ชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ วัย 76 ปี ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังไม่อาจต้านทานกระแสประท้วงของประชาชนที่นำไปสู่เหตุจลาจลครั้งใหญ่ของประเทศ สิ้นสุดการครองอำนาจกว่า 2 ทศวรรษของผู้นำหญิงรายนี้ โดยมีรายงานว่าเธอได้เดินทางออกจากประเทศไปอินเดียแล้ววานนี้ (5 สิงหาคม) ขณะสื่ออินเดียอย่าง Times Now รายงานเพิ่มเติมว่าเธออาจเดินทางต่อไปยังกรุงลอนดอนของอังกฤษ
หลังข่าวดังกล่าว ประชาชนจำนวนมากได้ออกมาเฉลิมฉลองกันบนท้องถนน ขณะที่บางส่วนบุกเข้าไปยังทำเนียบนายกรัฐมนตรี โดยมีรายงานว่าเกิดการปล้นและทำลายทรัพย์สินบางส่วนในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนภาพจากโซเชียลมีเดียเผยให้เห็นกลุ่มผู้ประท้วงขนเฟอร์นิเจอร์ออกจากที่พักของฮาสินาด้วย
บรรยากาศในกรุงธากาของบังกลาเทศวานนี้มีรายงานว่าสถานีตำรวจและอาคารราชการหลายแห่งถูกโจมตีและเผาทำลาย ขณะผู้ประท้วงบางส่วนพยายามจะรื้อถอนรูปปั้นของ ชีค มูจิบูร์ เราะห์มาน อดีตประธานาธิบดีผู้เป็นบิดาของฮาสินา โดยรัฐบาลได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจประจำการในหลายพื้นที่ทั่วเมืองหลวงเพื่อดูแลสถานการณ์ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ตัวเลขไม่แน่ชัด โดยสำนักข่าว AFP รายงานว่า วานนี้มีผู้เสียชีวิต 66 คน ขณะที่สื่อท้องถิ่นอย่าง Dhaka Tribune รายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 135 คน
- จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้
การลาออกของฮาสินาทำให้บังกลาเทศเผชิญกับภาวะสุญญากาศทางการเมือง ซึ่งโดยปกตินั้นจะเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างสองพรรคใหญ่อย่างพรรครัฐบาลสันนิบาตอวามี และพรรคฝ่ายค้านชาตินิยมบังกลาเทศ (Bangladesh Nationalist) โดยบังกลาเทศเป็นประเทศที่เผชิญกับการรัฐประหารหลายครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2007
เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ฮาสินาประกาศลาออก ประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด ชาฮาบุดดิน ของบังกลาเทศ ได้สั่งปล่อยตัวอดีตนายกรัฐมนตรีคาเลดา เซีย จากเรือนจำ ตลอดจนนักศึกษาทั้งหมดที่ถูกควบคุมตัวระหว่างการประท้วง
ประธานาธิบดีชาฮาบุดดินกล่าวว่า เขาได้เปิดการประชุมร่วมกับผู้บัญชาการทหาร ตลอดจนตัวแทนทางการเมือง โดยระบุว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลรักษาการชั่วคราว และจะมีการจัดการเลือกตั้งใหม่โดยเร็วที่สุด พร้อมประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวทั่วประเทศเพื่อให้ภาคธุรกิจกลับมาเปิดทำการได้อีกครั้ง
เทพาปรียา ภัทชารยา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Centre for Policy Dialogue แห่งกรุงธากา เปิดเผยกับสำนักข่าว BBC ว่าแม้ภาพของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีทั้งความยินดีของประชาชนที่ออกไปเฉลิมฉลองกันตามท้องถนน แต่ก็เกิดการโจมตีชนกลุ่มน้อยชาวฮินดูเพิ่มมากขึ้นด้วย ถือเป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาลใหม่
“ผู้ประท้วงบางกลุ่มมองว่าอินเดียสนับสนุนรัฐบาลฮาสินาเต็มกำลัง พวกเขาไม่ได้แยกแยะระหว่างประเทศอินเดียกับชาวฮินดูที่อาศัยอยู่ในบังกลาเทศ จนนำไปสู่การทำลายศาสนสถานและโจมตีทำร้ายผู้คน
“ตอนนี้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ขาดผู้บังคับใช้กฎหมายและรักษาความสงบเรียบร้อย รัฐบาลใหม่จะต้องเร่งปกป้องชนกลุ่มน้อยทางศาสนา”
หากย้อนไปดูบทสัมภาษณ์ของพันธมิตรฮาสินาในอดีตจะเห็นว่าพวกเขาพูดไปในทิศทางเดียวกันว่า เธอจะไม่หวนคืนสู่แวดวงการเมืองบังกลาเทศ หลังจากที่ครองอำนาจมากว่า 20 ปี โดย ซาจีบ วาเซ็ด จอย ลูกชายของเธอ เปิดเผยกับรายการ Newshour ของ BBC ว่า “คุณแม่อายุ 70 ปีปลายๆ เธอผิดหวังมากที่ตนเองทำงานหนักมากตลอด แต่คนกลุ่มน้อยกลับลุกขึ้นมาต่อต้านเธอ ผมคิดว่าเธอคงพอแล้ว”
ภาพ: Toby Melville / Reuters
อ้างอิง: