×

เช็กสุขภาพน้องชาย เสื่อมสมรรถภาพทางเพศหรือยัง

21.10.2022
  • LOADING...

สำหรับผู้ชาย ‘อวัยวะเพศชาย’ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ของร่างกายเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากในแง่ของสัญลักษณ์ความเป็นชายแล้ว ยังสำคัญทั้งในเรื่องของการสืบพันธุ์และการขับถ่ายอีกด้วย 

 

เพราะอวัยวะเพศเป็นสิ่งที่อยู่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด แม้จะใช้งานอยู่ทุกวัน แต่บางครั้งอาจจะลืมใส่ใจดูแล หรือจริงๆ แล้วคุณยังรู้จักมันไม่ดีพอด้วยซ้ำ Top to Toe เอพิโสดนี้จะพาผู้ชายทุกๆ คนมาสำรวจอวัยวะเพศของตัวเองให้ดีมากยิ่งขึ้น ว่ามีอะไรที่ควรต้องใส่ใจเพื่อให้น้องชายของเรามีความแข็งแรง และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพไปยาวๆ

 

ทำความรู้จักโครงสร้างของอวัยวะเพศชาย

อวัยวะเพศชายมีรูปร่างทรงกระบอก ภายนอกเป็นเนื้อเยื่อหยุ่นๆ ที่ปกคลุมด้วยผิวหนัง โดยอวัยวะเพศชายจะประกอบด้วยเนื้อเยื่อทั้งหมด 3 มัด มองจากภาพจะจินตนาการได้ว่าเหมือนกับดวงตา 2 ดวง และมีปากกลมๆ 1 ปาก เมื่อประกบเข้าด้วยกันก็มีรูปร่างออกมาเป็นแท่งอวัยวะเพศ 

 

 

เนื้อเยื่อ 2 มัดด้านบนมีชื่อว่า Corpus Cavernosum เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว เพราะภายในประกอบไปด้วยเส้นเลือดแดงจำนวนมาก ซึ่งถ้าหากมีสิ่งเร้าใดๆ มากระตุ้น เลือดจะคั่งในบริเวณนี้ และทำให้อวัยวะเพศชายขยายและแข็งตัว 

 

ส่วนเนื้อเยื่อมัดด้านล่างมีชื่อว่า Corpus Spongiosum มีหน้าที่ควบคุมการไหลของของเหลวอย่างปัสสาวะและอสุจิ ซึ่งตรงกลางของเนื้อเยื่อมัดนี้คือท่อปัสสาวะ ก็เลยมีหน้าที่ในการควบคุมการหดและขยายของท่อปัสสาวะระหว่างที่มีการนำของเหลว ไม่ว่าจะเป็นปัสสาวะหรือน้ำอสุจิให้ไหลออกมานอกร่างกายด้วย 

 

ทั้งนี้ ขนาดอวัยวะเพศชายของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป โดยเฉลี่ยแล้วตอนที่หดตัวจะมีความยาวประมาณ 3-4 นิ้ว ส่วนช่วงที่แข็งตัวอาจจะยาวได้ 5-6 นิ้ว หรือมากกว่านั้น 

 

นอกเหนือจากโครงสร้างภายใน อวัยวะเพศชายยังมีส่วนประกอบอื่นๆ รายล้อมอยู่ด้วย เริ่มตั้งแต่ อัณฑะ ที่ทำหน้าที่ในการสร้างอสุจิเพื่อผสมกับไข่ โดยธรรมชาติของตัวอัณฑะและถุงอัณฑะจะห้อยออกมานอกร่างกาย เพื่อลดอุณหภูมิไม่ให้ร้อนเกินไปจนทำลายคุณภาพของอสุจิ 

 

นอกจากนี้ก็ยังมีถุงเก็บอสุจิ ท่อนำอสุจิ ถุงสร้างสารบำรุงอสุจิ รวมไปถึงต่อม Cowper และต่อมลูกหมาก ที่จะทำงานร่วมกันเพื่อให้อสุจิแข็งแรง และสามารถเดินทางไปถึงไข่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การสืบพันธุ์ของเราประสบความสำเร็จ

 

ขนาด สำคัญแค่ไหน

เรื่องนี้อาจเป็นหัวข้อที่ผู้ชายหลายคนกังวลในเรื่องขนาดของตัวเอง ถึงขนาดมีการแชร์ข้อมูลด้านการสำรวจขนาดของอวัยวะเพศชายทั่วโลก เพื่อเปรียบเทียบขนาดของอวัยวะเพศของคนไทย เมื่อเปรียบเทียบกับชาติอื่นๆ แล้วแตกต่างกันอย่างไร

 

แต่บอกเลยว่าความยาวของอวัยวะเพศไม่ได้ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการร่วมเพศแม้แต่น้อย (ถ้าไม่นับเรื่องรสนิยมส่วนตัว) โดยจากงานวิจัยพบว่า สิ่งที่มีผลมากกว่าความยาวคือ ขนาดเส้นรอบวงของอวัยวะเพศ โดยหากเส้นรอบวงมีขนาด 5 นิ้วขึ้นไป ก็นับว่าเพียงพอที่จะสามารถกระตุ้นความรู้สึกของฝ่ายตรงข้ามได้แล้ว เพราะเวลาที่อวัยวะเพศชายสอดใส่เข้าไปในช่องคลอด จำเป็นจะต้องชนกับผิวช่องคลอดทั้งภายนอกและภายในได้พอดี จึงจะทำให้คู่นอนของเรามีความสุขขณะที่กำลังร่วมเพศ  

 

การแข็งตัวของอวัยวะเพศชายเกิดขึ้นได้อย่างไร

การที่อวัยวะเพศชายจะแข็งตัวได้ต้องเริ่มจากการมีสิ่งเร้ามากระตุ้น ซึ่งอาจมาจากทางประสาทสัมผัสภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น การได้กลิ่น การได้ยินเสียง หรือว่าการสัมผัส นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นได้จากสิ่งเร้าภายในด้วย อาจเป็นการจินตนาการถึงคนที่ชอบ หรือคิดไปว่าเรากำลังมีเพศสัมพันธ์กับใครสักคนหนึ่งอยู่ เป็นต้น  

 

เมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้นแล้ว สมองจะทำการส่งสัญญาณประสาทไปที่เส้นเลือดแดงบริเวณเนื้อเยื่อ 2 มัดบน และสร้าง Nitric Oxide ซึ่งเป็นสารเคมีสำคัญที่ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว โดยสารนี้จะถูกส่งไปที่กล้ามเนื้อเรียบซึ่งล้อมรอบเส้นเลือดแดงอยู่ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือปริมาณแคลเซียมที่อยู่ในกล้ามเนื้อเรียบจะลดลงจนสามารถคลายตัวได้ 

 

เมื่อกล้ามเนื้อที่หุ้มเส้นเลือดคลายตัวแล้ว เส้นเลือดแดงที่ถูกหุ้มอยู่อีกชั้นก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้เลือดไหลเข้ามาในบริเวณเนื้อเยื่อ 2 มัดมากขึ้นจนขยายใหญ่และคั่งค้างอยู่ภายในนั้น ทั้งหมดนี้คือกระบวนการตามธรรมชาติที่ทำให้อวัยวะเพศชายของแต่ละคนแข็งตัวได้นั่นเอง

 

เมื่ออวัยวะเพศแข็งตัวจนถึงจุดหนึ่ง สัญญาณประสาทอีกชุดหนึ่งจะถูกส่งไปที่ถุงเก็บอสุจิและท่อนำอสุจิ และช่วยกันผลักดันให้น้ำอสุจิที่เก็บไว้ไหลผ่านเข้ามาทางท่อปัสสาวะ ซึ่งก็คือการที่ถึงจุดสุดยอดขณะมีเพศสัมพันธ์นั่นเอง โดยหลังจากถึงจุดสุดยอดแล้ว สัญญาณประสาทที่มากระตุ้นให้เลือดคั่งจนแข็งตัวในตอนแรกก็จะน้อยลง และอวัยวะเพศก็จะกลับคืนสู่สภาวะปกติในที่สุด

 

จะทำอย่างไรเมื่อน้องชายไม่แข็งตัว 

มีหลายสาเหตุที่อาจส่งผลทำให้อวัยวะเพศของเราไม่แข็งตัว หรือหมดสมรรถภาพทางเพศ โดยมีชื่อโรคอย่างเป็นทางการว่า Erectile Dysfunction และไม่น่าเชื่อว่าในผู้ชาย 100 คน เราสามารถพบคนที่เผชิญกับภาวะหมดสมรรถภาพทางเพศได้ถึง 

 20 คนเลยทีเดียว! ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับอายุด้วย หากมีอายุ 40 ปีขึ้นไป โอกาสเกิดภาวะนี้ก็จะเพิ่มสูงขึ้นไปถึง 50% เลยทีเดียว


ซึ่งจากที่เล่าไปแล้วว่าปัจจัยหลักที่ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวได้ต้องประกอบด้วยการทำงานที่เกี่ยวข้องกันของสัญญาณประสาท เส้นเลือดแดงที่อยู่ในเนื้อเยื่อ 2 มัดบน และกล้ามเนื้อเรียบที่ล้อมรอบเส้นเลือดแดงอยู่ต้องมีความผ่อนคลาย ฉะนั้นถ้า 3 สิ่งนี้เกิดความผิดปกติ แน่นอนว่าอวัยวะเพศของเราก็มีโอกาสไม่แข็งตัวได้

 

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุหลักๆ ที่พบบ่อย ทางการแพทย์เรียกว่า Atherosclerosis หรือภาวะหลอดเลือดแข็ง คือการที่บริเวณกล้ามเนื้อที่ล้อมเส้นเลือดอยู่อาจจะมีไขมันอุดตันจนทำให้กล้ามเนื้อสูญเสียความยืดหยุ่น ไม่สามารถขยายตัวได้ดี เลือดมาคั่งไม่ได้

 

คนที่เป็นเบาหวาน นับว่าสุ่มเสี่ยงมากที่จะเกิดภาวะหมดสมรรถภาพทางเพศ เพราะคนเป็นโรคนี้จะมีโอกาสสูงที่เส้นเลือดฝอยในอวัยวะเพศจะแตกและเสื่อมสมรรถภาพ จนทำให้การลำเลียงออกซิเจนทำได้น้อยลงและไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อออกซิเจนน้อยลง เซลล์ประสาทและเซลล์กล้ามเนื้อเรียบที่ล้อมเส้นเลือดอยู่จะตาย การขยายตัวและการส่งสัญญาณต่างๆ ทำได้ไม่ดี เลือดไม่ไหลเข้ามาคั่ง ทำให้อวัยวะเพศไม่สามารถแข็งตัวได้ 

 

สาเหตุอื่นๆ ก็ยังมีเรื่อง ฮอร์โมน ถ้าหากคุณมีฮอร์โมนเพศชายต่ำ โดยเฉพาะเทสโทสเตอโรน จะส่งผลในกระบวนการสร้างไนตริกออกไซด์ ทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัวและใช้งานได้ไม่ดี ซึ่งระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่ต่ำอาจมีสาเหตุมาจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น ร่างกายที่ไม่แข็งแรง พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือการใช้ไลฟ์สไตล์ที่ไม่เฮลตี้ เช่น สูบบุหรี่ การดื่มเหล้า กินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ไม่ออกกำลังกาย ก็ล้วนส่งผลทำให้หมดสมรรถภาพทางเพศได้เช่นกัน 

 

เราหมดสมรรถภาพทางเพศแล้วหรือยัง เช็กอย่างไร

จริงๆ แล้วไม่มีวิธีการวัดที่ตายตัว ตัวคุณเองเท่านั้นที่จะรู้ได้จากการสังเกตว่าขณะใช้งานแล้วอวัยวะเพศมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือแข็งตัวได้น้อยลงหรือเปล่า ซึ่งถ้าพบความผิดปกติ แนะนำว่าให้รีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อทดสอบว่าอวัยวะเพศของเรายังสามารถแข็งตัวได้ปกติหรือไม่

 

โดยในทางการแพทย์จะมีวิธีการทดสอบและให้คะแนนการแข็งตัวเป็น 4 ระดับ ถ้ายังแข็งตัวได้ปกติก็ยังใช้งานได้อย่างไม่มีปัญหา แต่ถ้าเริ่มมีภาวะหมดสมรรถภาพทางเพศแบบอ่อนๆ อวัยวะเพศอาจจะยังแข็งตัวได้ และสามารถที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้อยู่ แต่ถ้าเริ่มมีภาวะหมดสภาพทางเพศระดับปานกลาง อวัยวะเพศจะเริ่มแข็งตัวได้ไม่เต็มที่จนเริ่มกระทบกับการมีเพศสัมพันธ์ หรืออาจถึงขั้นไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ และสุดท้ายถ้ามีอาการหนักมากๆ ก็คือไม่สามารถแข็งตัวได้เลย 

 

ขั้นตอนการทดสอบของแพทย์จะเริ่มจากการสำรวจอวัยวะเพศ และให้คะแนนความแข็งตัวว่าอยู่ในระดับใด หลังจากนั้นจะมีการสอบถามถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตว่าคุณอยู่ในภาวะที่มีความเครียด วิตกกังวล หรืออยู่ในภาวะซึมเศร้าหรือไม่ รวมไปถึงการกินยารักษาโรคบางอย่าง เช่น ยาซึมเศร้า หรือยาป้องกันผมร่วง ซึ่งอาจมีส่วนทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัวได้ และทำการรักษาตามอาการต่อไป

 

นอกจากปัญหาใหญ่เรื่องการหมดสมรรถภาพทางเพศ อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่มากมาย นอกจากผู้ชายทุกคนควรจะหมั่นสังเกตความผิดปกติของอวัยวะเพศอยู่เสมอแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องอย่าลืมคำนึงถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต


Credits
The Host ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์

 

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Creative Care Label

Video Editor จุฑาภัทร มนตรีศาสตร์

Sound Director กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Designer เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Graphic Designer ธนิดา โตวิวัฒน์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน, พฤกษา แซ่เต็ง

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์

Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน ธนอุดมกรณ์, อาทิตยา อิสสรานุสรณ์, ฉัฐนภา โพธิ์เงิน

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising