เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมคนบางคนถึงมีอาการเมารถ เมาเรืออย่างหนักขณะอยู่บนพาหนะ ในขณะที่บางคนก็ไม่มีอาการอะไรเลย แม้จะอยู่บนเส้นทางที่คดเคี้ยวแค่ไหนก็ตาม วิทยาศาสตร์บอกอะไรได้บ้าง
และถ้าใครที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว เพราะเมารถ เมาเรืออยู่บ่อยๆ Top to Toe เอพิโสดนี้มีทริกสำหรับจัดการกับวิกฤตเหล่านี้มาฝากกัน ส่วนคนที่ไม่เคยเมารถมาก่อน ฟังไว้ก็ไม่เสียหาย เพราะไม่แน่ว่ามันอาจเกิดขึ้นกับคุณในวันใดวันหนึ่งก็ได้เหมือนกัน
อาการเมารถ เมาเรือ เกิดขึ้นได้อย่างไร
เมารถ เมาเรือ คืออาการที่เรารู้สึกเวียนหัว ครั่นเนื้อครั่นตัว เหงื่อออก คลื่นไส้ อยากอาเจียน ซึ่งเหล่านี้จัดรวมอยู่ในภาวะที่เรียกว่า Motion Sickness หรือความรู้สึกไม่สบายตัวเวลาที่มีการเคลื่อนที่ โดยมักจะเกิดขึ้นเวลาที่เราอยู่บนพาหนะที่กำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว เช่น รถ เรือ รถไฟ หรือเครื่องบิน
และแม้ว่าตามหลักวิทยาศาสตร์จะยังไม่มีคำอธิบายที่แน่ชัดว่าอาการเมารถ เมาเรือนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร แต่เชื่อว่าหนึ่งในเหตุผลที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือการที่ สัญญาณที่ส่งจากตากับหูไปถึงสมองไม่สัมพันธ์กัน นั่นคือดวงตาเราอาจจะโฟกัสอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งเสมือนอยู่กับที่ เช่น มองถนน เล่นโทรศัพท์ หรืออ่านหนังสือ แต่หูกลับรับรู้ได้และบอกสมองว่าเรากำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วอยู่
ที่เป็นอย่างนั้นเพราะหูของเราไม่ได้แค่ทำหน้าที่ในการฟังเท่านั้น แต่ยังสามารถรับรู้การเคลื่อนที่และควบคุมการทรงตัวได้ด้วย โดยในหูชั้นในสุดมีโครงสร้างชื่อว่า Vestibular System เป็นท่อลักษณะครึ่งวงกลม 3 ท่อที่มาเรียงต่อกันใน 3 ทิศทางคือ ด้านหน้า ซ้าย-ขวา และบน-ล่าง ภายในท่อเหล่านี้จะมีของเหลวอยู่ ทุกๆ ครั้งที่มีการขยับหรือเอียงตัว ของเหลวในท่อนี้ก็จะไหลไปวิ่งชนกับโครงสร้างอื่นๆ ภายใน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเส้นขน หลังจากนั้นจะส่งสัญญาณไปบอกสมองว่าตอนนี้ตัวเรากำลังเคลื่อนที่อยู่นั่นเอง
ทำให้ในขณะที่อยู่บนพาหนะต่างๆ เมื่อตาบอกว่าไม่ได้ขยับ แต่หูรับรู้ได้ว่ากำลังเคลื่อนไหว เมื่อสัญญาณทั้งสองถูกส่งไปยังสมอง จึงกลายเป็นความสับสนว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ทำให้ระบบรวนเหมือนได้รับสารพิษเข้าไป ร่างกายจึงพยายามกำจัดสิ่งเหล่านั้นออกโดยทำให้เรารู้สึกวิงเวียน คลื่นไส้ จนอยากจะอาเจียนออกมานั่นเอง
นอกจากปัจจัยอย่างพาหนะแล้ว หลักการที่ตากับหูรับรู้ไม่สัมพันธ์กันยังเกิดขึ้นได้กับกิจกรรมอื่นๆ ด้วย เช่น เวลามองภาพที่เคลื่อนไหวเร็วมากๆ การเล่นเกมที่มีการเปลี่ยนภาพเร็วๆ หรือเฟรมเรตสูงๆ เป็นต้น
ทำไมคนเราถึงเมารถ ในขณะที่บางคนไม่เป็นอะไรเลย
เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย และนักวิทยาศาสตร์ก็พยายามหาคำตอบอยู่เช่นกัน ซึ่งถึงแม้จะยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน แต่ก็มีปัจจัยที่เป็นข้อสังเกตได้ ดังนี้
- ผู้หญิงมักจะมีโอกาสเมารถมากกว่าผู้ชาย
- เด็กมีโอกาสเมารถมากกว่าผู้ใหญ่
- คนที่พักผ่อนน้อย กินเหล้า สูบบุหรี่ มีโอกาสเมารถได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
- พันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติเกี่ยวกับอาการเมารถ เมาเรือ บุคคลนั้นก็อาจมีโอกาสเมารถได้เช่นเดียวกัน
วิธีป้องกันและบรรเทาอาการเมาเรือ เมาเรือ
ก่อนทำกิจกรรม ก่อนขึ้นรถ ลงเรือ
- พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นการเตรียมพร้อมร่างกายที่ดีที่สุด
- อย่าปล่อยให้ท้องว่าง ให้กินอาหารรองท้องไว้หน่อย แต่ก็ไม่ควรกินเยอะเกินไป และหลีกเลี่ยงอาหารมันๆ
- กินยาแก้เมารถเพื่อป้องกัน โดยเลือกได้ทั้งยากินและยาแปะที่หลังหู ทั้งนี้ วิธีใช้ของยาแต่ละชนิด แต่ละยี่ห้อ มีความแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องอ่านฉลากก่อนใช้ทุกครั้ง
ขณะทำกิจกรรม มีอาการเมาแล้วโดยที่ไม่มียาเตรียมไว้
- ใช้เทคนิคเพื่อหลอกร่างกายว่าเราไม่ได้เคลื่อนที่อยู่ เช่น เปลี่ยนไปนั่งเบาะหน้าหรือเบาะหลังคนขับ เพราะการนั่งรถยาวๆ เช่น รสบัส รถตู้ บริเวณด้านหลังจะมีการเคลื่อนไหวมากกว่าด้านหน้า ทำให้เมารถได้ง่าย
- ล็อกตำแหน่งตัวเองให้หัวอยู่แนบติดกับเบาะ เพื่อไม่ให้ช่วงตัวเคลื่อนไหวเยอะ และจะช่วยให้ของเหลวภายในหูไม่เคลื่อนที่เยอะด้วย
- ขณะนั่งอยู่บนรถหรือเรือ ให้พยายามมองไปที่เส้นขอบฟ้า แล้วควบคุมร่างกายตัวเองให้ตั้งฉากกับเส้นขอบฟ้านั้น วิธีนี้จะเป็นการสั่งสมองว่าเรากำลังอยู่นิ่งๆ ไม่ได้เคลื่อนไหว
นอกจากนี้ อีกหนึ่งเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับการเมารถคือเรื่องของอากาศ เพราะถ้าเราอยู่ในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ก็อาจจะเพิ่มโอกาสที่ทำให้รู้สึกคลื่นไส้ได้ ฉะนั้นการปรับสิ่งแวดล้อมภายในรถอย่างการลดกระจกลง หรือเปิดแอร์ให้ลมปะทะหน้า ก็จะช่วยลดการอาการเมาได้เช่นกัน
Credits
The Host ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์
Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Creative Care Label
Video Editor จุฑาภัทร มนตรีศาสตร์
Sound Director กฤตพล จียะเกียรติ
Sound Designer เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์
Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Graphic Designer ธนิดา โตวิวัฒน์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน, พฤกษา แซ่เต็ง
Proofreader วรรษมล สิงหโกมล
Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์
Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์
Archive Officer ชริน ธนอุดมกรณ์, อาทิตยา อิสสรานุสรณ์