นับตั้งแต่การรัฐประหาร ประชาชนหลายคนคงเห็นแล้วว่า ‘โบราณคดี’ (ในความหมายของความรู้) ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาลทหารในการปลุกกระแสชาตินิยมและการโหยหาอดีต ดังเช่น นโยบายยกเว้นค่าธรรมเนียมการเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ เพื่อหวังว่าจะให้ประชาชนซาบซึ้งภูมิใจในชาติ และกลับมาสามัคคีกันอีกครั้ง ผมไม่ได้บอกว่าการเข้าอุทยานฯ และพิพิธภัณฑ์เป็นเรื่องไม่ดีนะ มันดีมากเลยครับ ขอย้ำตรงนี้ เพราะในมุมมองผมคือทั้งหมดเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้อดีตนอกห้องเรียน ควรมีให้มากขึ้น แต่ต้องไม่ถูกใช้เพื่อการเมืองครับ (แน่นอนไม่มีสิ่งใดที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง)
คราวนี้ปัญหามันอยู่ตรงที่โบราณสถานและพิพิธภัณฑ์ทั้งหลายนั้นมีความหมายที่แนบมากับวาทกรรมทางประวัติศาสตร์ และมรดกทางความคิดในยุคอาณานิคมและความคิดแบบทหารนิยมด้วย ดังนั้น ของฟรีไม่มีในโลก และมักมีโฆษณาแฝงมาด้วยเสมอ แต่เรื่องโฆษณาแฝงที่ว่านี้ ต้องย้ำอีกทีว่า เราไม่อาจไปโทษอุทยานฯ หรือพิพิธภัณฑ์ได้ เพราะมันมีสิ่งที่ลึกอยู่ในระดับโครงสร้าง และมันเป็นผลผลิตตกทอดมานานมาก ที่สำคัญด้วยโฆษณาแฝงนั้นมันฝังเป็นเหมือนไมโครชิปเล็กๆ ที่มันอยู่ในสมองของเราทุกคน
– 1 –
เบน แอนเดอร์สัน นักวิชาการด้านชาตินิยมระดับโลก ได้ให้ข้อสังเกตว่า การบูรณะโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคอาณานิคม ซึ่งล้วนมีนัยทางการเมืองอย่างลึกซึ้ง เขาได้หยิบยกงานโบราณคดีในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษาที่เขาเชี่ยวชาญมาเป็นกรณีตัวอย่าง แอนเดอร์สันได้เล่าว่า กองโบราณคดีของอาณานิคมเป็นสถาบันที่มีอิทธิพลและมีหน้ามีตา เจ้าอาณานิคมได้ทำให้มรดกทางวัฒนธรรมต่างๆ ดังเช่นโบราณสถานนั้นเป็นเกียรติภูมิของผู้พิชิต ในขณะเดียวกัน การทุ่มเทต่องานบูรณะโบราณสถานจำนวนมากมายนั้นยังมีวัตถุประสงค์แฝงทางการเมืองและสังคมอีก 3 ประการ ซึ่งเขาได้ตีความอย่างน่าสนใจ ดังนี้
ประการแรก เจ้าอาณานิคมสนับสนุนงานด้านบูรณะโบราณสถาน รวมถึงงานวรรณคดีจารีตเพื่อใช้เป็นข้ออ้างลดแรงต้านทาน และแรงกดดันจากชนพื้นเมืองหัวก้าวหน้า ที่ต้องการพัฒนาโรงเรียนแผนสมัยใหม่
ประการที่สอง มักมีการตีความเสมอในบรรดาเจ้าอาณานิคมว่า ผู้สร้างโบราณสถานในอดีตมีสถานะเหนือกว่าชาวพื้นเมืองใต้อาณานิคมเสมอ เช่น อธิบายว่าผู้สร้างโบราณสถานนั้นไม่ได้มีเชื้อชาติเดียวกับชาวพื้นเมือง หรือเป็นพราหมณ์หรือกษัตริย์ต่างถิ่นมาสร้างไว้ เช่นเดียวกับในกรณีของพม่าก็มีคำอธิบายว่า ชนพื้นเมืองปัจจุบันไม่มีทางที่จะสร้างเมืองพุกามที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างบรรพบุรุษในอดีตอีกแล้ว แอนเดอร์สัน ชี้ให้เห็นนัยของความคิดดังกล่าวว่า เจ้าอาณานิคมต้องการบอกว่า ชนพื้นเมืองทั้งหลายนั้น “เจ้าหมดยุคความยิ่งใหญ่หรือหมดความสามารถในการปกครองตัวเองมานานแล้ว และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป”
บุโรพุทโธ โบราณสถานสำคัญของอินโดนีเซียในช่วงก่อนการบูรณะเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว
ประการที่สาม เจ้าอาณานิคมที่แสดงตนเป็นรัฐนั้น ได้ทำให้โบราณสถานกลายเป็นของส่วนรวม และวางบทบาทของโบราณสถานให้กลายเป็น ‘เครื่องประดับยศสำหรับรัฐ’ ไม่ใช่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป อุทยานประวัติศาสตร์จึงไม่ต่างไปจากพิพิธภัณฑ์ และสถานที่ท่องเที่ยวแบบหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เอง โบราณสถานจึงมักตกแต่งด้วยสนามหญ้าและอื่นๆ เพื่อทำให้มันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ (จากหนังสือชุมชนจินตกรรม, น. 326-339)
ถ้าสรุปตามความเข้าใจของผมก็คือ โบราณสถานเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของเจ้าอาณานิคมที่ใช้กล่อมเกลาประชาชนหัวก้าวหน้าให้หลงใหลติดอยู่กับอดีต พร้อมกับตอกย้ำว่าอดีตที่เคยเจริญรุ่งเรืองนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้วหรือกระทั่งไม่ใช่ของตนเอง หากแต่เป็นของกษัตริย์หรือกลุ่มชนในอดีตที่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเองเลยด้วยซ้ำที่เป็นผู้รังสรรค์ขึ้นมา เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงกรณีของศิลปะลพบุรีที่มักจะนิยามกันว่าเป็นของขอม ไม่ใช่เขมร และก็ไม่เคยเชื่อมโยงอะไรกับเขมรที่อยู่ในประเทศไทย มีเพียงเรื่องของชนชาติไทยเท่านั้นที่ถูกทำให้เกิดความต่อเนื่องท่ามกลางการขาดวิ่นของชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์
– 2 –
นอกจากโบราณสถานที่เคยรกร้างที่เจ้าอาณานิคมเปลี่ยนให้เป็นเครื่องประดับยศแห่งรัฐแล้ว พิพิธภัณฑ์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างจินตนาการและสำนึกเกี่ยวกับชาติ ในกรณีของไทย พิพิธภัณฑ์ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ก็จริง แต่กว่าจะเปิดให้เป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชนก็ล่วงเข้ามาในสมัยปลายรัชกาลที่ 6 ต่อรัชกาลที่ 7 แล้ว โดยรัชกาลที่ 7 ทรงมอบพระราชมณเฑียรของพระราชวังบวรฯ ทั้งหมดให้เป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ดังนั้นในปี พ.ศ. 2469 จึงได้เกิดการจัดจำแนกโบราณวัตถุต่างๆ อย่างเป็นระบบขึ้นเป็นครั้งแรก โดยใช้หลักวิชาทางด้านโบราณคดี (หรือประวัติศาสตร์ศิลปะ)
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ผู้ที่มีบทบาทในเวลานั้นอย่างมากคือ ยอร์ช เซเดส์ ปราชญ์ด้านโบราณคดีของฝรั่งเศส และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้จัดแบ่งยุคสมัยของวัตถุต่างๆ ออกเป็น 8 สมัยได้แก่ สมัยทวารวดี สมัยศรีวิชัย สมัยลพบุรี สมัยเชียงแสน สมัยสุโขทัย สมัยอู่ทอง สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์
ยุคสมัยต่างๆ นี้ถึงบางส่วนจะเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในแง่ว่ามีรัฐบางรัฐเคยดำรงอยู่ในอดีต แต่สังเกตได้ว่าชื่อยุคสมัยพวกนี้โดยมากเป็นชื่อของอาณาจักรทางพุทธศาสนาหรืออาณาจักรไทยอันรุ่งเรืองยิ่งใหญ่มาก่อนทั้งสิ้น บางสมัยเช่น สมัยลพบุรี ก็เป็นชื่อที่สะท้อนสำนึกต่อต้านอาณานิคมฝรั่งเศส เพราะถ้าขืนไปตั้งชื่อเป็นสมัยเขมร (ต่อมามีคนเติมท้ายไปว่า ในดินแดนสยาม/ไทย) หรือสมัยกัมพูชา กระทั่งสมัยยโศธรปุระ ก็อาจทำให้ฝรั่งเศสใช้เป็นข้ออ้างในการยึดครองดินแดนได้ และนี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความคิดว่าศิลปะลพบุรีเป็นของ ‘ขอม’ ไม่ใช่ ‘เขมร’ ไปด้วย
ในขณะที่บางยุคสมัยนั้นสัมพันธ์อย่างยิ่งกับสำนึกเชิงเชื้อชาตินิยมไทยคือ สมัยเชียงแสนกับสมัยอู่ทอง เหตุที่ตั้งชื่อนี้เพราะเชื่อว่าพระเจ้าอู่ทองมีบรรพบุรุษคือพระเจ้าศิริไชยเชียงแสน คือมาจากเมืองเชียงแสน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดที่เส้นทางการอพยพของคนไทยจากเหนือลงใต้ โดยมีสุโขทัยเป็นโซ่ข้อกลางของการอพยพนั้น (สนใจอ่านในประเด็นที่ลึกขึ้นดูได้ในงานของนักวิชาการสำคัญ เช่น Maurizio Peleggi และ ชาตรี ประกิตนนทการ)
โบราณสถานที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดเรียงตามลำดับยุคสมัย และตามกรอบเวลาที่จัดแบ่งระหว่างสมัยของคนไทยกับไม่ไทย
ด้วยประวัติศาสตร์ที่อธิบายประวัติความเป็นมาอันเก่าแก่ต่อเนื่องเป็นสายนี้เอง ที่ทำให้เกิดสำนึกว่า คนไทยจากเหนือถึงใต้นั้นเป็นพวกเดียวกัน และรวมไปถึงการอ้างความชอบธรรมของผู้นำในฐานะวีรบุรุษอีกด้วย ด้วยความคิดเช่นนี้เอง จึงมีการบูรณะและค้นคว้าทางโบราณคดีที่เมืองเชียงแสน สุโขทัย และอู่ทองในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6-7 อย่างมาก รวมไปถึงในสมัยหลังลงมา เช่น สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม
อย่างไรก็ดี สำนึกทางประวัติศาสตร์ของชาตินี้ก็มีปัญหา เพราะมีสิ่งที่ขัดกันอยู่ในข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ตัวอย่างเช่น สมัยศรีวิชัยอันเป็นประวัติศาสตร์ของดินแดนมลายู ก็ไม่ได้มีเรื่องราวต่อเนื่องลงมาจนถึงเมื่อรับศาสนาอิสลาม หรือกรณีของดินแดนอีสานที่ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรล้านช้างเหมือนไม่มีพื้นที่ร่วมกับอดีตของชาติ ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า วัตถุในพิพิธภัณฑ์จึงมีนัยทางการเมือง โดยจำกัดวงของการรับรู้หรือมีกระบวนการเลือกให้สิ่งใดควรค่าในฐานะเป็นวัตถุที่แสดงอัตชีวประวัติของชาติ
มีเรื่องที่ควรกล่าวด้วยว่า โบราณวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นั้นมักถูกเลือกเฟ้นด้วยเกณฑ์ที่ไม่ซับซ้อนอะไร หนึ่ง เป็นวัตถุทางศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพุทธและพราหมณ์ สอง เป็นสิ่งของของชนชั้นสูง และสะท้อนความมั่งคั่งรุ่งเรืองของสถาบันกษัตริย์และทหาร สาม เป็นของหายากหรือแปลกประหลาด ดังนั้น พิพิธภัณฑ์ในระยะต้นจึงไม่ใช่พื้นที่จัดแสดงของชาวบ้าน โดยนัยก็คือพิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่ที่ทำให้เห็นความรุ่งเรืองของชาติผ่านศาสนา และวิถีชีวิตของชนชั้นสูงหรือกษัตริย์ซึ่งเป็นทหารโดยจารีต
– 3 –
แม้ว่า 2475 จะเป็นเส้นแบ่งเวลาทางประวัติศาสตร์ แต่โบราณสถานและพิพิธภัณฑ์ยังคงทำหน้าที่ตอบสนองต่อการเมืองของชาติเช่นเดิม ในช่วงปลายทศวรรษ 2490 โครงการบูรณะโบราณสถานในเขตอยุธยาและสุโขทัยได้กระทำกันอย่างขยันขันแข็ง วัดและพระพุทธรูปจำนวนมากมายนับไม่ถ้วนได้รับการบูรณะ กระทั่งบางส่วนทำขึ้นมาใหม่ เช่น หลวงพ่อศรีชุมที่สุโขทัย หรือมหาเจดีย์สามองค์วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นต้น โดยวัตถุประสงค์ที่มองเห็นได้ในทันทีของงานบูรณะพวกนี้คือการพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และงานด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ
สภาพอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยก่อนการบูรณะ (ที่มาของภาพ: www.finearts.go.th/sukhothaihistoricalpark/ข่าวประชาสัมพันธ์/item/กว่าจะเป็นอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย.html)
แต่ถ้าสังเกตให้ดี งานบูรณะนี้เป็นช่วงเวลาอันประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่รัฐบาลทหารกำลังขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ อีกทั้งยังใกล้ช่วงเวลาอันสำคัญคือ วาระกึ่งพุทธกาล ด้วยเหตุนี้ การบูรณะโบราณสถานจึงย่อมน่าจะช่วยส่งเสริมสร้างภาพลักษณ์อันตกต่ำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ฟื้นกลับมาอีกครั้ง
ในระยะเวลาเดียวกันนี้เอง ละครของหลวงวิจิตรวาทการได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง หลวงวิจิตรวาทการ ผู้เป็นมือขวาจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปิดตัวละครเรื่อง ‘อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง’ ในปี 2497 ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ได้ให้ความเห็นว่า ละครเรื่องนี้มีสารที่แฝงอยู่ก็คือละครนี้ต้องการจะปลุกใจให้คนรักและพิทักษ์ผู้นำทหาร เพื่อต่อสู้กับภัยร้ายคือคอมมิวนิสต์
นอกจากนี้ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้เล็กน้อย ประวัติศาสตร์เสียกรุงของอยุธยาก็ได้เป็นฉากอันสำคัญของละคร และภาพยนตร์ชาตินิยมเช่นเรื่อง ‘เลือดสุพรรณ’ หรือเรื่อง ‘เลือดทหารไทย’ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทั้งงบประมาณและยุทโธปกรณ์จากกระทรวงกลาโหมด้วย สื่อชาตินิยมพวกนี้มีเป้าหมายชัดเจนเพื่อปลุกใจให้คนรักชาติ ต่อสู้กับศัตรู และสร้างภาพว่าทหารคือผู้ที่ทำหน้าที่ปกป้องประเทศจากข้าศึกภายนอก และผู้ไม่หวังดีภายในประเทศ ด้วยวิธีคิดเช่นนี้เองที่ทำให้ทหารยกระดับกลายเป็นผู้นำของสังคมการเมืองในประเทศในที่สุด
– 4 –
แม้ว่าเวลาจะก้าวหน้าแต่สูตรการสร้างความสามัคคี และให้เชื่อในผู้นำนั้นกลับย้อนเวลาไป ถ้าหากจำกันได้หลังจากการทำรัฐประหารของ พล.อ. ประยุทธ์ ได้เพียงเดือนเดียว คณะรัฐประหารได้ประกาศให้ประชาชนดูหนัง ‘ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 5 ยุทธหัตถี’ ฟรี รอบแรกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2557 เช่นเดียวกับการเปิดให้ประชาชนไปเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ฟรีทั่วประเทศ เพื่อหวังให้ซึมซับกับอดีตอันรุ่งเรือง และเต็มไปด้วยความสามัคคีของบรรพชนไทย ที่สำคัญคือความเสียสละของทหารในการรักษาบ้านเมือง ทั้งๆ ที่ทหารในความหมายของอดีตกับปัจจุบันนั้นมีความแตกต่างกัน
นอกจากนี้ ในรอบหลายปีมานี้หลังการปฏิวัติจะสังเกตได้ถึงนโยบายที่พยายามผลักดันให้อุทยานประวัติศาสตร์กลายเป็นที่ท่องเที่ยว และสร้างตลาดย้อนยุคมากมายที่เรียกกันว่าตลาดวิถีไทย เราคงไม่ต้องพูดถึงในแง่ของความสำเร็จหรือว่าเจ๊งกันไปเท่าไร แต่วิถีไทยที่ว่านี้ต่างล้วนเป็นวิถีของการย้อนยุคมากกว่าจะไปข้างหน้า พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์หลายแห่งได้กลายเป็นพื้นที่ตลาด ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้นึกย้อนกลับไปถึงในสมัยอาณานิคม หรือรัฐทหารที่อดีตถูกนำมาใช้เพื่อให้คนถูกแขวนอยู่ในอดีต ติดอยู่กับกาลเวลาของอดีต เพื่อสร้างนัยว่าอดีตอันรุ่งเรืองนั้นจะต้องมีวีรบุรุษและทหารเป็นผู้นำชาติ จึงจะพ้นภัยและปลอดจากศัตรู เจ้าอาณานิคมจะได้ปกครองชนพื้นเมืองได้ต่อไป ผมหวังว่าวันหนึ่งโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์จะไม่ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองอีกต่อไป เพื่อให้เป็นสถาบันทางความรู้แก่สังคมอย่างแท้จริง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. 2559. ‘เลือดสุพรรณ: ปลูกใจผู้หญิงไทยให้รักชาติและลุกรบ,’ ศิลปวัฒนธรรม, ฉบับกันยายน. Available at: www.silpa-mag.com/history/article_7167
- เบน แอนเดอร์สัน. 2552. ชุมชนจินตกรรม: บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม. แปลจาก Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
- Peleggi, Maurizio. 2002. The Politics of Ruins and the Business of Nostalgia. Bangkok: White Lotus.
- Peleggi, Maurizio. 2017. Monastery, Monument, Museum: Sites and Artifacts of Thai Cultural History. Honolulu: University of Hawai’i Press.
- Chatri Prakitnoonthakarn. 2013. ‘Tamnan Phutthachedi Siam: The Origin of Art History and Absolute Monarchy,’ อ่าน (An Magazine). 1, pp. 55-74.