song Sales ถึง 5 เพลง และนั่นแสดงให้เห็นถึงพลังของแฟนคลับจำนวนมากที่พร้อมจะสนับสนุนทุกความฝันและความสามารถเขา
ย้อนไปก่อนหน้านี้ไม่นาน มิวได้ออกมาถามหาความปลอดภัยของประชาชนที่ยังไม่ได้รับการดูแลที่ดีจากรัฐ ประชาชนเป็นฝ่ายต้องช่วยกันบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อเยียวยากันเอง เมื่อมีคนทวงถามถึงงบประมาณค่าใช้จ่ายในโครงการต่างๆ เจ้าหน้าที่รัฐกลับไม่รับฟัง ยิ่งทำให้ประชาชนรู้สึกหวาดกลัวในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิดยังคงรุนแรงขึ้น
ข้อความดังกล่าวบนทวิตเตอร์ของมิวที่มียอดผู้ติดตามหลักล้านได้ถูกแปลไปมากกว่า 30 ภาษา โดยมีแฟนคลับต่างชาติจำนวนมากเข้ามาแสดงความเป็นห่วงต่อเหตุการณ์บ้านเมืองในประเทศไทย ทั้งยังส่งกำลังใจและขอบคุณที่มิวกล้าส่งเสียงแสดงจุดยืนต่อความไม่ถูกต้องที่คนทั้งสังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ร่วมกัน
Artists: เพชร-กรุณพล เทียนสุวรรณ
ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน ตอนเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ขณะที่คนในวงการบันเทิงจำนวนหนึ่งเลือก ‘ปิด’ หีบคัดค้านการเลือกตั้ง เพชร-กรุณพล เทียนสุวรรณ คือนักแสดงเพียงไม่กี่คนที่สนับสนุนให้คนออกมาใช้สิทธิตามขั้นตอนประชาธิปไตย
ผลของการ Call out ที่มาก่อนกาล เพชรต้องแลกมาด้วยการถูกตัดโอกาสในการทำงาน ผู้ใหญ่หลายคนไม่รับไหว้ มองเขาเป็นเพียงอากาศธาตุ กลายเป็นนักแสดงที่ถูก ‘ทัวร์ลง’ ตั้งแต่วัฒนธรรมรถทัวร์ยังไม่เข้มข้นเหมือนอย่างปัจจุบัน
เพชรยังคงยึดมั่นในจุดยืนตามหลักประชาธิปไตย เชื่อมั่นว่าทุกคนมีสิทธิในการส่ง ‘เสียง’ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เหมือนที่เขาเข้าร่วมงานเสวนา ‘อยากเห็นเมืองไทยดีกว่าวันนี้’ ในปี 2561 แล้วตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมาว่า จะให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ทำซากอะไร
ถึงแม้จำนวนรถทัวร์จะลดลงไปบ้าง เพราะเริ่มมีคนมองเห็นปัญหานี้มากขึ้น แต่เพชรก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนถึงวันที่กระแสลมเปลี่ยนทิศ วิกฤตโควิดเริ่มแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐบาล หลายคนเริ่ม ‘เบิกเนตร’ มองเห็นในประเด็นที่เขายืนยันมาตลอดระยะเวลา 7 ปี
ทุกวันนี้เพชรก็ยังเปิดหน้าแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในประเด็นต่างๆ ทั้งออกมาสนับสนุนการชุมนุมตามหลักประชาธิปไตย, ต่อต้านการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมทุกรูปแบบ, วิพากษ์วิจารณ์ที่บริหารจัดการเรื่องวัคซีนที่ล่าช้า เป็น ‘เสียง’ ที่สะท้อนว่าหน้าที่หนึ่งของดาราคือการพูดแทนประชาชน
สิ่งที่น่ายินดีคือ มีคนจำนวนมากที่เข้าใจและอยากขอบคุณสิ่งที่เพชรพยายามทำมาตลอด ด้วยการช่วยกันสนับสนุนร้านอาหาร On a Cloud Cafe ธุรกิจที่เพชรเก็บเงินจากการทำงานมาลงทุนทำด้วยความตั้งใจ
เป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ถ้าคุณส่ง ‘เสียง’ และยืนเคียงข้างประชาชน ประชาชนก็พร้อมที่จะสนับสนุนคุณเช่นกัน
Artists: บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี
นอกจากจะเป็นที่รู้จักในฐานะนักแสดง พิธีกร และอดีตนางสาวไทยปี 2543 แต่อีกด้านหนึ่งท่ามกลางวิกฤตโควิด บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ทำงานด้านจิตอาสาในฐานะประธานองค์กรทำดี ทำหน้าที่ช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดที่กำลังส่งผลกระทบต่อผู้คนเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางองค์กรทำดีคืออีกหนึ่งองค์กรที่เข้ามาช่วยเหลือผู้คนตั้งแต่แรกเริ่ม
