×

Biological Age รู้หรือไม่อายุร่างกายจริงๆ ของคุณคือกี่ปี?

16.07.2022
  • LOADING...

เคยสงสัยไหม ทำไมบางคนอายุยังน้อย แต่ถูกทักบ่อยๆ ว่าแก่เกินวัย หรือบางคนอายุมากแล้ว แต่ยังดูฟิตเปรี๊ยะกว่าอายุจริงเป็นสิบปี นั่นก็เพราะร่างกายของเรามีสิ่งที่เรียกว่า Biological Age หรืออายุทางชีวภาพ  

 

มาลองสำรวจตัวเองกันดีกว่า คุณใช้ร่างกายหนักเกินไปหรือเปล่า แล้ว Biological Age ของเราตอนนี้ไหลเกินอายุจริงไปเท่าไรแล้ว ดร.ข้าว จะพาไปไขความลับของร่างกายในประเด็นนี้ให้ฟัง

 

อายุจริง vs. อายุร่างกาย

จริงๆ แล้วร่างกายของเรามีการนับอายุ 2 แบบ แบบแรกคือ อายุตามปฏิทิน (Chronological Age) ที่เรานับกันตามปีเกิด กับแบบที่สองคือ อายุชีวภาพ (Biological Age) เป็นอายุที่แท้จริงของเซลล์และอวัยวะภายในร่างกาย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ยิ่งใช้งานร่างกายหนักหน่วงแค่ไหน อวัยวะภายในก็จะแก่เร็วขึ้นเท่านั้น และในทางกลับกัน Biological Age ก็อาจจะน้อยกว่าหรือเท่ากับอายุจริงก็ได้เช่นเดียวกัน

 

เราจะรู้อายุร่างกายได้ด้วยวิธีไหนได้บ้าง

นักวิทยาศาสตร์ได้มีการคิดค้นวิธีการวัด Biological Age ไว้หลากหลายวิธี ได้แก่

 

1. วัด Biomarker จากการตรวจสุขภาพ คือสารชีววัตถุที่วัดได้จากร่างกายจากการตรวจสุขภาพประจำปี เช่น ปริมาณน้ำตาลในเลือด หรือความเข้มข้นของสารที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตับและไต ฯลฯ ซึ่งผลที่ได้จะสะท้อนถึงสุขภาพภายในร่างกายว่าอยู่ในระดับที่ปกติหรือไม่ โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า Cytokines ซึ่งเป็น Biomarker ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน สามารถบอกอายุของเซลล์และอวัยวะภายในได้  

 

อีกกลุ่มหนึ่งคือ Biomarker เกี่ยวกับไขมัน ไม่ว่าจะเป็นคอเลสเตอรอล, ไตรกลีเซอไรด์, LDL, HDL โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าไขมันเหล่านี้สามารถสะท้อนความหนุ่มสาวของร่างกายได้เช่นกัน โดยวัดจากความสามารถในการเผาผลาญไขมันที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุจริงนั่นเอง

 

2. วัดความยาวของเทโลเมียร์ (Telomere) โดยปกติร่างกายของทุกคนจะมีสารพันธุกรรม (DNA) ที่จะต้องแบ่งเซลล์เพื่อเพิ่มจำนวนไปเรื่อยๆ ตามการเจริญเติบโตของอายุ ซึ่งเทโลเมียร์นั้นจะเกาะติดอยู่ที่ส่วนปลายของเซลล์ ทำหน้าที่เป็นเหมือนหมวกกันน็อกที่คอยป้องกันไม่ให้ DNA เกิดความเสียหาย นักวิทยาศาสตร์พบว่าทุกครั้งที่เซลล์แบ่งตัว ความยาวของเทโลเมียร์จะลดน้อยลงเรื่อยๆ ไปตามวัย จึงตีความได้ว่าความยาวของเทโลเมียร์นี่ล่ะคือหนึ่งในตัววัดอายุทางชีวภาพได้

 

แต่เมื่อมีการศึกษาวิจัยมากขึ้นเรื่อยๆ ก็พบข้อมูลว่า บางครั้งเทโลเมียร์ที่สั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราแก่เสมอไป และเทโลเมียร์ที่ยาว สุดท้ายอาจพบว่าเป็นเซลล์มะเร็งก็ได้ ฉะนั้นความน่าเชื่อถือของการวัดความยาวเทโลเมียร์เพื่อบอกอายุทางชีวภาพจึงยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ในแวดวงวิชาการจนถึงปัจจุบัน

 

3. ตรวจ Epigenome เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าสามารถคาดคะเนอายุของร่างกายได้แม่นยำที่สุด โดยนักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ว่า อายุชีวภาพของคนเราสามารถคำนวณได้จากการดู Epigenome ซึ่งเป็นเซลล์ย่อยที่อยู่ในพันธุกรรมที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงของแต่ละคนว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน ถ้า Epigenome ยังอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง เป็นระเบียบ แปลว่าร่างกายยังเด็กอยู่ แต่ถ้าเริ่มมีการผิดเพี้ยน สลับตำแหน่ง อาจแปลว่าร่างกายเริ่มมีความไม่ปกติ เกิดโรคบางอย่าง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของความแก่ชรา 

 

เหตุผลที่เราควรต้องรู้อายุร่างกายของตัวเอง เพื่อเป็นการประเมินว่าไลฟ์สไตล์ในช่วงเวลาที่ผ่านมาของเราดีพอหรือยัง ใช้ร่างกายหนักไปหรือเปล่า ถ้าตัวเลขออกมาไม่สมดุลกับความเป็นจริง ก็เป็นเหมือนสัญญาณว่าเราควรจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองได้แล้ว

 

และถ้าอยากจะโกงอายุชีวภาพให้เด็กกว่าอายุจริงก็ไม่ใช่เรื่องยาก แค่กินดี นอนดี ออกกำลังกายดี และอารมณ์ดี ทำกิจกรรมเหล่านี้ให้เป็นนิสัย แล้วความฝันในการเป็นหนุ่มสาวสองพันปีก็ไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป

 


 

Credits


The Host ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Creative Care Label

Video Editor จุฑาภัทร มนตรีศาสตร์

Sound Director กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Designer เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Graphic Designer ธนิดา โตวิวัฒน์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน

Proofreader วรรษมล สิงหโกมล

Webmaster ไชยพร ศิริกลการ

Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน ธนอุดมกรณ์ , อาทิตยา อิสสรานุสรณ์ , ฉัฐนภา โพธิ์เงิน

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising