สเต็มเซลล์คืออะไร ร่างกายเอามาจากไหน ฉีดแล้วทำให้หน้าเด็กจริงหรือเปล่า ถ้าอยากเก็บสเต็มเซลล์ของตัวเองตั้งแต่ตอนนี้ยังทันอยู่ไหม และต้องเริ่มต้นอย่างไร
ดร.ข้าว ชวนมานั่งฟังเลกเชอร์วิชาสเต็มเซลล์แบบเข้าใจง่าย พร้อมคำอธิบายเรื่องล้ำๆ อย่างการสร้างอวัยวะที่เสื่อมสภาพด้วยสเต็มเซลล์จากร่างกายของเราเอง ซึ่งหากเป็นไปได้ เทคโนโลยีทางการแพทย์ในอนาคตก็จะพัฒนาไปได้ไกลในแบบที่เราอาจคาดไม่ถึง
สเต็มเซลล์มาจากไหน ใช้ซ่อมร่างได้จริงหรือเปล่า
สเต็มเซลล์ (Stem Cell) คือเซลล์ต้นกำเนิดที่มีอยู่ในร่างกายมนุษย์ตั้งแต่ได้รับการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน ซึ่งเมื่อมีการแบ่งเซลล์มากขึ้น ก็จะพัฒนาขึ้นมาเป็นอวัยวะต่างๆ และยังทำหน้าที่ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้ด้วย ดังเช่นที่เส้นผมของเรายังงอกขึ้นมาใหม่ได้ทุกวัน หรือเวลาที่เป็นแผลแล้วผิวหนังค่อยๆ สมานขึ้นมาใหม่ได้เองเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น โดยสเต็มเซลล์จะมีคุณสมบัติ 3 อย่างคือ
- เป็นเซลล์ที่สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้เรื่อยๆ
- เป็นเซลล์ที่ยังไม่มีหน้าที่เฉพาะ
- สามารถแปลงร่างไปทำหน้าที่เป็นเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ได้
สเต็มเซลล์ของคนในแต่ละช่วงวัยก็แตกต่างกัน ยิ่งเด็กมากเท่าไร สเต็มเซลล์ของเราก็จะสดใหม่ มีประสิทธิภาพดีที่สุด แบ่งตัวได้ดีที่สุด แต่พอโตเป็นวัยรุ่น สเต็มเซลล์ก็ยังดีอยู่ แต่อาจจะดีไม่เท่าตอนที่ยังเด็กมากๆ ยิ่งเมื่อโตขึ้นจนผ่านวัย 20-30 ปีไปแล้ว สเต็มเซลล์ของเราจะเริ่มน้อยลง แบ่งตัวได้ช้าลง ประสิทธิภาพต่ำลง และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้แย่ลง
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ว่าเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น โรคชราจึงเริ่มมาเยือน อวัยวะต่างๆ เสื่อมสภาพลงตามกาลเวลา เพราะว่าเราสูญเสียความสามารถในการแบ่งตัวของเซลล์นั่นเอง ที่พบได้บ่อยที่สุดคือเรื่องข้อเข่า ข้อสะโพก ที่มักจะเจอปัญหาความเสื่อมเหล่านี้ในวัยคุณย่าคุณยาย จนต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนอะไหล่ร่างกายเพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติดังเดิม ซึ่งโดยมากจะมีอยู่ 2 วิธีด้วยกัน
- รอรับบริจาคอวัยวะจากผู้ที่เสียชีวิตแล้ว เป็นทางเลือกที่อาจต้องใช้เวลารอคอยอยู่สักหน่อย แต่ถึงแม้จะได้มาก็ไม่ได้รับประกันว่าร่างกายจะตอบรับกับอวัยวะชิ้นใหม่ได้สมบูรณ์เสมอไป เพราะหากมีการต่อต้าน กระบวนการรักษาก็จะยิ่งยากขึ้น และอาจไม่ประสบความสำเร็จ
- การเปลี่ยนด้วยอวัยวะเทียม เป็นเทคโนโลยีทางวิศวกรรมที่สามารถสร้างอวัยวะเทียมขึ้นมาแทนที่ของเดิมที่เสื่อมสภาพได้ โดยจะถูกผลิตขึ้นมาจากโลหะ เซรามิก หรือโพลิเมอร์ชนิดต่างๆ แต่เพราะวัสดุเหล่านี้เป็นสิ่งแปลกปลอม จึงมีโอกาสที่ร่างกายจะต่อต้านเช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่อวัยวะเทียมจะมีอายุการใช้งานอยู่ที่ 15-20 ปี นั่นแปลว่าต่อให้การผ่าตัดสำเร็จด้วยดี แต่หากคนไข้มีอายุยืนยาวมากๆ การต้องเปลี่ยนอะไหล่ชิ้นใหม่ก็ยังเป็นเรื่องที่ยาก และอาจทำให้คนไข้เจ็บปวดทรมานไม่น้อย
และด้วยข้อจำกัดที่กล่าวไป ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ขึ้นในวงการการแพทย์ว่า เราจะสามารถสร้างอวัยวะขึ้นมาใหม่จากสเต็มเซลล์ของคนไข้เองได้หรือไม่ เพื่อที่จะตัดปัญหาเรื่องความคุ้นเคยของระบบร่างกาย แถมยังสามารถใช้งานได้ตลอดชีวิตโดยไม่มีปัญหาอีกด้วย ซึ่งข่าวดีก็คือ แนวคิดนี้เกิดขึ้นจริงแล้วในระดับโลก เพียงแต่ยังเป็นขั้นตอนของการศึกษาและทดลองอยู่
สเต็มเซลล์ เริ่มเก็บได้ตั้งแต่เมื่อไร
จริงๆ แล้วเราสามารถเก็บสเต็มเซลล์ได้ในทุกช่วงวัย แม้กระทั่งทารกที่เพิ่งลืมตาออกมาดูโลกก็ทำได้ด้วยการเอารกไปเก็บไว้ ซึ่งนั่นคือสเต็มเซลล์เก็บง่ายและมีคุณภาพดีที่สุด เพราะเหตุนี้ในช่วงหลังการเก็บสเต็มเซลล์ในทารกจึงเริ่มแพร่หลายมากขึ้น เพราะเริ่มมีข้อมูลออกมาว่าเราอาจสามารถเก็บเซลล์เหล่านั้นเผื่อไว้ใช้ซ่อมร่างตอนแก่ได้นั่นเอง
แต่ถ้าอายุเยอะแล้วก็ไม่ต้องกังวลว่าเซลล์จะใช้ไม่ได้ เพราะตอนนี้มีเทคโนโลยีที่สามารถจัดเก็บเซลล์ของผู้ใหญ่ (Adult Cell) แล้วนำไปตั้งโปรแกรมในสมองให้มันกลับกลายมาเป็นสเต็มเซลล์ได้ ซึ่งเทคโนโลยีนี้เราเรียกว่า Induced Pluripotent Stem Cells หรือ IPSC คือการเหนี่ยวนำให้เซลล์ปกติของเรากลับมาเป็นสเต็มเซลล์ที่สามารถแปลงร่างต่อไปเป็นเซลล์อะไรก็ได้ แต่วิธีนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองระดับวิจัยอยู่
ส่วนวิธีการเก็บสเต็มเซลล์ที่นิยมกันมากที่สุดในตอนนี้คือ การดูดจากไขมันของคนไข้ โดยมีการทดลองออกมาแล้วว่าไขมัน 1 กรัม สามารถแยกสเต็มเซลล์ออกมาได้ถึง 10,000 เซลล์เลยทีเดียว
หลังจากเก็บสเต็มเซลล์เรียบร้อยแล้วก็จะต้องมีห้องเฉพาะในการดำเนินการทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การแยกเซลล์ออกจากไขมันที่ดูดออกมา การเพิ่มจำนวนการแบ่งตัว การเลี้ยงและเก็บเซลล์ที่ต้องทำในห้องปลอดเชื้อ (Clean Room) ระดับ Class 100 ซึ่งต้องสะอาดกว่าห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลถึง 100 เท่า เมื่อคุณหมอสกัดเซลล์แล้วก็จะต้องรีบนำสเต็มเซลล์ไปไว้ในน้ำยาเลี้ยงโดยเฉพาะ และคอยเฝ้าดูการเติบโตของมัน เมื่อเพิ่มจำนวนได้เต็มที่แล้วก็ต้องรีบเอาไปจัดเก็บในอุณหภูมิ -190 องศาเซลเซียส เพื่อเก็บรักษาให้มีชีวิตอยู่จนกว่าวันที่เราจะต้องใช้เซลล์ในการสร้างอวัยวะใหม่เพื่อมาทดแทนสิ่งที่เสื่อมสลายไป
สเต็มเซลล์ กลายร่างมาเป็นอวัยวะได้อย่างไร
การที่สเต็มเซลล์จะพัฒนาขึ้นมาเป็นอวัยวะหนึ่งชิ้นได้จะต้องมี 2 ขั้นตอน ขั้นแรกคือ การสร้างบ้านเพื่อเลี้ยงเซลล์ ศัพท์ทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า โครงเลี้ยงเซลล์ หรือ Scaffold โดยโครงที่ว่านี้จะถูกสร้างขึ้นจากความต้องการของคนไข้โดยเฉพาะ ถ้าอยากได้อวัยวะชิ้นไหน บ้านก็จะต้องมีหน้าตาเหมือนกับอวัยวะชิ้นนั้นทุกประการ ซึ่งแพทย์จะใช้วิธีการสแกนแบบสามมิติเพื่อเทียบว่าอวัยวะของเรามีรูปร่างอย่างไร จากนั้นจะส่งข้อมูลนี้เข้าไปที่คอมพิวเตอร์ และสร้างบ้านขึ้นมาให้เป็นไปตามแบบที่เราต้องการ โดยวัสดุที่ใช้สร้างบ้านจะถูกจำลองมาจากส่วนประกอบของอวัยวะในร่างกายจริงๆ ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต หรือไขมัน
ขั้นต่อมาที่สำคัญมากๆ คือ การสร้างพิมพ์เขียวให้บ้านของสเต็มเซลล์ เพราะหลังจากได้เข้าอยู่ในบ้านเรียบร้อยแล้ว นักวิทยาศาสตร์จะนำเซลล์ไปอยู่ในน้ำยาชนิดหนึ่งที่มี Growth Factor ซึ่งมีส่วนประกอบของอาหารที่จำเป็นต่อการเติบโตและพัฒนาของสเต็มเซลล์อยู่ในนั้นด้วย โดยชิ้นส่วนทั้งหมดจะถูกนำไปเก็บไว้ตู้อบ หรือ Bioreactor เพื่อจำลองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ในร่างกาย เช่น ถ้าหากเซลล์หรืออวัยวะนั้นจะต้องเจอกับแรงเหวี่ยง แรงดึง หรือการพัดผ่านจากของเหลวในร่างกาย แล้วจะยังสามารถเจริญเติบโตได้ดี หรือพัฒนาไปเป็นเซลล์ที่ต้องการในระดับที่น่าพอใจได้หรือเปล่า ถ้าหากเซลล์มีความพร้อมมากพอ แพทย์ก็จะเริ่มทำการผ่าตัดเพื่อนำชิ้นส่วนทั้งหมดที่เรียกว่า ‘อวัยวะชีวภาพ’ ใส่เข้าไปร่างกายของคนไข้
เมื่อชิ้นส่วนทั้งหมดถูกใส่เข้าไปแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อมาคือเซลล์จะค่อยๆ กัดกินบ้านที่สร้างไว้ เนื่องจากวัสดุที่ใช้มาจากโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ตามกระบวนการธรรมชาติของร่างกาย และขณะที่เซลล์ค่อยๆ กินบ้านหลังนั้น มันก็จะใช้ข้อมูลที่เป็นพิมพ์เขียวมาสร้างบ้านหลังใหม่ที่มีหน้าตาเหมือนกันเป๊ะด้วยวัสดุที่เซลล์ผลิตขึ้นมาด้วยตัวเอง และสุดท้ายคนไข้ก็จะได้บ้านหลังใหม่ หรืออวัยวะชิ้นใหม่ที่สมบูรณ์ขึ้นมาโดยที่ร่างกายไม่มีทางต่อต้าน เพราะมันเกิดจากสเต็มเซลล์ของตัวเอง และจะอยู่ภายในตัวคนคนนั้นไปได้ตลอดชีวิต
อยากสร้างอวัยวะใหม่ตอนนี้เลย ทำได้จริงหรือยัง
แม้ขั้นตอนทั้งหมดที่เล่ามาจะมีความเป็นไปได้ในทางบวก จนทำให้หลายคนรู้สึกมีความหวัง แต่ต้องบอกว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์ใดๆ ก็ตาม กว่าที่จะนำมาใช้จริงได้ก็ต้องผ่านกระบวนการมากมาย ทั้งการวิจัย และทดสอบความปลอดภัยในสัตว์และมนุษย์ ซึ่งอาจใช้เวลาอย่างน้อย 20 ปีกว่าที่แพทย์และทีมวิจัยจะมั่นใจในความปลอดภัยจนออกมาเป็น Standard Practice ที่ใช้กันทั่วโลกได้ แต่ข่าวดีก็คือตอนนี้อยู่ในเฟสท้ายๆ ของขั้นตอนการทดลองความปลอดภัยในมนุษย์แล้ว ซึ่งเราอาจจะได้เห็นอวัยวะที่สร้างจากสเต็มเซลล์ชิ้นแรกของโลกเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ก็เป็นไปได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันในทางกฎหมายมีการรับรองการรักษาโรคเสื่อม หรือว่าโรคชราด้วยสเต็มเซลล์เฉพาะแค่กลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับเลือดเท่านั้น เพราะองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสเต็มเซลล์ให้พัฒนาไปเป็นเซลล์เลือดมีการทดลองมาอย่างยาวนาน และปลอดภัยเพียงพอที่จะทำใช้เป็น Standard Practice ทั่วโลกได้ ส่วนโรคอื่นๆ ยังอยู่ในระหว่างทดลองในโรงพยาบาลแพทย์ระดับ Clinical Trial เท่านั้น
ผลิตภัณฑ์จากสเต็มเซลล์ที่มีในตอนนี้ เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน
เพราะตอนนี้มีการโฆษณาในแวดวงความงามเยอะขึ้นว่าเราสามารถฉีดหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสเต็มเซลล์เพื่อให้หน้าเด็กลงได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังคงเป็นคำถามของหลายๆ คนว่า สามารถเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในปัจจุบันยังคงมีข้อห้ามไม่ให้ใช้เซลล์ หรือเนื้อเยื่อ หรือผลิตภัณฑ์จากร่างกายมนุษย์ มาเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางอยู่ ฉะนั้นการจะตัดสินใจเชื่อถือในสรรพคุณดังกล่าวก็ยังคงต้องพิจารณาในหลายๆ ส่วน เพราะอย่างที่อธิบายไปแล้วว่าเก็บสเต็มเซลล์ไม่ใช่เรื่องง่าย มีความยุ่งยากในหลายขั้นตอน อีกทั้งยังมีต้นทุนด้านการดูแลรักษาสูงมากๆ ผู้บริโภคจึงควรนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจ
Credits
The Host ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์
Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Creative Care Label
Video Editor จุฑาภัทร มนตรีศาสตร์
Sound Director กฤตพล จียะเกียรติ
Sound Designer เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์
Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Graphic Designer ธนิดา โตวิวัฒน์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน, พฤกษา แซ่เต็ง
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster อารยา ปานศรี
Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์
Archive Officer ชริน ธนอุดมกรณ์, อาทิตยา อิสสรานุสรณ์, ฉัฐนภา โพธิ์เงิน