ทั้งการจัดเตรียมรถพยาบาลแรงดันลบ เพื่อคอยรับ-ส่ง ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดที่ได้เตียงแล้วไปยังโรงพยาบาลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ร่วมมือกับทีมงานแอมบูแลนซ์เอ็กซ์เพรสจัดตั้งโครงการส่งคนรักกลับบ้าน เพื่อจัดเตรียมรถพยาบาลรับ-ส่งผู้ป่วยที่ไม่ได้ติดเชื้อหรือหายป่วยแล้วกลับบ้านโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ลงพื้นที่ช่วยเหลือและมอบเครื่องผลิตออกซิเจนให้แก่ผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวแบบ Home Isolation และดำเนินการสร้างศูนย์พักคอยสำหรับผู้ป่วยโควิด
นอกจากนี้ยังมีการเปิดรับบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์และชุด PPE เพื่อนำมาใช้ในการลงพื้นที่ของทีมงานและนำไปมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเปิดรับบริจาคอาหารแห้งเพื่อมอบให้แก่ประชาชนที่กำลังเดือดร้อนในยามวิกฤต
ภาพ: @boompanadda / Instagram
Artist: Boom Panadda Wongphudee
Apart from being a well-known actress, host, and former Miss Thailand 2000, Boom Panadda Wongphudee has another role during this COVID-19 crisis. She has been volunteering as the president of Goodness Organization participating in many community service projects, especially in this pandemic time when a lot of people got affected. Goodness Organization is another nonprofitable organization which has taken part in helping COVID-19 infected people since their first steps.
The entire process started from providing negative pressure ambulances to pick up COVID-19 patients and send them to hospitals without any charges. Then, the team collaborated with the Ambulance Express team to set up the project ‘Send the beloved back home’, providing ambulances to send uninfected and recovered patients back home without any charges. Lastly, they were on site to give away oxygen concentrators to patients who were able to proceed home isolation and build a community isolation for infected patients.
Additionally, there was a medical equipment and PPE suit donation in order to use when the team members work on site and to submit them to medical officers. The donation also included dried food for giving to people who suffered through this crisis.
Artist: Tattoo Colour
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ศิลปินเพลงและกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกลางคืนต่างก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด Tattoo Colour คือหนึ่งในวงดนตรีที่ก้าวออกมาเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ เป็นหนึ่งในตัวแทนของศิลปินที่เดินทางไปยังรัฐสภาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เพื่อทวงถามถึงข้อเสนอ 8 ข้อ ตามที่สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย ได้เคยเรียกร้องให้ภาครัฐมีมาตรการการเยียวยากลุ่มอาชีพทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกลางคืน
นอกจากนี้ Tattoo Colour ยังจัดรายการไลฟ์ Live ตลาดร้อนของ ร้องเพลง เล่นดนตรี เปิดพื้นที่ให้แฟนคลับส่งสินค้าเข้ามาให้พวกเขาช่วยรีวิว รวมถึงการออกมาประกาศผ่านทางเพจเฟซบุ๊กของวง (https://www.facebook.com/tattoocolour แท็กเฟซบุ๊ก) ว่าพวกเขายินดีให้นักร้อง นักดนตรี สามารถนำเพลงของวงไปไลฟ์เพื่อหารายได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่พวกเขาจะได้ใช้ ‘เสียง’ ของตัวเองในการช่วยเหลือกลุ่มคนดนตรีและกลุ่มอาชีพอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดในเวลานี้
“นักดนตรีหลายคนตั้งคำถามว่า หรืออาชีพที่เราเลือกตั้งแต่แรกมันผิด ผมไม่อยากให้ใครต้องคิดแบบนั้น ถ้ามันมีการบริหารจัดการด้วยความจริงใจว่าอยากจะช่วยและเห็นว่ามันสำคัญโดยเท่าเทียมกันทั้งหมด ซึ่งตอนนี้มันไม่เกิดขึ้นนะครับ เราทำสิ่งที่รักที่ชอบมันเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว”
คือข้อความที่ รัฐ พิฆาตไพรี โปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง และมือกีตาร์ของวง ได้กล่าวผ่านรายการ POP Live Special #ต้องรอด! เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนร่วมอาชีพนักดนตรีที่กำลังเผชิญกับวิกฤต จนหลายๆ คนต้องปรับตัวไปขายของอย่างอื่นแทนเพื่อให้ยังมีรายได้ต่อไป อีกทั้งยังช่วยเป็นกระบอกเสียงให้แก่กลุ่มนักดนตรีที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างที่ควรจะเป็น
Artists: Lomosonic
“มีอะไรอยากให้เราช่วยพูดให้ไหมครับ”
ถ้าเป็นเวลาปกตินี่คงเป็นประโยคบิลด์อารมณ์ก่อนส่งเข้าสักเพลงหนึ่งในคอนเสิร์ต
แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดเข้าสู่ช่วงวิกฤต นี่คือประโยคบนเฟซบุ๊กของวง Lomosonic (https://www.facebook.com/lomosonic แท็กเฟซบุ๊ก) ที่ไม่ได้นำเข้าเพลง แต่ใช้พื้นที่และ ‘เสียง’ เท่าที่ตัวเองมี เพื่อช่วยเหลือและพูดแทนใจผู้คนที่เสียงเบากว่าให้มากที่สุด
ถึงแม้เป็นวงดนตรีในค่ายใหญ่ แต่ Lomosonic ก็เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่เปิดหน้าแสดงความคิดอย่างตรงไปตรงมา ด้วยเอเนอร์จีที่ร้อนแรงไม่แพ้บนเวทีคอนเสิร์ต แฟนๆ ที่กำลังคิดถึงเสียงว้ากและดนตรีหนักๆ และการกระโดดแท็กกันเป็นวงดอกไม้ไฟ ก็ได้มีประโยคเหล่านี้
“ถึงพวกกูจะเต้นกินรำกิน กูก็ไม่ได้โกงเขากินล่ะวะ”
“จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่มีใครควรถูกลืมครับ ภาษีที่เราเสียไปควรจะเป็นเงินเยียวยาหรือรัฐสวัสดิการที่ดีกว่านี้ครับ ไม่ใช่กระสุนยาง”
“พี่ๆ บุคลากรทางการแพทย์ พี่ๆ ด่านหน้าทุกท่าน มีอะไรอยากให้ช่วยขยายเสียงไหมครับ”
“#ทวงPfizerให้หน่วยด่านหน้าหัดอายลูกอายหลานกันบ้าง”
และข้อความอีกมากมายที่ Lomosonic เป็นตัวแทนส่งเสียงวิพากวิจารณ์ไปถึงหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบในการแก้ปัญหา ออกมาแทนเสียงเพลงให้แฟนๆ ได้หายคิดถึง และชื่นใจได้ว่า ศิลปินที่พวกเขาชอบ ยังยืนอยู่ข้างเดียวกับพวกเขาจริงๆ
ส่วนความคืบหน้าของเพลงใหม่ Lomosonic ได้แอบกระซิบเอาไว้ว่า ไม่ใช่เพลงรัก เพราะพวกเขาไม่มีอารมณ์เขียนเพลงรักในตอนนี้จริงๆ ซึ่งเชื่อได้เลยว่า นี่จะเป็นอีกหนึ่งเพลงที่พวกเขาจะกลั่นทุกความรู้สึกออกมาเป็น ‘เสียง’ ที่ทรงพลัง ที่เราจะรอให้สถานการณ์คลี่คลายกลายเป็นปกติ เพื่อที่จะไปยืนในคอนเสิร์ตแล้วตะโกนประโยคนี้พร้อมๆ กัน
“พวกเรา โลโม…โซนิกกกกกกก”
Artist: ป๊อบ-ปองกูล สืบซึ้ง
ป๊อบ-ปองกูล สืบซึ้ง เจ้าของเพลงฮิตอย่าง ภาพจำ และ Happy Ending คืออีกหนึ่งศิลปินที่คอยจัดกิจกรรมเพื่อระดมเงินทุนช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งรายการ Friday Night Charity LIVE ที่จัดขึ้นในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เพื่อเปิดรับบริจาคเงิน รวมถึงนำรายได้จากขายสินค้าภายในร้าน pongkool.store (จนถึงวันที่ 18 กรกฎาคม) มาร่วมสมทบทุนโดยไม่หักค่าใช้จ่าย เพื่อซื้อเครื่องผลิตออกซิเจนให้แก่ผู้ติดเชื้อโควิดและนำเงินส่วนที่เหลือไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยมีเพื่อนศิลปินมาร่วมแสดงดนตรีมากมาย เช่น โจอี้-ภูวศิษฐ์ อนันต์พรสิริ, โอ๊ต-ปราโมทย์ ปาทาน, ว่าน-ธนกฤต พานิชวิทย์, ลุลา-กันยารัตน์ ติยะพรไชย, อะตอม-ชนกันต์ รัตนอุดม, แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข และ เหวยเหวย ฮัน
ป๊อบยังจัดรายการ WHYLIVE ทางช่อง YouTube โคตรคูล ร่วมกับ โอ๊ตและเพื่อนศิลปิน เพื่อเปิดรับบริจาคเงินและนำไปช่วยเหลือให้แก่องค์กรต่างๆ เช่น WHYLIVE ครั้งที่ 9 ที่จัดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 โดยเปิดรับบริจาคเงินเพื่อมอบให้แก่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ในการช่วยเหลือกลุ่มคนด้อยโอกาสและชุมชนแออัดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด
ล่าสุดกับการจัดรายการ WHYLIVE ครั้งที่ 11 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 โดยหยิบนำสิ่งของของตัวเองและเพื่อนศิลปินมาให้แฟนๆ ได้เลือกซื้อและเปิดประมูล เพื่อรวบรวมเงินไปมอบให้แก่มูลนิธิ Bangkok Community Help Foundation เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด
สำคัญไม่แพ้กัน ป๊อบยังร่วมเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดและบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอย่างหนัก เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง
ภาพ: @pongkool / Instagram
Artist: Pop Pongkool Suebsung
Pop Pongkool Suebsung, the hitmaker of the song Parb Jum and Happy Ending, is another artist who has been running events to raise donations for people who got affected by COVID-19 situation.
One of his shows Friday Night Charity LIVE was held on July 16th, 2021 with a lot of artists invited to perform such as Joey-Phuwasit Ananpornsiri, Oat-Pramote Pathan, Wan-Thanakrit Panichwid, Lul-Kanyarat Tiyapornchai, Atom-Chanakan Rattana-udom, Stamp-Apiwat Eurthavornsuk, and Weiwei Han. It aimed to collect donations and give away the earned amount from the products in pongkool.store (until July 18th) without deduction of expenses. These funds were used for buying oxygen concentrators for infected people and the rest of them were used for buying medical equipment.
Besides his own show, Pop has been a co-host in Khotkool channel’s WHYLIVE on YouTube with Oat and their artist friends. The show’s purpose is to raise donations and pass the funds to organizations. The 9th WHYLIVE show was held on May 14th, 2021 to collect funds for Thai Volunteer Service to help underprivileged people and communities that got affected by COVID-19 situation.
His latest show was the 11th WHYLIVE held on August 7th, 2021 where Pop and other artists had an auction letting their fans bid on their personal stuff. The amount they raised was given to Bangkok Community Help Foundation in order to help people who got affected by COVID-19.
Importantly, Pop is one of the artists who speaks up for people and dedicated medical officers that got affected by COVID-19. He requested the public agencies to hurriedly solve the problems and thoroughly help people as soon as possible.
Artist: Taitosmith
Taitosmith ศิลปินเพื่อชีวิตรุ่นใหม่ที่นอกจากจะหยิบนำเรื่องราวชีวิตในแง่มุมต่างๆ มาถ่ายทอดผ่านบทเพลงแล้ว พวกเขายังใช้บทเพลงเป็นสื่อกลางเพื่อนำเสนอแง่มุมทางสังคมที่ไม่ควรถูกมองข้าม เช่น Amazing Thailand เพลงที่พูดถึงปัญหาในสังคมไทยที่เราต่างเห็นกันมาตั้งแต่เล็กจนโต แต่กลับยังไม่ได้รับการแก้ไขเสียที หรือ ยุติ-ธรรม เพลงประกอบภาพยนตร์ คืนยุติ-ธรรม (2563) ที่พูดถึงความไม่เป็นธรรมของกฎหมายที่เลือกเข้าข้างคนมีอำนาจมากกว่าคนดี
และในขณะที่สถานการณ์โควิดกำลังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนอย่างหนัก Taitosmith ยังคงใช้บทเพลงของพวกเขาสะท้อนเสียงของผู้คนที่กำลังเผชิญกับวิกฤตครั้งนี้ เช่น เบื่อ บทเพลงที่ว่าด้วยเรื่องราวของคนที่เบื่อหน่ายกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ แต่ก็ยังต้องยอมทนต่อไป เพราะยังไม่พร้อมที่จะลุกขึ้นมาส่งเสียง อีกทั้งทางวงยังได้แต่งเพลง น้าค่อม เพื่อมอบให้แก่ อาคม ปรีดากุล หรือ น้าค่อม ชวนชื่น นักแสดงตลกชื่อดังที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 หลังพบว่าติดเชื้อโควิด
นอกจากนี้ จ๋าย-อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี นักร้องนำ ยังเลือกใช้การแต่งเพลงมาเป็นสื่อกลางในการแสดงออกทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง รวมถึง โมส-ตฤณสิษฐ์ สิริพิชญาศานต์ อีกหนึ่งนักร้องนำของวง ยังได้แต่งเพลงเพื่อมอบให้แก่ผู้ที่สูญเสียจากสถานการณ์โควิดในเพลง ใบไม้ร่วง
เพื่อเน้นย้ำว่า ทุกเสียงและทุกบทเพลงของผู้ประกอบอาชีพนักดนตรีล้วนเป็นเสียงที่ไม่ควรมองข้าม เราจึงขอหยิบยกสปีชช่วงหนึ่งของจ๋ายที่ได้กล่าวไว้ผ่านรายการ #POPLIVExเปิดหมวกเฟสติวัล เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 เกี่ยวกับประเด็น ‘การปิด’ เสียงของกลุ่มนักดนตรี เป็นการกระทำที่ไม่ต่างจากการปิดกั้นไม่ให้กลุ่มอาชีพนักดนตรีได้ใช้ทักษะความสามารถของตัวเองเพื่อหาเลี้ยงชีพ อีกทั้งยังปิดกั้นไม่ให้ใช้บทเพลงในการจรรโลงจิตใจผู้คนอย่างที่ควรจะเป็น
“คนดนตรีอย่างพวกเรามีอาวุธอย่างหนึ่งที่แข็งแรงที่สุดนั่นคือเสียงดนตรีนะฮะ เราใช้มันเพื่อต่อสู้กับโชคชะตา เราใช้มันเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เราใช้มันเป็นดั่งความหวัง แล้วมากกว่านั้นคือเราใช้มันเพื่อจรรโลงโลกใบนี้ จรรโลงจิตใจคนอื่น และมอบความหวังให้กับผู้อื่น
“การที่เราถูกปิดเสียง มันคือการที่เราถูกปิดปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของเราไป แต่วันนี้งานเปิดหมวกเฟสติวัลมันพิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า เสียงดนตรีมันมีความสำคัญต่อทุกชีวิตจริงๆ ต่อทุกลมหายใจ ดังนั้นเปิดใจของพวกคุณเถอะครับ เปิดเสียงให้กับพวกเรา เปิดโอกาสให้พวกเราได้ดำเนินชีวิตในอาวุธของพวกเราได้อย่างเต็มภาคภูมิ”
Artist: Three Man Down
Three Man Down ก้าวขึ้นมาเป็นวงดนตรีรุ่นใหม่ที่มีฐานแฟนเพิ่มขึ้นทุกวันตามผลงานเพลงฮิตที่เพิ่มขึ้นทุกวันอย่าง ข้างกัน, ฝนตกไหม, ฝันถึงแฟนเก่า, ถ้าเธอรักฉันจริง และล่าสุดอย่างเพลง คุยคนเดียวเก่ง
ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อรัฐบาล ในการพิจารณาหาทางออกให้กับกลุ่มผู้ประกอบการอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด
นอกจากนี้สมาชิกทั้ง 5 คนของ Three Man Down ยังใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียส่วนตัวในการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล รวมทั้งเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง อีกทั้งพวกเขายังเป็นอีกหนึ่งเสียงที่ออกมาต่อต้านการใช้ความรุนแรงกับประชาชน และเรียกร้องให้สื่อมวลชนรายงานข่าวตามข้อเท็จจริง
ล่าสุด Three Man Down ได้ร่วมกับเทศกาลเปิดหมวก เทศกาลดนตรีออนไลน์ที่เปิดรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือนักดนตรีทั่วประเทศ ซึ่ง Three Man Down ได้มอบเงินบริจาคทั้งหมดในช่วงของพวกเขาสมทบทุนเข้ากองกลาง เพื่อช่วยเหลือนักดนตรีที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาครัฐและขาดรายได้จากการปิดสถานบันเทิง ร้านอาหารกลางคืน รวมถึงงานอีเวนต์ต่างๆ มาเป็นเวลานาน
Three Man Down ใช้ดนตรีของพวกเขาสื่อสารออกมาได้อย่างสร้างสรรค์ผ่านเพลงใหม่ล่าสุด คุยคนเดียวเก่ง ที่เนื้อหาของเพลงสื่อถึงการ ‘เฝ้ารอ’ และ ‘การตอบกลับ’ ของใครบางคน ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังซ่อนนัยแฝงไว้ในมิวสิกวิดีโอ อาทิ สัญลักษณ์ขีดเวลา 3 วัน, ข้อความมากมายที่พยายามส่งไปแต่ไม่เคยได้รับการตอบกลับ และการอดทนรอเป็นระยะเวลากว่า 7 ปี
ที่ไม่ได้เป็นเพียงการตัดพ้อในความรักเท่านั้น แต่ยังสื่อสารถึงความเจ็บปวดที่เสียงของพวกเราไม่เคยส่งไปถึงใครคนนั้นเสียที
Artists: ใบเฟิร์น-อัญชสา มงคลสมัย
นอกจาก ใบเฟิร์น-อัญชสา มงคลสมัย จะมีผลงานการแสดงอย่างต่อเนื่อง อาทิ ภูตพิศวาส, สงครามนักปั้น และ รักแลกภพ ภายใต้สังกัดช่อง one31 ในเครือ GMM Grammy เธอก็ยังเป็นบล็อกเกอร์ที่บันทึกการท่องเที่ยวเอาไว้ทางยูทูบและแฟนเพจชื่อ Bivoyage – ใบบันทึกเดินทาง
ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ของโรคโควิดกำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก ใบเฟิร์นคืออีกหนึ่งคนบันเทิงที่ก้าวออกมาช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบในด้านต่างๆ ทั้งเดินทางไปทำกิจกรรมอาสาตามสถานที่ต่างๆ พร้อมกับคอยช่วยประชาสัมพันธ์และมีส่วนร่วมกับโครงการบริจาคของอุปโภคบริโภค, กำลังทรัพย์, ชุด PPE ฯลฯ
นอกจากนี้ใบเฟิร์นยังใช้เสียงของตัวเองในการออกมาพูดถึงระบบการคมนาคม ความเจริญที่กระจุกตัวอยู่ในเมือง ระบบการศึกษา ฯลฯ ปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ ที่ไม่เอื้ออำนวยให้ประชาชนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งแน่นอนว่านักแสดงอย่างเธอเองก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกับอาชีพอื่นๆ ในสังคม
แม้ว่าใบเฟิร์นจะใช้เสียงจากการเป็น ‘นักแสดง’ ที่มีผู้ติดตามจำนวนมากมาช่วยขับเคลื่อนสังคม แต่เธอก็ได้บอกไว้ว่า จิตอาสาและการช่วยเหลือบริจาคกันเองของประชาชนเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุที่จะไม่จำเป็นต้องมีเลย หากประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคงมากพอ
สิ่งสำคัญที่สุดคือ การเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเอง รัฐควรทำให้ทุกชีวิตมีโอกาสเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเสมอภาคตามที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมี พึงได้ ในฐานะประชาชนของประเทศนั้นๆ
ซึ่งประเทศจะพัฒนาเดินหน้าต่อไปได้ก็ต้องเริ่มจากการที่รัฐบาลยอมรับถึงปัญหาและรับฟังเสียงของประชาชน โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตเช่นนี้
Artist: บีมบีม-กมลพร โกสียรักษ์วงศ์
บีมบีม-กมลพร โกสียรักษ์วงศ์ คืออดีตสมาชิกวงไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปอย่าง FEVER ที่ผันตัวมาเป็นสตรีมเมอร์ภายใต้สังกัด MiTH นอกจากนี้เธอยังมีบทบาทเป็นนักแสดงอิสระ ยูทูเบอร์ และแอร์โฮสเตส
แม้ว่าบีมบีมจะมีการปรับเปลี่ยนบทบาทของตัวเองในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่สิ่งหนึ่งที่เธอทำมาโดยตลอดคือ การใช้เสียงของตัวเองในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านทางโซเชียลมีเดีย ทั้งการต่อต้านการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐในการสลายการชุมนุม และการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของภาครัฐเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิดและการจัดสรรวัคซีนโควิดที่ล้าช้า
ซึ่งหากเราย้อนเวลากลับไปในช่วงที่บีมบีมยังอยู่ในสถานะไอดอล การออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของเธอถือเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงสำคัญที่ทำให้ใครหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า ไอดอลควรพูดเรื่องการเมืองหรือไม่ ซึ่งเธอคือหนึ่งในกลุ่มไอดอลที่คอยผลักดันเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มศิลปินไอดอลอยู่เสมอ
แม้ว่าในเวลานี้บีมบีมจะไม่ได้อยู่ในสถานะไอดอลแล้วก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการออกมาผลักดันประเด็นดังกล่าวของเธอและกลุ่มไอดอลอีกหลายวง ได้สะท้อนให้ผู้คนได้ตระหนักถึงว่า ศิลปินไอดอลอย่างพวกเธอก็คือประชาชนคนหนึ่งเช่นเดียวกับทุกคน มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง และมีสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของภาครัฐ พร้อมทั้งยังสามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน เพื่อให้ภาครัฐได้ตระหนักถึงปัญหาที่ประชาชนกำลังเผชิญในปัจจุบันได้เช่นเดียวกัน
ภาพ: @bbeamko / instagram
Artist: Beambeam Kamonporn Kosiyarakwong
Beambeam Kamonporn Kosiyarakwong, the former idol girl group named FEVER, has become a streamer under Mith e-sports team, an independent actress, a youtuber, and a flight attendant.
Although her roles had been changing, she persisted in speaking her political opinions via her own social media. Beambeam stood up against public officers who used violence to disband the protest. Additionally, she criticised the government’s management about the vigilant measures against COVID-19 and the late vaccine allocation.
Looking back on when Beambeam was an idol, the way she expressed her political opinion was another significant action that urged people to ask whether idols should talk about politics or not. She was one of the idols who has always supported freedom of expression in idol groups.
Even though she is no longer an idol, it couldn’t be denied that the acts of Beambeam and many other idol groups help people realize that idol artists are one of the people. They have the freedom and rights to express their points and criticise the government. Moreover, they are the important voices to call out the government’s better management of problems that people are going through in this current crisis.
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- POP Powerful Voices in Crisis: Organization
- POP Powerful Voices in Crisis: Special
- POP Powerful Voices in Crisis: Icons
- POP Powerful Voices in Crisis: Digital Media
- ชมคลิป: POP Powerful Voices in Crisis
- POP Powerful Voices in Crisis: New Gen
- POP Powerful Voices In Crisis: Artists 1
- POP Powerful Voices In Crisis: Artists 2