×

โรมผิดหวัง ผบ.ตร. ไม่มาชี้แจงต่อ กมธ.กฎหมายฯ ชี้ทิศทางดำเนินคดีผู้ชุมนุมมาจากแถลงการณ์นายกฯ

โดย THE STANDARD TEAM
09.12.2020
  • LOADING...
โรมผิดหวัง ผบ.ตร. ไม่มาชี้แจงต่อ กมธ.กฎหมายฯ ชี้ทิศทางดำเนินคดีผู้ชุมนุมมาจากแถลงการณ์นายกฯ

วันนี้ (9 ธันวาคม) ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ได้มีการประชุมเพื่อศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และแนวทางการบังคับใช้กฎหมายและสิทธิในการชุมนุมทางการเมืองอย่างสงบ โดยได้มีการเชิญผู้บริหารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง ประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รวมทั้งในการศึกษาและหาทางออกครั้งนี้ได้มีการเชิญผู้ชุมนุมเข้ามาชี้แจงด้วย เช่น ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก, เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล และทนายอานนท์ นำภา

 

รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่าในส่วนของผู้ชุมนุมนั้น เมื่อช่วงกลางคืนที่ผ่านมาตนเองได้มอบหมายให้ทีมงานติดต่อผู้ชุมนุมอีกครั้งว่าจะมีการเดินทางมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ หรือไม่ ทางผู้ชุมนุมได้ตอบกลับว่าจำเป็นต้องไปรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาคดีมาตรา 112 และบางส่วนต้องไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ทำให้ไม่สามารถเดินทางเข้ามาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ ได้ จึงจำเป็นต้องตั้งข้อสังเกตว่าการทำหน้าที่ของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจด้านหนึ่งส่งตัวแทนมาชี้แจง แต่อีกด้านหนึ่งก็ดำเนินคดี ทั้งนี้ทางจตุภัทร์และอานนท์เองไม่ได้ปฏิเสธการมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ แต่ขอมาชี้แจงในโอกาสหน้า

 

รังสิมันต์ยังได้แสดงความผิดหวังต่อกรณีที่ทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่ได้มาชี้แจงด้วยตัวเอง โดยได้กล่าวว่าครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประสบปัญหาในการเชิญเจ้าหน้าที่เข้ามาชี้แจงด้วยตัวเอง โดยเฉพาะในกรณีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากมีประเด็นทางการเมืองมักจะไม่ได้รับความร่วมมือ รวมทั้งกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ พ.ร.บ. คำสั่งเรียกของกรรมาธิการสภาขัดรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ความร่วมมือในการเข้ามาชี้แจงของทางเจ้าหน้าที่มีน้อยลง จึงอยากเรียกร้องว่าคณะกรรมาธิการฯ ต้องมีเครื่องมือ มีคำสั่งที่ใช้งานได้จริง เพื่อที่ว่าจะสามารถใช้กลไกรัฐสภาทำงานเพื่อให้กลไกนิติบัญญัติมีประสิทธิภาพในการถ่วงดุลตรวจสอบ

 

“ประเด็นที่ทางคณะกรรมาธิการฯ จะมีมติเรียก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เข้ามาชี้แจง รวมทั้งให้พื้นที่ของคณะกรรมาธิการฯ เป็นพื้นที่กลางในการหาทางออก สามารถให้ฝ่ายต่างๆ เข้ามาพูดคุยได้ จะส่งผลดีต่อสถานการณ์ของประเทศได้บ้าง เพราะตอนนี้ทุกคนเห็นแล้วว่าบ้านเมืองมีปัญหา อย่างน้อยการพูดคุยให้เข้าใจกันจะเป็นประโยชน์ การใช้กฎหมายดำเนินคดีกันพิสูจน์แล้วว่าปัญหาไม่จบ มีแต่จะทำให้สถานการณ์บานปลาย ยิ่งไปกว่านั้นเหตุผลในการดำเนินคดีของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องยอมรับว่าทิศทางมาจากแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีที่ให้ดำเนินคดีทุกมาตรา ทุกกฎหมาย หากให้นายกรัฐมนตรีเข้ามาจะได้มีการซักถาม” รังสิมันต์ตั้งข้อสังเกต

 

อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไม่ได้เข้ามาชี้แจงด้วยตัวเอง ทั้งๆ ที่ในวันนี้ทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องเข้ามารายงานตัวที่อาคารรัฐสภาในตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาอยู่แล้ว โดยทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มอบหมายให้ พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่ง พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ ก็ได้มอบหมายต่อให้ พล.ต.ท. สุทิน ทรัพย์พ่วง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้ามาชี้แจงต่อทางคณะกรรมาธิการฯ แต่ พล.ต.ท. สุทิน ก็ได้มอบหมายต่อให้ผู้บังคับการกองคดีมาชี้แจงแทน แต่ทางผู้บังคับการกองคดีลาในวันนี้ จึงได้มอบหมายต่อให้รองผู้บังคับการกองคดีเข้ามาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ แทน

 

ทั้งนี้ ทางคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ได้มีมติให้มีการทำหนังสือเชิญนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล และผู้ชุมนุม ให้เข้ามาชี้แจงในวันที่ 16 ธันวาคม 2563 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising