×

สรุป Executive Espresso EP.336 ระเบียบโลกหลังสงครามยูเครน หมดยุคสันติภาพ

28.04.2022
  • LOADING...

สงครามยูเครนไม่ได้เกิดขึ้นและจบลงอยู่ในยูเครน แต่อาจเป็นสัญญาณของการจัดระเบียบโลกครั้งใหญ่ และยังเป็นการปอกเปลือกความคิดของสังคมไทยไปพร้อมกัน

 

24 กุมภาพันธ์ 2022 คือวันแรกที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งรัสเซียได้เริ่มเปิดฉากสงครามกับยูเครน ประเทศที่เปรียบเสมือนปากประตูระหว่างรัสเซียกับกลุ่มประเทศ NATO

 

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนกองไฟที่มาเจอกับเชื้อเพลิง จนในวันนี้ได้ลุกลามกลายเป็นกองเพลิงขนาดใหญ่ ราวกับว่ามันเป็น ‘จุดเปลี่ยนสำคัญ’ ของระเบียบโลก และดูเหมือนว่า ‘ยุคแห่งสันติภาพ’ ได้สิ้นสุดลงเสียแล้ว 

 


 

บทความเกี่ยวข้อง

 


 

 

‘การสิ้นสุดของการปันผลสันติภาพ’ ถึงเวลาที่โลกต้องปรับนิยาม ‘ความมั่นคง’ อีกครั้ง

 

เอียน เบรมเมอร์ นักรัฐศาสตร์และนักเขียนของนิตยสาร TIME ชาวสหรัฐฯ กล่าวว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน เปรียบเสมือนการสิ้นสุดของการปันผลสันติภาพ (Peace Dividend) ที่โลกเคยได้รับหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็นเมื่อปลายปี 1991

 

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นับตั้งสงครามเย็นได้สิ้นสุด ระเบียบโลก (World Order) ก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่เป็นโลก 2 ขั้ว (Bipolar World) ของมหาอำนาจ ก็ได้เข้าสู่ระเบียบใหม่ (New World Order) หรือบางคนใช้คำว่าโลกอันไร้ระเบียบ (New World Disorder) 

 

นอกจากระเบียบโลกที่เปลี่ยนไปแล้ว นิยามความมั่นคงก็ถูกปรับเช่นกัน จากเดิมที่ ‘ความมั่นคง’ หมายถึงความมั่นคงทางการทหาร กำลังรบ แสนยานุภาพ ก็ได้กลายเป็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ปัญหาเศรษฐกิจ ความยากไร้ รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ (Non-Traditional Security)  

 

จากวันนั้นมนุษย์ก็เชื่อว่า ความสัมพันธ์ของประเทศต่างๆ ในโลกจะเคลื่อนสู่ภาวะ ‘สันติภาพอันแสนสุข’ แต่เหตุการณ์วุ่นวายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกกลับบ่งบอกว่า มันไม่ได้ดำเนินไปเช่นนั้น 

 

“หลังสงครามเย็นจบลง เราก็เชื่อว่าชีวิตบนโลกมันน่าจะเป็นช่วงของการมีสันติภาพอันแสนสุข แต่คนที่เรียนการเมืองระหว่างประเทศอย่างพวกผมมันถูกสอนอย่างหนึ่ง คำว่าสันติภาพอันแสนสุขในเวทีโลก เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยยั่งยืน” ศ.ดร.สุรชาติกล่าว 

ฉากทัศน์โลกที่เปลี่ยนไปหลัง 24 กุมภาพันธ์ 2022 ‘วันแรกที่รัสเซียบุกยูเครน’

 

ก่อนที่จะกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงหลังวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ศ.ดร.สุรชาติได้กล่าวถึงสัญญาณของการสิ้นสุดยุคแห่งสันติภาพว่าได้เริ่มส่อเค้ามาหลายครั้งแล้ว อย่างเช่น การเกิดขึ้นของเหตุการณ์ 9/11 

 

เหตุการณ์ 9/11 คือเหตุวินาศกรรมครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 และนั่นทำให้ความเชื่อเกี่ยวกับสันติภาพชั่วนิรันดร์ (Permanent Peace) เริ่มสั่นคลอน

 

หลังจากวันนั้น ลักษณะของสงครามก็เปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบของสงครามอสมมาตร  (Asymmetric Warfare) คือสงครามที่คู่ต่อสู้สองฝั่งมีกำลังไม่เท่ากัน เช่น สงครามระหว่างสหรัฐฯ กับกลุ่มอัลกออิดะห์ และถึงแม้ว่าสงครามที่เกิดขึ้นจะยังไม่มีความรุนแรงระดับรัฐต่อรัฐ แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นก็เป็นเหมือนการจุดไฟบนกองเพลิงที่ได้มอดไปแล้วให้ลุกโชนกลับขึ้นมาอีกครั้ง 

 

ช่วงกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหญ่ของโลก ท่ามกลางคำถามที่ว่ารัสเซียจะฟื้นขึ้นมาอีกเมื่อไร หรือการเติบโตของจีนจะพาโลกกลับสู่ยุคของการแข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่อีกหรือไม่ 

 

เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ความเชื่อที่ว่าการแข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจไม่เคยหายไป ก็ได้ถูกตอกย้ำครั้งใหญ่ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 วันแรกที่วลาดิเมียร์ ปูติน ตัดสินใจสั่งปฏิบัติการพิเศษให้กองทัพรัสเซียเริ่มบุกยูเครน 

 

 

ระเบียบโลกกำลังถูกจัดวางใหม่ ใครกันแน่ที่เป็นคู่ขัดแย้ง 

 

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กล่าวได้ว่าวันนี้โลกของเราอยู่ในยุคของการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ (The Great Power Competition) โดยสามารถมองได้ว่าโลกกำลังถูกแบ่งเป็น 3 ขั้ว (Tripolar) คือ สหรัฐฯ จีน และรัสเซีย

 

อย่างไรก็ดี จากสภาวะโลก 3 ขั้วในวันนี้ ใครจะรู้ว่าวันข้างหน้าก็มีสิทธิ์ที่จะขยับตัวเป็นโลก 2 ขั้ว (Bipolar) ถ้ารัสเซียกับจีนจับมือกันเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งอาจเปรียบเหมือนว่าโลกได้กลับสู่ยุคสงครามเย็นเฉกเช่นที่เคยเป็นมา

 

โดยหากเราตั้งใจฟังเสียงกระซิบจากอดีตให้ดี เหตุการณ์ปัจจุบันก็อาจเปรียบได้ว่า โลกกำลังเดินเข้าสู่ยุคของสงครามเย็น 2.0 (Cold War 2.0) ซึ่งการเกิดขึ้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน คล้ายคลึงกับการเกิดของสงครามเกาหลี ที่เป็นปฐมบทความขัดแย้งในสงครามเย็น และทำให้โลกต้องอยู่ท่ามกลางความตึงเครียดกว่า 40 ปี  

 

“เพราะฉะนั้นในบริบทแบบนี้ ผมว่าเราเพิ่งอยู่ในช่วงต้นของความเปลี่ยนแปลงเท่านั้นเอง” ศ.ดร.สุรชาติกล่าว

 

ฉากทัศน์ใหม่ทางเศรษฐกิจ สิ้นสุดยุคโลกาภิวัตน์?

 

ถึงแม้ว่าระเบียบโลกจะถูกแบ่งเป็น 3 ขั้วหรือ 2 ขั้วมหาอำนาจก็ตาม แต่ในเชิงของระบบเศรษฐกิจ ศ.ดร.สุรชาติมองว่าโลกาภิวัตน์ (Globalization) จะยังไม่ถึงคราวสิ้นสุด เพียงแต่กระแสที่เกิดขึ้นอาจมีแรงขับเคลื่อนที่เร็วหรือช้าบ้าง เนื่องจากระบบเศรษฐกิจอื่นของโลกนั้นไม่ได้สูญสลายไป

 

อย่างไรก็ตาม การคว่ำบาตร (Sanction) ที่กระทำกับรัสเซีย ก็รุนแรงราวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางเศรษฐกิจ 

 

เนื่องจากรัสเซียถือเป็นแหล่งผลิตพลังงานของโลกราว 10% ของทั้งหมด รวมไปถึงข้าวสาลีที่รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 และอันดับ 5 ของโลกตามลำดับ เพราะฉะนั้นแปลว่าวิกฤตสงครามครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจซ้ำสอง โดย ศ.ดร.สุรชาติเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าเป็น Double Crisis of Global Economy 

 

นอกจากนี้ ศ.ดร.สุรชาติยังกล่าวเพิ่มเติมว่า 

 

“แปลว่าวันนี้ วิกฤตสงครามมาพร้อมกับวิกฤตเศรษฐกิจ มาพร้อมกับวิกฤตพลังงาน มาพร้อมกับวิกฤตอาหาร มาพร้อมกับวิกฤตความมั่นคงของมนุษย์ และปัญหาผู้ลี้ภัย ปี 2022 สงครามยูเครนทำให้เราได้เห็นวิกฤตผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุด และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดของโลก”

 

การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นเมื่อไร

 

ศ.ดร.สุรชาติให้ความเห็นว่า มิติการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจอาจขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของสงครามในพื้นที่ยูเครน อย่างเช่นกรณีข่าวการสังหารหมู่ที่บูชา (Battle of Bucha) หลังจากที่ข่าวสารถูกเผยแพร่ออกไป ก็ทำให้กลุ่มประเทศฝั่งตะวันตกเริ่มยกระดับการคว่ำบาตรให้รุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนในอนาคต

 

หนึ่งในกรณีที่น่าสนใจคือความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจระหว่างเยอรมนีกับรัสเซีย ซึ่งเยอรมนีมีการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียจำนวนมาก และในช่วงที่ผ่านมาเยอรมนีก็ได้พยายามสานสันพันธ์ที่ดีเรื่อยมา แต่หลังจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นล่าสุด ก็อาจทำให้สะพานที่เคยเชื่อมระหว่าง 2 ประเทศนั้นเริ่มพังทลายลง 

 

ศ.ดร.สุรชาติยังกล่าวเพิ่มอีกว่า ในอนาคตเราอาจได้เห็นเยอรมนีประกาศลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย รวมไปถึงกลุ่มประเทศยุโรปที่อาจลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียเหลือเพียง 1 ใน 3 จากทั้งหมด

 

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าจับตาคือท่าทีของสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีนกับวลาดิเมียร์ ปูติน ที่มีความสนิทชิดเชื้อเป็นพิเศษ ถึงขนาดที่ปูตินกล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียนั้นไร้ขอบเขต (No Limits Friendship) ซึ่งนั่นอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศตะวันตกนั้นบั่นทอนลง และฉากทัศน์การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจก็จะเริ่มเห็นชัดเจนได้มากขึ้นเช่นกัน

ยุทธศาสตร์ข่าวสารในศตวรรษที่ 21 เราเรียนรู้อะไรจากสงคราม

 

มิติของสงครามที่เกิดขึ้นนั้น สามารถแบ่งออกได้หลายรูปแบบ แต่สิ่งที่น่าจับตาคือมิติของ ‘การสงครามผสมผสาน’ ซึ่งเป็นการใช้กำลังรบตามแบบร่วมกับกำลังรบนอกแบบ เช่น การใช้กองกำลังไม่ระบุสัญชาติ หรือการสงครามผ่านข้อมูล (Information Warfare) และในครั้งนี้การสงครามก็ได้พัฒนาตามเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้น ศ.ดร.สุรชาติจึงกล่าวว่ายุทธศาสตร์สงครามครั้งนี้ อาจเรียกว่าเป็น Social Media Warfare ที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีการรบผ่านโลกออนไลน์อย่างไม่ลดละ

 

ตัวอย่างที่เราสามารถเรียนรู้ได้ อาจเป็นการใช้แอปพลิเคชัน TikTok ของ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีของยูเครน โดย ศ.ดร.สุรชาติกล่าวว่า 

 

“เซเลนสกีแสดงบทเป็นผู้นำได้อย่างถูกต้องตามเวลาและเงื่อนไขของสถานการณ์ ภาษาที่ใช้เป็นการสื่อสารทางการเมือง (Political Communication) ที่น่าสนใจและผู้นำไทยต้องเรียนรู้”

 

“คนอย่างนี้แหละที่คนยูเครนตัดสินใจเลือกแล้ววันนี้ และตัดสินใจสู้ไปกับเขา ในวันที่สหรัฐฯ เสนอว่าจะส่งเครื่องบินมารับที่ยูเครน เซเลนสกีบอกว่าเขาไม่ต้องการพาหนะ แต่เขาต้องการกระสุน (I need ammunition, not a ride.)” 

 

และอีกมุมหนึ่งที่ ศ.ดร.สุรชาติได้ให้ข้อคิดเห็นท่ามกลางการสงครามข้อมูลที่เกิดขึ้น คือการเสนอขายวาทกรรมชวนเชื่อผ่านโลกโซเชียล เช่น การบุกของรัสเซียครั้งนี้มีเพื่อล้มล้างรัฐบาลระบอบนาซี (Denazification) ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว โวโลดิเมียร์ เซเลนสกีเป็นชาวยิว หรือเป็นการกล่าวอ้างถึงสัญลักษณ์บนเสื้อของเซเลนสกีว่าเป็นเครื่องหมายนาซี แต่แท้ที่จริงแล้วสัญลักษณ์ดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ และสัญลักษณ์กองทัพของยูเครนเองก็มีลักษณะของกางเขนที่คล้ายกับเครื่องหมายนาซี แต่ไม่ได้มีความเกี่ยวโยงใดๆ เช่นกัน

สงครามยูเครน ปอกเปลือกสังคมไทย

 

ช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ ทางรายการได้พูดคุยถึงการแสดงออกของคนไทยในมุมต่างๆ ต่อสงคราม ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มที่สนับสนุนการยืนหยัดของประชาชนยูเครน และกลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดของวลาดิเมียร์ ปูติน

 

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวว่า ในวันนี้สังคมไทยส่วนใหญ่ใช้การเมืองในประเทศมาตัดสินการเมืองโลกที่เกิดขึ้น และยังกล่าวเพิ่มเติมว่า

 

“สงครามชุดนี้ ผมอยากจะใช้คำว่า ปอกเปลือกสังคมไทยในทางความคิดทางการเมือง”

 

หลังจากที่มิติความคิดทางการเมืองของสังคมไทยได้ถูกแยกหลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2006 และแยกซ้ำอย่างหนักหลังรัฐประหารปี 2014 ผสมรวมกับการเติบโตของโซเชียลมีเดีย นั่นทำให้วันนี้เราเห็นว่าความแตกแยกที่เกิดขึ้นเป็นแผลลึกกว่าเดิมมาก 

 

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สุรชาติคิดเห็นว่า แม้ความแตกแยกจะเกิดขึ้นเพียงใด สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักคือ เราไม่ควรเห็นด้วยกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในยูเครน

 

โดยสรุปจึงกล่าวได้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยูเครนกำลังแบ่งสังคมไทยออกอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการแบ่งอย่างรุนแรงจนอาจทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในอุดมคติของแต่ละคนจะยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น

การเสพข่าวรัสเซีย-ยูเครน

 

ในส่วนสุดท้าย ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ได้กล่าวถึงการเสพข่าวท่ามกลางสงครามที่เกิดขึ้น ที่มีองค์ประกอบของการสงครามผ่านข้อมูลที่อาจทำให้เราได้รับข่าวสารที่ถูกบิดเบือนไปจากเดิม

 

สิ่งที่เราควรทำคือต้องหมั่นตรวจสอบกับสื่ออื่นๆ และเสพข่าวอย่างมีสติ รวมไปถึงการมีความเห็นอกเห็นใจแก่ประชาชนที่ต้องอยู่ท่ามกลางสงครามที่เกิดขึ้น

 

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวถึงข้อเรียกร้อง 2 ข้อ ต่อสังคมไทย

 

  1. ให้ความเห็นใจแก่ประชาชนที่ต้องเผชิญสงคราม
  2. แยกแยะนัยสำคัญของเหตุการณ์ให้ออก

 

“ผมคิดว่าวันนี้ อำนาจในการกำหนดใจตนเองของพี่น้องยูเครนชัดเจน พวกเขาอยากเห็นยูเครนที่เป็นรัฐเอกราช และอยากมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับโลกตะวันตก” ศ.ดร.สุรชาติกล่าว

 

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเหตุการณ์สำคัญที่คนไทยสามารถนำไปเรียนรู้ได้ ผ่านเรื่องราวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ยูเครน สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกไว้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเสพข่าวอย่างมีสติ การนำความคิดทางการเมืองมาร่วมพิจารณา หรือการปรับตัวตามระเบียบโลกที่เปลี่ยนไป คือการมีความเห็นอกเห็นใจแก่เหล่าผู้คนที่อยู่ท่ามกลางสงคราม

 

เพราะสงครามที่เกิดขึ้น มิใช่ภาพยนตร์ที่ถูกฉายในโรงหนัง เหล่าประชาชนมิใช่นักแสดงฝีมือดี ซากปรักหักพังมิใช่การจัดฉากสถานที่ แต่ล้วนเป็นความสูญเสียที่มีต่อมนุษย์อย่างแท้จริง

 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X
Close Advertising