×

เลือกตั้ง 2566 : ‘ธิษะณา ชุณหะวัณ’ เส้นทางการเมืองที่ก้าวไกล กับเพดานที่ต้องก้าวไป ในรุ่นที่แตกต่าง

25.06.2023
  • LOADING...
ธิษะณา ชุณหะวัณ

91 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรมีอำนาจเต็มเพียง 15 ปีแรก ต่อมามีจุดเปลี่ยนสำคัญคือ รัฐประหาร 2490 โดยจอมพล ผิน ชุณหะวัณ คุณพ่อของ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ คุณปู่ของไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และคุณทวดของแก้วตา-ธิษะณา ชุณหะวัณ ส.ส. พรรคก้าวไกล รวมตระกูล ‘ชุณหะวัณ’ มีบทบาทในการเมืองไทยจากอดีตถึงปัจจุบันแล้วถึง 4 รุ่น 

 

THE STANDARD สัมภาษณ์ แก้วตา-ธิษะณา ชุณหะวัณ ส.ส. พรรคก้าวไกล หลังเลือกตั้ง 2566 ซึ่งก้าวไกลได้จำนวน ส.ส. มาเป็นอันดับ 1 และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

 

 

ส.ว. แต่งตั้ง เริ่มรุ่นคุณทวด ต่อมาแนวคิดยกเลิก ส.ว. มีการผลักดันในรุ่นเหลน

 

ธิษะณาตอบคำถามถึงประวัติศาสตร์รุ่นคุณทวด คือ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ผู้ทำรัฐประหารปี 2490 ยึดอำนาจคณะราษฎรกลุ่มปรีดี พนมยงค์ นำมาสู่การที่รัฐสภามี 2 สภาโดยมีสภาสูงคือ ส.ว. จากการแต่งตั้ง นับแต่ยุคนั้นเป็นต้นมา

 

ธิษะณากล่าวว่า “ประวัติศาสตร์ก็คือประวัติศาสตร์ ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เราก็ต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ในเรื่องอุดมการณ์ก็เป็นสิทธิและเสรีภาพในความคิด เสรีภาพทางวิชาการที่แก้วจะแสวงหาและจะคิดว่าอุดมการณ์ไหนที่ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง หรือเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย หรือเป็นแนวทางของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการรัฐประหาร 2490 ที่กลุ่มปรีดี พนมยงค์ถูกรัฐประหาร ก็ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ทราบว่ารัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหารครั้งนั้นโดยจอมพล ผิน ชุณหะวัณ กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกเรียกว่า ‘รัฐธรรมนูญกษัตริย์นิยม’ โดยเป็นครั้งแรกที่มีสภาสูง หรือ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มี ส.ว. จากการแต่งตั้งเช่นกัน เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีความบกพร่อง 

 

“อุดมการณ์ของแก้วมีความชัดเจน เคลื่อนไหวโดยการเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า แล้วก็ทำกิจกรรมทั่วประเทศที่จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนด้วยตัวเองไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ และในแต่ละสถานที่ที่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ มีนักศึกษามาร่วมกิจกรรมจำนวนมาก เพื่อที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับตนเองที่เป็นประชาธิปไตย จึงทำการรณรงค์เรื่องระบอบประชาธิปไตยมานานตั้งแต่ปี 2563 หลังแก้วกลับจากประเทศอังกฤษ จึงคิดว่าอุดมการณ์เรื่องประชาธิปไตยน่าจะชัดเจนอยู่แล้ว ว่าเราต่อต้านระบอบเผด็จการ แล้วก็เราต่อต้านการรัฐประหาร”

 

 

สำหรับงานทางการเมืองในยุคปัจจุบันเกี่ยวกับการกำหนดบทบาท ส.ว.

 

คิดเช่นเดียวกับกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ร่างรื้อระบอบประยุทธ์ (ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์) ที่ประชาชนได้เข้าชื่อเสนอกฎหมายถึง 150,921 รายชื่อในข้อเสนอการยกเลิก ส.ว. เพราะได้ทำแบบสอบถามร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ทำกิจกรรมในหลายจังหวัดพบว่าหลายคนมีความคิดเห็นเดียวกันโดยเฉพาะ เมื่อเรายกตัวอย่างการปกครองแต่ละรัฐในรัฐที่ไม่มี ส.ว. เป็นการช่วยลดงบประมาณ และฝ่ายค้านกับรัฐบาลสามารถจะถ่วงดุลกันอยู่แล้ว ถ้ามี ส.ว. ที่ไม่เป็นอิสระและเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แบบนี้สู้ให้ไม่มี ส.ว. น่าจะดีกว่า 

 

จุดเริ่มต้นทำงานกับกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า

 

แก้วเรียนกฎหมายมหาชนระหว่างประเทศ จะมีวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบระหว่างประเทศ คิดว่าน่าจะได้ใช้ความรู้มาทำงานร่วมกัน ถึงจะเป็นจุดเล็กๆ แต่เป็นการริเริ่มความตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญระบอบประชาธิปไตย ทำกิจกรรมกับน้องๆ นักศึกษาด้วย ตอนทำแบบสอบถามร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนกับกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า แล้วน้องๆ หลายคนก็ออกมาเป็นแกนนำหลังทำกิจกรรม สามารถที่จะพูดโดยมีองค์ความรู้เกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

 

 

คุณทวดทำรัฐประหาร 2490/1947 – คุณปู่ถูกรัฐประหาร 2534/1991

 

ธิษะณาเล่าถึงยุคคุณปู่ คือ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหารเมื่อปี 2534/1991 ซึ่งต่อมาในยุคคุณพ่อ คือ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ยังมีบทบาททางการเมืองต่อเนื่อง โดยเธอเล่าว่าเธอเกิดในปีเดียวกับปีที่คุณปู่ถูกรัฐประหาร

 

“รุ่นคุณปู่ถูกรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ตอนนั้นแก้วยังไม่เกิด แก้วเกิด 21 ตุลาคม 2534 ในปีเดียวกัน ตอนนั้นจึงยังไม่ได้มีประสบการณ์ในบรรยากาศนั้น เพราะยังอยู่ในท้องคุณแม่ 

 

“ส่วนคุณพ่อ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ทำงานการเมืองตั้งแต่สมัยคุณปู่ คือ พล.อ. ชาติชาย ซึ่งนักการเมืองสมัยนั้นมีบางคนย้ายมาอยู่ในพรรคไทยรักไทย พรรคเพื่อไทยในปัจจุบันด้วย นักการเมืองบางท่านบอกว่าเคยนั่งประชุมสภาร่วมกับคุณพ่อสมัยคุณพ่อเป็น ส.ว. อิสระ มาจากการเลือกตั้ง ยังไม่ได้ลงพรรคประชาธิปัตย์ตอนนั้น เมื่อเป็น ส.ว. 2 สมัยแล้วจึงมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

 

“บ้านนี้เราจะรู้จักทุกฝ่าย คุณปู่โดนรัฐประหาร 2534/1991 เพราะโดนกล่าวหาเป็นเผด็จการในรัฐสภา เพราะท่านเฟรนด์ลี หลังประชุมอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เลี้ยงข้าว ประชุมร่วมกันแม้แต่กับพรรคฝ่ายค้านด้วย เพื่อให้การทำงานในรัฐสภาราบรื่น ก็เป็นเรื่องปกติ ต้องมีการเจรจา ในบ้านจึงมีคนจากทุกฝ่ายมาประชุม ไม่ว่าจะภาคประชาสังคม NGO แกนนำกลุ่มชาติพันธุ์ 

 

“ในยุครัฐบาลคุณปู่ คุณพ่อเป็นคนติดต่อประสานกับเครือข่ายภาคประชาสังคม ภาคประชาชน เป็นคนพาม็อบมาประท้วง เพราะพ่อเป็นฝ่ายซ้ายไม่เอานายทุน คุณปู่ก็มองว่าสุดโต่ง แต่ก็ต้องมีคนมาถ่วงดุลรัฐบาลคุณปู่

 

“รสช. เขียนหนึ่งในเหตุผลที่รัฐประหาร 2534/1991 บอกว่า เป็นเผด็จการรัฐสภา และกดขี่ข้าราชการประจำ มีคนเคยกล่าวหาคุณปู่โดยพูดในสภาว่า พายเรือให้โจรนั่ง จากนั้นไม่นานรัฐบาลคุณปู่ก็โดนรัฐประหาร มีข้อกล่าวหาว่าบุฟเฟต์คาบิเนตด้วย”

 

 

ชุณหะวัณ ทั้ง 4 รุ่น มองว่ามีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

 

มองว่าไม่เหมือนกัน คุณทวดเป็นขวาสุด แต่เราก็เกิดไม่ทันจึงไม่เคยคุยการเมืองระหว่างประเทศกับท่าน ส่วนคุณปู่ก็เป็นฝ่ายขวาที่ชอบนายทุน ก็เอื้อนายทุน ส่วนคุณพ่อจะเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยซ้ายสุด พ่อซ้ายมากๆ แต่แก้วไปทางเสรีนิยมด้วย ไม่ว่าจะสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ สนับสนุน Liberalization การเปิดเสรีต่างๆ รวมถึง Sex Worker ด้วย ส่วนคุณพ่อเป็นฝ่ายซ้ายแต่มีความ Conservative กว่า คุณพ่ออยู่ข้างเกษตรกรชนชั้นกรรมาชีพ 

 

รุ่นแก้วเอง การทำงานที่ผ่านมา เป็น NGO มูลนิธิเล็กๆ ทำเกี่ยวกับอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แล้วตอนแรกทำเรื่องต่อต้านการค้าสัตว์ป่าอย่างเดียว แต่ทีนี้มันมีเรื่องคาบเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ คือบางครั้งมูลนิธิเข้าไปช่วยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในการจับพวกลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย บางทีเจอการขนส่งสินค้าที่เป็นมนุษย์ มูลนิธิที่ทำก็ต่อต้านการค้ามนุษย์แล้วก็ค้าสัตว์ป่าโดยผิดกฎหมาย ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ด้วย เป็นงานที่ค่อนข้างท้าทายและสนุกเพราะทำงานภาคสนามเยอะ และนำไปสู่การตามจับกุมของเจ้าหน้าที่ต่อไป 

 

นักการเมืองที่แก้วสนิทก็เป็นนักการเมืองในพรรคก้าวไกล ส่วนนักการเมืองรุ่นเก่าๆ ก็เคยเจอบ้าง เขาเคยทำงานกับคุณพ่อ คุณปู่ แต่รุ่นทวดไม่มี เวลาลงพื้นที่ในชุมชน คนแก่อายุ 80 ปีขึ้นไป บางคนก็รู้จักจอมพล ผิน เวลาเราแนะนำตัวว่านามสกุลชุณหะวัณ 

 

แต่รุ่นที่อาวุโสรองลงมาก็จะรู้จักชาติชาย ส่วนรุ่นอายุต่ำกว่านั้นจะรู้จักไกรศักดิ์ คุณพ่อไม่ได้ดังมากเพราะไม่ได้เป็นนายกฯ แต่ผู้นำชุมชน นักเคลื่อนไหวแกนนำชุมชน จะรู้จักพ่อ เพราะเขาทำงานกับคุณพ่อโดยตรง เช่น ชุมชนบ้านครัวเหนือ จะเล่าว่าคุณพ่อก็เคยไปร่วมกับชุมชน ตอน ‘รอมฎอน ปันจอร์’ ไปถือศีลอดกับชาวบ้าน ไปประท้วงเรื่องไล่รื้อ ชาวบ้านเล่าว่าไกรศักดิ์เคยไปนอนกับชุมชน 

 

 

สังกัดพรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองแรก

 

พ่อเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนแก้วไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคใดมาก่อนนอกจากพรรคก้าวไกล แต่สำหรับความสัมพันธ์กับพรรคประชาธิปัตย์ มีความผูกพันจากคุณพ่อเป็นหลักเนื่องจากท่านทำงานในพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะมีเพื่อนๆ คุณพ่อ ที่เรารู้จักก่อนหน้านี้

 

แก้วไม่เคยคิดว่าจะไปสมัครประชาธิปัตย์เลย มาก้าวไกลเป็นพรรคแรกในการสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

 

การอยู่พรรคก้าวไกล มีการแข่งขันกับทุกฝ่ายกับหลายๆ พรรค เนื่องจากต้องชิงตำแหน่งก็แข่งขันสูง เคยเจอรถแห่ของต่างพรรค วิ่งตามเปิดเพลงดังๆ ระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง

 

 

มองกลุ่มชนชั้นนำปัจจุบันอย่างไร 

 

ชนชั้นศักดินา (Feudalism) เริ่มไม่ได้มีความเป็นชนชั้นนำอีกต่อไป เพราะทั่วโลกเคลื่อนไปทางกลุ่มทุน เป็นกลุ่มที่มีอำนาจจริงๆ กลุ่มที่มีอำนาจต่อรองก็เป็นนายทุนผูกขาด ดังนั้นกลุ่มชนชั้นนำไม่ได้มีอิทธิพล ไม่เหมือนระบอบขุนนางสมัยก่อนอีกต่อไป

 

แม้ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง คือคนที่มาจากครอบครัวที่เป็นชนชั้นนำจะได้รับการศึกษาที่ดีกว่า ได้มีโอกาสมากกว่ากลุ่มที่มาจากชนชั้นแรงงาน แต่นี่ก็เกิดขึ้นทุกสังคมไม่ใช่แค่สังคมไทย แต่ตอนนี้ทุกๆ ประเทศก็กำลังก้าวไปทางทุนนิยม (Capitalism) อยู่แล้ว 

 

ซึ่งก็เป็นนโยบายพรรคก้าวไกลที่พยายามจะทลายเศรษฐกิจผูกขาด เพื่อจะเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียมในตลาดเปิดเสรีเป็นหลัก ที่เปลี่ยนไปสู่ระบบทุนนิยมที่เท่าเทียม 

 

ประเทศไทยเราผ่านยุคความเปลี่ยนแปลงที่จะรุนแรงมา แล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงรุนแรง เรามีพรรคการเมืองกับภาคประชาสังคมที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางความคิดได้ ซึ่งก็คือการขับเคลื่อนมวลชนในการเรียกร้อง และพรรคการเมืองยอมรับชุดความคิดที่เป็นอุดมการณ์ แทนที่จะเป็นสงคราม เราผ่านยุค ‘เสื้อเหลือง-เสื้อแดง’ ยุคที่มีผู้สนับสนุนทั้งฝ่ายศักดินาและฝ่ายทุนนิยม เราผ่านมาแล้ว

 

ปัจจุบันมีการเปลี่ยนความคิดค่อนข้างเยอะ ดูจากชัยชนะของพรรคก้าวไกลที่มีทั้งนโยบายแก้ไขมาตรา 112 และทวงความยุติธรรมให้คนเสื้อแดง การลงสัตยาบันกับศาลอาญาระหว่างประเทศ คนไทยส่วนใหญ่เริ่มยอมรับอุดมการณ์สิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น มีความเห็นอกเห็นใจผู้ที่ถูกภาครัฐทำละเมิด 

 

ส่วนฝ่ายอนุรักษนิยมบางคนที่ด่าเยาวชนว่าชังชาติ เหมือนสมัยกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นการเปิดไฟเขียวให้ทางผ่านแก่การปราบปรามกลุ่มนักศึกษา โดยการไปตีตราเขาว่าเป็นพวกล้มเจ้า พวกชังชาติ มองว่าเป็นมุกเก่า ไม่มีมุกใหม่ 

 

 

เมื่อถามว่า เหตุที่ไม่โดนกล่าวหาว่าล้มเจ้าเพราะครอบครัวชุณหะวัณมีความสัมพันธ์กับราชสกุลมหิดลด้วยหรือไม่ 

 

ใช่ ในทางสายเลือด เพราะคุณย่าเป็นหลานของสมเด็จย่า แต่ก็มีบางคนเห็นเสื้อก้าวไกลก็ด่าว่าเราล้มเจ้า เขาทราบว่าเราเป็นใคร แต่บางคนก็ว่าเราเนรคุณ แต่ไม่เป็นไร เพราะมองว่าการแก้ไขมาตรา 112 เป็นเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ส่งผลกระทบกับพระราชอำนาจแต่อย่างใด 

 

การวิพากษ์วิจารณ์ไม่นำไปสู่การล้มล้าง อย่างเช่นในอังกฤษ การเปิดให้คนวิพากษ์วิจารณ์ก็ทำให้สถาบันแข็งแรง และมีคนรักและเทิดทูนมากขึ้นด้วยซ้ำ

 

 

กลุ่มเยาวชนผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล อาจกลายเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์พรรคในอนาคต

 

ธิษะณาเล่าว่า กลุ่มเยาวชนที่เป็นนักเคลื่อนไหวที่มีระดับเพดานทางการเมืองต่างกันในระดับต่างๆ ก็มีความรู้จักส่วนตัว แต่เราไม่สามารถไปชี้นำใครได้ เพราะเหมือนเป็นอัตลักษณ์ของเด็กรุ่นใหม่ในการมีเสรีภาพทางความคิด บางคนรู้ประวัติศาสตร์ไทยมากกว่าตัวเราเอง เช่น เพนกวิน เก่งประวัติศาสตร์ไทย อาจจะรู้เรื่องครอบครัวแก้วมากกว่าแก้วด้วยซ้ำ (หัวเราะ) แล้วแต่ความสนใจของแต่ละคน แต่มีอุดมการณ์เดียวกันในการเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย แล้วก็กระบวนการยุติธรรม เพราะเราก็เห็นเด็กรุ่นใหม่โดนคดีความ โดนกฎหมายปิดปาก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนในขณะนี้ นอกจากสิทธิในที่อยู่อาศัย สิทธิในที่ดินทำกินของเกษตรกรและกลุ่มชาติพันธุ์ ส่วนในเมืองยังมีปัญหาเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มเด็กวัยรุ่น คนชั้นกลาง และคนจนเมืองยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำกับสิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินเช่นเดียวกัน 

 

ตอนนี้ถ้าพรรคก้าวไกลมีบทบาทเป็นรัฐบาล ก็จะมีความรับผิดชอบไม่เหมือนตอนเป็นฝ่ายค้านอีกต่อไป คืออะไรที่เป็นการบริหาร ถ้ามีงานที่ผิดพลาด พรรคก้าวไกลก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเราก็ต้องตั้งรับกับปัญหา ปัญหาบางเรื่องอาจจะเกิดจาก คสช. ใช้มาตรา 44 ออกกฎหมายที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น พ.ร.บ.บุกรุกป่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์ หรือปัญหาที่ชาวจะนะพบเจอ นิคมอุตสาหกรรมจะนะใกล้ชุมชน มีการละเมิดชีวิตความเป็นอยู่ อาจต้องยกเลิกสัญญา เป็นเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน เกิดขึ้นภายใต้ คสช. ที่ใช้มาตรา 44 ใช้อำนาจเผด็จการ เป็นปัญหาที่รัฐบาลพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมรัฐบาลต้องร่วมกันแก้

 

ปัญหาคือเขาไม่ได้รับการตรวจสอบโดยรัฐสภา ออกกฎหมายอย่างเผด็จการเข้าข้างนายทุนมาโดยตลอด เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องรับมือ และต้องรับกับคำวิพากษ์วิจารณ์ถ้ามีการบริหารงานผิดพลาด 

 

แก้วเป็น ส.ส. เขต ซึ่งตามหลักจะโฟกัสพื้นที่ตัวเอง ส่วน ส.ส. บัญชีรายชื่อ จะทำประเด็นโครงสร้าง เช่น LGBTQIA+ สมรสเท่าเทียม ยกเลิกเกณฑ์ทหาร แต่พรรคก้าวไกลมีความแตกต่างพรรคอื่นตรงที่ ส.ส. เขตก็มีความสนใจเชิงประเด็นที่เป็นโครงสร้าง แต่ละเขตก็มีบางประเด็นภาพใหญ่ เช่น แก้วเคยทำประเด็นต่อต้านการค้ามนุษย์ เคยทำการศึกษาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ตอนนี้ก็ยังทำอยู่ เป็นเลขานุการคณะกรรมการของมูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ตรงนั้นมีโรงเรียนสำหรับลูกของแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย จุดมุ่งหมายคือต้องการให้เด็กเหล่านี้ได้ศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยและมีงานทำ อาจจะเลือกประเทศที่สามหากมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย 

 

สิ่งที่ก้าวไกลทำพยายามยกระดับสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งสามารถวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนได้ ไม่ได้หมายความว่าด่าสาดเสียเทเสีย แต่เราต้องการยกระดับสิทธิมนุษยชนให้การวิพากษ์วิจารณ์สามารถเกิดขึ้นได้ในเวทีที่ปลอดภัยเพื่อประโยชน์สาธารณะ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรหน่วยงานใดๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพหรือสถาบันใดๆ ทุกหน่วยงานมีความสำคัญโดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ มีปัญหากฎหมายซึ่งปกครองด้วยความกลัว มีการใช้กฎหมายปิดปากฝั่งตรงข้าม ถูกนำมากำจัดฝั่งตรงข้ามทางการเมืองหรือผู้เห็นต่างทางการเมือง เป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง 

 

 

เพดานการต่อสู้ เพดานทางการเมือง 

 

กฎหมายมาตรา 112 ที่ยื่นแก้ไขไป ยื่นรวมไปกับกฎหมายอื่นๆ ที่ใช้ปิดปากประชาชน กดทับเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่ประชาชนจะเรียกร้องเมื่อถูกละเมิดสิทธิโดยรัฐ การออกมาชูป้ายเป็นวิถีที่สงบที่สุดแล้วที่จะทำให้สาธารณชนทราบว่าถูกละเมิดชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งขึ้นอยู่กับเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งในสังคมประชาธิปไตย เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ปกติ 

 

มาตรา 112 เป็นเพียง 1 ใน 45 เรื่องที่เราต้องการยื่นแก้ไขในรัฐสภา เป็นมาตราหนึ่งที่สามารถพูดคุยกันได้ไม่ว่าจะเป็นฝั่งอนุรักษนิยมหรือเสรีนิยมประชาธิปไตย ถึงการแก้ไขมาตรา 112 ไม่ให้ถูกใช้ในทางที่ผิด ซึ่งจะกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งพรรคก้าวไกลยังมีข้อครหาเรื่องนี้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising